10 ส.ค. 2024 เวลา 09:00 • การเมือง

พรรคประชาชน ส้มเปลี่ยนไป? ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!

  • 7 ส.ค. 2567 ภายหลังสิ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำสั่งยุบพรรค “ก้าวไกล”ได้ปล่อยคลิป ในทันที “ข้าไม่ตาย”
  • ต่อมา 9 ส.ค. 2567 ส.ส. 143 คน ย้ายเข้าสังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ที่เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พรรคประชาชน โดยมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นำพรรค
  • ย้อนอดีตเมื่อปี 2531 พรรคประชาชน โดย วีระ มุสิกพงษ์ เลขาฯพรรค ปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ถูกฟ้องเป็นคดี ศาลฎีกาสั่งจำคุก 4 ปี ในเวลาต่อมาได้ประกาศยุบพรรค
3
ถ้าถอดประเด็นคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 11 คน ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 จะพบว่า ศาลวินิจฉัย ใน 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก... มีเหตุสมควรยุบพรรคก้าวไกลตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (1) หรือไม่?
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรรคสอง
ศาลมีมติโดยเสียงข้างมาก (8/1) วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยมีตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 ลงความเห็นว่า ไม่มีเหตุผลต้องยุบพรรค
1
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นายบรรจงศักดิ์ เคยเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยที่เห็นแย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ อีกคนที่ยกมือค้านคือ นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตนักการฑูต
3
ประเด็นที่สอง.... คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด?
ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ประเด็นที่สาม... ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่?
2
ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 94 วรรคสอง
1
สิ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลปล่อยคลิป ในทันที....
"ข้าไม่ตาย!"
"...ในโลกนี้มีบางอย่าง ที่ไม่อาจถูกทำลาย ไม่สูญสลาย มีแต่จะเติบโตต่อไปไม่หยุดยั้ง การเดินทางครั้งใหม่เริ่มขึ้นแล้ว เดินต่อไปด้วยกัน ประชาชน..."
1
ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ฝั่งหนึ่งเห็นว่า การยุบพรรคก้าวไกล อาจทำให้ “พรรคสีส้ม” เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ตายสิบ จะเกิดแสน!
อีกฝั่งหนึ่ง ประเมินว่า การยุบพรรค ตัดสิทธิ์ อาจทำให้พรรคสีส้มชะงักงัน จากการถูกตอนได้
คืนวันที่ 7 สิงหาคม 2567 พรรคก้าวไกลได้มีการให้ สส.143 คน มาเขียนใบสมัครย้ายเข้าไปอยู่ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” ที่เตรียมการเปลี่ยนชื่อ โลโก้ ใหม่ในชื่อ “พรรคประชาชน” ขาดเพียง 1 คนที่ยังไม่มาเขียนใบสมัคร เป็น สส.บัญชีรายชื่อ
แสดงถึงการจัดการอย่างมีเอกภาพของแกนนำพรรค ที่ตัดสินใจเดินเกมไปพรรคใหม่ด้วยความรวดเร็ว แตกต่างจากเมื่อปี 2563 ที่มียุบพรรคอนาคตใหม่ แล้วปล่อยเวลาทอดยาวไปกว่า 2 สัปดาห์
ทางหนึ่ง เป็นการสกัดกั้นงูเห่า ที่เจรจาต่อรองไปอยู่กับพรรคอื่นได้ง่ายขึ้น
ทางหนึ่ง เป็นการบอกกับประชาชนว่า สมาชิกพรรคเป็นหนึ่งเดียวกันและมีอุดมการณ์ชัดเจน
ทางหนึ่ง ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคคนใหม่ทันที
คู่ชิงผู้นำยุค 3 พรรคสีส้ม มี 2 คน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็นเต็งจ๋ามาตลอด ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่ม “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์-นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” เพื่อชักธงรบกับ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
แต่แล้วนายใหญ่-ปรมาจารย์ ผู้กำกับพรรคสีส้มอยู่หลังฉาก ได้ส่งสัญญาณให้ลูกทีม เสนอชื่อ ส.ส.เท้ง-นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค ขึ้นมาแข่งเป็นหัวหน้าพรรค
ทำให้ต้องมีการประชุมกันยาวร่วม 2 ชั่วโมง และเปิดให้สมาชิกโหวตเลือก ปรากฏ ส.ส.เท้ง-นายณัฐพงศ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสีส้มคนใหม่ แม้ว่าจะมีชนักปักหลังในเรื่องจริยธรรมร้ายแรง ร่วมกับ 44 ส.ส.ที่ติดกับดักมาตรา 112 ในมือ ป.ป.ช.ก็ตาม
1
นายณัฐพงษ์ ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งตั้งพรรคก้าวไกล ตึกที่ใช้เป็นที่ทำการพรรค ย่านบางแค กทม. เป็นตึกของพ่อนายณัฐพงศ์
ส่วนเลขาธิการพรรคประชาชน คนใหม่ก็ใช่ใคร เป็น “เสี่ยติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก” อดีตผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล เพื่อนรักของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ชัยธวัช ตุลาธน”
กรรมการบริหารพรรค ที่เหลือเป็น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มือขวานายปิยะบุตร แสงกนกกุล ปรมาจารย์ตั้กม้อแห่งคระก้าวหน้า
1
นายพิจารณ์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม จากสถาบันนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1
ช่วงปี 2557-2561 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท พัมคิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่บ้านทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าด้านเครื่องมือช่างสำหรับงานก่อสร้างและงานอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อแบรนด์ Pumpkin ขยายธุรกิจไปที่ประเทศจีน และยังทำธุรกิจผลิตและส่งออกน้ำผลไม้กระป๋อง
เข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ครั้งแรก หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ได้ย้ายสังกัดไปยังพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะไม่ขอลงสมัคร สส.ต่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นได้เข้ามา แต่ยังคงร่วมงานกับพรรคก้าวไกลในตำแหน่งอื่น
กรรมการบริหารอีก 2 คน คือ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ น.ส.ชุติมา คชพันธ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลำดับที่ 35
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนชื่อพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เป็น “พรรคประชาชน” ใช้ชื่อย่อว่า "ปชช." ภาษาอังกฤษ "PEOPLE'S PARTY” ชื่อย่อ "PP” แต่เครื่องหมายพรรคมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม สีส้ม เหมือนเดิม
ทว่า มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบนี้คือ ท่าทีของพรรคจากคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาชน คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
1
เหนือกว่านั้นคือคำประกาศว่า พรรคประชาชนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นิติรัฐ ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
การกระจายอํานาจทาง ปกครอง ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจเสรี การแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ปราศจากการผูกขาด
1
การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคํานึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม การสร้างระบบสวัสดิการ และการสร้างโอกาลให้แก่มนุษย์ในการดํารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมี คุณภาพตั้งแต่เกิดจนตาย
พรรคประชาชน เชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มนุษย์มีสิทธิในการใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า และมนุษย์มีความชอบธรรมสูงสุดในการกําหนดอนาคตของตนเองและสังคม
พรรคประชาชน เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ โลกยุคใหม่ สังคมใหม่ และการเมืองแบบใหม่ เป็นไปได้เสมอ
1
พรรคประชาชน ยืนยันหลักการว่า “ประชาชนเป็นผู้ทรงอํานาจสูงสุด การใช้อำนาจรัฐต้องสัมพันธ์ยึดโยงกับประชาชน”
1
พรรคประชาชน ในมือ ณัฐพงษ์ และกรรมการบริหารชุดใหม่ จะเดินหน้าไปเช่นไร อยู่ในมือของทายาทสีส้มรุ่น 3
  • ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เหตุการณ์ในอดีตเทียบกับปัจจุบันแล้ว “หลอน”
ในช่วงปี 2526-2531 พรรคประชาชนมาจากการเข้าเทคโอเวอร์ "พรรครักไทย" ต่อมาในปี 2530 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน”
ในปี 2567 พรรคประชาชน มาจากการเข้าเทคโอเวอร์ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล”
ต่อมาในการประชุมส.ส.เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน”
ในห้วง “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงษ์” ซึ่งแตกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ยกทัพสส.ออกมาเข้าพรรคใหม่ทั้งสิ้น 31 คน พอลงรับเลือกตั้งทั่วไปปี 2531 ได้สส.กลับมาเพียงแค่ 19 คน จาก 357 ที่นั่ง ได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 2,454,870 คะแนน เป็นฝ่ายค้าน
มาถึงห้วงปัจจุบัน พรรคสีส้ม ยกทัพจากก้าวไกลเข้าพรรคประชาชน 142-143 คน ลงเลือกตั้งรอบต่อไป จะได้มากี่คน!!!
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ในคราวการหาเสียงเลือกตั้งปี 2531 นายวีระ มุสิกพงษ์ เลขาธิการพรรค ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงช่วย นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112
ศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2530 ให้ยกฟ้อง แต่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยยื่นฎีกา
ในที่สุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ว่า จำเลยมีความผิดจริง แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษ 1 ใน 3 ให้จำเลยต้องจำคุก 4 ปี ที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อจำคุกได้ประมาณหนึ่งเดือน จึงได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
1
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ พรรคประชาชนในคราวการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2531 หลังจากนั้นเพียง 1 ปี พรรคประชาชนประกาศยุบพรรค เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2532 เพื่อไปรวมกับ “พรรครวมไทย” ของ นายณรงค์ วงศ์วรรณ พร้อมพรรคกิจประชาคม และ พรรคก้าวหน้า โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2532
โฆษณา