6 ส.ค. เวลา 02:14 • ศิลปะ & ออกแบบ

Anish Kapoor ประติมากรแห่งยุคสมัยใหม่ ผู้ตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของวัตถุ

เราเคยพูดถึงผลงานจากประติมากร (ผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรม) ยุคคลาสสิคมาหลายผลงานแล้ว คราวนี้เราจะขอเล่าถึงหนึ่งในประติมากรยุคสมัยใหม่กันบ้าง คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อของเขาซักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าใครหลายๆ คนที่ชอบเสพงานศิลปะ จะต้องเคยเห็นผลงานของเขามาบ้างไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ชื่อของเขาก็คือ ‘Anish Kapoor’ นั่นเอง !!!
Arnish Kapoor เป็นหนึ่งในประติมากรที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศิลปะสมัยใหม่ เขาสร้างชื่อเสียงมาจากการสร้างสรรค์ประติมากรรมให้กับพื้นที่สาธารณะต่างๆ มากมายทั่วโลก โดยผสมผสานรูปทรงต่างๆ เข้ากับความท้าทายทางด้านวิศวกรรม การทดลองใช้วัสดุ และวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชม เป็นการพลิกชีวิตที่ให้ความหมาย และมุมมองใหม่แก่พื้นที่สาธารณะนั้นอย่างแท้จริง
ในวันนี้ Art of ก็จะขอมาเล่าเรื่องราวชีวิต และผลงานของผู้สร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ให้กับวงการประติมากรรมอย่างต่อเนื่องอย่าง “Anish Kapoor” ศิลปินประจำเดือนสิงหาคมในซีรีส์ Designer / Architect of the Month กันเลย
จากเฟรมวาดภาพของแม่ การเป็นวิศวกรไฟฟ้า สู่การเป็นศิลปิน
Anish Kapoor (อนิช คาพัวร์) เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1954 ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เขาเป็นลูกชายคนโตในพี่น้องสามคน พ่อของเขาเป็นชาวปัญจาบ ทำงานเป็นนักอุทกศาสตร์ (นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมหาสมุทร หรือ แม่น้ำ) และนักฟิสิกส์ประยุกต์ของกองทัพเรืออินเดีย ส่วนแม่เป็นชาวยิว-อิรัก ที่อพยพมา เธอมีกิจการเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และมักใช้เวลาว่างไปกับการวาดภาพ ซึ่งตัวอนิชในวัยเด็กเองก็วาดรูปร่วมกับแม่ด้วย และเริ่มแสดงความสนใจในศิลปะตั้งแต่นั้น
ครอบครัวของอนิชมีความทันสมัย และหัวก้าวหน้า โดยพวกเขาได้ส่งลูกๆ เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำชายล้วนระดับสูงในเมืองเดห์ราดูน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมตะวันตกมากพอๆ กับประเทศของตัวเอง แต่นั่นก็ทำให้อนิชในวัยเด็กรู้สึกเป็นคนนอกในสังคมอินเดีย และสะสมความรู้สึกนี้เรื่อยมาจนถึงขั้นต้องได้รับการบำบัดในช่วงวัยรุ่น
ในที่สุดอนิชในวัย 17 ปี และน้องชายก็ย้ายมาเรียนที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งเขาเลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า แต่หลังจากที่เรียนไปได้ 6 เดือนเขาก็ลาออก เพราะตัวเขาไม่ถนัดด้านคณิตศาสตร์เท่าไหร่นัก และตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางของศิลปินแทน
ในปี 1973 อนิชก็ได้ศึกษาด้านศิลปะที่ Hornsey College of Art ในประเทศอังกฤษ เขาได้พบกับ Paul Neagu ศิลปิน และ อาจารย์ที่แนะนำให้เขาทำงานทางด้านประติมากรรม หลังจากนั้นอนิชก็เรียนต่อปริญญาโทที่ Chelsea School of Art and Design และกลายเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Wolverhampton Polytechnic ในปี 1979 จากนั้นจึงเป็นศิลปินพำนักของ Walker Art Gallery ที่ลิเวอร์พูลในปี 1982
การมีที่ไม่มีของวัตถุ
อนิช คาพัวร์ เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงปี 80 โดยช่วงแรกงานของเขามักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือ รูปทรงธรรมชาติต่างๆ แบบเรียบง่าย โดยใช้วัสดุทั่วไปสำหรับงานประติมากกรรมอย่างหินแกรนิต หินอ่อน หรือ ปูนพลาสเตอร์ ซึ่งมักจะใช้สีผงสีเดียวทั่วชิ้นงาน ทั้งสีขาว ดำ หรือ สีสดๆ เพื่อกำหนดขอบเขตของผลงาน เช่นผลงาน 1000 Names (1979-1981)
ในช่วงปลายปี 80 จนถึง 90 อนิชได้ทดลองเกี่ยวกับการมี และไม่มีของวัตถุ โดยมักจะจัดวางให้มีระยะที่ห่างกัน เพื่อสร้างมวลที่มองไม่เห็นระหว่างพื้นที่ เขาเริ่มใช้หินแบบที่ยังเก็บพื้นผิวตามธรรมชาติเอาไว้ และมักจะสื่อสารถึงสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน เช่น แผ่นดิน – ท้องฟ้า, ความมืด – ความสว่าง, ชาย – หญิง, การมองเห็น – การมองไม่เห็น, หรือ ร่างกาย – จิตใจ
เขาเคยคิดว่าวันหนึ่งเขาจะสร้างผลงานแบบที่ไม่ต้องสร้างอะไรเลยเหมือนที่มนุษย์มองเห็นความว่างเปล่าทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นมันไม่มีอะไรเลย
ความเรียบง่ายที่สะท้อนอย่างบิดเบือน
ต่อมาตั้งแต่ปี 1995 อนิชก็เริ่มสร้างสรรค์ผลงานจากกระจกสะท้อน สแตนเลสขัดเงา และ วัสดุสะท้อนแสง หรือ พื้นผิวเงาต่างๆ เพื่อสะท้อน และบิดเบือนการมองเห็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์ งานยุคนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับอนิชอย่างมาก
งานของเขาเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไม่ว่าจะเรื่องขนาดของผลงาน หรือ พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานที่หลากหลายมากขึ้น เขาได้มีโอกาสสร้างผลงานขนาดใหญ่หลายชิ้นตั้งแต่ยุคนั้น เช่น Taratantara (1999), Sky Mirror (2001), Marsyas (2002), Cloud Gate (2006) และ Tall Tree and the Eye (2009) ซึ่งนำมาสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พื้นที่-ศิลปะ-ผู้คน ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
อีกหนึ่งวัสดุที่สร้างชื่อเสียงให้กับอนิชก็คือ ขี้ผึ้งสีแดง โดยเขาเริ่มใช้ในผลงานตั้งแต่ปี 2007 เพื่อสื่อถึง เลือดเนื้อ และการเปลี่ยนแปลง เช่น Svayambhu (2007), Push-Pull (2008) และ Shooting into the corner (2008) ซึ่งผลงานเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถาม และการตีความหาคำตอบของแต่ละคนที่มาเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก
ผลงานของอนิชได้ถูกนำไปจัดแสดงอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งการสร้างผลงานใหม่เพื่อพื้นที่นั้น หรือการนำผลงานที่ประสบความสำเร็จไปจัดแสดง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนผลงานของเขาก็จะนำปฏิสัมพันธ์ ประสบการณ์ และคำถามไปสู่ผู้คนในพื้นที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ
ตำนานประติมากรที่ยังมีลมหายใจ
อนิช คาพัวร์ เป็นศิลปินคนแรกที่ยังมีชีวิตที่ได้จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ Royal Academy ที่กรุงลอนดอน และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ระดับที่ 3 (CBE) จากคุณูปการทางด้านทัศนศิลป์ในปี 2003 และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินในปี 2013 นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในปี 2014 อีกด้วย
ตลอดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของอนิช คาพัวร์ เขาได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั่วโลกตั้งแต่ รางวัล Premio Duemila จากงาน XLIV Venice Biennale ในปี 1990, รางวัล Turner Prize ในปี 1991, รางวัล Praemium Imperiale ในปี 2011 และรางวัล Genesis Prize ประจำปี 2017 จากการเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพล และสร้างนวัตกรรมทางศิลปะมากที่สุดในยุคสมัยของเขา และให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัย และผู้ผลัดถิ่นตลอดมา
Cloud Gate (2004-2006)
ถ้าจะให้พูดถึงผลงานของ อนิช คาพัวร์ ที่มีอยู่มากมายทั่วโลกทุกชิ้นก็คงจะยาวเกินไปหน่อย เราจึงขอเลือกมาเล่าแค่บางส่วน ซึ่งชิ้นแรกนั้นจะเป็นชิ้นไหนไปไม่ได้เลยนอกจาก ‘Cloud Gate’ หรือที่มีชื่อเล่นอีกอย่างว่า The Bean ที่คนส่วนใหญ่มักจะได้เห็นผ่านตาทางภาพยนตร์ หรือ ภาพถ่ายของเพื่อนซักคนที่ไปเที่ยวในชิคาโก โดยผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ใน Millenmium Park รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นลานรถไฟ และลานจอดรถ ก่อนที่จะมีแผนพัฒนาเป็นสวนในปี 1999 โดยทางโครงการก็ได้มีการจัดประกวดเพื่อหาศิลปินที่จะมาสร้างประติมากรรมชิ้นเอกที่จะมาตั้งอยู่ในสวนนี้เพื่อดึงความสนใจให้คนเข้ามาบริเวณพื้นที่ ซึ่งอนิชเป็นผู้ชนะจากศิลปินที่ได้รับการรับเลือกมาอีก 30 คน
อนิช ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘หยดปรอทเหลว’ โดยเขาตั้งใจให้ผลงานชิ้นนี้สะท้อน และบิดโค้งแนวเส้นขอบฟ้า เมือง และสวน เพื่อสร้างมุมมอง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ และผู้คนผ่านเงาสะท้อนที่เหมือนไม่มีที่สิ้นสุดรอบผลงาน แล้วนอกจากนี้ก็ยกตรงกลางขึ้นเพื่อให้คนสามารถเดินผ่านไปมาเหมือนซุ้มประตู ทำให้บริเวณท้องด้านใต้ของผลงานจะเป็นจุดที่สะท้อนและหักเหมากที่สุด ทำให้เกิดมุมมองแปลกใหม่ จนกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของผู้ที่มาเยี่ยมชม
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นผลงานที่เกือบจะไม่ได้สร้างเนื่องจากหาวิธีทำไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วงานชิ้นนี้ก็สำเร็จในปี 2006 แต่ว่าก็ล่าช้ากว่าวันที่สวนแห่งนี้เปิดไปราวๆ 2 ปี โดยงานชิ้นนี้สร้างขึ้นโดยแผ่นสแตนเลสมากกว่า 168 แผ่นเชื่อมเข้าด้วยกัน และขัดเงาจนมองไม่เห็นเส้นเชื่อม ซึ่งขนาดที่วัดได้คือ 10 x 20 x 13 เมตร เป็นหนึ่งในประติมากรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนมาถึงปัจจุบัน
หลังจากสร้างเสร็จสวน Millennium Park และ Cloud Gate เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนมาเยี่ยมชมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของชิคาโก โดยได้รับเสียงตอบรับอย่างดีทั้งคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว และเนื่องจากกระแสตอบรับที่ดีมาตลอดมากกว่า 20 ปี เจ้าถั่วนี้ก็เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาอีกชิ้นเพื่อเป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกที่ในนิวยอร์คเมื่อปีที่ผ่านมาโดยมีชื่อเล่นว่า ‘Mini Bean’
Dismemberment, Site 1 (2009)
หากจะให้แปลชื่อผลงานนี้เป็นไทยก็คือ ‘การแยกส่วน’ นั่นเอง ซึ่งงานสไตล์นี้จะเห็นไปติดตั้งในหลากหลายสถานที่ แต่เราจะมาพูดถึงสถานที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือบนฟาร์ม Gibbs ที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาในประเทศนิวซีแลนด์ โดยเจ้าของฟาร์มก็คือ Alan Gibbs ซึ่งเป็นนักธุรกิจ และนักสะสมผลงานศิลปะนั่นเอง
อนิชตั้งใจที่จะแยกความหมายของคำว่า ‘ภูมิประเทศ’ กับ ‘แผ่นดิน’ ออกจากกัน สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในท้องที่ แผ่นดินจะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเชื่อเสมอ ซึ่งเขาได้ตั้งใจเชื่อมโยงประติมากรรมที่เขาสร้างเข้ากับแผ่นดิน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงการแยกส่วน เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของศิลปะ พื้นที่ และภูมิประเทศในแต่ละสถานที่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ผลงานที่เหมือนปากทรัมเป็ต 2 ฝั่งที่วางพาดผ่านแนวเนินเขานี้มีขนาดใหญ่ราวๆ 25 x 84 x 25 เมตร ทำมาจากโครงเหล็ก และขึงด้วยผ้าสังเคราะห์ชนิดพิเศษ ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ นอกจากสีแดงที่ตัดกับสภาพแวดล้อมแล้ว ด้วยรูปทรงที่แตกต่างกันของปากทั้ง 2 ฝั่งยังกลายเป็นตัวขยายเสียงของธรรมชาติในเวลาที่มีลมพัดผ่านอีกด้วย
Svayambhu (2007-2009)
หนึ่งในจุดเด่นของผลงานของอนิชก็คือการใช้ ‘สีแดง’ ซึ่งเราจะเห็นตั้งแต่งานยุคแรกที่เป็นผงสี จนมาเป็นขี้ผึ้งในยุคหลัง ซึ่ง Svayambhu เป็นผลงานชิ้นแรกที่ใช้ขี้ผึ้งสีแดง โดยจัดแสดงที่ Nantes Musée des Beaux-Arts ในงาน Biennale estuaire อีกครั้งที่ Haus der Kunst ในมิวนิค ประเทศเยอรมนี และ ที่ Royal Academy ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ
‘Svayambhu’ มีความหมายว่า ‘การเกิด การสร้าง การคงอยู่ด้วยตัวเอง’ ในภาษาสันสกฤต อนิชใช้ขี้ผึ้งสีแดงสื่อถึง ‘เลือดเนื้อและการกลายสภาพ’ เขาใช้ก้อนขี้ผึ้งสีแดงขนาดใหญ่กว่า 1.5 เมตร เคลื่อนตัวบนรางอย่างช้าๆ กลับไปกลับมาผ่านกรอบประตูทำให้ก้อนขี้ผึ้งค่อยๆ ถูกกรอบประตู และรางที่พื้นขูดเอาส่วนเกินออกไป จนมีกองสีแดงเหนียวที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเกาะอยู่ตามขอบของงาน
และจากการที่ไปจัดมาหลายต่อหลายที่ ลักษณะของกรอบประตูในแต่ละพื้นที่จัดแสดงที่ต่างกัน ก็ทำให้เกิดลักษณะของผลงานที่ต่างกัน เหมือนกับการที่เราเติบโต และถูกขัดเกลาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
Descent into Limbo (1992)
หนึ่งในผลงานของอนิช คาพัวร์ที่ถูกสร้างสรรค์มานานแล้วแต่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากที่เขาได้ตัดสินใจนำมันมาทำใหม่ด้วยเทคโนโลยีสีดำที่ดำที่สุดในโลกอย่าง ‘Ventablack’ ซึ่งนี่กลายเป็นที่ถกเถียงกันในวงการศิลปะทันที เนื่องจากเขาได้ทำข้อตกลงซื้อสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการใช้สีชนิดนี้ในงานศิลปะ
หลุมสีดำลึก 2.5 เมตรนี้ถูกจัดแสดงอยู่ในอาคารบริเวณสวนของ Serralves Museum ประเทศโปรตุเกส โดยตั้งใจขุดหลุมแล้วทาสีเป็นสีดำทั้งหมดเพื่อจำลองให้เห็นถึงการมี-ไม่มี ผ่านประติมากรรมที่เหมือนหลุมไร้ก้น ที่ในขณะเดียวกันก็ยังลวงตาผู้มาเยี่ยมชมว่านี่คือวงกลมสีดำธรรมดาที่ถูกทาบนพื้นเรียบๆ
Sky Mirror (2001)
เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่ถูกนำไปจัดแสดงตามพื้นที่ต่างๆ มากที่สุดของอนิชก็ว่าได้ ตั้งแต่อังกฤษ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย โมนาโค และเคยมาจัดแสดงที่บ้านเราด้วย
เจ้าสแตนเลสเว้าขนาดใหญ่ 6 เมตร หนักราวๆ 10 ตัน ที่แหงนหน้าขี้นฟ้านี้ ถูกจัดแสดงครั้งแรกที่หน้าโรงละคร ในเมือง Nottingham ประเทศอังกฤษ ในปี 2001 เพื่อนำภาพของท้องฟ้า สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมลงมาสู่พื้นดิน เป็นการสร้างภูมิทัศน์ใหม่จากประติมากรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ และสภาพแวดล้อมได้ตลอดเวลา
ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานที่เกิดจากความสนใจเรื่องการมี-ไม่มีของวัตถุจากตัวอนิช เพราะสิ่งที่คนมองเห็นจากประติมากรรมชิ้นนี้ ไม่ใช่ตัวสแตนเลสที่เป็นชิ้นงาน แต่เป็นเงาที่สะท้อนจากรอบตัวมันเอง และถ้ามองจากระยะไกลซักหน่อย ภาพสะท้อนนี้ก็เหมือนกับหลุมที่ลอยอยู่เหนือพื้นที่เหมือนจะพาเราทะลุไปที่ไหนซักแห่งได้
อีกหนึ่งสถานที่ตั้งที่น่าสนใจ และให้มิติใหม่ๆ แก่ผลงานชิ้นนี้ก็คือบริเวณตึก Rockefeller ในนิวยอร์ก โดยนอกจากที่จะสะท้อนภาพของผืนฟ้า และยอดตึกระฟ้าของเมืองผ่านด้านเว้าของงานแล้ว ก็ยังมีด้านนูนด้านหลังที่สะท้อนภาพของตัวผู้ชมผลงานเอง และผู้คนที่เดินไปมา เป็นภาพที่สะท้อนบรรรยากาศผ่านชีวิต และพลังงานจากผู้คนซึ่งเป็นตัวตนของมหานครนิวยอร์ก
นอกจากนี้ในพื้นที่ใหม่ๆ ที่นำ Sky Mirror ไปตั้งแสดง ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น การเปลี่ยนรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกของภาพสะท้อนเปลี่ยนไปอีกด้วย
โฆษณา