9 ส.ค. เวลา 03:07 • การเมือง

การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในขณะที่สังคมกำลังอยู่ในกระแสของการยุบพรรคก้าวไกล ก็มีคำถามมาว่า สังคมไทย การเมืองไทย เปลี่ยนอย่างไรให้สมดุล ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
หลายคนคิดว่า ถ้าไม่แตกหักคงเปลี่ยนยาก แต่หากทำแบบนั้น ผู้แพ้คือทุกคน
คำตอบที่เหมาะสมในแบบของผมคือต้องหาทางให้เปลี่ยนไปพร้อมๆ กันครับ
ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อการเมืองพัฒนาแล้ว จะประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายซ้าย กับ ฝ่ายขวา
ที่จริงเวลาพูดถึงฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ต้องมองใน 3 มิติ ไม่ใช่มิติเดียวอย่างที่ชอบคุยกันตามสื่อ
มิติการปกครอง ฝ่ายขวาคืออำนาจนิยม ฝ่ายซ้ายคือประชาธิปไตย
ผมเคารพทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผลของตนเอง แต่ถ้าถามว่าผมชอบแบบไหน คำตอบคือชอบแบบประชาธิปไตย เพราะผมเชื่อว่า มีจุดอ่อนน้อยกว่าแบบอำนาจนิยม แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไรสำหรับคนที่ชอบ อำนาจนิยม เพราะต่างคนต่างใจ
มิติเศรษฐกิจ ฝ่ายขวาคือทุนนิยม ฝ่ายซ้ายคือสังคมนิยม ผมก็เคารพทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผลของตนเอง แต่ถ้าถามว่าผมชอบแบบไหน คำตอบคือ ชอบบางส่วนของทั้งสองแบบ และก็ไม่ชอบบางส่วนของทั้งสองแบบ แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วชอบแบบไหนมากกว่ากัน คำตอบคือ ทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไรสำหรับคนที่ชอบ สังคมนิยม เพราะต่างคนต่างใจ
มิติสังคม ฝ่ายขวาคืออนุรักษ์นิยม ฝ่ายซ้ายคือเสรีนิยม ผมก็เคารพทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผลของตนเอง แต่ถ้าถามว่าผมชอบแบบไหน คำตอบคือ ชอบบางส่วนของทั้งสองแบบ และก็ไม่ชอบบางส่วนของทั้งสองแบบ แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วชอบแบบไหนมากกว่ากัน คำตอบคือ เสรีนิยม แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไรสำหรับคนที่ชอบ อนุรักษ์นิยม เพราะต่างคนต่างใจ
ดังนั้น ถ้าถามว่าผมอยู่ฝ่ายไหน คำตอบคือ ผมสวิงไปตามบริบทครับ แต่ไม่ซ้ายสุด ไม่ขวาสุด จะอยู่กลางๆ คือไม่ซ้ายกลาง ก็ขวากลาง
ถึงแม้คนรุ่นเก่าจำนวนมากจะกลัวใจคนรุ่นใหม่ แต่อย่างไรเสียเค้าก็จะมาแทนคนรุ่นเรา เพราะในที่สุด เราจะหายไปก่อนเค้า พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกอย่างล้วนอนิจจัง
แล้วจะยุติความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร ผมก็ยังคิดอะไรไม่ออกในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ต้องปลูกฝังให้ลูกหลานพร้อมที่จะเคารพความเห็นของผู้อื่น และถ้าจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ก็ต้องว่ากันตามเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งกระบวนการก็คือการโหวต เพียงแต่ก่อนโหวต ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทั้งสองฝ่ายได้อภิปรายกันอย่างเปิดเผยเพื่อชักชวนให้คนอื่นในสังคมมาเห็นตามตน ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ในเรื่องนี้ เพราะแม้แต่เรื่องเล็ก ก็มีการโหวตเพื่อหาข้อสรุปและยุติความขัดแย้ง
สุดท้าย ในขณะที่เรายังไม่สามารถปลูกฝังให้ทุกคนรับฟังความเห็นของผู้อื่นและพร้อมจะยุติตามเสียงส่วนใหญ่ได้ เพื่อไม่ให้เราเกิดความขัดแย้งกัน ผมชอบคำสอนของศาสนาคริสต์ที่บอกว่า ให้เรารักคนอื่น เหมือนกับที่รักตัวเราครับ
โฆษณา