17 ส.ค. เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เพิ่มโอกาสการลงทุนผ่าน Private Equity

นักลงทุนทุกท่านคงคุ้นเคยกับการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Public Equity) อยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว โอกาสลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) นั้นมีมากกว่าหลายเท่า โดยจำนวนบริษัทในโลกที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญฯ นั้นมีอยู่มากกว่า 140,000 บริษัท แต่มีเพียง 19,000 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนซื้อขายในตลาด ที่เหลืออีกกว่า 120,000 บริษัท ล้วนเป็นบริษัทนอกตลาด1
ถ้าอย่างนั้นแล้ว การที่เราสามารถเข้าถึงการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ได้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนอย่างมาก ซึ่งนั่นรวมถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเหนือการลงทุนหุ้นในตลาดด้วย โดยบทความนี้จะพาไปรู้จักลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนใน Private Equity เพื่อหาคำตอบว่าทำไมการลงทุนใน Private Equity ถึงน่าสนใจ
Private Equity คืออะไร
Private Equity หรือเรียกสั้นๆ ว่า PE คือการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีความแตกต่างจากการลงทุนหุ้นในตลาดฯ อย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขาย การเข้าถึงข้อมูล การประกาศราคาซื้อขาย และการเข้าถึงการลงทุน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
Public Equity
  • สภาพคล่องสูง ซื้อขายหุ้นได้ผ่านตลาดแลกเปลี่ยน
  • ข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะ
  • มีราคาซื้อขาย real time
  • มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก
Private Equity
  • สภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้ผ่านตลาดแลกเปลี่ยน
  • ข้อมูลไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลได้จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน
  • ไม่มีการประกาศราคาซื้อขายหรือมูลค่าการลงทุนเป็นประจำ (ปกติไตรมาสละครั้ง)
  • จำนวนผู้ถือหุ้นจำกัดในวงแคบ
จากตารางข้างต้น นักลงทุนอาจจะเห็นว่าการลงทุนใน Private Equity นั้นดูมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นในตลาด ถ้าอย่างนั้นแล้ว การที่นักลงทุนจะยอมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ย่อมต้องการแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย หากเราลองไปดูผลตอบแทนย้อนหลังของ Private Equity จะเห็นว่าใน 15 ปีที่ผ่านมา PE ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นทั่วโลกตามดัชนี MSCI World กว่า 5.3% ต่อปี2 (Private Equity และ MSCI World ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 12.5% และ 7.2% ตามลำดับ)
โดยเหตุผลหนึ่งที่ PE มีผลตอบแทนสูงนั้นมาจากแนวทางในการบริหารกองทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าบริษัท กล่าวคือ ผู้จัดการกองทุน PE จะทำการเฟ้นหาบริษัทที่น่าสนใจ (deal sourcing) วิเคราะห์ดีลการลงทุนอย่างละเอียด (due diligence) และต่อรองราคาจากเจ้าของเดิมในการเข้าซื้อหุ้นกิจการนั้น (negotiation)
โดยส่วนมากจะมุ่งหวังว่าจะเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการบริษัท (active participation) เช่น ปรับโครงสร้างกิจการ ลดต้นทุน ขยายตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการให้มากที่สุด ก่อนที่จะหาจังหวะในการขายออกในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งนั่นต่างจาก ผู้จัดการกองทุนของหุ้นในตลาดที่ทำได้เพียงวิเคราะห์หุ้นจากข้อมูลสาธารณะในการตัดสินใจลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหารจัดการบริษัท เพราะถือหุ้นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น (passive ownership)
วิธีการลงทุนของ PE
การลงทุนในกองทุนหุ้นในตลาด นักลงทุนจะใส่เงินลงทุนทั้งหมด 100% ตั้งแต่แรก โดยผู้จัดการกองทุนเองก็สามารถนำเงินที่ได้รับมาไปซื้อหุ้นในตลาดได้ทันที แต่การลงทุนในกองทุน PE นั้นมีความแตกต่างที่สำคัญคือ ในวันแรก นักลงทุนแค่ต้องบอกจำนวนเงินที่สัญญาว่าจะลงทุน (Committed Capital) เท่านั้น โดยยังไม่ต้องมีการให้เงินจริงๆ หลังจากนั้น ผู้จัดการกองทุนจะค่อยๆ เรียกเงินลงทุนจากนักลงทุน หรือที่เรียกว่า Capital Calls เมื่อเจอดีลบริษัทที่น่าสนใจ ซึ่งปกติอาจใช้เวลา 1-4 ปี กว่าจะเรียกเงินจากนักลงทุนครบ 100%
โดยหลังจากเข้าซื้อกิจการแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารบริษัทเพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการ ซึ่งปกติอาจใช้เวลา 4-8 ปี ในการรอให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้นงอกเงยขึ้น ถึงจะเริ่มขายทำกำไรบริษัทเหล่านั้นออกไปและคืนเงินให้นักลงทุนได้ (Distributions)
ดังนั้น กระแสเงินสดจากการลงทุนของ PE (Net Cash Flow) จะติดลบในช่วงแรกที่เป็นช่วงเรียกเงินลงทุน และจะค่อยๆ กลับมาเป็นบวกในช่วงเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุน ถ้าเราแสดงกราฟกระแสเงินสดสะสมจากการลงทุนในกองทุน PE (Net Cumulative Cash Flow) จะมีลักษณะเป็นตัว J หรือที่เรียกกันว่า J Curve ในศัพท์การลงทุน PE ดังที่แสดงในรูปด้านล่าง
ในแง่โครงสร้างกองทุน PE เองก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากกองทุน PE มักจะจัดตั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) โดยจะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 ฝ่ายหลักๆ ด้วยกันคือ นักลงทุนที่อยู่ในฐานะ Limited Partner (LP) หรือหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด มีหน้าที่ให้เงินลงทุนเมื่อมี Capital Calls และ ผู้จัดการกองทุน ที่อยู่ในฐานะ General Partner (GP) หรือหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดการรับผิด มีหน้าที่ในการบริหารกองทุน
โดย GP จะได้รับผลตอบแทน 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ (1) ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุน (Management Fee) และ (2) ส่วนแบ่งกำไร (Carried Interest) ซึ่งโดยปกติกองทุนจะมีการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำในการจ่ายส่วนแบ่งกำไร (Hurdle Rate) เช่น กองทุนที่กำหนด Hurdle Rate 8% และ Carried Interest 20% คือ GP ต้องทำผลตอบแทนให้ได้ 8% ขึ้นไป ถึงจะได้รับส่วนแบ่งกำไร 20%
กลยุทธ์การลงทุน PE
การลงทุนในบริษัทนอกตลาดนั้นมีกลยุทธ์หลากหลาย ขึ้นกับว่าเป็นการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วงไหนของวัฎจักรธุรกิจ (Business Cycle) โดยหากเป็นการลงทุนในบริษัทที่พึ่งจัดตั้งในช่วงแรก อาจจะยังมีรายได้ไม่มากนัก จะเรียกว่า Venture Capital ต่อมาเมื่อบริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้น อยู่ในช่วงเติบโต และต้องการเงินทุนมาเพิ่มเพื่อขยายกิจการ การลงทุนในบริษัทที่อยู่ในระยะนี้จะเรียกว่า Growth Equity ต่อมาบริษัทอาจจะเข้าสู่ช่วงระยะเติบโตเต็มที่แล้ว (Maturity Stage) รายได้มีเข้ามาต่อเนื่อง
การลงทุนในบริษัทระยะนี้มักจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นเป็นส่วนใหญ่เพื่อจะได้มีอำนาจในการบริหารบริษัท จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า Buyout ดังนั้น ความเสี่ยงและผลตอบแทนของแต่ละกลยุทธ์การลงทุนจะไม่เท่ากัน ยิ่งเป็นการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วงตั้งต้น ยิ่งมีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนก็มักจะสูงตามไปด้วย ดังนั้น Venture Capital จะเป็นกลยุทธ์ PE ที่มีความเสี่ยง และผลตอบแทนสูงกว่า Growth และ Buyout ตามลำดับ
การเข้าถึงการลงทุน PE
ในอดีตนั้น อาจจะมีแค่นักลงทุนสถาบันเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงโอกาสการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ได้ แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการลงทุนมีการพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ก็สามารถเข้าถึงการลงทุนใน Private Equity ได้เช่นกัน โดยกองทุน Private Equity ถือเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีลักษณะเฉพาะ จึงถูกจัดประเภทเป็นกองทุน UI หรือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth)
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีกำหนดนิยามผู้ลงทุนสถาบัน และ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ตามเกณฑ์สินทรัพย์ และความรู้หรือประสบการณ์เอาไว้ ซึ่งหากนักลงทุนท่านใดผ่านเกณฑ์นิยามดังกล่าวก็สามารถลงทุนในกองทุน PE ได้ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุน เนื่องจากเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเหนือการลงทุนหุ้นในตลาด
ที่มา
ที่มา: วารสาร TFPA Magazine ฉบับที่ 2/2567 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/4ctpe2v
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา