3 ส.ค. เวลา 12:51 • ความคิดเห็น
แวะอ่านซักแปป
คำนำ เบิร์น-เอ๊าต์
คำว่าเบิร์น-เอ๊าต์สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไรและคืออะไรกันแน่จะมีคำอธิบายในหนังสือเล่มนี้
คำถามถัดไปคือ เบิร์น-เอ้าต์หรือภาวะหมดไฟนี้เป็นโรคหรือมิใช่โรค หากเป็นโรคจะนำมาซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ของบุคคลที่กำลังเบิร์น-เอ๊าต์หรือหมดไฟอย่างไรบ้าง ศักดิ์และสิทธิ์นั้นจะเทียบเท่าผู้ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด
หนังสือเล่มนี้เริ่มบทแรกๆ ด้วยเรื่องราวที่พบในชีวิตประจำวันในสำนักงาน ในโรงพยาบาล และในบ้าน คือเรื่องที่คนหลายคนเคยพบเคยเป็น และคนหลายคนคล้ายๆ จะพบหรือคล้ายๆ จะเป็น คำถามถัดไปคือเป็นจริงหรือเปล่า
ที่แท้เราหมดไฟเพราะขี้เกียจหรือเพราะงานรัดตัวกันแน่ คำถามนี้จะเป็นปัญหามากในบ้านเรา
ประมาณครึ่งหลังของหนังสือจะเป็นบทแปล ตีความ และเขียนใหม่จากตำราแพทย์บางเล่ม บทวิจัย บทความในวารสาร การแพทย์หรือจิตวิทยา ทั้งที่มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ออนไลน์ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป โดยมีวัตถุประสงค์ให้อ่านง่ายและทำความเข้าใจได้ง่าย สำหรับท่านที่สนใจวิชาการ สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ในเอกสารอ้างอิง
บทท้าย ๆ จึงเป็นเรื่องราวของการกำเนิดเบิร์น-เอ๊าต์ คำนี้เริ่มมาจากไหนและพัฒนาการมาอย่างไร เป็นบทที่น่าจะช่วยให้เราสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ดี โดยข้อสรุปของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับภูมิหลังของแต่ละคนและความน่าจะเป็นของแต่ละท่านเพื่อตอบคำถามข้างต้น นั่นคือ เรากำลังจะอยู่ในภาวะเบิร์น-เอ๊าต์จริงหรือเปล่า
จะเห็นว่าท้ายที่สุดเบิร์น-เอ๊าต์เป็นผลรวมของสภาวะทางจิตใจและจิตวิญญาณ พอ ๆ กับที่จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางชีววิทยา
โลกสมัยใหม่ทุกคนถือพาวเวอร์แบงก์ติดตัวไปทุกที่ ไฟในกายหมดแล้วแต่แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนห้ามหมด!
เวลาไฟในกายหมดคนเรามักเฉื่อยชาไร้สิ้นเรี่ยวแรง เวลาแบตเตอรี่หมดคนเรามักจะกระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง และแสวงหาทุกวิถีทางเพื่อเติมไฟให้จงได้ และเมื่อเติมไฟได้แล้วชีวิตจึงดำเนินต่อไป
มีข้อสงเกตว่าบางคนยิ่งหมกมุ่นกับสมาร์ทโฟนมากเท่าไรกลับจะยิ่งสูญเสียไฟในกายมากเท่านั้น ด้วยความที่งานต่าง ๆ นันทนาการหลากหลาย และจังหวะเวลาของชีวิตดูจะเร่งรีบไปเสียทั้งสิ้นคล้าย ๆ เครื่องเคาะจังหวะของนักดนตรีที่มีความถี่สูง
ในทางตรงกันข้าม การวางสมาร์ทโฟนเสียบ้าง อยู่กับตนเองและใคร่ครวญตนเองบ้างเป็นบางเวลา กลับพบว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ชีวิตมิได้อยู่ในสมาร์ทโฟนเสมอไป แม้ว่ารูปภาพและรสนิยมทั้งหมดของเราจะอยู่ในสมาร์ทโฟนก็ตาม
จะเห็นว่าภาวะเบิร์น-เอ๊าต์ขึ้นอยู่กับกาลเวลาอีกด้วย
หากเบิร์น-เอ๊าต์เป็นศัตรู ที่เราควรทำคือการยอมรับและเผชิญหน้าศัตรูอย่างกล้าหาญ กำหนดเป้าหมายให้ชัดว่าเรากำลังต่อสู้หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างไร อย่ามัวแต่หลบหลีก หลีกหนี หรือไม่ยอมรับความจริง
ชีวิตมิได้มีไว้ให้ปล่อยวาง มีบางอย่างที่เราควรทำ
ประการแรกคือต่อสู้ เราแพ้ได้
ประการหลังคือเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันเราชนะเสมอ
หลักการข้อนี้ใช้ได้กับโรคภัยไข้เจ็บ อุปสรรคหรือความทุกข์ทุกชนิด
ภาวะเบิร์น-เอ๊าต์มิใช่จุดสิ้นสุด ที่แท้แล้วคนเราเบิร์น-เอ๊าต์ได้หลายรอบจนเชี่ยวชาญ
(เช่น ผม เป็นต้น)
เบิร์นเอ๊าต์นับร้อยครั้ง 😅
 
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
แนะนำค่ะ
โฆษณา