Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2024 เวลา 01:12 • การเมือง
ความเห็นต่อโครงการ digital wallet
เมื่อสองวันก่อนมีคนรู้จักกันขอให้ช่วยแสดงความเห็นเกี่ยวกับ digital wallet เพื่อนำไปพูดคุยกันในวงเสวนาอย่างไม่เป็นทางการวงหนึ่ง
แต่เนื่องจากผมไม่ได้ติดตามนโยบายนี้แบบลึกๆ มาตั้งแต่ต้น ได้แต่ฟังข่าว ก็เลยลองแสดงความเห็นไปโดยใช้หลักการตามความรู้ที่มีอยู่ในการวิเคราะห์แบบเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนานำไปถกเถียงอภิปรายต่อยอดกันต่อ ก็เลยขอนำมาบันทึกไว้ในที่นี่ก่อนเพื่อจะนำไปแก้ไขต่อยอดได้ในภายหลัง ซึ่งความเห็นในเชิงหลักการในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สมัครเล่นที่มีความรู้จำกัดในเรื่องดังกล่าวนี้ มีดังนี้ครับ
1. ด้านเทคนิค
รัฐบาลใช้คำว่า digital wallet แต่เท่าที่ผมติดตามจากข่าว ยอมรับว่าไม่แน่ใจว่าจะใช่เงินดิจิทัลจริงหรือไม่ หรือเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์เหมือนที่ใช้อยู่กันเป็นปกติ แต่ในกรณีนี้น่าสามารถพิสูจน์ได้อย่างง่ายหลังจากที่เงินถูกปล่อยออกมา เพราะถ้าเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะโอนให้กันได้ต่อเมื่อต้องต่อกับอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าเป็นเงินดิจิทัล แม้ไม่ต้องต่อกับอินเตอร์เน็ตก็โอนกันได้
และจากที่ได้เคยอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ให้ความเห็นไว้ว่าถ้าเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องทำกระเป๋าตังค์ใหม่ แต่ถ้าเป็นเงินดิจิทัล อาจจะจำเป็น (ต้องถามผู้เชี่ยวชาญ) ความต่างอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นเงินดิจิทัล จะ track ได้โดยใช้ blockchain ถ้าเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะต้อง track ผ่านระบบธนาคาร
นอกจากนี้ หากเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลจริงๆ เมื่อพิจารณาในด้านความคุ้มค่าของการลงทุนทำกระเป๋าเงินดิจิทัล ยังไม่เห็นว่าเมื่อจบโครงการนี้แล้วจะมีเงินดิจิทัลเหรียญใหม่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติมในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบแบงค์ตามปกติได้ไม่ยาก แต่อันนี้ต้องถามผู้รู้ทางกระเป๋าเงินดิจิทัลครับ
2. ผลกระทบต่อ GDP
จากที่ติดตามในข่าว เห็นว่าที่มาของเงิน 450,000 ล้านบาทมาจาก 4 แหล่ง ได้แก่
- งบรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้าน
- งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนวงเงิน 43,000 ล้านบาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท
- การบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลาง และงบประมาณส่วนที่ใช้ไม่ทันอีก 132,300 ล้านบาท
ถ้าเป็นเช่นนี้จริง แสดงว่าเงินใหม่ที่เข้าระบบมีเพียง 122,000 ล้าน เพราะเงินที่เหลือเป็นเงินเดิมที่ถูกนำมาจัดสรรใหม่ ไม่ใช่เงินก้อนใหม่ แสดงว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะเกิดจาก 122,000 ล้านเท่านั้น ส่วนอีก 328,000 ล้าน เป็นเงินที่แม้ไม่มีโครงการนี้ก็เตรียมไว้ถูกใช้อยู่แล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินก้อนใหม่จึงมีเพียง 122,000 ล้านบาท
