Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2024 เวลา 13:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เรียนรู้กลโกงอสังหาฯ จากซีรีส์ 'Tokyo Swindlers'
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
🗼“Tokyo Swindlers” ซีรีส์ #เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เล่าเรื่องทีมนักต้มตุ๋นที่ใช้กลยุทธ์ซับซ้อนในการหลอกลวงเหยื่อ ลุ้นระทึกไปกับการไต่ระดับการโกงจากไม่กี่ร้อยล้านเยน จนไปแตะระดับ 10,000 ล้านเยน
2
เนื้อเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มนักต้มตุ๋นซื้อ-ขายที่ดินที่ระบาดอย่างหนักในช่วงก่อนโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว
แต่ในขณะเดียวกัน การโกงอสังหาริมทรัพย์ในชีวิตจริงนั้น กลับมีรูปแบบที่เรียบง่าย แต่น่ากลัว
วันนี้ #aomMONEY จะพาเพื่อนๆ ไปสำรวจกลวิธีการโกงในซีรีส์ และกรณีที่เกิดขึ้นจริง พร้อมแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
🕶🏘 [[#จินเมงฉิ]]
ซีรีส์ Tokyo Swindlers กล่าวถึงกลุ่มอาชญากร “จินเมงฉิ” ที่ประกอบไปด้วย หัวหน้าทีมอย่าง ‘แฮริสัน ยามานากะ’ (แสดงโดย เอตสึชิ โทโยคาวะ), ฝ่ายเจรจาอย่าง ‘ทาคุมิ สึจิโมโตะ’ (แสดงโดย โก อายาโนะ) พร้อมด้วยทีมงาน ฝ่ายข้อมูล ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายปลอมแปลงเอกสาร และฝ่ายคัดเลือกตัวปลอม
โดยอาชญากรเหล่านี้ ใช้วิธีการปล่อยข่าวว่ามีที่ดินทำเลดีมาขาย เมื่อมีเหยื่อที่สนใจ ก็จะนัดเจรจาพูดคุย โดยให้ข้อเสนอที่ดี แต่มีเงื่อนไขว่าต้องรีบทำสัญญา และโอนเงินโดยเร็ว
1
จากนั้นก็จะให้พบเจ้าของที่ดินตัวปลอม พร้อมเอกสารครบถ้วนที่สร้างขึ้นจากนักปลอมแปลงเอกสารระดับพระกาฬ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อตกลงซื้อและโอนเงิน ทีมนี้ก็จะสลายตัวหายเข้ากลีบเมฆ
💸 [[#กลโกงที่เกิดขึ้นจริง]]
จะเห็นได้ว่าวิธีที่จินเมงฉิใช้นั้น ล้ำเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ มีการเตรียมการที่เกือบจะไร้ช่องโหว่ แต่ในโลกความจริง การฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ซับซ้อนอย่างในซีรีส์ แถมมีช่องโหว่มากมายให้จับได้ แต่กลับสร้างความเสียหายได้ไม่น้อย
โดยการฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และเพื่อนๆ ควรทราบได้แก่
#หลอกเงินมัดจำ การหลอกเงินมัดจำเป็นกลโกงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมิจฉาชีพจะประกาศขายหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีคนสนใจ ก็จะขอให้รีบโอนเงินมัดจำเพื่อจองไว้ก่อน เมื่อถึงวันทำสัญญาซื้อขายจริงก็จะหายตัวไป (ก่อนจ่ายมัดจำดูให้ดีๆ ด้วยนะ)
#นำโฉนดที่ดินค้ำกู้เงิน มิจฉาชีพจะขอกู้เงิน โดยจะให้เจ้าหนี้ยึดโฉนดไว้ แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนจำนองเป็นหลักฐาน เสร็จแล้วจะไปแจ้งที่ดินว่าโฉนดหายเพื่อคัดลอกใหม่ บางกรณีอาจจะขโมยโฉนดที่ดินไปแก้ชื่อแล้วนำไปประกันเงินกู้ หรือทำสัญญาซื้อขาย
#อ้างตัวเป็นเจ้าของโครงการ ในกรณีนี้มิจฉาชีพจะอ้างว่าเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนทำป้ายโฆษณา สร้างสำนักงานขาย
เมื่อมีเหยื่อสนใจจะให้ทำสัญญาดาวน์หรือมัดจำแล้วเชิดเงินหนีไป บางกรณีอาจมีการเริ่มก่อสร้างแต่ไม่เสร็จ หรือมีการหลอกลวงโดยการไม่ทำตามที่โฆษณา เช่น ไม่ตัดถนนหรือสร้างสวนสาธารณะตามที่สัญญาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการหลอกลวงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน
#หลอกลงทุน มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้กำไรสูง แต่ต้องโอนเงินก่อน หรือหากเหยื่อมีที่ดินก็จะให้โอนที่ดิน เพื่อนำไปบริหารจัดการ เมื่อเหยื่อโอนเงินให้แล้ว ก็จะหายตัวไป หากโอนเป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเอาไปขายหรือจำนองแบบนี้เป็นต้น
#หลอกให้กู้ซื้อบ้าน มิจฉาชีพจะปลอมเป็นบริษัทลิสซิ่ง (Leasing) ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อดึงดูดเหยื่อ ให้มากู้ซื้อบ้าน จากนั้นจะขอให้วางเงินดาวน์ (ดาวน์เยอะ ลดดอกเบี้ยเยอะ) หรือมัดจำค่าดำเนินการ เมื่อได้เงิน ก็จะไม่ยอมดำเนินการตามขั้นตอนที่ต้องทำ
#หลอกทำสัญญาเรียกค่าปรับ มิจฉาชีพจะขอซื้อที่ดินจากเจ้าของ โดยทำสัญญาที่ระบุว่าเจ้าของต้องโอนที่ดินให้ภายในวันที่กำหนด หากไม่โอนจะมีค่าปรับ พอใกล้ถึงวันโอน 1วัน พี่มิจฯ จะโทรมาบอกว่ายกเลิกและขอคืนมัดจำ
แต่เมื่อถึงวันโอน มิจฉาชีพจะไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อให้กล้องบันทึกภาพหรือให้เจ้าหน้าที่เป็นพยาน แล้วกล่าวหาว่า เจ้าของที่ดินผิดสัญญา และเรียกค่าปรับตามที่ระบุในสัญญาได้
🛡[[ #วิธีป้องกันการถูกหลอกลวงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ]]
จะเห็นได้ว่ามีการหลอกลวงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มากมายหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้การแต่งกายที่ดี โปรไฟล์ที่แสดงบนโซเชียลมีเดียมีความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกเยื่อ เมื่อมีผู้เคราะห์ร้าย ก็ใช้วิธีกดดันให้รีบทำธุรกรรมโดยการโอนเงิน ทั้งก้อนใหญ่หลายล้าน ไปจนถึงมัดจำไม่กี่พันบาท จากนั้นก็จะหายเข้ากลีบเมฆ
📌[[#การป้องกันการฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์]]
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ปัญหาการฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์นั้น มีส่วนต่างๆ ยิบย่อยมากมาย และยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้ยกมาพูดถึง จนไม่สามารถแยกการป้องกันให้ชัดเจนได้ทุกกรณี ดังนั้นจึงสรุปมาเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
✅ 1 ตรวจสอบสิทธิ์ และเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้อง
การทำธุรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ต้องมั่นใจว่า เราคุยกับเจ้าของตัวจริง เปรียบเทียบกับซีรีส์ Tokyo Swindlers ที่มองเห็นว่าเรื่องนี้มีช่องโหว่ จึงจัดฉากหาเจ้าของตัวปลอมมาหลอกทำธุรกรรม
ดังนั้น ต้องมั่นใจว่า คนที่เราคุยด้วยคือเจ้าของตัวจริง โดยตรวจสอบจากเอกสารสิทธิ์ โฉนดที่ดิน ประวัติการครอบครอง รวมถึงสัญญาต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจน
สามารถนำเอกสารต่างๆ ไปที่สำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าหากเราเป็นเจ้าของโฉนดหรือเอกสารต่างๆ ก็ต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันคนอื่นเอาไปปลอมแปลง
✅ 2 ไปดูสถานที่จริง
การซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ควรไปดูสถานที่จริงว่าเป็นไปตามที่โฆษณาหรือไม่ ควรออกสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อยืนยันความถูกต้องของขอบเขตที่ดินและสภาพของที่ดิน เทียบกับเอกสารที่มีว่าถูกต้องหรือเปล่า รวมถึงตรวจสอบกับผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ว่ามีการรุกล้ำหรือมีปัญหาข้อพิพาทหรือไม่ด้วย
✅ 3 ดูประวัติผู้ขาย เรียนรู้กฎหมายและข้อบังคับ
หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย หรือผู้ซื้อว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่ ตรวจสอบสิทธิ์การถือครองตามกฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ มีข้อบังคับอื่นๆ เพิ่มเติมหรือเปล่า เช่น ที่ดินมีส่วนที่ต้องเป็นทางสาธารณประโยชน์ แบบนี้เป็นต้น รวมถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษากฎหมายอสังหาฯ ที่เกี่ยวข้อง นิติกรรมการซื้อ การขาย การให้เช่า ก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
✅ 4 ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อต้องข้องเกี่ยวกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ การให้ทนายช่วยในการตรวจสอบเอกสารและสัญญา รวมถึงใช้บริการนายหน้าหรือตัวแทนที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ในซีรีส์หรือชีวิตจริง จะเห็นได้ว่า อาชญากรมักจะใช้รูปแบบความน่าเชื่อถือและการเร่งรีบให้เกิดการทำสัญญาหรือธุรกรรม ดังนั้นในการป้องกันการฉ้อโกงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต้องอาศัยการตรวจสอบและการเตรียมความพร้อมอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ต้องรีบ รวมทั้งปรึกษาผู้มีประสบการณ์ ก็สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ เพราะการโกงเกิดขึ้นได้ และใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
อ้างอิง
https://www.netflix.com/title/81574118
https://news.ch7.com/detail/729449
https://www.trebs.ac.th/th/news_detail.php?nid=31
https://www.youtube.com/watch?v=HDV4fT-YMcs
https://www.thaipbs.or.th/program/People/episodes/101510
https://www.home.co.th/hometips/topic-25813
https://www.home.co.th/hometips/topic-11123
https://www.scb.co.th/.../contract-to-buy-and-sell.html
https://www.sansiri.com/content/view/
https://www.dol.go.th/rayong/Pages/tudjarit.aspx
#ออมมันนี #อสังหาฯ #อสังหาริมทรัพย์ #ฉ้อโกง #โกง #ซีรีส์ #Netflix #อาชญากร #ต้มตุ๋น #กฎหมาย
33 บันทึก
30
1
43
33
30
1
43
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย