Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศรัญญา วิชชาธรรม
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2024 เวลา 12:26 • หนังสือ
ป้องกันตัวอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย
ถาม : ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยฆ่าคนตายถึงสิบคน ตัดสินแบบนี้ถูกต้องหรือไม่
ตอบ : ถูกต้อง
ถาม : ถูกยังไงคนตายตั้งสิบคน
ตอบ : ฆ่าร้อยคนก็ไม่ผิดกฎหมายเพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อชีวิตรอด ถ้าใครจะทำร้ายอะไรเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำร้ายเขาก่อนเพื่อป้องกันชีวิตร่างกายของเราเอาไว้ เช่น ถ้าใครจะเอาปืนมายิงเรามาฆ่าเรา เราก็มีสิทธิยิงฆ่าเขาก่อนที่เราจะถูกฆ่าตายได้ การกระทำอย่างนี้กฎหมายเรียกว่า “การป้องกัน”
1.การป้องกันไม่ผิดกฎหมาย
การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะป้องกันตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปทำร้ายเขา ไปฆ่าเขาตายเพื่อป้องกันตัวเราเองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กฎหมายถือว่าการกระทำของเราดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย เช่น เราทำร้ายร่างกายเขาบาดเจ็บซึ่งปกติก็เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ ตาม ป.อาญา มาตรา 295 ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือเราฆ่าคนอื่นตายตาม ป.อาญา มาตรา 288 มีโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี
แต่ถ้าเราทำร้ายร่างกายนาย ก. ถึงบาดเจ็บ หรือฆ่านาย ก. ตาย เพราะ นาย ก. จะทำร้ายเราหรือจะฆ่าเรา เราจึงต้องทำร้ายหรือฆ่านาย ก. อย่างนี้ถือว่าเรากระทำการป้องกันตัวเอง การกระทำของเราแม้นาย ก. จะถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บหรือตายเราก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือฐานฆ่านาย ก. ตาย เพราะเรากระทำไปเพื่อป้องกันตัวจึงไม่ผิดกฎหมาย นาย ก. ก็เลยถูกทำร้ายหรือถูกฆ่าตายฟรีไป
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้กระทำรอดคุกไปได้ด้วยประการฉะนี้
2.อย่างไร เรียกว่า “การป้องกัน”
กฎหมายเขียนเรื่องการป้องกันไว้ ดังนี้
“ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
กฎหมายเขียนไว้แค่นี้ การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายมีองค์ประกอบซึ่งจะแยกพิจารณาไว้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้
(1).มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
(2).เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
(3).จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตราย (4).กระทำพอสมควรแก่เหตุ
แยกพิจารณาดังนี้
(1).มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย หมายความว่ามีอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นแล้วและอันตรายนั้นต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ เกิดจากการทำผิดกฎหมายนั่นเอง ถ้าอันตรายไม่ได้เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายก็ไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้
เช่น เกิดภัยธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าผ่าหรือภัยเกิดจากสัตว์ ซึ่งสัตว์ทำผิดกฎหมายไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้เกิดจากการละเมิดกฎ หมายแต่เป็นภัยที่เกิดขึ้นเอง แต่ถ้ามีคนจะมาปล้น มาทำร้ายมาฆ่าเรา อย่างนี้ถือว่ามีคนละเมิดกฎหมาย มีคนทำผิดกฎหมายแล้ว ภัยอย่างนี้เราก็มีสิทธิที่จะทำการเพื่อป้องกันได้
(2).เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
ภัยอันตรายที่เกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายข้อ (1).นั้น ถ้ายังอยู่ห่างจากผู้ที่จะได้รับภัยนั้นกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ทำการป้องกันได้
เช่น ก. ขึ้นไปบนบ้านถือปืน แต่อยู่ห่าง ข. ตั้งสองกิโลเมตร ไม่มีทางที่จะยิงถูก ข. ได้เลยเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก อย่างนี้ ข. ยังไม่มีสิทธิป้องกันตัวเอง จะป้องกันได้เฉพาะที่ภยันตรายใกล้จะถึงเท่านั้น ที่กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้เพราะเห็นว่าเมื่อภัยใกล้จะถึงแล้วหากยังขืนปล่อยให้ภัยเกิดขึ้นก็จะเกิดอันตรายแก่เขาได้ตลอดเวลาทุกวินาที จึงให้สิทธิผู้ที่จะได้รับภัยอันตรายมีสิทธิทำการป้องกันได้ทันทีเมื่อภัยใกล้จะถึง
เช่น ก. ยกปืนจ้องจะยิง ข. ซึ่งยืนอยู่ใกล้กัน หรือ ก. ยกมีดเงื้อจะฟัน ข. หรือถือมีดวิ่งไล่ฟัน ข. อย่างนี้ถือว่าภัยใกล้จะถึง ข. แล้ว ข. จึงมีสิทธิป้องกันตัวเองโดยมีสิทธิที่จะยิงหรือทำร้าย ก. ได้ก่อนที่จะถูก ก. ยิงฆ่าหรือทำร้ายเอา หาก ข. กระทำการป้องกันดังกล่าว ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของ ข. ไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่า ข. จะฆ่าหรือทำร้าย ก. ก็ตาม
ตัวอย่าง ถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน
การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุการณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช.
ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง
พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้
ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง
เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 (ฎีกาที่ 10895/2557)
ตัวอย่าง ถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้หมดไปแล้ว
แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว
จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้
แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72 (ฎีกาที่ 6936/2562)
(3).จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตราย สิทธิของบุคคลมีหลายอย่าง เช่น สิทธิเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียง เสรีภาพ ทรัพย์สิน รวมถึงสิทธิอื่นๆ เช่น ลิขสิทธิ์ เป็นต้น สิทธิเหล่านี้ทุกคนมีสิทธิที่จะป้องกันได้ทั้งนั้น
ป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น การป้องกันสิทธิกฎหมายให้อำนาจป้องกันได้ทั้งสิทธิของตนเองและผู้อื่นด้วย เพราะถือว่าคนเราควรจะมีสิทธิป้องกันสิทธิของคนอื่นได้ด้วย มิใช่เพียงแต่ป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์ได้ช่วยเหลือกัน
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้วว่าเป็นการป้องกันชีวิตร่างกาย เช่น จำเลยเป็นคนชรามาก ผู้ตายเป็นคนหนุ่มอันธพาล ผู้ตายฉุดคร่าลูกสาวของจำเลยถึงใกล้บ้านเรือนและทำท่าจะทำร้ายจำเลยอีก ผู้ตายมีมีดอยู่ในมือ จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 1069 /2503)
ผู้ตายร้องท้าจำเลยให้มาสู้กัน จำเลยไม่สู้ ผู้ตายเงื้อดาบจะฟันจำเลย จำเลยยิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาตัดสินว่าถ้าจำเลยไม่ยิงผู้ตาย ผู้ตายก็จะฟันจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 64/2504)
ตัวอย่าง การป้องกันสิทธิในทรัพย์สิน
เวลา 24.00 น. คนร้ายจูงกระบือออกไปจากใต้ถุนเรือนจำเลย จำเลยร้องถาม คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย จำเลยยิงปืนไปจากบนเรือน 2 นัด ถูกคนร้ายตาย ดังนี้ เป็นการป้องกันทรัพย์สินพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 93/ 2508)
เจ้าของบ้านทราบว่าจะมีคนร้ายมาปล้นจึงให้จำเลยแอบเฝ้าที่ใต้ถุนเรือน เวลา 05.00 น. ผู้ตายกับพวกพากระบือมาที่บ้าน มีคนร้องว่า “ขโมย” จำเลยจึงยิงไปที่ผู้ตายเพราะเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะมาปล้น แม้ว่าจำเลยจะยิงผู้ตายโดยสำคัญผิดว่าผู้ตายเป็นคนร้ายก็ถือว่าเป็นการป้องกันทรัพย์สินพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 261/ 2511)
ตัวอย่าง ป้องกันสิทธิเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง
จำเลยกลับบ้านเห็นผู้ตายกำลังกอดปล้ำเพื่อกระทำชำเราภริยาของจำเลย จำเลยฟันผู้ตาย 2 ทีแล้ววิ่งหนี ผู้ตายคว้ามีดไล่ฟันจำเลย จำเลยหนีไม่พ้นหันมาฟันผู้ตาย 2-3 ที ผู้ตายถึงแก่ความตายถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 273/2510)
เกี่ยวกับการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของภริยาที่มีชู้นั้น แต่ก่อนศาลฎีกาตัดสินว่าการฆ่าชายชู้ตายขณะที่ชายชู้กำลังร่วมประเวณีกับภริยานั้นเป็นการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของสามี แต่ต่อมาปัจจุบันศาลฎีกาได้ตัดสินไปในทางที่ว่าไม่ใช่เป็นการป้องกันเกียรติยศเพราะเกียรติยศนั้นได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยบันดาลโทสะ แปลว่าฆ่าเพราะโกรธแค้นที่ถูกข่มเหงน้ำใจอย่างร้ายแรงโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งการกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะนี้ ศาลจะลงโทษผู้กระทำผิดน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้
ตัวอย่าง ไม่ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม
พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อาญา มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 3583/2555)
ตัวอย่าง เกี่ยวกับการป้องกันสิทธิของผู้อื่น
ผู้เสียหายมักมาขอน้ำของลูกสาวจำเลยกิน ลูกสาวจำเลยเข้าไปในครัวเพื่อจะตักน้ำให้ ผู้เสียหายตามเข้าไปจับมือและกอดลูกสาวของจำเลย จำเลยได้ยินเสียงลูกสาวเรียกให้ช่วยจึงเข้าไปใช้มีดแทงผู้เสีย หาย 2 ครั้งเพื่อให้ปล่อยลูกสาว ผู้เสียหายหันกลับมาจะสู้จำเลย จำเลยจึงแทงไปอีกทำให้ผู้เสียหายบาด เจ็บ ดังนี้ เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่น (ลูกสาวของจำเลย) เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 1698/2512)
การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน และเหตุที่กระสุนปืนลั่นเกิดจากการแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม อันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 17391/2557)
จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยทำร้ายร่างกายหรือฆ่าผู้ที่ละเมิดต่อกฎหมายเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือสิทธิของผู้อื่นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายเหล่านั้นซึ่งจำเลยจะต้องกระทำเพื่อป้องกัน หากไม่ทำแล้วก็อาจมีภัยอันตรายมาถึงจำเลยหรือผู้อื่นได้ กฎหมายจึงได้ให้อำนาจเขาที่จะทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
(4).กระทำพอสมควรแก่เหตุ
องค์ประกอบอีกข้อหนึ่งของการกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นก็คือ ต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ หมายความว่าต้องพอสมควรแก่เหตุแก่เรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าทำการเกินกว่าเหตุก็ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
อะไรจะเป็นการสมควรแก่เหตุ อะไรจะเกินกว่าเหตุนั้นต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ดูจากอาวุธที่กระทำว่าจะพอสมควรกันหรือไม่ เช่น เขาใช้เท้าเตะ ใช้มือต่อยเรา แต่เรากลับใช้ปืนยิงหรือใช้ระเบิดป้องกัน เห็นได้ว่ามันไม่สมควรแก่เหตุ มันเกินไป แต่ถ้าเขาจะใช้มีดแทงเรา เราใช้มีดแทงเขาหรือใช้ปืนยิงเขา อาวุธที่ใช้กระทำทั้งสองฝ่ายอาจจะทำให้แต่ละฝ่ายถึงตายได้ ก็ถือเป็นการใช้อาวุธที่พอสมควรกัน เรียกได้ว่า “พอสมควรแก่เหตุ”
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ “พอสมควรแก่เหตุ”
ผู้ตายบุกรุกขึ้นไปบนเรือนจำเลย เงื้อมีดเข้าไปที่จำเลยนั่งอยู่ จำเลยเข้าแย่งมีดมาได้ ทั้งสองฝ่ายเข้าต่อสู้กันจำเลยใช้มีดนั้นแทงผู้ตายไปทันทีรวม 2 ครั้ง ถูกหน้าอกเหนือราวนมจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 94/2513)
เวลากลางคืนจำเลยถูกรุมทำร้ายด้วยไม้และมีด จำเลยจึงใช้ปืนยิงไปยังกลุ่มที่ทำร้าย กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 600/2509)
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้วว่าเป็นการกระทำที่ “เกินกว่าเหตุ” ถือว่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ตายบุกรุกเข้ามาในบ้านโดยไม่มีอาวุธ จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ (ฎีกาที่ 527/2485)
ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายต่อจำเลยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้โดยวิ่งหลบหนี แต่ผู้ตายซึ่งถือขวดกับพวกยังคงวิ่งไล่ตามจำเลยและผู้ตายจะขว้างขวดใส่จำเลย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน
หากผู้ตายขว้างขวดใส่จำเลยอาจทำให้จำเลยได้รับอันตรายได้ หรือหากวิ่งทันจำเลยก็อาจทำร้ายจำเลยได้ ภยันตรายที่เกิดจากผู้ตายจึงยังไม่หมดไป จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้แต่จำเลยมีอาวุธปืนที่ร้ายแรงกว่า จำเลยจึงอาจยิงขู่หรือเลือกยิงร่างกายส่วนที่สำคัญน้อยหรือเป็นอันตรายน้อยเพื่อยังยั้งผู้ตายกับพวกมิให้เข้าทำร้ายจำเลย แต่จำเลยกลับยิงผู้ตายบริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อาญา มาตรา 69 (ฎีกาที่ 5544/2553)
3.ผลของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ผู้กระทำจึงไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย เช่น ใครจะมาฆ่าเรา เราก็ฆ่าเขาก่อน ใครถือปืนเข้าปล้นบ้านเรา เราก็มีสิทธิที่จะยิงคนร้ายเพื่อป้องกันทรัพย์สินของเราได้ คนร้ายที่ยิงต่อสู้กับตำรวจ ตำรวจก็มีสิทธิป้องกันตัวโดยยิงคนร้ายตายได้โดยไม่ผิดต่อกฎหมาย
แต่การที่เราทำให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่บุคคลเพราะการกระทำของเราแม้จะไม่ผิดกฎหมายเลย แต่ตำรวจก็มีสิทธิจะดำเนินคดีแก่เราได้ ส่วนเราจะผิดหรือไม่ผิดก็ต้องพิสูจน์กันอีกที เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเราพิสูจน์ได้เราก็จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา
ตัวอย่าง
ก. ข. ค. มีปืนเข้าปล้นบ้านเรา เรายิงฆ่าคนร้าย ก. ข. ค. ตาย ซึ่งความจริงแล้วเรากระทำการป้องกันทรัพย์สินของเราโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของเราไม่ผิดกฎหมายเลย แต่เมื่อเราฆ่าคนตายแล้วตำรวจก็มีสิทธิที่จะจับกุมเราเป็นผู้ต้องหาดำเนินคดีฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้ ตำรวจก็จะทำการสอบสวนรวบรวมพยาน หลักฐาน
ถ้าปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า ก. ข. ค. มันเป็นคนร้ายมีปืนบุกเข้าปล้นเราจริง เราจึงยิงฆ่า ก. ข. ค. ตายเพื่อป้องกันทรัพย์สินของเราจริง ตำรวจเขาก็จะสั่งไม่ฟ้องเราในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะเห็นว่าเรากระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ถ้าตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการ อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไป เพราะเห็นว่าเราทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าอัยการฟ้องเราต่อศาลหรือญาติ ก. ข. ค. คนตายฟ้องเราต่อศาลฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เราก็เอาพยานบุคคลไปสืบที่ศาลแสดงให้ศาลเห็นว่าเราฆ่า ก. ข. ค. เพราะป้องกันทรัพย์สินของเรา เราไม่ผิดกฎหมาย ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไป
เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีการจับกุมฟ้องเราต่อศาล ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเราได้ทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ศาลก็จะปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไปในที่สุด
4.ป้องกันเกินกว่าเหตุมีสิทธิรอดคุกหรือไม่
อย่างที่ได้บอกแล้วว่าจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องป้องกันพอสมควรแก่เหตุจึงจะไม่ผิดกฎหมาย ถ้าป้องกันเกินแก่เหตุแล้วจะผิดกฎหมายทันที เช่น เขาต่อยเราแต่เรากลับใช้มีด ใช้ปืนฆ่าเขา อย่างนี้เรียกว่าเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ เป็นความผิดตามกฎหมาย ถ้าเราทำให้เขาบาดเจ็บเราก็ผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ ถ้าทำให้เขาตายก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาจะต้องรับโทษตามกฎหมาย
แต่คำถามที่ว่าป้องกันเกินกว่าเหตุนั้นมีสิทธิรอดคุกได้หรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่ามีสิทธิรอดคุกได้ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ
ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า “ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดจากความตื่นเต้น ความตกใจ ความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”
ตัวอย่างที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุ เช่น เขาผลักอกเราแล้วเราแทงเขาตาย เขาด่าเรา เราจึงใช้ปืนยิงเขาตาย ดังนี้ถือว่า “กระทำเกินสมควรแก่เหตุ”
ตัวอย่างที่การกระทำเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำ คือ ไม่จำต้องกระทำถึงขั้นนั้นแต่ได้กระทำเกินความจำเป็น เช่น คนร้ายทิ้งควายที่ขโมยแล้วได้วิ่งหนีไปโดยคนร้ายไม่มีอาวุธอะไร เรากลับใช้ปืนยิงข้างหลังคนร้าย อย่างนี้ก็เรียกว่าทำไปโดยเกินความจำเป็นที่ต้องทำแล้ว
คงเห็นแล้วว่าการที่ทำการป้องกันเกินกว่าเหตุหรือเกินความจำเป็นต้องทำนั้นผิดกฎหมายก็จริงแต่กฎหมายก็ยังปรานีให้ จึงให้ศาลมีอำนาจ 2 ประการ คือ (1).ลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
(2).ไม่ลงโทษเลยก็ได้
แยกพิจารณาดังนี้
(1).ลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กฎหมายกำหนดโทษไว้คือประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี หมายความว่า ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกต้องจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 20 ปี คือศาลจะจำคุกต่ำกว่า 15 ปีไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับโทษอย่างต่ำไว้เช่นนั้น
แต่ถ้าเป็นการฆ่าคนตายโดยป้องกันเกินกว่าเหตุ ศาลมีอำนาจจะลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ คือ จะจำคุกจำเลยต่ำกว่า 15 ปีก็ได้ อาจจะ 1 ปี 2 ปี หรือวันเดียวหรือรออาญาแก่จำเลยก็ได้ จำเลยที่ทำผิดเพราะป้องกันเกินกว่าเหตุ จึงมีสิทธิรอดคุกได้ด้วยประการฉะนี้
(2).ศาลจะไม่ลงโทษจำเลยก็ได้
กรณีที่จะไม่ลงโทษจำเลยนั้นเฉพาะที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นเพราะความตื่นเต้น ตกใจหรือกลัว เช่น เห็นคนเอาลูกระเบิดปลอมมาทำท่าจะขว้างใส่เรา เรานึกว่าเป็นระเบิดจริง เราตกใจหรือกลัวเลยโยนระเบิดจริงใส่ผู้ตายไป หรือผู้หญิงอยู่บ้านคนเดียว ผู้ชายหลายคนบุกรุกเข้ามาในบ้านทำท่าจะข่มขืน ผู้หญิงตกใจกลัวจึงยิงผู้ชายเหล่านั้นตาย
หรือเกิดความตื่นเต้น เช่น คนร้ายพูดว่า “กูจะฆ่ามึง” เราตื่นเต้นสุดขีดโดยไม่ได้ดูให้ดีเสียก่อนว่าคนร้ายพูดขู่เล่นเท่านั้น เราจึงฆ่าคนร้ายตาย อย่างนี้ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำเลยก็ได้ สรุปได้ว่าคนที่กระทำโดยป้องกันเกินกว่าเหตุมีสิทธิรอดคุกได้มาก
5.สำคัญผิดว่าป้องกันได้จึงทำการป้องกันไป จะผิดหรือไม่
หลักกฎหมายเรื่องการกระทำโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าถ้าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริงจะทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง ถ้าข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดหรือได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลง
สรุปง่ายๆ ว่าถ้าผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเขาจะได้รับความปรานีจากกฎหมายเหมือนกับที่เขากระทำไป แม้ไม่ได้สำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั้น
ตัวอย่าง สำคัญผิดแต่การกระทำไม่เป็นความผิด
หนึ่งกับพวกรวม 3 คน ถือปืนวิ่งเข้ามาในบ้านสองในยามวิกาล สองสำคัญผิดว่าหนึ่งกับพวกจะเข้ามาปล้นบ้านตน สองใช้ปืนยิงหนึ่งกับพวกถึงแก่ความตายทั้งสามคน ดังนี้ถือว่าการกระทำของสองเป็นการป้องกันทรัพย์สินโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.อาญา มาตรา 68 แม้สองจะสำคัญผิดว่าหนึ่งกับพวกจะเป็นคนร้ายก็ตาม การกระทำของสองไม่ผิดกฎหมาย
ตัวอย่าง สำคัญผิดแต่การกระทำนั้นกฎหมายยกเว้นโทษให้
หนึ่งแสดงภาพยนตร์ถือปืนวิ่งไล่ยิงสอง วิ่งมาทางที่สามยืนอยู่ สามสำคัญผิดว่าเขาไล่ยิงกันจริงกลัวจะถูกลูกหลงจากกระสุนปืนจึงวิ่งหนีถีบประตูบ้านหลังหนึ่งเสียหาย ดังนี้ถือว่าสามสำคัญผิดว่าต้องหนีภัยจึงกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยความจำเป็น ถือว่าสามกระทำผิดด้วยความจำเป็นได้รับการยกเว้นโทษตาม ป.อาญา มาตรา 67
สรุปก็คือถ้าสำคัญผิดว่าต้องป้องกันและกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิและชีวิตโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของเขาก็ไม่ผิดกฎหมาย
ตัวอย่าง ศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับการป้องกันโดยสำคัญผิด
คนร้ายเข้าไปแทงนกในนาของจำเลย จำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักข้าวในนาของจำเลย จำเลยจึงยิงคนร้ายไปเพราะสำคัญผิด เป็นป้องกันทรัพย์สินไม่ผิดกฎหมาย (ฎีกาที่ 614/2456)
จำเลยเคยถูกปล้นเพราะผู้ร้ายปลอมตัวเป็นตำรวจมาครั้งหนึ่งแล้ว วันเกิดเหตุตำรวจมีหมายค้น หมายจับจะเข้าจับกุมจำเลยโดยปีนรั้วเข้ามาในบ้านจำเลยเวลากลางคืน จำเลยสำคัญผิดคิดว่าตำรวจเป็นพวกปล้นจึงยิงตำรวจจนบาดเจ็บ ถือว่าเป็นการป้องกันไม่ผิดกฎหมาย (ฎีกาที่ 155/2512)
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยนอนในเปลที่ขนำในนากุ้งเพื่อเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์แล่นผ่านเข้ามาใกล้ก็ใช้สปอทไลท์ส่องซึ่งจะทำให้ผู้ที่ผ่านมาทราบว่ามีผู้เฝ้าดูแลอยู่ในบริเวณนั้น อันเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน
แต่โจทก์ร่วมกลับขับรถแล่นเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรทั่วไป แต่เป็นถนนทางเข้านากุ้งในยามวิกาลเวลาประมาณ 3 นาฬิกา แล้วชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าขนำ ย่อมทำให้จำเลยตกใจกลัวและสำคัญผิดว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากคนร้ายที่มุ่งเข้าทำร้ายตน
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าก่อนและยิงอีก 1 นัด ในระยะเวลาที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันขณะ ช. และโจทก์ร่วมกำลังเปิดประตูรถออกมา ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในรถมีอาวุธหากจำเลยช้าเพียงเล็กน้อย จำเลยก็อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้นแก่ตนและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
อีกทั้งหลังจากจำเลยยิงปืนนัดที่สองไปแล้ว จำเลยก็วิ่งหลบหนีไปในทันทีโดยมิได้ยิงหรือทำร้ายโจทก์ร่วมหรือ ช. ซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและลงมาจากรถแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก(ฎีกาที่ 2550/2553)
6.สมัครใจต่อสู้กันเป็นการป้องกันหรือไม่
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องมีคนอื่นมาทำผิดกฎหมายให้แก่เราหรือคนอื่น โดยที่เราเองไม่ได้ร่วมทำผิดกฎหมายด้วย เราจึงจะมีสิทธิป้องกันตัวได้ ถ้าเราทำผิดกฎหมายหรือเข้าร่วมกระทำผิดกฎหมายกับเขาด้วยแล้ว แสดงว่าเรามีเจตนาชั่วร้ายที่จะทำผิดกฎหมายมาแต่ต้น กฎหมายจะไม่ช่วยคนประเภทนี้ เราจึงไม่มีสิทธิจะทำการป้องกันได้
เช่น ถ้าสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ฝ่ายใดจะอ้างว่าป้องกันไม่ได้
ตัวอย่างศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับการป้องกันตัวและการสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ก. ถืออาวุธวิ่งเข้ามาจะทำร้าย ข. ข. ถืออาวุธวิ่งเข้าจะทำร้าย ก. ต่างคนต่างสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ทั้งสองฝ่ายผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดจะอ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้ (ฎีกาที่ 1027/2498)
จำเลยโกรธผู้เสียหาย ถือปืนไปร้องด่าท้าทายผู้เสียหายที่บ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายเดินถือเสียมลงมาจากบ้านมาหาจำเลยในลักษณะจะต่อสู้กับจำเลย จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายบาดเจ็บ ดังนี้ เป็นเรื่องสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กัน จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย จะอ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้ (ฎีกาที่474/2516)
การที่จำเลยพกมีดปลายแหลมไปตามหาผู้เสียหายที่บ้าน เพราะโกรธผู้เสียหายที่ไปทำร้าย ส. บุตรเขยจำเลย เมื่อผู้เสียหายได้ยินจึงเดินออกจากบ้าน แล้วต่างฝ่ายต่างเดินเข้าหากัน ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยไป 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจวิวาทกับผู้เสียหาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 935/2554)
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงต้องเกิดขึ้นโดยผู้ป้องกันไม่ได้เริ่มทำผิดกฎหมายด้วยแต่เกิดขึ้นเพราะมีคนอื่นมาทำผิดกฎหมายต่อเราหรือต่อผู้อื่น เราจึงมีสิทธิป้องกันได้
ก็ขออวยพรให้คนที่ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายทุกท่านจงพ้นภัยใดๆ และจงรอดคุกรอดตะรางโดยทั่วกัน แต่ถ้าไม่ใช่ป้องกันและผิดกฎหมาย ขออนุญาตไม่อวยพร
ถาม : ตัดสินถูกยังไง ฆ่าคนตายตั้งสิบคน
ตอบ : ฆ่าร้อยคนก็ไม่ผิด เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
………………………….
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย