5 ส.ค. เวลา 12:58 • ประวัติศาสตร์

ยีเอ๋ง ผู้ไม่ยอมให้หยาดเหงื่อแก่ความทนยศ

เกริ่นนำ ยีเอ๋งเกิดเมื่อราวปี 173 ที่อำเภอปาน เมืองเพงงวนก๋วน ในช่วงต้นทศวรรษ 190 ยีเอ๋งเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างพากันอพยพหนีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น เขาตั้งถิ่นฐานในเกงจิ๋ว (ครอบคลุมมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และเข้ารับราชการกับเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว
ราวปี 196 ยีเอ๋งมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนักที่โจโฉสถาปนาขึ้นที่เมืองฮูโต๋ ยีเอ๋งมีความสนิทสนมกับขงหยง ปราชญ์คนสำคัญ ซึ่งเขียนหนังสือแนะนำตัวเขาให้เข้ารับราชการและส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของโจโฉ ยีเอ๋งเดินทางกลับเกงจิ๋วในปี 197 เขาอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในอีก 1–2 ปีต่อมา
แม้ว่า ยีเอ๋งจะเป็นที่รู้จักในฐานะกวีและนักเขียนที่มีพรสวรรค์ แต่เขากลับมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด ชอบพูดตลกขบขันอย่างไม่เหมาะสม และแสดงท่าทีเย่อหยิ่งจนยากต่อการเข้าสังคม สร้างความสงสัยให้กับบางคนถึงสภาพจิตของเขา
เมื่อมาถึงเมืองฮูโต๋ในปี 196 ขงหยงพูดยกย่องยีเอ๋งต่อหน้าโจโฉ โจโฉจึงเชิญยีเอ๋งมาพบ อย่างไรก็ตาม ยีเอ๋ง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโจโฉ และไม่ยอมเข้าพบ โจโฉโกรธยีเอ๋งแต่ไม่ลงโทษเพราะพรสวรรค์ของเขา ยีเอ๋งขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการตีกลอง จึงได้รับคำเชิญจากโจโฉ
ให้ร่วมแสดงโชว์การตีกลองร่วมกับมือกลองคนอื่น ๆ ในงานเลี้ยง โจโฉมอบชุดพิเศษให้กับมือกลองได้สวมใส่ แต่ยีเอ๋งไม่ยอมใส่และสวมใส่ชุดของตัวเองเมื่อแสดงต่อหน้าโจโฉและแขกคนสำคัญ เขาถูกคนรับใช้ตำหนิเรื่องการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม ยีเอ๋งเปลือยกายอย่างช้า ๆ ต่อหน้าโจโฉและแขกคนสำคัญ เขาค่อย ๆ สวมชุดมือกลองและเล่นต่อโดยไม่แสดงอาการเขินอาย ขงหยง จัดการให้ยีเอ๋งได้พบกับโจโฉอีกครั้ง แต่ยีเอ๋งกลับประพฤติตนไม่เหมาะสมดังเดิม โจโฉจึงส่งยีเอ๋งกลับคืนสู่เล่าเปียว
ขอเพิ่มเติมว่า ครั้งหนึ่งมีคำพูดของยีเอ๋งที่พูดเชิงตำหนิแม่ทัพนายกองและที่ปรึกษาของโจโฉว่า
"ซุนฮกนั้นหน้าเหมือนหนึ่งจะร้องไห้ชอบแต่ให้เยี่ยมไข้ส่งสักการศพ"
"ซุนฮิวนั้นชอบแต่ให้เป็นสัปเหร่อรักษาศพ"
"เทียหยกนั้นชอบแต่ใช้ให้เฝ้าจำหล่อ"
"กุยแกนั้นชอบแต่ให้แต่งโคลงแลอ่านบัตรหมาย"
"เตียวเลี้ยวนั้นชอบแต่ให้ตีกลองแลระฆัง"
"เคาทูนั้นชอบแต่ให้เลี้ยงวัวแลม้า"
"ลิเตียนนั้นชอบแต่ให้อ่านฟ้อง"
"งักจิ้นนั้นชอบแต่ให้เดินหมาย"
"ลิยอยนั้นชอบแต่ใช้ให้ชำระอาวุธ"
"หมันทองนั้นชอบแต่ให้เสพย์สุรากับกระดูกสุกร"
"อิกิ๋มนั้นชอบแต่ให้แบกกระดานไปทำค่าย"
"ซิหลงนั้นชอบแต่ให้ฆ่าสุกรขาย"
"แฮหัวตุ้นนั้นชอบแต่ให้คอยรักษาตัว อย่าให้ข้าศึกตัดเอาศีรษะแลแขนซ้ายแขนขวาไปได้"
ท่ามกลางผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียว ยีเอ๋ง ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากผลงานด้านวรรณกรรมของเขา อย่างไรก็ตาม เขายังวิพากษ์วิจารณ์เล่าเปียวว่าขาดความเด็ดขาด และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ของเล่าเปียว ด้วยท่าทีเย่อหยิ่งของเขา เล่าเปียวอดทนต่อพฤติกรรมโอหังของยีเอ๋งเป็นเวลา 1 ปี
สุดท้ายจึงส่งเขาไปประจำการที่กังแฮ เพื่อรับราชการกับหองจอ เจ้าเมืองกังแฮ หวงเช่อ (黄射) บุตรชายของหองจอชื่นชมยีเอ๋งเป็นอย่างมาก ในตอนแรกหองจอเองก็ประทับใจในสติปัญญาและความสามารถของยีเอ๋งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยีเอ๋งสร้างปัญหาให้กับตัวเองเมื่อเขาพูดจาดูถูกหองจอต่อหน้าลูกน้องในงานเลี้ยง หองจอจึงออกคำสั่งประหารชีวิตยีเอ๋ง
สรุป หากว่าเราได้อ่านกระทู้นี้แล้ว แล้วจะเห็นว่ายีเอ๋งนั้นออกจะเป็นคนที่ค่อนข้างจะขวางโลกใช่ไหมครับ ซึ่งการแสดงออกแบบนั้นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ที่สำคัญคือขอให้เรามีกาลเทศะ ทั้งการกระทำและคำพูด ซึ่งเรื่องของยีเอ๋ง เราจะเห็นว่าเหมือนจะเป็นคนที่พูดตรง แต่เป็นการพูดตรงโดยที่อาจจะไม่มีการไตร่ตรอง และสุดท้ายคำพูดหรือการกระทำนั้น อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้ดังเช่นยีเอ๋ง หากว่าเป็นสุภาษิตไทย ก็คงจะเข้าทำนองว่า "ปลาหมอตายเพราะปาก"
ที่มา วิกิพีเดีย สามก๊กวิทยา และเรียบเรียงโดย แสตมป์จังพาเล่าเรื่อง
โฆษณา