6 ส.ค. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ASEAN มาเหนือ” เลือกตั้งสหรัฐ-สงครามการค้าเป็นแต้มต่อ

CIMB THAI มั่นใจ ASEAN มาเหนือ เลือกตั้งสหรัฐ-สงครามการค้า เป็นแต้มต่อของภูมิภาค
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงานแถลงข่าว "Think ASEAN, Think CIMB ว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง ดูจะส่งผลต่อการเติบโตใน ASEAN อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามการค้า สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเรื่อย ๆ โดยอาเซียนได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนี้
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ CIMB THAI
เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ อิทธิพลการค้าจีนกับอาเซียนเพิ่มเป็นทวีคูณ ขณะเดียวกันอาเซียนหลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐก็ขาดดุลลดลง ส่วนสหรัฐก็ขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามหากอาเซียนรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ได้ไม่ดีพอ การค้าโลกที่มีความเสี่ยงจะลดลงอาจกระทบกับการค้าและการเชื่อมโยงด้านการลงทุนของอาเซียนได้ ทั้งนี้ประโยชน์และผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความน่าดึงดูดในการลงทุน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ.....นายอมรเทพกล่าว
โลกย้ายฐานการผลิตมาอาเซียน
ขณะที่ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกลดลง 2% สู่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 66 ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความดึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่พบว่า FDI ในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น 1% เป็น 2.26 แสนล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามรายงานการลงทุนโลกปี 67 โดย UNCTAD สะท้อนภาพชัดว่าโลกกำลังย้ายฐานการผลิตมา ASEAN
“ASEAN มาเหนือ” เลือกตั้งสหรัฐ-สงครามการค้าเป็นแต้มต่อ
นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้การพึ่งพาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง และหันมาทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำธุรกิจกับคู่ค้าใหม่ ๆ
ในตลาดโลกมากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ของทางสหรัฐและของโลกยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่มีความพร้อม ได้มีโอกาสที่จะเติบโตและขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน
ประเทศปลายทางที่น่าลงทุนที่สุดตอนนี้ ได้แก่
  • มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยเข้าถึงง่ายที่สุด กำลังโดดเด่นในภาคบริการและการผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต โดยปี 66 มีเงินลงทุนไหลเข้ามาเลเซียกว่า 3.29 แสนล้านริงกิต เติบโตสูงขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า นับเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ส่วนสินค้าส่งออกของมาเลเซียหลัก ๆ คือ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก้าซธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม และอุปกรณ์โทรคมนาคม
  • อินโดนีเซีย ที่มีจุดเด่นเรื่องของการเติบโตของประชากรที่ปัจจุบันมีกว่า 280 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2566 อินโดนีเซียบันทึกเงินลงทุนไหลเข้า จำนวน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% โดยแหล่ง FDI ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียได้แก่ สิงคโปร์จีน และฮ่องกง โดยอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานได้รับ FDI เยอะที่สุด สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซีย คือ ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็กและเหล็กกล้า
  • สิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าของภูมิภาค ในปี 66 สิงคโปร์ มี FDI มูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้าน สิงคโปร์ดอลลาร์ เติบโต 10% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนและกำไรสะสม โดยประเทศที่มีการลงทุน สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดของ FDI อยู่ในภาคบริการทางการเงินและการประกันภัย ส่วนสินค้าส่งออกหลัก คือ ปิโตรเลียม เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์
  • สำหรับประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 67 นักลงทุนต่างชาติและในประเทศยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น 35% มูลค่ารวม 4.58 แสนล้านบาท โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ภาคอุดสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ครองอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าการลงทุน 1.39 แสนล้านบาท (30.5% ของมูลค่าการขอลงทุนรวมของ BOI) รองลงมาคือภาคยานยนต์ 3.99 หมื่นล้านบาท (8.7% ของมูลค่ารวม) และเกษตรกรรมขั้นสูง 3.31 หมื่นล้านบาท (7.2% ของมูลค่ารวม) โดยมีจุดเด่นคือ ภาคการท่องเที่ยว Digital Nomad และ Healthcare
ในส่วนของ Mega Trend ที่น่าจับตามองในช่วงนี้มี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
  • Sustainability หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดเกิดใหม่ไม่ว่าในเรื่องของพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิตได้ในทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความต้องการที่เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
  • Food Security หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศใหญ่ ๆ หันมาให้ความสำคัญกันมากโดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรและการเติบโตของประชากรสูง
  • Consumer Behavior หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคยุดใหม่ ที่เน้นเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงแหล่งข้อมูลของสินค้าที่ต้องการโดยง่าย ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
มองอีคอมเมิร์ซจีนตีตลาด เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
นายอมรเทพ กล่าวถึงสถานการณ์อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในไทยและอาเซียนที่ให้การตอบรับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น การมาของสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในภูมิภาคมากขึ้น แม้จะมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้บริโภคที่จะได้บริโภคสินค้าที่หลากหลายและราคาถูก แต่แน่นอนว่า SMEs ผู้ผลิตบ้านเราก็โดนผลกระทบจากภาคการผลิตที่อ่อนแอเป็นเวลานาน และดัชนีภาคการผลิตติดลบ เหตุการณ์นี้อาจทำให้ภาคการผลิตของเรายิ่งชะลอลง รายได้ของแรงงงานก็ต่ำลง
สิ่งที่ต้องฝากไม่ได้บอกว่าต้องกีดกันสินค้าจีน แต่ต้องพยายามยกฐานการผลิตของเราให้เข้มแข็งมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น อย่างน้อยก็สามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับจีนได้ นอกจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ว่าเกิดการทุ่มตลาดจากสินค้าจีนหรือไม่ หากเป็นแบบนั้นเราอาจจะแข่งขันได้ลำบาก ภาครัฐอาจจะต้องมีการตรวจสอบตรงจุดนี้ด้วย.....นายอมรเทพกล่าว
จับตาร้านค้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ต
นายอมรเทพ กล่าวถึงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนขอรับสิทธิทะลุ 20 ล้านคนภายใน 2 วันแรกที่เปิดลงทะเบียน แต่อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ต้องจับตาคือร้านค้าต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทะเบียน บรรดา SMEs ทั้งหลายอยากเห็นเหมือนกันว่าร้านค้าขนาดเล็กจะเข้าร่วมนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหน อยากเห็นว่ามีความหลากหลาย และมีความเชื่อมโยงกับร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้
สิ่งสำคัญคืออยากเห็นเม็ดเงินที่ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ให้สามารถใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้ ยิ่งไปว่านั้นในระยะยาวอยากเห็นเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้จากภายใน ทั้งการบริโภค การจ้างงาน การสร้างนวัตกรรม ประสิทธิภาพการผลิต เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน แม้หมดมาตรการนี้ไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไรเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง.....นายอมรเทพกล่าว
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา