21 ส.ค. 2024 เวลา 11:29 • สิ่งแวดล้อม

ไม้ "ฉำฉา" ใบ "ก้ามปู" ต้น "จามจุรี"

จามจุรีเป็นต้นไม้หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นก้ามปู ก้ามกราม จามจุรี ที่นิยมเรียกกันในภาคกลาง
ฉำฉา สารสา สำสา ลัง ที่คนภาคเหนือมักจะเรียกกัน
นอกจากนั้นมันยังมีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ก้ามกุ้ง (จ.อุตรดิตถ์) กิมบี๊ (จ.กระบี่) เส่คุ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-จ.แม่ฮ่องสอน) กกตะเวิน (จ.สกลนคร)
จามจุรีเป็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในวงศ์ (family) เดียวกับถั่ว นั่นจึงทำให้ใบของมันมีไนโตรเจนสูงมาก จนกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับใช้ทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งมีความต้องการเป็นอย่างมากในแต่ละปี
จามจุรีเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สามารถสูงได้ถึง 20 เมตร และมีทรงพุ่มแผ่ขยายปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ตัวอย่างเช่น ต้นจามจุรียักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีทรงพุ่มที่ปกคลุมพื้นที่ถึงประมาณ 2,400 ตารางเมตร
ต้นจามจุรียักษ์ จ.กาญจนบุรี
จามจุรีพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่พันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย เพราะถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของต้นจามจุรีอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนจะค่อย ๆ กระจายพันธุ์ไปตามพื้นที่เขตร้อนทั่วโลกแบบในปัจจุบัน
โฆษณา