8 ส.ค. 2024 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ร้านค้าออนไลน์ไปต่อ แนะปรับบริการก่อน-หลังการขายดึงดูดลูกค้า

พาณิชย์จัดทำดัชนีใหม่ ความพึงพอใจการซื้อสินค้าออนไลน์ เผยดัชนีอยู่ในระดับพึงพอใจมาก แอปสั่งอาหารและเครื่องดื่มดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้พัฒนาดัชนีเศรษฐกิจการค้าตัวใหม่ คือดัชนีความพึงพอใจผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ (รายไตรมาส) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค ใช้ติดตามและประเมินศักยภาพของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือภาคธุรกิจ และช่วยพิจารณาหามาตรการหรือนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้เติบโต เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้มากขึ้น
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค.
ดัชนีความพึงพอใจการซื้อสินค้าออนไลน์โดยรวมในไตรมาส 2 ปี 67 พบว่าอยู่ในระดับพอใจมาก (ในช่วง 60 - 79.99) ที่ระดับ 68.49 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.61 โดยแอปพลิเคชันสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด 4.36 จุด อยู่ที่ระดับ 70.82 รองลงมา อีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 3.94 จุด อยู่ที่ระดับ 68.96 ตามด้วยโซเชียลมีเดีย เพิ่มขึ้น 3.33 จุด อยู่ที่ระดับ 65.68
เป็นที่น่าสังเกตว่าในไตรมาส 2 ปี 67 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้า อาจสะท้อนมาตรการส่งเสริมการขายจากแพลตฟอร์มที่มีจำนวนมากในช่วงเทศกาลจำหน่ายสินค้ากลางปี รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้เงินโบนัสซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้รางวัลกับตนเองและครอบครัวในช่วงสงกรานต์.....นายพูนพงษ์กล่าว
ร้านค้าออนไลน์ไปต่อ แนะปรับบริการก่อน-หลังการขายดึงดูดลูกค้า
เมื่อพิจารณาเป็นรายแพลตฟอร์ม พบว่า แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือ อีคอมเมิร์ช และโซเซียลมีเดีย ตามลำดับ
แอปพลิเคชันสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีความพึงพอใจฯ ด้านคุณภาพของสินค้าและการขนส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด รองลงมาคือการบริการก่อน/หลังการขายฯ ด้านราคาสินค้าและค่าขนส่งฯ และด้านความน่าเชื่อถือตามลำดับ
อีคอมเมิร์ซ ดัชนีความพึงพอใจฯ ด้านการบริการก่อน/หลังการขายฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด รองลงมาคือด้านราคาสินค้า ค่าขนส่งฯ ด้านคุณภาพของสินค้าและการขนส่ง และด้านความน่าเชื่อถือตามลำดับ
  • เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์มย่อย พบว่า Shopee มีดัชนีความพึงพอใจฯ เพิ่มขึ้น 4.45 จุด อยู่ที่ระดับ 70.79 โดยด้านการบริการก่อนและหลังการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด ขณะที่ Lazada มีดัชนีความพึงพอใจ เพิ่มขึ้น 3.43 จุด อยู่ที่ระดับ 67.13 โดยด้านคุณภาพของสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นถึง 68.53
โซเชียลมีเดีย ดัชนีความพึงพอใจฯ ด้านคุณภาพสินค้าและการขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด รองลงมาคือด้านการบริการก่อน/หลังการขายฯ ด้านความน่าเชื่อถือ และด้านราคาสินค้าและค่าขนส่งฯ ตามลำดับ
  • เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์มย่อย พบว่า TikTok ได้คะแนนความพึงพอใจฯ ด้านราคาสินค้าและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วน Facebook ดัชนีความพึงพอใจฯ ด้านความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมากสุด
ในภาพรวมความพึงพอใจด้านบริการก่อนการขาย/หลังการขายฯ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่า การค้าออนไลน์ในประเทศไทยนอกจากจะมียอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีพัฒนาการไปในทิศทางบวกทั้งด้านการบริการและด้านราคาสินค้า/ค่าขนส่ง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ผู้ประกอบการเน้นมาตรการส่งเสริมการขายด้านราคาเป็นหลักเพื่อดึงดูดลูกค้า
เช่นปัจจุบัน Lazada มีนโยบาย Try&Buy รับสินค้าขนาดทดลองได้ฟรีหรือในราคาสุดคุ้ม ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ขณะที่ Shopee เสนอแผนการผ่อนชำระโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เป็นเวลานานถึง 10 เดือน สำหรับ TikTok เน้นการสนับสนุนเครื่องมือและฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้ร้านค้าสามารถสร้างประสบการณ์และความบันเทิงในการซื้อสินค้า (Shoppertainment) ได้ง่าย เป็นต้น
ขณะเดียวกันภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ รองรับการเติบโตการค้าออนไลน์ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านกฎหมายอย่าง "มาตรการส่งดี" (Dee-Delivery) มีสาระสำคัญ คือ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทาง ต้องจัดทำหลักฐานการรับเงิน โดยผู้ให้บริการขนส่งต้องถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้ผู้ส่งสินค้า
ส่วนผู้บริโภคเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค. 67
คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ดัชนีความพึงพอใจสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านความน่าเชื่อถือ คุณภาพสินค้าและการขนส่ง อย่างไรก็ตามอาจมีปัจจัยทอนจากราคาขนส่งที่มีโอกาสปรับสูงขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งสินค้ามีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงขึ้น เพื่อให้มีการบริการตามที่มาตรการกำหนด และอาจส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังผู้บริโภคในระยะถัดไป
ผลของดัชนีความพึงพอใจการซื้อสินค้าออนไลน์ไตรมาส 2 ปี 67 ชี้ว่าผู้บริโภคมีระดับความพึงพอใจมากในการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและร้านค้ามีการปรับตัวจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับด้านราคาสินค้าและบริการ ไปสู่การยกระดับคุณภาพด้านบริการมากขึ้น ในส่วนของภาครัฐควรมีการกำหนดมาตรฐานการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น.....นายพูนพงษ์กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/230055
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา