3 ส.ค. 2024 เวลา 12:02 • กีฬา

Team GB กับ Team Ireland ในโอลิมปิก และทำไมนักกีฬาไอร์แลนด์เหนือไปแข่งให้ไอร์แลนด์ได้ ?

เมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาถึง คำถามเรื่องของ สหราชอาณาจักร รวมถึง ไอร์แลนด์ ก็มักถูกวกกลับมาถามอยู่เสมอราวกับปัญหาโลกแตก
หนึ่งในคำถามที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ เหตุใด สหราชอาณาจักร ถึงเรียกตัวเองว่า Team GB ? เหตุใดไม่ค่อยได้เห็นทีมฟุตบอลของสหราชอาณาจักรลงแข่งในโอลิมปิก ? และ ทำไมนักกีฬาจากไอร์แลนด์เหนือ ถึงไปแข่งกับไอร์แลนด์ได้ ทั้ง ๆ ที่ถือเป็นคนละประเทศกัน ?
Main Stand จะไขข้อสงสัยทั้งหมดนี้ให้คุณรับทราบกัน
Team GB
ก่อนอื่นเลย คงต้องว่ากันถึงเรื่อง Team GB เสียก่อน
ในการแข่งขันโอลิมปิก หน่วยงานที่เป็นตัวแทนของแต่ละชาติในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน คือคณะกรรมการโอลิมปิก หรือ NOC (National Olympic Committee) ของแต่ละชาติ
สำหรับสหราชอาณาจักร NOC ของพวกเขาคือ สมาคมโอลิมปิกสหราชอาณาจักร หรือ BOA (สหราชอาณาจักร) แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาด แฟนกีฬาจะคุ้นกับทีมโอลิมปิกของสหราชอาณาจักรในชื่อ "Team GB" เสียมากกว่า
เบื้องหลังของชื่อที่ติดหูนั้น เกิดจากไอเดียของผู้หญิงที่ชื่อ มาร์เซน่า บ็อกดาโนวิค ที่มองว่า ชื่อ "ทีมโอลิมปิกของสหราชอาณาจักร" นั้นจำยาก จึงต้องหาคำที่ติดปาก ทำให้ผู้คนจำง่ายกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของเธอ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตลาดของ BOA ช่วงยุค 1990s ในการคิดคำนั้น จนได้คำว่า Team GB และใช้คำนี้ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา
"ฉันคิดว่าน่าจะคิดไอเดียเรื่องนี้ออกช่วงปี 1996 หรือ 1997 นี่แหละ เมื่อปี 1996 ฉันไปชมโอลิมปิก (ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา) แล้วก็รู้สึกว่า โลโก้ในตอนนั้นมันก็มีแค่สิงโตและ 5 ห่วงโอลิมปิก ซึ่งมันยังไม่แข็งแกร่งนักในการสร้างแบรนด์ หลังกลับมา ฉันต้องการอะไรซักอย่างที่ไม่ต้องพูดเยอะ แต่ได้ความรู้สึกถึงความเป็นทีม แล้วก็ได้คำว่า Team GB มา"
Team GB นั้น หมายความรวมถึงนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร หรือ UK (United Kingdom) ทั้งจากบริเตนใหญ่ หรือ GB (Great Britain) ที่มีอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ รวมถึงไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไอร์แลนด์ที่มีพรมแดนติดกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงนักกีฬาจากเกาะแมน, หมู่เกาะแชนแนล และดินแดนโพ้นทะเลต่าง ๆ อีกด้วย
ซึ่งการที่เรียกว่า Team GB นี้เอง ที่ทำให้มีปัญหาขึ้นมา เมื่อหลายคนมองว่า Team GB เป็นชื่อที่ไม่ได้สะท้อนถึงดินแดนต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรอย่างครบถ้วน ซึ่งแม้ทาง BOA จะบอกว่า เอาเข้าจริง จะ UK หรือ GB ก็ไม่อาจสะท้อนได้หมด แต่ฝ่ายแย้งก็มองว่า หากคำว่า Team UK ไม่ตรงกับความจริงแล้ว Team GB ก็ไม่จริงยิ่งกว่า
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทีมโอลิมปิกของสหราชอาณาจักร ก็ยังคงเรียกตัวเองว่า Team GB จนถึงทุกวันนี้
Home Nations กับฟุตบอลโอลิมปิก
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าคุณ ๆ คงสงสัยบ้างแหละว่า เหตุใดในกีฬาฟุตบอล เราจึงได้เห็นสหราชอาณาจักร แยกกันส่งทีมแข่งเป็น อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ
สาเหตุนั้นก็เพราะ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มอบสิทธิพิเศษ ให้ อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ สามารถส่งทีมแยกเป็นอิสระต่อกันในรายการที่ฟีฟ่า รวมถึง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า รับรอง จากการที่ทั้ง 4 ชาตินี้ มีการแข่งขันฟุตบอลอย่างยาวนาน ก่อนที่ฟีฟ่าและยูฟ่าจะถือกำเนิดเสียอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงโอลิมปิก ชาติทั้งสี่ที่มักถูกเรียกรวมกันว่า Home Nations มักประสบปัญหาในการรวมทีมเพื่อลงแข่งฟุตบอลเสมอ แม้หากชาติใดชาติหนึ่งสามารถทำผลงานได้ดีในรายการแข่งขันที่ถือเป็นรอบคัดเลือกเพื่อไปสู่โอลิมปิก ก็จะได้โควต้าลงแข่งรอบสุดท้ายทันทีก็ตาม
สาเหตุสำคัญก็เนื่องจาก สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ และ เวลส์ ต่างกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียสถานภาพความเป็นอิสระ ในการส่งทีมลงแข่งรายการของฟีฟ่าและยูฟ่าไป หากยินยอมรวมเป็นสหราชอาณาจักร เพื่อลงแข่งในโอลิมปิก
1
นั่นทำให้แม้ในหลายครั้งในระยะหลัง อังกฤษจะทำผลงานได้ดีในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี หรือ UEFA Under-21 จนได้สิทธิ์ไปเล่นโอลิมปิกรอบสุดท้าย เราก็ไม่ได้เห็นทีมฟุตบอลชายสหราชอาณาจักรในโอลิมปิก จะยกเว้นก็ตอนที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อปี 2012 ที่สามารถเจรจากันได้เป็นการเฉพาะกิจ เพื่อรักษาหน้าชาติเจ้าภาพ
ขณะที่ฟุตบอลหญิง รวมถึงรักบี้ 7 คน ซึ่งเป็นอีกกีฬาที่แต่ละชาติในสหราชอาณาจักรสามารถส่งทีมแข่งแยกกันได้ในรายการของ รักบี้โลก หรือ World Rugby (ทว่า Home Nations ของรักบี้ จะเป็น ไอร์แลนด์ แทน ไอร์แลนด์เหนือ) ปัญหาดังกล่าวดูจะได้รับการพูดคุยจนได้ข้อสรุปที่ลงตัวกว่า
เพราะหลังจากโอลิมปิกที่ลอนดอนเมื่อปี 2012 เราได้เห็นทีมฟุตบอลหญิงสหราชอาณาจักรลงแข่งอีกครั้งในศึก โตเกียว 2020 ที่จัดในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2021 เช่นเดียวกับทีมรักบี้ 7 คน ทั้งชายและหญิง ที่แทบจะเป็นขาประจำในโอลิมปิกตั้งแต่บรรจุครั้งแรกในศึก ริโอ 2016 ที่ประเทศบราซิล โดยมีเพียงใน ปารีส 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น ซึ่งทีมรักบี้ 7 คน ชาย ไม่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันรอบสุดท้าย ส่วนทีมหญิงได้มาแข่งที่กรุงปารีส
1
ทำไมนักกีฬาไอร์แลนด์เหนือเล่นให้ไอร์แลนด์ได้ ?
แม้เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า Team GB นั้นเป็นทีมโอลิมปิกของสหราชอาณาจักร ทั้งจากบริเตนใหญ่ (อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์) และไอร์แลนด์เหนือ ตลอดจนเกาะแมน, หมู่เกาะแชนแนล และดินแดนโพ้นทะเลต่าง ๆ
แต่เมื่อได้เห็น รอรี่ แม็คอิลรอย โปรกอล์ฟชาวไอร์แลนด์เหนือ ลงแข่งในโอลิมปิก เชื่อว่าคุณคงต้องเกาหัวแกรก ๆ อีกรอบเป็นแน่ เพราะตามหลักการข้างต้น แม็คอิลรอยควรจะต้องเป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร แต่เจ้าตัวกลับสวมเสื้อของไอร์แลนด์ ในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเสียอย่างนั้น
สาเหตุนั้นก็เพราะ ทาง BOA และ สหพันธ์โอลิมปิกไอร์แลนด์ หรือ OFI (Olympic Federation of Ireland) ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ให้นักกีฬาจากไอร์แลนด์เหนือ สามารถเลือกได้ว่าจะลงแข่งให้สหราชอาณาจักร หรือไอร์แลนด์ เนื่องจากสหพันธ์กีฬาหลายชนิดของไอร์แลนด์ มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ดังเช่นกรณีของกีฬารักบี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กรณีของ รอรี่ แม็คอิลรอย เรื่องราวซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะในตอนที่กีฬากอล์ฟกำลังจะได้บรรจุแข่งขันเป็นครั้งแรกในโอลิมปิก กับศึก ริโอ 2016 เจ้าตัวเคยพูดว่า น่าจะเลือกเล่นให้กับ Team GB เนื่องจาก "มีความรู้สึกเป็นคนสหราชอาณาจักร มากกว่าไอร์แลนด์"
และคำพูดดังกล่าวก็สร้างข้อถกเถียงไปทั่ว พร้อมกับมีการนำหลักฐานมาแฉว่า แท้จริงแล้ว แม็คอิลรอยรับเงินสนับสนุนจาก กอล์ฟไอร์แลนด์ (Golf Ireland) องค์กรที่ดูแลกีฬากอล์ฟทั้งในไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัวเป็นนักกอล์ฟเยาวชนและสมัครเล่น ก่อนเทิร์นโปรเป็นนักกอล์ฟอาชีพเมื่อปี 2007
ที่สุดแล้ว แม็คอิลรอยก็ตัดสินใจเลือกเล่นให้ไอร์แลนด์ในโอลิมปิก โดยให้เหตุผลว่า
1
"ผมทำให้ตัวเองลำบากกว่าที่ควรจะเป็น ความรู้สึกของผมคือ 'คนอื่นจะคิดยังไง ?' เมื่อผมวางเรื่องนั้นไป และพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับตัวเอง ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น ผมต้องต่อสู้กับเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น"
"อย่างที่ผมเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อผมเลิกพยายามที่จะทำให้ใครไม่พอใจ การตัดสินใจนั้นก็ค่อนข้างง่าย การตัดสินใจคือ ผมจะเล่นกอล์ฟให้กับประเทศหรือให้กับประเทศที่ผมเคยเล่นให้มาตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชนและสมัครเล่น และตอนนี้ก็เป็นกอล์ฟอาชีพ"
"แม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกจะให้ทางเลือกกับผม แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเล่นกอล์ฟให้กับไอร์แลนด์มาโดยตลอด ดังนั้นทำไมมันถึงต้องเปลี่ยนไป เพียงเพราะการแข่งขันเปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือการตัดสินใจของผม"
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไป คือเรื่องราวทีมกีฬาโอลิมปิกของสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ที่มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย และเชื่อว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อเจ้าต่าง ๆ จะอธิบายอย่างไร ความสงสัยนี้ก็ไม่มีทางหมดไปง่าย ๆ อย่างแน่นอน
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา