10 ส.ค. เวลา 03:00 • ครอบครัว & เด็ก

จดทะเบียนสมรสกันไหม

⭐ การตัดสินใจจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนสมรสเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่มีความสำคัญของคู่รักทุกๆ คู่ เพราะไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการใช้ชื่อสกุล หรือสิทธิในทรัพย์สินร่วมกัน ยังรวมไปถึงด้านความสัมพันธ์ การก่อตั้งครอบครัว และสิทธิ/หน้าที่อื่นๆ ของคู่สมรสตามกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบในด้านการเงิน ความสัมพันธ์ของครอบครัว และความมั่นคงในอนาคต
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว (18 มิถุนายน 2567) เตรียมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากการลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะส่งผลให้มีความเท่าเทียมกันสำหรับการสมรสระหว่างคู่รักที่มีเพศเดียวกัน หรือเพศต่างกันที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย กับการสมรสระหว่างคู่รักที่มีเพศต่างกันทั่วไป
ที่ผ่านมาสำหรับคู่รักหญิง - ชายโดยกำเนิดที่กฎหมายรับรองให้จดทะเบียนสมรสได้นั้น ก็มีหลายคู่แต่งงานกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จากเหตุผลหลายประการ เช่น ความสะดวกสบาย ความไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ การป้องกันทรัพย์สินส่วนตัว หรือบางคู่ก็หย่ากันหลังจากจดทะเบียนสมรสไปได้แล้วช่วงหนึ่งแต่ยังคงใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน (หย่าแค่ทางทะเบียน) จากเหตุผลทางธุรกิจ หรือเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน พอจะอนุมานได้ว่าการตัดสินใจว่าจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสนั้นมีเหตุผลทางการด้านการจัดการทรัพย์สินมาเกี่ยวข้องพอสมควร
อย่างไรก็ตามการพิจารณาว่าจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสนั้นไม่ควรพิจารณาทางด้านการเงินเพียงด้านเดียว เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสหลายประการ
สำนักงานกิจการยุติธรรมได้จัดทำเอกสาร 12 ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส ซึ่งผู้เขียนสรุปเป็น 3 ด้านหลักได้แก่ 1. ครอบครัว 2. ทรัพย์สิน 3. การดำเนินคดี ดังนี้
ด้านครอบครัว
  • คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งหาเลี้ยงอีกฝ่าย หรือช่วยกันหาเลี้ยงกันและกัน ทำให้ทั้งคู่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  • บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลบิดาได้ และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้เป็นบิดา ทั้งนี้บุตรเป็นสิทธิตามชอบธรรมตามกฎหมายของมารดา สำหรับคู่สมรสเท่าเทียมสามารถพิจารณาในเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
ด้านทรัพย์สิน
  • การจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส (สินสมรส) ร่วมกัน เช่น การขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี หรือการให้กู้ยืมต้องได้รับการยินยอมร่วมกัน
  • การรับมรดกของคู่สมรส และรับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง (บำเหน็จตกทอด) กรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการทำงาน และสิทธิการรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคม การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
  • การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสและบุตร
ด้านการดำเนินคดี
  • สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิต/บาดเจ็บ เนื่องจากคู่สมรสมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เมื่อถูกคนอื่นทำให้เสียชีวิต/บาดเจ็บ คู่สมรสจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ/ค่าสินไหมทดแทนได้
  • สิทธิการหึงหวงคู่สมรสตามกฎหมาย และหากพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
  • คู่สมรสที่ทำความผิดระหว่างกัน (8 ฐานความผิดอาญา) เช่น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งขโมยเงินของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการบุกเข้าในบ้านของอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
  • สิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากภรรยาถูกโจรปล้น สามีสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแทนได้
การจดทะเบียนสมรสยังมีสิทธิอื่นเพิ่มเติมดังเช่น
  • สิทธิในการได้รับยกเว้นการลงโทษตามดุลพินิจจากศาลกรณีที่ทำลาย ซ่อนเร้นซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของคู่สมรส หรือการให้ที่พักแก่คู่สมรสที่เป็นผู้กระทำความผิด
  • สิทธิในการรักษาพยาบาลสำหรับคู่สมรสของข้าราชการ
  • สิทธิในการลงนามยินยอมรักษาพยาบาล ในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว และไม่ได้แสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น แพทย์ก็จะปรึกษาหารือกับคู่สมรส ทายาทโดยธรรม ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เพื่อให้ทำหน้าที่ตัดสินใจในการรักษาพยาบาลแทนผู้ป่วย
  • การเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต แม้ว่าป.พ.พ. จะมิได้กำหนดว่าผู้รับผลประโยชน์จะต้องมีความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสีย หรือมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่บริษัทประกันภัยมักจะเป็นผู้กำหนดเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจนถึงแก่ชีวิตของผู้เอาประกันและฉ้อโกงเอาเงินประกัน
  • การเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
นอกจากสิทธิในด้านทรัพย์สินแล้ว การจดทะเบียนสมรสส่งผลให้เกิด หนี้สินระหว่างสามีภริยาต้องร่วมกันรับผิดชอบได้แก่
(1) หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะ เลี้ยงดู ตลอดจนการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตร
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น ค่าต่อเติมบ้านสินสมรส หรือกู้ยืมเงินไปไถ่ถอนจำนองสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน เช่น หนี้ที่เกี่ยวกับการที่ประกอบกิจการการขายสินค้าร่วมกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบันแล้ว เมื่อเป็นหนี้ร่วมแล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้จากสามีภริยาได้โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาหรือไม่ และสามารถบังคับให้ชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสามีและภริยาได้
โดยหากเจ้าหนี้ฟ้องบังคับชำระหนี้เอากับคู่สมรสคนใดคนหนึ่งในชั้นบังคับคดีสามารถยึดสินสมรสได้ทั้งหมด แต่จะยึดสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยไม่ได้ หากต้องการบังคับชำระหนี้เอากับสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ต้องฟ้องคู่สมรสฝ่ายนั้นเป็นจำเลยด้วย
หากไม่จดทะเบียนสมรส จะเป็นอย่างไร
เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสย่อมไม่เกิดสิทธิ/หน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ทว่าสำหรับบุตรนั้น บิดาสามารถรับรองบุตร (โดยที่มารดาและตัวบุตรยินยอม) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุตรนอกสมรสเป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา
ในขณะที่การรับรองโดยพฤตินัย เช่น การให้ใช้นามสกุล การส่งเสียอุปการะเลี้ยงดู หรือการแสดงออกอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน จะมีผลให้ถือเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับมรดกบิดาได้ แต่การรับรองโดยพฤตินัยนี้จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิอื่นดังเช่นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู
ในด้านทรัพย์สิน คู่สมรสที่จดทะเบียนมีกฎหมายวางหลักในเรื่องสินส่วนตัว สินสมรส การจัดการสินสมรส ตลอดจนหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส และยังให้สิทธิในการทำสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสเพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินได้ หากมีการหย่าหรือคู่สมรสเสียชีวิตก็มีกฎหมายวางหลักในการแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินกัน ในขณะที่คู่ชีวิตที่มิได้จดทะเบียนแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน
แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วางหลักว่าทรัพย์สินที่คู่ชีวิตอยู่กินกันกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำมาหาได้ร่วมกันถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย (ฎ.684/2508, ฎ.620/2543 เป็นต้น) ทั้งสองฝ่ายจึงสิทธิ/หน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินตามหลักกรรมสิทธิ์รวม
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่กำหนดหน้าที่ของคู่สมรสที่ไม่จดทะเบียน เช่น การแสดงบัญชีทรัพย์สินทรัพย์สินและหนี้สิน ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ระบุว่า "คู่สมรส" หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย
การสร้างครอบครัวเป็นก้าวสำคัญในชีวิตที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบและการตัดสินใจที่รอบคอบ การจดทะเบียนสมรสหรือไม่จดทะเทียนสมรส นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิ/หน้าที่ในหลายด้าน เช่น การจัดการทรัพย์สิน ประโยชน์ทางภาษี ความมั่นคงของครอบครัว เป็นต้น
ดังนั้นการตัดสินใจจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสควรพิจารณาจากความพร้อมของทั้งสองฝ่ายและความเหมาะสมในชีวิตคู่ อีกทั้งการใช้ชีวิตร่วมกันยังต้องพิจารณาด้านการปรับตัวเข้าหากัน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้การใช้ชีวิตคู่เป็นก้าวที่นำไปสู่ความสุขและความมั่นคงของครอบครัว
ที่มา: วารสาร TFPA Magazine ฉบับที่ 2/2567 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/4ctpe2v
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา