Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ส.ค. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นิวซีแลนด์ เน้นส่งออกสินค้าเกษตร ก็เป็นประเทศที่รวยได้
“ทำเกษตรกรรม ไม่มีวันรวย” เป็นประโยคที่เราได้ยินกันบ่อย เพราะต้องเจอความเสี่ยงมากมาย จากที่หวังว่าจะได้กำไร ก็อาจขาดทุนแบบหมดตัว
แต่เรื่องนี้ตรงข้ามกับนิวซีแลนด์ ประเทศที่เล็กกว่าไทยครึ่งหนึ่ง แต่คนในประเทศมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 1.5 ล้านบาทต่อปี
โดยการส่งออกสินค้าของนิวซีแลนด์ กว่า 77% เป็นสินค้าเกษตร
พูดง่าย ๆ คือ นิวซีแลนด์หารายได้จากการส่งออก 100 บาท มาจากสินค้าเกษตรมากถึง 77 บาท
อะไรที่ทำให้นิวซีแลนด์ ร่ำรวย
แม้เน้นส่งออกสินค้าเกษตร เป็นหลัก
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
ถ้าเราเล่นเกมสร้างเมือง แล้วเลือกเป็นนิวซีแลนด์
ที่มีแค่ทุ่งหญ้าโล่งกว้าง ป่าไม้ แม่น้ำ และภูเขา เราจะเริ่มสร้างอะไรก่อนดี ?
2
นี่คือโจทย์แรก ที่ผู้อพยพจากยุโรป เข้ามาตั้งรกรากในนิวซีแลนด์ต้องเจอ ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยาของไทย
ในขณะที่ชาวเมารี ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ก็เต้นรำ ล่าสัตว์ หาของกิน และใช้ชีวิตไปวัน ๆ กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว
แต่ผู้อพยพกลับคิดแตกต่าง เพราะมองว่า นี่คือดินแดนสวรรค์สำหรับการทำปศุสัตว์ โดยเฉพาะแกะและโค ที่จะสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล
กระดุมเม็ดแรก
ของความรุ่งเรือง ในนิวซีแลนด์ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น..
ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์
วันคืนผ่านไป ผู้อพยพจากยุโรปก็ค่อย ๆ นำเข้าแกะและโคจากยุโรป เข้ามาในนิวซีแลนด์ และทยอยปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้เข้ากับอากาศที่นิวซีแลนด์มากขึ้น
จนปัจจุบัน นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีแกะ 27 ล้านตัว โคประมาณ 6 ล้านตัว ในขณะที่คนในประเทศมีแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น
เท่ากับว่า นี่เป็นประเทศที่มีสัตว์มากกว่าคนเสียอีก
แต่ด้วยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ต่างกัน เพราะชาวเมารี เดิมเน้นล่าสัตว์มากกว่าทำปศุสัตว์ นานวันเข้า ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างกันแทน
จนทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญา Waitangi
ในปี ค.ศ. 1840 โดยยอมรับในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิ์กัน
เมื่อเรื่องราวสงบลง การทำปศุสัตว์ในนิวซีแลนด์ ก็ได้เฟื่องฟูขึ้นมาเรื่อย ๆ และถูกต่อยอดผลผลิตไปเป็นนม ชีส เนื้อแกะ และอื่น ๆ อีกมากมาย
กระดุมเม็ดต่อมา คือ
เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตัวเอง
การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าสูงขึ้น จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตขึ้นมา ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนที่มากพอสมควร
เกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ ก็ใช้วิธีที่ฉลาด เพราะเลือกไม่ใช้เงินลงทุนของตัวเองทั้งหมด แต่ไประดมทุนจากกลุ่มคนเลี้ยงโคนม แล้วมาตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อผลิตสินค้าแปรรูป
2
จนกลายมาเป็นสหกรณ์แห่งแรกในปี ค.ศ. 1871
ที่ชื่อว่า Otago Co-operative Cheese โดยมีเงื่อนไขแบ่งหุ้นตามสัดส่วนที่เกษตรกรส่งนมเข้ามาที่โรงงาน
4
ยิ่งส่งนมเข้าโรงงานสหกรณ์เยอะ
ยิ่งได้หุ้นมากขึ้น แถมยังได้ปันผลกลับมาอีก
ระบบนี้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายนมให้สหกรณ์
แถมยังได้เงินปันผลจากหุ้นส่วน เอากลับไปลงทุน เพื่อขยายกิจการของตัวเองได้มากขึ้น
1
แต่เมื่อมีผลผลิตแปรรูปจากสหกรณ์มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่สหกรณ์ Otago แค่แห่งเดียว ในไม่ช้า ผลผลิตที่ออกมาก็ล้นตลาด และราคาก็จะตกต่ำ
ปัญหาที่เกิดขึ้น กลายมาเป็นการติดกระดุมเม็ดที่ 3 นั่นคือ หาตลาดส่งออกนอกประเทศ
ถ้าถามว่า ทำไมก่อนหน้านั้น นิวซีแลนด์ถึงไม่ส่งออกไปต่างประเทศ เหตุผลก็เพราะว่า ในอดีต ยังไม่มีนวัตกรรมที่เรียกว่า ระบบห้องเย็นและตู้เย็น
1
ซึ่งถ้าส่งออกไป สุดท้ายก็เน่าเสียอยู่ดี
และโอกาสก็มาถึง เพราะในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ระบบตู้เย็นก็ได้ถูกคิดค้นขึ้นในโลก เปิดความหวังให้สินค้าเกษตรแปรรูปของนิวซีแลนด์ ออกไปสู่โลกกว้าง
แต่จำนวนสหกรณ์และเกษตรกรปศุสัตว์ที่เยอะขึ้น ทำให้ผลผลิตต้นทางที่ออกมา มีหลากหลายแบบ ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าเกษตรที่แปรรูปตามมาด้วย
นิวซีแลนด์ เลยจัดตั้งหน่วยงาน 3 แห่งขึ้นมา เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตที่เกิดขึ้น คือ
- Livestock Improvement Corporation ก่อตั้งในปี
ค.ศ. 1909 บริการข้อมูลปรับปรุงสายพันธุ์ เก็บน้ำเชื้อ และรับผสมเทียมให้กับโค
- Breed Association ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1914 คัดเลือกสายพันธุ์โค ให้เหมาะสมในการนำไปผลิตเป็นนมและชีสต่อ
- New Zealand Dairy Board ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1923 คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังได้ลงทุนในท่าเรือ ระบบทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเหล่านี้
ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม ที่เน่าเสียและหมดอายุได้ง่าย
เมื่อคุณภาพสูง และผลผลิตออกมาต่อเนื่อง นิวซีแลนด์ก็ได้กลายมาเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม อันดับ 1 ของโลก
1
แต่ความท้าทายก็ได้เข้ามาอีกรอบ เมื่อนิวซีแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี ค.ศ. 1995
กระดุมเม็ดที่ 4 ก็ได้เกิดขึ้น
ด้วยการทำให้สินค้าเกษตร มีความพรีเมียม
นิวซีแลนด์รู้ดีว่า ต้นทุนการผลิตของตัวเองสูง
การไปแข่งขันกับต่างประเทศ แล้วตัดขายราคาถูก
จะทำให้เกษตรกรประเทศตัวเอง ขาดทุนไปเรื่อย ๆ
นิวซีแลนด์ จึงก่อตั้ง New Zealand Food Innovation Network ขึ้นมา เพื่อช่วยวิจัยสินค้าและตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรในประเทศ
ส่วนกลุ่มเกษตรกรในประเทศ ก็ตัดสินใจยุบรวมสหกรณ์ที่มีมากมาย ให้เหลือแค่ 3 แห่งเท่านั้น เพื่อสร้างจุดเด่นและอำนาจต่อรองมากขึ้น
ซึ่งได้แก่
- สหกรณ์ Fonterra เน้นขายผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูง เช่น Anlene, Anmum โดยปัจจุบันเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวซีแลนด์ ด้วยมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท
- สหกรณ์ Tatua เน้นขายสารสกัดโปรตีนจากนมที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
- สหกรณ์ Westland เน้นขายนมผง เวย์โปรตีน และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมอื่น ๆ
จากกระดุมทั้ง 4 เม็ด ที่เรียงต่อกัน
- กระดุมเม็ดแรก เริ่มต้นด้วยอุตสาหกรรมปศุสัตว์
- กระดุมเม็ดที่ 2 ต่อยอด เพิ่มมูลค่าสินค้า
- กระดุมเม็ดที่ 3 หาตลาดส่งออก
- กระดุมเม็ดที่ 4 ขายสินค้าแบบพรีเมียม
กระดุมทุกเม็ดที่ถูกคิดมาเป็นอย่างดี และการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง
1
ทำให้นิวซีแลนด์ มีสินค้าเกษตรเป็นตัวชูโรงหลัก ที่มีมูลค่าการส่งออก คิดเป็นกว่า 77% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด มาจนถึงทุกวันนี้
โดยปัจจุบัน นิวซีแลนด์ กลายเป็นผู้ส่งออกนม
อันดับ 1 ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 246,000 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของมูลค่านมทั้งหมดในโลก
1
แม้ตอนนี้ นิวซีแลนด์ จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากเศรษฐกิจภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว, โรงพยาบาล และบริการทางการเงินต่าง ๆ
2
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลัดกระดุมทั้ง 4 เม็ด ในภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ กลายมาเป็นรากฐานสำคัญให้นิวซีแลนด์ได้ถึงทุกวันนี้
และนิวซีแลนด์ พิสูจน์ให้เห็นว่า
“ทำเกษตรกรรม ไม่มีวันรวย”
อาจไม่จริงเสมอไป
2
เพราะ “ทำเกษตรกรรม ก็รวยได้ ถ้าทำเป็นระบบ..”
1
เศรษฐกิจ
17 บันทึก
55
4
23
17
55
4
23
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย