4 ส.ค. เวลา 04:08 • ความคิดเห็น

ในยุคที่ไม่มีใครพูดเรื่องการ "Follow Your Passion" แล้วเราจะ Follow อะไรกันดี

แม้จะจั่วหัวราวกับว่าบทความนี้เขียนให้เด็กจบใหม่ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับคนที่ทำงานมาได้พักใหญ่แล้วเหมือนกัน
1
เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว "Follow your passion" เป็นคำแนะนำแห่งยุคสมัย
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตามหาสิ่งที่ตัวเองหลงใหลกลายเป็นเทรนด์ น่าจะมาจากปาฐกถาของ Steve Jobs ที่ให้ไว้กับบัณฑิตจบใหม่ของ Stanford เมื่อปี 2005
"You’ve got to find what you love...Your work is going to fill a large part of your life, and the only way to be truly satisfied is to do what you believe is great work. And the only way to do great work is to love what you do. If you haven’t found it yet, keep looking. Don’t settle. As with all matters of the heart, you’ll know when you find it."
4
ช่วงเวลาหนึ่งในเมืองไทยจึงมีกระแสให้คนลาออกจากงานประจำ หนังสืออย่าง "การลาออกครั้งสุดท้าย" "งานไม่ประจำทำเงินกว่า" หรือ "ลาออกซะ ถ้าอยากรวย" ล้วนติดอันดับหนังสือขายดี (และผมเองก็ได้อ่านครบทั้งสามเล่ม)
1
ปี 2016 "พี่ปิ๊ก" ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เจ้าของเพจ Trick of the Trade ติดต่อผมมาทางเพจ Anontawong's Musings ว่าสนใจนำบทความของผมไปทำหนังสือ และพี่ปิ๊กก็ให้ไอเดียมาว่า ในเมื่อกระแสลาออกจากงานประจำมาแรง เราลองมาทำหนังสือที่ตั้งคำถามกับกระแสนี้ดูบ้างมั้ย
1
ต้นเดือนสิงหาคม 2017 หนังสือ "Thank God It's Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ" ผลงานเล่มแรกของ Anontawong's Musings และของสำนักพิมพ์อะไรเอ่ย จึงได้ลืมตาดูโลก และได้ตีพิมพ์ไปถึง 4 ครั้ง
1
เวลาล่วงเลยมา 7 ปีพอดี ดูเหมือนสมัยนี้จะไม่ค่อยมีคนพูดถึงการ "Follow Your Passion" กันอีกแล้ว
คำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ แล้วเราควรจะ Follow อะไรกันดี?
วันนี้เลยอยากนำสิ่งที่ผ่านพบมาเล่าให้ฟัง เผื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังงงๆ กับชีวิตนะครับ
-----
1. Follow Your Mastery
ไอเดียนี้มาจากหนังสือ So Good They Can't Ignore You ของ Cal Newport ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 และผมเคยเขียนถึงอย่างละเอียดในบทความ "ก่อนจะลาออกไป Follow Your Passion" เมื่อปี 2016
เราสามารถมีทัศนคติกับการทำงานได้สองแบบ คือแบบ passion mindset และแบบ craftsman mindset
Passion mindset คือทำเฉพาะงานที่ตัวเองชอบเท่านั้น เราจะคอยถามตัวเองตลอดเวลาว่างานนี้ให้ความสุขกับเรารึเปล่า – what value does the job bring to me? ถ้างานที่เราทำไม่สร้างความสุขให้เรา เราก็หางานใหม่
ส่วน craftsman mindset คือใช้ทัศนคติแบบช่างฝีมือ ที่ต้องการจะเก่งงานนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ คำถามที่เราถามจึงไม่ใช่ว่างานนี้ทำให้เรามีความสุขรึเปล่า แต่เป็นคำถามว่าเราสามารถสร้างคุณค่าอะไรให้กับงานนี้ได้บ้าง – what value can I bring to this job?
2
Passion mindset คือเน้นที่ความสุขที่ได้จากงานในตอนนี้
Craftsman mindset คือเน้นที่การพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้สร้างคุณค่ากับงานของเราได้มากยิ่งกว่าเก่า
คนที่ใช้ passion mindset พอเจองานที่ไม่ถูกใจ ก็จะลาออกไปอยู่ที่อื่น หรือไปทำงานสายอื่น จนไม่มีโอกาสได้สะสม career capital หรือ "ต้นทุนทางวิชาชีพ" อย่างจริงจังเสียที
ขณะที่คนที่ใช้ craftsman mindset จะมีความอดทนและมีวิริยะพอที่จะอยู่กับงานสายนั้นจนกว่าเขาจะเก่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เขาสนุกกับงานมากขึ้นด้วย
คนที่มี craftsman mindset คือคนที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดหย่อนจนมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาด คนกลุ่มนี้จะมีพลังในการต่อรองสูง ทั้งในแง่ค่าตอบแทนและอิสรภาพในการทำงาน
ดังนั้นการ Follow Your Mastery จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจเพราะมันจะเปิดโอกาสให้เราได้อีกมากมายในอนาคต
-----
2. Follow Your Talent
ประโยคนี้มาจาก Scott Galloway ผู้เขียนหนังสือ The Algebra of Wealth - A Simple Formula for Success ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2024
Galloway เตือนว่า ถ้ามีใครบอกให้เราทำสิ่งที่ตัวเองรัก แสดงว่าคนคนนั้นน่าจะรวยอยู่แล้ว
"If someone tells you to follow your passion, it means they're already rich."
1
สิ่งที่ Galloway คิดว่าควรทำมากกว่า คือเอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วค่อยทำสิ่งที่ตัวเองรักในวันหยุดสุดสัปดาห์
3
"Achieve economic security and follow your passion on the weekends."
1
ซึ่งทางที่จะมีความมั่นคงทางการเงินได้เร็วที่สุด คือการ follow your talent.
Talent หรือพรสวรรค์นั้นต่างจาก passion ตรงที่ talent มันมองเห็นได้ ทดสอบได้ และเอาไปทำอะไรต่อได้ - observable, testable, and actionable.
7
การที่เรามีความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง "อาจจะ" ทำให้เราเก่งในเรื่องนั้น
3
แต่การที่เรามีพรสวรรค์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะทำให้เราเก่งในเรื่องนั้น "อย่างแน่นอน"
1
ในนิยามของ Galloway, talent คือสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้หรือไม่ยอมทำ
"Talent is anything you can do that others can't or won't"
1
ซึ่งผมคิดว่าเป็นนิยามที่แหลมคมมาก เพราะเขาไม่ได้มองพรสวรรค์ในแง่ของทักษะเท่านั้น แต่มองในแง่ของนิสัยใจคอหรือแม้กระทั่งสภาพร่างกายด้วย
1
"Hard work is a talent. Curiosity is a talent. Patience and empathy are talents...If you are a jockey, being short is a talent."
ปัญหาก็คือเรามักจะมองไม่เห็นพรสวรรค์ของตัวเอง เพราะเราทำมันได้อย่างง่ายดาย เราก็เลยไม่ค่อยเห็นคุณค่าของมัน แต่เรากลับเห็นพรสวรรค์ของคนอื่นอย่างง่ายดายเพราะเราทำแบบเขาไม่ได้
1
ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์อันใดเลย วิธีหนึ่งที่อาจช่วยได้ คือถามเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือคนใกล้ชิดว่าเขาคิดว่าเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง บางเรื่องเราอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเขามันอาจจะเป็นเรื่องที่เจ๋งมากก็ได้
1
Galloway บอกว่า ถ้าเราค้นพบว่า talent ของเราคืออะไร และลงแรงไปกับมัน เราจะเห็นพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และเราจะมีกำลังใจที่จะทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนเรากลายเป็นอันดับต้นๆ ในสายนี้ และสร้างรายได้ที่ดีให้กับตัวเองได้
-----
3. Follow Your Energy
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผมจากโครงการ IMET MAX ส่งวีดีโอนี้มาให้ผมและเพื่อน mentee อีกสองคนดู
Last Lecture Series: How to Live Your Life at Full Power — Graham Weaver
วีดีโอนี้เพิ่งอัปโหลดมาได้สองสัปดาห์แต่มีคนดูไปแล้วเกือบ 5 แสนครั้ง
Graham Weaver เป็นอาจารย์ด้าน Management ที่ Stanford Graduate School of Business และผู้ก่อตั้ง Alpine Investors
Weaver บอกว่าจุดอ่อนของคำแนะนำให้ "follow your passion" ก็คือมันกำลังพูดราวกับว่าเรามี passion แค่เพียงเรื่องเดียว และเราก็ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรตั้งแต่ตอนที่เราอายุยังน้อย และเราก็ควรอยู่กับมันไปตลอดชีวิต
แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจยังไม่รู้ตัวเองก็ได้ว่าหลงใหลเรื่องอะไร แถมเรื่องที่เราสนใจก็มีหลายอย่าง ดังนั้นการ "follow your passion" อาจเป็นยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงและปิดกั้นตัวเองเกินไปหน่อย
1
สิ่งที่ Weaver มองว่าน่าจะมีประโยชน์มากกว่าคือการ "follow your energy"
1
อะไรก็ตามที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามีพลัง ก็จงทำสิ่งนั้นเสีย
Weaver ให้เราลองทำแบบฝึกหัดที่ชื่อว่า Nine Lives
คือให้ลองจินตนาการดูว่าเรามีชีวิตได้ 9 แบบใน 9 จักรวาลที่ขนานกัน
จักรวาลแรกคือชีวิตปัจจุบันที่เรามีอยู่ตอนนี้
แล้วลองนึกถึงชีวิตของเราในอีก 8 จักรวาลที่เหลือว่าเราน่าจะกำลังทำอะไรอยู่ โดยมีกฎอยู่สองข้อ
กฎข้อแรกคือห้ามย้อนอดีต มันต้องเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสจะเริ่มทำได้จากนี้ไปเท่านั้น
กฎข้อที่สองคือสิ่งที่เราเลือกนั้นต้องเป็นสิ่งที่เรานึกถึงแล้วใจเต้น
1
Weaver ยกตัวอย่างของเขาเองให้ฟัง
ชีวิตที่ 1 ทำงานอยู่ในองค์กรใหญ่กับงานที่เขาไม่ได้ชอบมากนัก (เป็นชีวิตจริง ณ ตอนนั้น)
ชีวิตที่ 2 ก่อตั้งบริษัทและเป็น CEO
ชีวิตที่ 3 เป็นอาจารย์
1
ชีวิตที่ 4 บวชเป็นพระและบรรลุธรรม
ชีวิตที่ 5 เป็นดีเจในลาสเวกัส
ชีวิตที่ 6 เป็นนักเขียน
ชีวิตที่ 7, 8, 9 ฯลฯ
Weaver ย้ำว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องย้อนอดีต และเป็นเรื่องที่คิดแล้วรู้สึกมีชีวิตชีวา
จากนั้นเราก็มีทางเลือกอยู่สองทาง
ทางเลือกแรกคือการพยายามเอาชีวิตในโลกคู่ขนานบางอย่างมาใส่ไว้ในชีวิตที่ 1 ของเราในปัจจุบัน อาจจะเริ่มเล่นดนตรี อาจจะเริ่มเขียนบล็อก อาจจะทำอะไรก็ได้ที่เรารู้สึกอยากทำมานานแต่ไม่ได้เริ่มสักที
เมื่อเราได้ทำสิ่งที่มอบพลังชีวิตให้กับเรา เราจะมีความสุขมากขึ้น และความสุขนี้จะติดต่อไปสู่คนรอบข้างที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย
ทางเลือกที่สอง คือให้ถามตัวเองว่า เราจะเลือกชีวิตแบบไหนใน 9 ชีวิตนี้ ถ้ามีคนการันตีว่าเราจะไม่มีทางล้มเหลว?
"Ask yourself this question - of all nine of those lives, what would I do if I knew I wouldn't fail? Which one of those would I choose?"
Weaver เล่าให้ฟังว่าเขาได้ออกจากงานในองค์กรใหญ่ เพื่อมามีชีวิตที่ 2 - คือการก่อตั้งบริษัท จากนั้นก็มามีชีวิตที่ 3 คือการเลือกเป็นอาจารย์ และนั่นก็เป็นสิ่งที่เขาทำอย่างมีความสุขมาจนถึงทุกวันนี้
-----
และนี่คือสามทางเลือกสำหรับคนที่คิดว่ากำลังเดินมาถึงทางแยก
Follow your mastery
Follow your talent
Follow your energy
บางคนอาจมองว่าการ "follow your energy" มันก็ไม่ต่างกับการ "follow your passion" รึเปล่า
ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าสุดท้ายมันอาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่บางที กับบางคอนเซ็ปต์ แค่เราบิดคำนิดเดียว ความรู้สึกนึกคิดหรือการกระทำก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว
ดังนั้นเราคงไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกันว่ามันเหมือนหรือมันต่าง ขอให้คิดแค่ว่าเป็นอีกสามมุมมองที่อาจมีประโยชน์ ถ้าอันไหนเข้าท่าก็ลองดู ถ้าลองแล้วไม่เวิร์คก็แค่วางลง
1
ขออวยพรให้คุณผู้อ่านได้พบแนวทางที่จะพาเราไปสู่ชีวิตที่เราอยากมีครับ
โฆษณา