เงิน 122,000 ล้านบาทนี้ เมื่อถูกใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะเกิดการหมุนของเงินในระบบซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายเปลี่ยนมือของ players ในระบบเศรษฐกิจ จากการค้นใน google เบื้องต้นพบข้อมูลว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เคยศึกษาในช่วงวิกฤตโควิด – 19 ว่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่า
ตัวเลข 1.5 เท่านี้ เป็นตัวเลขการหมุนในช่วงวิกฤตที่ไม่มีเงื่อนไขการใช้จ่ายมาก แต่ถ้าถูกกำหนดเงื่อนไขของการใช้จ่ายการหมุนจะน้อยลง และแม้ไม่กำหนดเงื่อนไขของการใช้จ่าย โดยปกติ การหมุนในช่วงเหตุการณ์ปกติจะน้อยกว่าช่วงเหตุการณ์วิกฤต
นอกจากนี้ บริบทของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่แตกต่างกัน จะทำให้ตัวคูณทางเศรษฐกิจมีค่าต่างกัน เช่น ปัจจุบัน การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนมีมากขึ้นกว่าช่วงโควิด ขนาดของตัวคูณทางเศรษฐกิจก็จะน้อยลงเพราะมีการรั่วไหลของเงินผ่านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทราบว่าเท่าไรนั้นต้องมีการทำวิจัยออกมา
1
แต่เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงหลักการก่อนในเบื้องต้น ในที่นี้ อาจจะสมมุติว่ามีตัวคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ประมาณ 1.2 – 1.3 เท่า (เป็นตัวเลขสมมุตที่เกิดจากการประเมินว่าควรน้อยกว่าช่วงโควิดจากเหตุผลข้างต้น)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแจกเงิน 10,000 บาท อาจไม่ได้หมายความว่า คนที่รับเงินจะใช้เงินของตัวเองเท่าเดิมและใช้เงิน 10,000 บาทเพิ่มขึ้นเต็มจำนวน เพราะหลายคนอาจใช้เพียงบางส่วน
เคยมีงานศึกษา (จำไม่ได้ว่าของใครครับ เพราะออกมาน่าจะไม่ต่ำกว่าสองเดือนแล้ว) ที่ไปศึกษาคนหลายกลุ่ม แบ่งตามช่วงอายุและช่วงรายได้ พบว่าทุกช่วงอายุและช่วงรายได้ จะใช้ไม่เต็มจำนวน 10,000 แต่จะมีสัดส่วนมากน้อยต่างกัน แต่โดยสรุปก็คือ ใช้ไม่เต็ม 10,000 เพราะบางคนเก็บเงินบางส่วนไปใช้ในยามจำเป็น บางคนเอาเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายแทนเงินปกติของตัวเองแล้วนำเงินตัวเองไปใช้หนี้ ซึ่งเทียบเท่าเอาเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้ ทำให้ไม่เกิดผลต่อเศรษฐกิจในทันที
ในกรณีนี้ ถ้าสมมุตว่าใช้ 70% หรือ 7,000 เงินที่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจก็จะไม่ใช่ 122,000 ล้านบาท แต่เป็น 122,000 x 0.7 = 84,500 ล้านบาท
เมื่อรวมเอาผลของการไม่ใช้เงินเต็มจำนวนกับผลของตัวคูณทางการคลังเข้าด้วยกัน จะได้ว่ามีเงินก้อนใหม่เพิ่มเข้าไปหมุนในระบบประมาณ 84,500 x 1.2 ถึง 1.3 = 102,480 – 111,020 ล้านบาท (ย้ำ มาจากการสมมุตให้ใช้ 70% ของที่ได้หรือ 7,000 บาท และสมมุตตัวคูณทางการคลังเท่ากับ 1.2 – 1.3 เท่า)
ส่วนเงินที่เหลือจำนวน 328,000 ล้านบาทนั้น ไม่แน่ใจว่ามีสัดส่วนของงบลงทุนอยู่ในนั้นเท่าไร และงบดำเนินงานกับเงินอุดหนุนเท่าไร ซึ่งหากไม่มีงบลงทุนเลย ผลในเชิงเศรษฐกิจที่ได้จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ทน่าจะประมาณเท่าเดิมกับกรณีไม่มีโครงการ หักด้วยผลที่เกิดจากการใช้ไม่หมด 10,000 บาท
ซึ่งหมายความว่า แม้จะไม่มีสัดส่วนของงบลงทุนอยู่ในเงินก้อนนี้เลย ผลของการหมุนในทางเศรษฐกิจก็จะน้อยกว่า 328,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากเงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินก้อนใหม่เหมือนกัน 122,000 ล้านบาท ดังนั้น เงินก้อนนี้จะให้ผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่ากรณีไม่ถูกดึงออกมาทำดิจิทัลวอลเล็ท
แต่หากเงินก้อนนี้บางส่วน เดิมเป็นงบลงทุน ประเทศจะเสียโอกาสจากการใช้เงินสัดส่วนที่เป็นการลงทุนนั้นในการสะสมปัจจัยทุนเพื่อสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจสำหรับช่วงเวลาถัดไป เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาวเกิดขึ้นจากการสะสมปัจจัยทุน และพัฒนาความเก่งของคน
1
อาจมีข้อแย้งว่า เงินบริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อกลายเป็นรายได้ของภาคการผลิตและบริการจะทำให้ภาคการผลิตและบริการนำไปลงทุนเพิ่มขึ้น กรณีนี้ผมเห็นว่าโอกาสน้อยมาก เนื่องจากเหตุผลสองประการคือ
1.การตัดสินใจลงทุนจะเกิดเมื่อปริมาณการผลิตของธุรกิจในขณะรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นมีขนาดใกล้เคียงกับกำลังการผลิตสูงสุดที่มีอยู่ แต่จากตัวเลขที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานออกมาพบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเกิน 50% ไปไม่มากซึ่งต่ำมาก ๆ ดังนั้นแม้การใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมากจนกำลังการผลิตเดิมรับไม่ไหว
2.ผู้ผลิตและผู้ให้บริการทราบดีว่าเงินก้อนนี้จะหมุนมาเพียงแค่ชั่วคราว แล้วจะหายไปเพราะเป็นเงินเพื่อการบริโภค ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาประกอบกับขนาดการผลิตที่ยังต่ำกว่ากำลังการผลิตสูงสุดที่มีแล้ว หากลงทุนเพิ่มจะยิ่งทำให้ CUR (capacity utilization rate) ในอนาคตต่ำลงและไม่คุ้มกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องรับเพิ่ม
โดยสรุป เงินที่ใส่เข้าไป 450,000 ล้านบาท จะมีเงินก้อนใหม่ใส่เข้าไป 122,000 ล้านบาท และเมื่อถูกทอนจากการใช้ไม่ครบ 10,000 บาท แล้วจะหมุนอีก 1.2 – 1.3 เท่า (ต้องทำวิจัยเพิ่มเพื่อหาตัวเลขที่ใกล้เคียงจริง) เงินก้อนนี้ก็จะหยุดหมุน และมีมูลค่าหลังหมุนแล้วไม่เกินที่ใส่เข้าไป (จากข้อสมมุตเรื่องสัดส่วนการใช้เงินไม่เต็มที่ได้รับและตัวคูณทางการคลัง)
ส่วนเงิน 328,000 ล้านบาทที่เหลือจะเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยกว่ากรณีที่ยังถูกใช้จ่ายในระบบงบประมาณตามปกติ (จากการดึงเงินลงทุนมาเป็นเงินเพื่อการบริโภคและข้อสมมุติเรื่องสัดส่วนการใช้เงิน)
1
3. ผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ
หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 122,000 ล้านบาทซึ่งเป็นงบส่วนเพิ่ม ส่วนเงินก้อนที่เหลือ 328,000 ไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มเมื่อเทียบระหว่างมีหรือไม่มี digital wallet
4. ผลต่อเงินเฟ้อ
ไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อจะเกิดต่อเมื่อเงินก้อนนี้ไปทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพ และทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นปัจจุบันที่ขนาดการผลิตของประเทศอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 60% ของ full capacity และไม่ทำให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจนส่งผลต่อค่าเงิน
5. ค่าเสียโอกาส
ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสในการใช้เงินก้อนเดียวกันนี้ไปลงทุนเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศสามารถกลับมาแข่งขันได้ในเวทีการค้าและการบริการระหว่างประเทศ ซึ่งขีดความสามารถของประเทศไทยกำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
1
1
เศรษฐกิจ
ความคิดเห็น
1 บันทึก
2
2
2
1
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย