Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นครพนมโฟกัส
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2024 เวลา 04:45 • ประวัติศาสตร์
อุดรธานี
“ภูพระบาท” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งมรดกโลก
“ภูพระบาท” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงกันมากขึ้น ภายหลังองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “ภูพระบาท” เป็นมรกดโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของประเทศไทย และยังเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจาก “แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง” ที่ อ.หนองหาน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยวันนี้จะนำพาทุกคนมารู้จักกับ “ภูพระบาท” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งมรดกโลกของจังหวัดอุดรธานี ในมิติประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ผ่านเรื่องเล่าและมุมมองของ ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ นักวิชาการด้านท้องถิ่นศึกษา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน บริเวณทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีในเขตพื้นที่ของ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 – 350 เมตร โดยสภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่าบน “ภูพระบาท” แห่งนี้ ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุได้ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีที่มีมากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้
และหากรวมบริเวณใกล้เคียงก็มีมากถึง 97 แห่ง และมีแหล่งสถานที่สำคัญหลายจุดในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทสำหรับนักท่องเที่ยวได้เข้าเที่ยวชม เช่น พระพุทธบาทบัวบก หอนางอุษา วัดพ่อตา วัดลูกเขย ถ้ำคน คอกม้า โนนสาวเอ้ และถ้ำเกิ้ง เป็นต้น
ลักษณะด้านภูมิศาสตร์
“ภูพระบาท” เป็นอาณาบริเวณของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง เหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า ภูพระบาท เพราะมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่อยู่บนบริเวณเนินเขา โดยลักษณะของภูพระบาทเป็นภูเขาหินทราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เทือกเขานี้จะมีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ แต่กินอาณาบริเวณกว้างมาก ปลายด้านหนึ่งทางทิศตะวันออกเริ่มตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี มาถึงสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ครอบคลุมบริเวณอีสานเหนือหลายพื้นที่ ด้วยลักษณะของเทือกเขาที่เป็นหินทราย จึงเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ เพราะหินทรายเหล่านี้สามารถทำการสกัด หรือเจาะ เพื่อสร้างเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมตามความเชื่อทางด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ง่าย รวมถึง “รอยพระบาท” สำหรับคติเรื่องการบูชารอยพระพุทธบาท หรือทีเรียกกันว่า “การบูชาบาทลักษณ์” เป็นคติที่มาจากอินเดียและศรีลังกา ในคติพราหมณ์-ฮินดูนั้นจะการเป็นการบูชารอยพระบาทของเทพ เช่น ศิวะบาท คือรอยเท้าพระศิวะ วิษณุบาท เป็นรอยเท้าของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์
ส่วนคติทางพระพุทธศาสนา เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งก็คือพระบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยทวารวดี หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เมื่อพระพุทธศาสนาได้เริ่มเข้ามาทำให้มีการสร้างรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป พระพิมพ์ และศาสนวัตถุต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวแทนสื่อถึงพระพุทธองค์
ตำนาน เรื่องราวประวัติศาสตร์ และความเชื่อมโยงระหว่าง “ภูพระบาท” กับ “องค์พระธาตุพนม”
ตำนาน “ภูพระบาท” เป็นส่วนหนึ่งของตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานการสร้าง “องค์พระธาตุพนม” ซึ่งตำนานนี้ไม่ได้มีเฉพาะส่วนของการก่อสร้างองค์พระธาตุพนมโดยท้าวพระยาทั้ง 5 เท่านั้น แต่กล่าวถึงประวัติศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ที่มีความสำคัญต่อราชอาณาจักรล้านช้าง รวมถึงพระอารามในเขตภูพระบาทด้วย ในตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงความเป็นมาของภูพระบาทที่มีมาก่อนพระธาตุพนม และหากว่ากันตามหลักฐานทางโบราณคดี
ภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน ในขณะที่พระธาตุพนมเพิ่งปรากฏในหลักฐานสมัยของอาณาจักรเจนละ (ภาษาจีน อ่านว่า เจินล่า, ภาษาเขมร อ่านว่า เจนฬา, และภาษาเวียดนาม อ่านว่า เจินหลัป เจนละเป็นชื่อที่เอกสารจีนใช้เรียกรัฐซึ่งมาทีหลังอาณาจักรฟูนัน และมาก่อนอาณาจักรพระนคร เจนละที่ยิ่งใหญ่ดำรงอยู่ในพื้นที่อินโดจีน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ) รูปลักษณ์ของพระธาตุพนมในสมัยเจนละมีลักษณะเป็นเทวาลัยในคติพราหมณ์-ฮินดู
ในส่วนตำนานการสร้างองค์พระธาตุพนม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นนิทานปรัมปราคติ เป็นเรื่องของสมัยพุทธกาลอันไกลโพ้น ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของประวัติการสร้างวัตถุ-สถานที่ต่าง ๆ ประวัติการบูรณะวัด หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนาของกษัตริย์ลาว ซึ่งในส่วนของนิทานปรัมปราคตินั้นได้ปรากฏเรื่องราวของตำนานพญานาคสร้างแม่น้ำโขง รวมถึงเรื่องราวของพญานาคที่อยู่บนภูพระบาทด้วย
ในตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดินแดนแถบนี้เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ มีพญานาคตนหนึ่งชื่อว่า “มิลินทนาค” อยู่อาศัยอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า “ภูกูเวียน” (ภูพระบาท) เมื่อพญานาคเห็นมนุษย์ผู้แปลกประหลาดมีรังสีทั้ง 6 แผ่ออกมา พญานาคตนนั้นจึงคิดปองร้ายพระพุทธเจ้า ด้วยการพ่นไฟใส่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้นจึงได้แสดงอภินิหาร ดลบันดาลให้เปลวเพลิงพญานาคกลายมาเป็นดอกไม้สาธุการแด่พระองค์
เมื่อเหล่าพญานาคเห็นจึงเกิดเลื่อมใสศรัทธาแปลงกายเป็นมนุษย์เข้าไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลยประทับรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อให้ มนุษย์ พญานาค และสัตว์ทั้งหลายได้กราบไหว้สักการะบูชา จำนวน 2 รอย โดยรอยแรกอยู่เหนือปากปล่องตรงบริเวณที่มิลินทนาคได้ขึ้นมา ซึ่งก็คือบริเวณพระพุทธบาทบัวบก ในส่วนรอยที่สอง คือ บริเวณพระพุทธบาทบัวบาน
1
พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาตามลำน้ำโขง ได้พบเจอกับพญาปลา จึงได้ประทับรอยพระบาทบนแผ่นหินอีกแห่งกลางแม่น้ำโขง เพื่อให้พญาปลาและเหล่าสัตว์น้ำได้กราบไหว้เช่นเดียวกัน โดยรอยนั้น เรียกว่า “พุทธบาทเวินปลา” อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
1
จากนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ (บริเวณ จ.นครพนม) โดยมีพุทธทำนายว่า ในอนาคตกาลที่ภูกำพร้า (บริเวณที่ตั้งของพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม) จะเกิดศาสนาที่รุ่งเรืองขึ้น ซึ่งพระอัฐิธาตุ หรือกระดูกของพระพุทธองค์จะถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ เพื่อให้มนุษย์และเทวดาสักการะบูชา ดังนั้นในกาลต่อมา เมื่อพระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดาอัครสาวกทั้งหลายจึงได้นำเอากระดูกของพระองค์ไปไว้ตามสถานที่ที่ต่าง ๆ
1
และกระดูกส่วนหนึ่ง คือ พระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่องค์พระธาตุพนมดังที่เห็นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเรื่องราวพระธาตุพนม ภูพระบาท และสถานที่สำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขงมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งสถานที่ ๆ ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ ล้วนแล้วแต่เป็นวัด หรือพระอารามที่กษัตริย์ลาวล้านช้างให้ความสำคัญ ในกรณีของภูพระบาทนั้นได้ถูกกล่าวถึงในตำนานในชื่อ “ภูกูเวียน”
1
ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ด้วยลักษณะพื้นที่ของภูพระบาท เป็นลักษณะที่มีเพิงผาหน้าถ้ำจึงเหมาะสำหรับอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในราว 3,000-4,000 ปี หรือที่เรียกว่า “ยุคหาของป่าล่าสัตว์” มนุษย์โบราณยุคนี้ได้ใช้บริเวณภูพระบาทเป็นที่อยู่อาศัย และใช้พื้นที่เพิงผาหน้าถ้ำประกอบพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษให้ดลบันดาลฝนฟ้าให้ตกลงมาสู่โลกมนุษย์
เพิงผาพิธีกรรมเหล่านี้ มีการแต่งแต้มพื้นผนังด้วยการนำหินแร่ที่มีสีแดง มาบดผสมกับยางไม้ หรือไขมันสัตว์ แล้วเขียนขีดลงบนผนังถ้ำ จนเกิดเป็นภาพเขียนสีแบบที่เห็นในปัจจุบัน กลายเป็น “ศิลปะบนผืนถ้ำ” ที่มีมากถึง 97 แห่ง เรียกได้ว่ามากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ภาพเขียนสีดังกล่าวเป็นภาพที่มนุษย์กำลังร่ายรำ มนุษย์ชูแข้งชูขา ทำท่าเหมือนกบ มีเรื่องของการล่าสัตว์ ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในสมัยนั้น
1
ยุคสมัยทวารวดี
ถัดจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่ช่วงของสมัยทวารวดี เป็นช่วงที่ดินแดนสุวรรณภูมิ (ประเทศไทย) รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาจากอินเดีย เริ่มแรกศูนย์กลางของทวารวดีอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม หรือบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นได้แพร่เข้ามายัง จ.ชัยภูมิ ผ่านเข้ามายังนครจัมปาศรี จ.มหาสารคาม ไปตามลำน้ำชีจนถึง จ.อุบลราชธานี ส่วนทางด้านทิศเหนือแพร่ขึ้นมา จ.เลย จ.หนองบัวลำภู
1
โดยแหล่งใหญ่ที่สุดก็คือที่ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วัฒนธรรมทวารวดีเป็นยุคของการสร้างพระสถูปเจดีย์ และวัด ในยุคนี้ผู้คนที่ภูพระบาทจะดัดแปลงเพิงผาหน้าถ้ำที่เคยเป็นที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่พิธีกรรม ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ด้วยการปักใบเสมา ซึ่งเป็นหินแกะสลักรูปกลีบบัวล้อมรอบเพิงผาหน้าถ้ำ
ใบ “เสมา” หรือ “สีมา”
ใบเสมาหรือสีมาเป็นคติในพระพุทธศาสนา การปักใบเสมาล้อมรอบอุโบสถจะเป็นการทำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับการประกอบสังฆกรรม ทำวัตรเช้า-วัตรเย็นของพระสงฆ์ ในอีสาน และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย จะทำการปักใบเสมาหินรอบหอไตรหรือพระอุโบสถ ในบางครั้งหากก็จะสร้างหอไตรหรือพระอุโบสถไว้กลางน้ำ โดยใช้น้ำเป็น “อุทกเสมา” นั่นเอง (อุทก หมายถึง น้ำ)
ภูพระบาท เป็นพื้นที่ที่มีหินทรายเป็นจำนวนมาก ผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดีจึงนิยมแกะสลักหินทรายเป็นใบเสมารูปกลีบบัว มีทั้งสี่เหลี่ยมกลมมน และแปดเหลี่ยมกลมมน และบางแห่งใบเสมามีลักษณะของการแกะสลักเล่าเรื่องชาดก ทั้งพระเจ้า 500 ชาติ ทศชาติชาดก (10 ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า) รวมถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในคติพระพุทธศาสนาบนเทือกเขาภูพระบาท จะมีการนำใบเสมาปักล้อมรอบเพิงหินตามทิศมงคลทั้ง 8 ทิศ
1
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มใบเสมาที่ บ.กาลึม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ และล่าสุดที่มีการพบกลุ่มใบเสมาอีกแห่ง คือ บ.แดง ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ ซึ่งที่นี่สันนิษฐานว่าน่าจะมีใบเสมาที่เป็นองค์ประธานหนึ่งหลัก โดยสื่อความหมายถึงแกนกลางจักรวาล ล้อมรอบด้วยใบเสมาบริวารทั้ง 8 ทิศ ซ้อนกัน 3-4 ชั้น
ยุคสมัยวัฒนธรรมเขมร
ความสำคัญของภูพระบาทในสมัยต่อมาเป็นวัฒนธรรมเขมรพระนคร หรือเขมรโบราณ มีศูนย์กลางอยู่ที่กัมพูชา อิทธิพลของกัมพูชาในอีสานจะเชื่อมไปถึงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในกรณีของภูพระบาทนั้น มีการดัดแปลงวัดที่เป็นเพิงผาหน้าถ้ำของสมัยทวารวดีเดิมให้เป็นวัดในคติพุทธมหายาน หรือเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตัวอย่างที่พบ คือ “ถ้ำพระ” ซึ่งจะมีการพบพระพุทธรูปเป็นศิลปะเขมรโบราณ คือ มีการสวมชฎามงกุฎบนศีรษะ และมีการดัดแปลงพระพุทธรูปยืนของสมัยทวารวดีให้เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศูนย์กลางของเขมรพระนครในเวลานั้นอยู่ดินแดนอีสานเหนือ 2 แห่ง คือ เมืองหนองหานน้อย อ.หนองหาน จ.อุดรธานี และเมืองหนองหารหลวง อ.เมือง จ.สกลนคร ทั้งสองเมืองได้พบร่องรอยของคูน้ำคันดินที่มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชัดเจน มีทั้งยังซากเทวาลัย ซากอิฐ ซากปูน พระพุทธรูป และรูปเคารพเต็มไปหมด เมื่อยุคสมัยวัฒนธรรมเขมรสิ้นสุดลงก็เข้าสู่ยุคสมัยลาวล้านช้าง
ยุคสมัยลาวล้านช้าง
“กลุ่มคนลาว” เป็นกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai) เช่นเดียวกับไทสยาม หรือไทย ผู้ไท ไทพวน และญ้อ ไทลาวมีศูนย์กลางอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน โดยภูพระบาทเป็นจุดแรกที่คนลาวอพยพเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง และยังมีเส้นทางแม่น้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำโขง คือ ห้วยโมง (เชื่อมกับแม่น้ำโขงที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย)
ทำให้กลุ่มคนลาวเหล่านี้เข้าสู่ดินแดนในพื้นที่ของ อ.บ้านผือ และกระจายตัวจนไปถึง อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กลุ่มคนลาวที่สำคัญเป็นบรรพชนของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ “ญาคูขี้หอม” เป็นมหาสังฆราชของราชอาณาจักรลาว ท่านผู้นี้มีนักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า เป็นผู้แต่งตำนานอุรังคธาตุหรือตำนานการสร้างพระธาตุพนม และเป็นผู้แต่งตำนานนิทานเรื่อง “อุษา-บารส” ญาคูขี้หอม พื้นเพเป็นคน บ.กาลึม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ
ด้วยความที่บริเวณภูพระบาทเป็นถิ่นของราชครูหลวงของกษัตริย์ ประกอบกับมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะแก่การปักกลดเจริญวิปัสสนากรรมฐานของบรรดาพระภิกษุสงฆ์ จึงกลายเป็นเขตอรัญวาสีของราชสำนักลาว หรือเป็นเขตที่ตั้งของวัดป่าแห่งราชอาณาจักรล้านช้าง
ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า)
การแบ่งวัดจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ คามวาสี หรือวัดบ้าน (คาม หรือคามะ แปลว่า หมู่บ้าน) และอรัญวาสี หรือวัดป่า (อรัญ แปลว่า ป่า) พระสายอรัญวาสีจะนิยมเรื่องการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยอาศัยธรรมชาติในการฝึกเพ่งสมาธิเพื่อมุ่งสู่นิพพาน การเผยแผ่ของวัดอรัญวาสีได้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 และสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ศาสนาธรรมยุติกนิกายได้แพร่หลายทั่วภาคอีสานของประเทศไทย
จนเมื่อถึงทศวรรษ 2510 บริเวณเทือกเขาภูพานต่างเป็นที่ตั้งของวัด หรือสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี โดยเฉพาะภูพระบาทนั้น ถือได้ว่าเป็นฐานที่มั่นของพระวัดป่าในเขตนี้ ซึ่งมีพระอารามในสายพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล (พระครูวิเวกพุทธกิจ) หรือแม้กระทั่งพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล)
รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าในพระพุทธบาทบัวบก (ศิลปะแบบล้านช้าง)
“พระพุทธบาท” หมายถึง รอยประทับพระบาทของพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า “บัวบก” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อของชนิดพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ผักหนอก” บัวบก พบมากในบริเวณใกล้กับรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่า “บัวบก” อาจมาจากคำว่า “บ่บก” ในภาษาอีสานที่แปลว่า “ไม่แห้งแล้ง”
การทำบาทลักษณ์ หรือรอยพระพุทธบาท ในสมัยทวารวดีของผู้คนที่ภูพระบาทอาจจะยังไม่มีความซับซ้อน กล่าวคือ อาจมีการสกัดแผ่นหินให้เป็นแค่รอยเท้ามนุษย์ขนาดใหญ่ที่มีรูปธรรมจักรอยู่ตรงกลาง แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นในปัจจุบันมีการแกะสลักหินลวดลายต่าง ๆ เพิ่มเติมอยู่ในรอยฝ่าเท้า เช่น รูปของจักรวาลคติ รูปของสุริยะ รูปของดาวนพเคราะห์ และรูปของมงคล 108 ประการ สิ่งเหล่านี้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพิ่งสร้างขึ้นในสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง หรือในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 เมื่อกลุ่มคนลาวเข้ามาอยู่บริเวณนี้
“รอยพระพุทธบาท” ในสมัยก่อนอาจมีแค่การก่ออูบมุง หรือสถูปแบบลาวล้านช้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน ได้รื้อสถูปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2473 หรือประมาณ 10 ปี ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือนกุมภาพันธ์
ประชาชนชาวอำเภอบ้านผือจะจัดให้มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก เพื่อกระทำการสักการะบูชารอยพระพุทธบาท และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาภูพระบาท เมื่อกล่าวถึงพระอาจารย์ศรีทัตถ์ ถือเป็นพระนักพัฒนา ซึ่งก่อนจะสร้างหรือพัฒนาพระพุทธบาทบัวบก ท่านได้สร้างเจดีย์พระธาตุอุเทน (อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม) มาก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2453-2459 ทั้งพระธาตุท่าอุเทน และเจดีย์พระพุทธบาทบัวบกที่ถูกสร้างขึ้นนี้ เป็นการจำลองมาจากรูปแบบของพระธาตุพนมองค์เดิมที่มีการตกแต่งองค์พระธาตุ ด้วยลวดลายดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ หรือ “ดอกมณฑาทิพย์”
พิจารณาได้ว่าเป็นการจำลองจักรวาลของพระธาตุพนมไว้ให้กับชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้สักการะบูชา โดยที่พระธาตุท่าอุเทนนั้น ถือว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาลของชาวไทญ้อ ในขณะที่เจดีย์พระพุทธบาทบัวบก เป็นดั่งภูเขาจักรวาลของชาวไทพวนบ้านผือ
ความโดดเด่นและสถานที่สำคัญของ “ภูพระบาท”
นอกจาก “รอยพระพุทธบาท” บนภูพระบาทแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญเป็นจุดเด่น คือ หอนางอุษา เพราะหอนางอุษาได้ผูกโยงเข้ากับตำนานพื้นเมืองเรื่อง “อุษา-บารส” ซึ่งเป็นนิทานท้องถิ่นที่แพร่กระจายไปทั่ว โดยนิทานแบบนี้ก็มักพบที่ภาคเหนือ ปรากฏในนิราศหริภุญชัย วรรณกรรมของล้านนา หรือที่ จ.เลย จะเรียกตำนานที่คล้ายกันนี้ว่า นิทานพญาช้างนางผมหอม ตำนานนิทานเหล่านี้เป็นนิทานพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดีย ต่อมามีคนพื้นเมืองนำมาปรับแต่งทีหลัง
สำหรับนิทานเรื่อง “อุษา-บารส” แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการอธิบายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์บนเทือกเขาภูพระบาท พร้อมกันนั้นก็ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของผู้คน โดยผ่านตัวละครที่เป็นเจ้าชาย เจ้าหญิงเมืองต่าง ๆ นิทานเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหากสังเกตจะเห็นได้ว่านิทานประจำถิ่นจะมีโครงเรื่องที่คล้ายกัน คือ “รบพ่อตา ฆ่ายักษ์ และลักนาง”
กล่าวคือ จะมีเนื้อเรื่องว่าด้วยพระเอกแอบพลอดรักกับนางเอก จนเกิดรบราฆ่าฟันกับพ่อของนางเอก หรือพ่อตา หรือไม่บางเรื่องพระเอกก็ปราบยักษ์ แล้วกลายเป็นฮีโร่
นิทาน “อุษา-บารส” ความเชื่อมโยงกับ “หอนางอุษา”
เป็นนิทานที่พูดถึงเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อ “อุษา” ที่ถูก “พญากงพาน” (พญาเมืองพาน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพาน (ปัจจุบันเรียกว่า ต.เมืองพาน) เก็บมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม พญากงพานได้สร้างหอคอยให้นางอุษาอยู่ และเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม นางอุษาเป็นคนที่มีผมหอม กลิ่นกายหอม เมื่อเวลาผ่านไปนางอุษาเริ่มโตเป็นสาวและอยากมีคู่ จึงได้ตัดผมของตัวเองเสี่ยงลอยน้ำไปตามลำห้วยโมง โดยอธิษฐานว่าหากใครเป็นเนื้อคู่ของตนขอให้เจอผมของนาง แล้วเข้ามาหานางที่หอคอยแห่งนี้
ปรากฏว่าผมได้ลอยไปถึงท้าวบารสซึ่งเป็นโอรสเจ้าเมืองแปโค (ปัจจุบันคือ บ.ปะโค ต.ปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย) เมื่อท้าวบารสเห็นผมของนางอุษาจึงได้เดินทางตามลำน้ำขึ้นมายังภูพระบาท และได้ลักลอบพลอดรักกับนางอุษาบนหอคอยแห่งนั้น เมื่อเรื่องถึงหูพญากงพาน พญากงพานไม่พอใจจึงจับท้าวบารสหวังจะประหารชีวิต แต่นางอุษาจึงร้องขอไว้ เลยออกอุบายให้พญากงพานกับท้าวบารส ทำการแข่งขันกันสร้างวัด โดยมีเงื่อนไขว่าหากใครสร้างวัดเสร็จก่อนเป็นผู้ชนะ และหากใครแพ้จะต้องโดนประหารชีวิต แต่ผลปรากฏว่าท้าวบารสสร้างวัดเสร็จก่อน
จึงทำให้พญากงพานถูกท้าวบารสประหารชีวิต นิทานเรื่องนี้มีการพูดถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ บนภูพระบาท เช่น คอกม้าท้าวบารส (สถานที่ท้าวบารสนำม้ามาพักไว้ก่อนเข้าไปหานางอุษาที่หอคอย) วัดพ่อตา (วัดที่พญากงพานสร้างไม่เสร็จ) วัดลูกเขย (วัดของท้าวบารสที่สร้างเสร็จ) เป็นต้น นิทานอุษา-บารส กลายเป็นนิทานประจำถิ่น เพราะคนโบราณสมัยก่อนเมื่อเจอสถานที่แปลกตา ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรกับสิ่งที่เห็น จึงต้องเล่าด้วยความคิดและความรู้สึกที่มีต่อสถานที่นั้น ๆ
นิทานเหล่านี้เป็นการอธิบายความเป็นมาของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในชุมชน ถือเป็นนิทานสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีจริง
การขอยื่นจดทะเบียนแหล่งมรกดโลกผ่าน “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” (UNESCO)
ที่ผ่านมามีความพยายามของหลายฝ่ายในการผลักดัน “ภูพระบาท” เป็นแหล่งมรดกโลก ตั้งแต่ปี 2547 (รวม 20 ปี) เอกสารหลักฐานในการยื่นอาจขาดข้อมูลที่สำคัญจึงทำให้การพิจารณาของแต่ละครั้งไม่เป็นผล ซึ่งจากการพิจาณาของนักวิชาการพบว่าข้อมูลที่ยื่นไปยังขาด “เรื่องเล่า” ของความท้องถิ่น ซึ่งเป็นมิติทางจิตวิญญาณของชุมชน เป็นการให้นิยามความหมายของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต
หลักเกณฑ์การคัดเลือกของ “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” (UNESCO)
เกณฑ์การคัดเลือกของ UNESCO มีอยู่ 10 ข้อ คือ
1. ผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติในทางศิลปกรรม
2. เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนที่แสดงเห็นคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยี ด้านอนุสรณ์ศิลป์
3. เป็นการแสดงถึงลักษณะผลงานและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับอารยธรรมที่มีอยู่แล้วหรือหายไป (เกณฑ์ที่เข้าของภูพระบาท)
4. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นด้านสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรม หรือผสมผสานทางเทคโนโลยี หรืองานภูมิทัศน์ที่แสดงถึงช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
5. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ แสดงถึงวัฒนธรรมหรือการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพื้นที่ตรงนั้นมีความเสี่ยงภายใต้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง (เกณฑ์ที่เข้าของภูพระบาท)
6. มีความเชื่อมโยงโดยตรงหรือมีความเป็นรูปธรรมต่อเหตุการณ์ หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ความคิด ความเชื่อ หรือมีความเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและงานวรรณกรรมที่มีความสลักสำคัญในระดับสากล
7. เป็นแหล่งที่มีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว หรือเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ
8. มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา แสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของธรณีวิทยา
9. เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยา
10. เป็นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
จะเห็นว่าเกณฑ์ที่ 7-10 พูดถึงเรื่องของธรรมชาติ คือ ความโดดเด่นทางธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงนิเวศวิทยา และที่อยู่อาศัยของธรรมชาติ ซึ่งเกณฑ์พวกนี้จะเป็นของมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ในกรณีของมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้น “ภูพระบาท” เข้าเกณฑ์ที่ 3 คือ การแสดงถึงความเป็นอารยธรรมของพื้นที่ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีกลุ่มใบเสมาอยู่เป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นร่องรอยในยุคสมัยทวารวดีมากที่สุดในโลก ซึ่งมีลักษณะการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนเกณฑ์ที่ 5 ว่าด้วยการปรับใช้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย เพราะ “ภูพระบาท” ถูกใช้เป็นพื้นที่ในทางพิธีกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสมัยทวารวดี ยุคสมัยวัฒนธรรมเขมร ยุคสมัยล้านช้าง หรือแม้กระทั่งยุคของการเผยแผ่เขตอรัญวาสีในปัจจุบัน ส่วนนี้เป็นข้อมูลสำคัญเพราะแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์กันมาอย่างต่อเนื่องในฐานะพื้นที่พิธีกรรม
เรื่องของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ อาณาบริเวณที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ อาจจะด้วยเป็นพื้นที่มีลักษณะทางกายภาพที่ซับซ้อนมากเกินไป หรือเป็นเป็นบริเวณที่มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นนอกเหนือจากฝีมือของมนุษย์ เช่น พื้นที่ที่มีภูเขาโผล่ออกมาจากกลางท้องทุ่ง บริเวณที่มีภูเขาหินปูนที่มีรูปร่างแปลกตา หรือร่องน้ำลึกที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก เมื่อมนุษย์ไม่สามารถอธิบายความเป็นมาของพื้นที่เหล่านี้ได้จึงเกิดความเกรงกลัวในพลังอำนาจอันลึกลับและยิ่งใหญ่
จึงได้มีการสร้างเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์เคร่งขรึม และทำการปฏิบัติบูชาในพื้นที่นั้น เพราะเชื่อว่าสิ่งลึกลับที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะมีความเมตตาให้การปกป้องคุ้มครอง หรือประทานความมั่งคงและมั่งคั่งให้กับตน ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “ภูพระบาท”
แต่ความเชื่อทั้งหมดของคนโบราณไม่ใช่สิ่งที่ผิด มันเป็นสำนึกของชาวบ้าน อย่างน้อยการเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริงก็นำมาสู่เรื่องของการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นแบบแผนเดียวกัน ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ ผู้ให้แนวคิดและมุมมองกรณี “ภูพระบาท” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งมรดกโลก
สกู๊ป/บทความ โดย : พัฒนะ พิมพ์แน่น
ประวัติศาสตร์
โบราณคดี
มรดกโลก
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย