7 ส.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“บ้านทองหยอด” จากโรงงานทำขนมสู่โรงเรียนสร้างนักแบดมินตันระดับโลก

ย้อนตำนาน “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” จากร้านขายขนม กลายมาเป็นผู้ปลุกปั้นนักแบดระดับโลกอย่าง “เมย์-รัชนก” จนถึง “วิว-กุลวุฒิ” ได้อย่างไร
ทุกความสำเร็จย่อมมีเบื้องหลังและเรื่องราวเสมอ โดยเฉพาะกับนักกีฬาแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกและเป็นขวัญใจของทุกคนในประเทศอย่าง “เมย์-รัชนก อินทนนท์” รวมถึงฮีโร่โอลิมปิก 2024 คนล่าสุดอย่าง “วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์”
คงเป็นไปไม่ได้ที่เมย์และวิวรวมถึงนักกีฬาแบดมินตันคนอื่น ๆ อีกจำนวนมากจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ หากไม่มีผู้ผลักดันและสนับสนุนคนสำคัญอย่าง “แม่ปุก-กมลา ทองกร” และ “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด”
เมย์ รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย
วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย
โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เป็นโรงเรียนแบดมินตันแห่งแรกในประเทศไทยตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตบางแค แต่ทราบหรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของสถานที่นี้มาจาก “ร้านขายขนมทองหยอด” ซึ่งไม่น่าเกี่ยวข้องกับวงการแบดมินตันได้เลย
คุณกมลา เคยให้สัมภาษณ์ ผ่านรายการ Perspective ออกอากาศเมื่อปี 2560 ว่าสมัยเด็กตนมีฐานะค่อนข้างลำบาก ช่วยแม่ขายขนมที่รับมา ต่อมาริเริ่มทำฝอยทองขายเอง ปรากฏว่าขายดีมาก จนต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยทำ จนฐานะดีขึ้นจึงกลับไปเรียน
เมื่อฐานะทางการเงินเปลี่ยน จากบ้านเช่าก็ซื้อที่ดินแล้วปลูกบ้าน จากนั้นแต่งงาน จึงแยกออกมาทำธุรกิจขายขนมของของตัวเอง แต่ไม่ทำขนมฝอยทองซ้ำกับแม่ เพราะเหมือนแย่งลูกค้า จึงคิดทำทองหยอด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอีก จนสามารถซื้อบ้านที่ย้านบางขุนเทียนได้ถึง 3 หลัง
และด้วยยอดขายและกำลังผลิตที่ใหญ่สุดในประเทศไทยตอนนั้น บ้านทุกหลังที่ซื้อมาจึงทำเป็นโรงงานและที่ทำขนม แต่ต่อมาพบขยับขยายลำบาก ไม่มีที่จอดรถ ทำให้ตัดสินใจมาซื้อที่ดินเพื่อขยายโรงงาน
เมื่อถามว่าจากวงการขนมมาวงการแบดมินตันได้อย่างไร คุณกมลาบอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ตนและสามีชอบเล่นกีฬา วันหยุดก็พาลูก ๆ ไปตีแบดมินตัน แล้วเกิดความรู้สึกว่า อยากมีคอร์ตแบดมินตันที่บ้าน
แม่ปุก กมลา ทองกร เจ้าของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด
เมื่อจะย้ายที่ตั้งโรงงานอยู่แล้ว คุณกมลาจึงตัดสินใจแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สร้างคอร์ตแบดมินตัน 1 คอร์ต เพื่อออกกำลังกายภายในครอบครัว ยอมรับว่าไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะเป็นที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ
ในปี พ.ศ.2534 ”ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด” ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยวัตถุประสงค์แค่เพื่อให้ลูก ๆ และเพื่อน ๆ ของลูกมาเล่นแบดมินตันกัน โดย ณ ตอนนั้นมีนักกีฬาเพียง 4 คน
ประกอบกับในช่วงเวลานั้น มีคนเห็นแววว่า “เป้-ภัททพล เงินศรีสุข” และ “เป๊ก-ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข” ลูกชายของคุณกมลา มีศักยภาพที่จะเป็นนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดี ดังนั้น จึงมีการจ้างโค้ช “พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ” มาสอนที่บ้าน และนักกีฬาเริ่มมีผลงานในการแข่งขันต่าง ๆ
แต่อาจารย์พรโรจน์รัชราชการครูสอนพละ ทำให้ต่อมาต้องย้ายไปรับราชการที่จังหวัดกระบี่ ทำให้ไม่สามารถฝึกสอนต่อได้ จึงได้แนะนำให้จ้างโค้ชมืออาชีพชาวจีนที่สามารถสอนได้เต็มเวลา
ชมรมฯ จึงทำเรื่องถึงสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ให้ช่วยติดต่อสมาคมแบดมินตันของประเทศจีนเพื่อขอจ้างโค้ช และได้ส่งประวัติ “โค้ชเซี่ย” หรือ “เซี่ย จื่อหัว” มา ซึ่งยังคงฝึกสอนอยู่ที่บ้านทองหยอดจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด
นักกีฬาของโรงเรียนสอนแบดมินตันบ้านทองหยอดประสบความสำเร็จ เป้ ภัททพล ติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2541 และต่อมาสองพี่น้องเป้-เป๊กได้กลายเป็นนักแบดมินตันมือ 1 และมือ 2 ของประเทศไทย
คุณกมลาจึงมีความคิดที่จะสร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ ทำให้ในปี พ.ศ.2546 มีการขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนจากชมรมเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” และขยับขยายยอมเป็นหนี้มากกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสร้างคอร์ตแบดมินตันที่รับรองนักเรียน 60-70 คนได้อย่างเพียงพอ
คุณกมลาเคยบอกว่า เงินที่มีทั้งหมดในตอนนั้นนำไปซื้อที่ดินและสร้างคอร์ตแบต โดยเวลานั้นตนคิดเพียงว่าต้องการคอร์ต ยอมเป็นหนี้ เพื่อทำให้เกิดนักแบดมินตันอย่าง เมย์-รัชนก และวิว-กุลวุฒิ
นี่คือเรื่องราวของผู้ที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่สำคัญของนักแบดมินตันจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าในอนาคต จะยังคงมีฮีโร่โอลิมปิกและนักกีฬาระดับโลกอีกจำนวนมาก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสอนแบดมินตันบ้านทองหยอดแห่งนี้
คอร์ตแบดมินตันในโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/229987
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา