8 ส.ค. เวลา 06:31 • นิยาย เรื่องสั้น
สายฮีล (Saiheal Bookstore & Crafts)

ทำความรู้จักกับยันต์นอร์สสุดฮิต "ไอจิสชัลเมอร์" Ægishjálmr กับตำนานที่หลายคนไม่รู้

เวทมนตร์ไอจิสชัลเมอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม Helm of awe (เฮล์ม ออฟ ออว์) ที่แปลว่า เกราะแห่งความหวาดกลัว มีตำนานเรื่องเล่ามากมาย และเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ศรัทธาในอาซาทรู ยันต์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร จากที่เราเห็นในหลายบทความ ถูกกล่าวถึงในเชิงการป้องกันและสนองตอบผู้กระทำการไม่ดีต่อเรา หรือแม้กระทั่งความเชื่อว่าเป็นเวทมนตร์ที่ใช้ในการอำพราง สะกดใจผู้คนได้ บทความนี้จะไขข้อสงสัยให้กับทุกคนครับ
ยันต์นอร์ส "ไอจิสชัลเมอร์" Ægishjálmr ประกอบขึ้นด้วยสัญลักษณ์เวทมนตร์ไม่กี่อย่าง แต่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อครับ ที่เห็นหลัก ๆ คือวงกลมที่จุดศูนย์กลาง เราเรียกกันว่า "ซันวีลล์" (Sunwheel) หรือ โซลาร์ ครอส (Solar Cross) หรือบางคนจะกล่าวถึง ครอสออฟโวตัน (Cross of Wotan) ก็ไม่แปลกอะไร
เพราะสัญลักษณ์เวทมนตร์หลายอย่างในศาสนอร์สนั้น ถอดแบบ มาจากรูปทรงเลขาคณิตของชาวอียิปต์และชาวบาบิโลน แต่ก็มีเสียงกระซิบนะครับว่า จริง ๆ แล้วก็ถูกใช้กันในแถบประเทศนอร์ดิกโบราณก่อนค้นพบปิรามิดเสียอีก ซึ่งข้อถกเถียงตรงนี้ขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ เวลาที่ใครจะเคลมอะไรก็จะมากความตามท้องเรื่องนะครับ
สำหรับสัญลักษณ์วงกลมในเวทมนตร์นอร์สนั้น สื่อถึงพลังแห่งดวงอาทิตย์และแสงสว่างครับ กิ่งก้านสาขาที่แยกออกจากจุดกำเนิดตรงกลาง เป็นลักษณะหอกสามง่าม นักมายาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่าเป็นลักษณะของ "เรย์ สเตฟ" (Ray Stave) ที่สื่อถึงการแผ่กระจายออกไป การทะลวงทำลายศัตรู หรือการสร้างความกลัวที่ใครจะมาเผชิญหน้ากับเรา อีกทั้งยังช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ นา ๆ ได้อีกด้วย
เรย์สเตฟที่กางออก 8 ทิศ ก็สื่อได้ถึงทิศทางทั้ง 8 รอบตัวเรานั่นเองครับ แต่ก็จะมีรอยจารโบราณที่ค้นพบอยู่บ้างว่า ไอจิสชัลเมอร์ มีขาเพียง 4 ขาเท่านั้น อีกทั้งชาวยุโรปบางท่าน ยังเชื่อมโยงลักษณะของไอจิสชับเมอรว่าขาที่ยื่นออกมานั้น เหมือนกับรูนอัลกิซ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนไม่เห็นพ้องต้องกันสักเท่าใดนัก
เราจะสังเกตุเห็นขีดสามขีด ที่อยู่ระหว่างกิ่งก้านสาขาของยันต์นั้น ถูกเรียกกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของการขยายพลัง การชาร์จพลังงาน และช่วยเพิ่มอานุภาพให้คาถารุนแรงขึ้น ขยายให้กว้างขึ้น และเมื่อเราสังเกตุให้ดี การใช้เรย์สเตฟ ผสมกับการแอมพลิฟาย (Amplify) จึงทำให้ยันต์นี้มีอานุภาพแผ่ขยายเป็นวงกว้างนั้นเอง
อานุภาพของยันต์ไอจิสชัลเมอร์
พลังหลักของไอจิสชัลเมอร์คือการป้องกันภัยทั้งหลายทั้งปวง และตอบสนองผู้ที่คิดไม่ดีต่อเรา สิ่งเหล่านี้ก็ถูกถอดออกมาจากพลังเวทมนตร์ในสัญลักษณ์ดังกล่าวข้างต้นนั่นเองครับ โดยชื่อเรียกนั้น เกิดจากคำว่า “ægis” แปลว่าหวาดกลัว และ “hjálmr” แปลว่าปิดบังหรือหางเสือ จึงเป็น “หางเสือแห่งความหวาดกลัว” หรือบางตำนานจะกล่าวถึงในคำเรียกที่ว่า "หมวกแห่งความหวาดกลัว" ก็ตาม เป็นเวทมนตร์ที่ใช้กระแทกจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว หลงลืม หลงผิด หรือสร้างภาพลวงตาได้อีกด้วย เพราะในความเชื่อบางตำนาน
กล่าวถึงเวทมนตร์เซธร์ (Seiðr) ที่มีการใช้สัญลักษณ์นี้เพื่อสร้างภาพลวงตาให้แก่บุคคลที่มาไล่ล่าแม่มดเซธร์คนหนึ่ง เพราะเวทมนตร์ไอจิสชัลเมอร์ เป็นหนึ่งในส่วนย่อยของเวทมนตร์เซธร์ที่ชื่อว่า ซูนเครฟ์วิง (sjónhverfing) เป็นเวทมนตร์แห่งการสร้างภาพลวงตานั่นเอง
ดังนั้น พลังเวทมนตร์หลักของไอจิสชับเมอร์ และพลังเสริมที่เราพอรับรู้ จึงมีอานุภาพแฝงที่มากมาย แต่ก็ถูกกล่าวถึงว่า ผู้ที่ใช้จะต้องดำรงชีพด้วยคุณธรรม และขันติธรรมเท่านั้น จะนำเวทมนตร์นี้ไปทำลายศัตรู เพียงเพราะความอยากเอาชนะ หรือตนเป็นฝ่ายผิด แต่ต้องการทำลายเขา แบบนั้นไม่ได้ เวทมนตร์จะย้อนมาทำลายตนเองครับ
ægishjálmr (helm of awe)
ตำนานของมนตร์ไอจิสชัลเมอร์
ในเรื่องเล่าของแม่มดเซธร์ กล่าวถึงไอจิสชัลเมอร์ไว้ว่า มีสตรีท่านหนึ่งนามว่า
"คัทลา" (Katla) เป็นแม่มดเซธร์ระดับเชี่ยวชาญ เธอต้องการช่วยบุตรชายนามว่า
"ไอ๊ด" (Odd) จากคนที่ต้องการฆ่าลูกชายของเธอ เมื่อลูกชายเข้ามาในบ้าน เธอจึงให้นั่งข้างกายเธอโดยห้ามขยับตัว ในขณะที่เธอนั่งปั่นด้ายอย่างไม่ตระหนกใด ๆ เมื่อกลุ่มผู้ต้องการฆ่ามาถึง ก็เข้าค้นบ้านของเธอ แต่ก็ไม่พบสิ่งใด จึงพากันไม่พอใจ แล้วจากไป
ครั้งที่สอง กลุ่มผู้ต้องการฆ่ากลับมาอีกครั้ง ขณะที่เธอกำลังนั่งหวีผมให้กับโอ๊ด แต่กลุ่มนักฆ่ากลับพบว่า เธอกำลังหวีขนให้กับแพะ ครั้งที่สาม โอ๊ดนอนอยู่ในกองขี้เถ้า พวกเขาก็เห็นว่าเป็นหมูป่าของคัทลาที่นอนอยู่ในที่แห่งนั้น และทุกครั้งที่พวกผู้ต้องการฆ่าจากไป พวกเขาก็จะคิดเสมอว่า ต้องมีการเล่นกลบางอย่างเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
และเรื่องนี้ก็ถูกเปิดเผยออกโดย "จีร์รีธ" (Geirríðr) ศัตรูคู่อาฆาตของคัทลา ที่มาพร้อมกับกลุ่มผู้ต้องการฆ่า และคลายเวทมนตร์กลลวงของคัทลาลงได้สำเร็จ ด้วยการเอาถุงหนังแมวน้ำครอบหัวของคัทลาไว้ เพื่อขัดขวางการร่ายเวทมนตร์ของเธอ เมื่อนั้น ทั้งโอ๊ดและคัทลา ก็ถูกนำตัวไปสังหาร
การใช้เวทมนตร์เซธร์ลักษณะนี้ สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการพันหนังแพะที่จารึกยันต์ไอจิสชัลเมอร์ไว้บนศรีษะของเหยื่อ หรือของแม่มด เรียกเวทมนตร์นี้ว่า "ฮูลิสยอมม์" (huliðshjálmr) ซึ่งวิธีการอัญเชิญฮูลิสยอมม์มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางมือบนศรีษะของคนที่ต้องการปกปิด หรือกระทั่งการโยนผงวิเศษบนหัวของพวกเขา หรือการใช้ฮู้ดดังกล่าวสวมใส่บนศรีษะแม่มดเซธร์นั้น ๆ นั่นเอง
อีกตำนานของนิยายที่มีการกล่าวถึงคนแคระนามว่าฟาฟนีร์ (Fáfnir) ที่สังหารกษัตริย์เฮธมาร์ (Hreithmar) ที่มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เพื่อแย่งชิงมาเป็นของตน และในความเชื่อนั้น กล่าวถึงชนเผ่าคนแคระว่าเป็นผู้ทรงเวทมนตร์ในการจำแลงแปลงกาย หรือการสร้างภาพลวงตาเป็นอย่างยิ่ง จึงใช้เวทมนตร์ไอจิสชัลเมอร์เพื่อจำแลงกายเป็นมังกรเฝ้าสมบัติดังกล่าว
ในความเชื่อนี้กล่าวว่า ฟาฟนีร์ ได้สวมสัญลักษณ์ไอจิสชัลเมอร์ไว้ตรงกลางระหว่างดวงตาสองข้างของเขา (กลางหน้าผาก) ต่อมาได้ถูกวีรบุรุษนามว่าซีเกิร์ด (Siqurd) สังหาร หรือบางบทความจะเขียนว่า ซีกริด (Siegfried) ก็ไ่ม่ผิดครับ เพราะสำเนียงนอร์สอ่านออกไปในทิศทางนั้น เมื่อสังหารแล้วจึงได้เวทมนตร์ไอจิสชัลเมอร์ติดตัวไปด้วยนั่นเอง
ในส่วนของซีเกิร์ดนั้น เป็นนักรบที่อยู่ในราชวงศ์เดนมาร์ก และเป็นบุตรหลานสืบทอดของกษัตริย์องค์ดังกล่าว ได้รับการเลี้ยงดูจากช่างตีเหล็กนามว่า "รีกอิน" (Regin) ที่ตีดาบวิเศษมอบให้กับเขา เพื่อไปสังหารมังการฟาฟนีร์เพื่อชิงราชสมบัติคืนมาสู่ตน
ตำนานเรื่องมังกรฟาฟนีร์นี้ มีหลายเวอร์ชั่นมาก ผู้เขียนขอหยิบมาเพียงเรื่องเดียวให้อ่านกันพอสังเขปนะครับ
สำหรับยันต์ไอจิสชัลเมอร์นี้ เรียกได้ว่าได้รับการยอมรับในคริสตจักร และมีการใช้ประกอบพิธีกรรมบางอย่างของชาวคริสต์โบราณ จึงค่อนข้างได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน ความเชื่อดั้งเดิมของชาวนอร์สเกี่ยวกับตำนานดังกล่าว นำพามาสู่การจารลงตะกั่วแล้วแทงระหว่างคิ้ว เพราะในความเชื่อที่ว่า จุดกึ่งกลางระหว่างคิ้วสองข้างนั้น เป็นจุดรวมตบะชองผู้ใช้เวทมนตร์ชาวนอร์สนั่นเอง
วิธีการใช้เครื่องรางไอจิสชัลเมอร์ที่ถูกต้อง
สำหรับวิธีการใช้เครื่องรางไอจิสชัลเมอร์ที่ถูกต้องนั้น อ้างอิงจากการร่ายเวทมนตร์โบราณ ใครที่มีไอจิสชัลเมอร์เป็นของตนเอง ให้นำยันต์หันหน้าออก แล้วแตะกลางหน้าผาก
(บางคนเลือกที่จะสักลงไปกลางหน้าผากระหว่างคิ้วสองข้างเลยก็มี) แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า “Aegishjalm er eg ber, milli bruna mer.” (ไอจิสยอม อาร์เร็ก เบธ มิลลี บรูนา เมธ) แปลว่า “ฉันถือหางเสือแห่งความกลัวระหว่างคิ้วของฉัน” แล้วจึงจินตนาการสิ่งที่ปรารถนา เช่น ปกป้องฉันจากการเดินทางครั้งนี้นะ, ช่วยป้องกันฉันจากคนที่นิสัยไม่ดีคนนี้นะ หรือ ช่วยให้ฉันปลอดภัยจากสิ่งนั้นสิ่งนี้นะ เป็นต้น
👇👇👇สนใจสั่งซื้อสินค้าได้ที่นี่ครับ👇👇👇👇
👇👇👇👇ติดตามรายละเอียดต่างๆได้ที่เว็ปไซต์👇👇👇👇
โฆษณา