10 ส.ค. 2024 เวลา 11:48 • ข่าวรอบโลก

“ใครได้ประโยชน์?” “ผลกระทบต่อตลาด” เมื่อกองทัพยูเครนบุกยึด “สถานีชุมสายท่อก๊าซซูดจา”

ซึ่งเป็นของรัสเซียบริเวณชายแดน “ภูมิภาคเคิร์สก์”
หนึ่งวันหลังจากที่กองทัพยูเครนบุกโจมตีเข้ามายัง “ภูมิภาคเคิร์สก์” ของรัสเซียอย่างไม่คาดคิด กองกำลังยูเครนได้เข้ายึด “สถานีวัดปริมาณก๊าซซูดจา” ซึ่งเป็นชุมสายสำคัญของท่อส่งก๊าซแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของรัสเซียที่ยังคงส่งก๊าซเข้าไปป้อนยังยุโรปผ่านดินแดนยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะรุกล้ำเข้าไปในดินแดนรัสเซียผ่านมาได้สี่วันแล้ว แต่การลำเลียงส่งก๊าซผ่านสถานีซูดจายังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด “เข็มยังกระดิกอยู่” เรามาวิเคราะห์กันว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่อส่งก๊าซที่สถานีชุมสายแห่งนี้ การยึด “ซูดจา” ส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานในยุโรปอย่างไร และเหตุใดทั้งสองฝ่ายของสงคราม “รัสเซีย” และ “ยูเครน” จึงยังต้องรักษาการลำเลียงก๊าซต่อไป
2
สถานีวัดปริมาณก๊าซซูดจา เครดิตภาพ: Russian Media
มีรายงานครั้งแรกที่ระบุว่ากองกำลังยูเครนสามารถยึดสถานีวัดปริมาณก๊าซ “ซูดจา” ได้อยู่บนโพสต์ของ Rybar ซึ่งเป็นช่องเทเลแกรมที่รันโดยอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซีย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ในเวลาต่อมามีภาพวิดีโอจากภูมิภาคดังกล่าวยืนยันรายงานที่ว่ากองกำลังยูเครนได้ควบคุมสถานีก๊าซดังกล่าวไว้ - อ้างอิง: [1]
ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2024 ที่ปรึกษาประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน (ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ) บอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า กองทัพยูเครนได้เข้าควบคุมสถานีท่อก๊าซดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สื่อชั้นนำระดับโลกอื่นๆ ก็รายงานเรื่องนี้เช่นกัน - อ้างอิง: [2]
1
ตามรายงานของ CIR ซึ่งเป็นเอ็นจีโอของอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบโอเพนซอร์ส ระบุว่าเมื่อ 8 สิงหาคม 2024 ยังไม่มีการยืนยันด้วยภาพว่าสถานีวัดก๊าซได้รับความเสียหายจากการสู้รบ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ปะทะกันในระยะประชิดและมีวิดีโอที่ยืนยันได้ว่าทหารรัสเซียยอมจำนนที่ทางเข้าสถานี CIR จึงให้ข้อมูลกับรอยเตอร์สว่า “มีแนวโน้มว่าสถานีก๊าซแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของยูเครน (แม้ว่า) ในขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันระดับความเสียหายได้” - อ้างอิง: [3]
2
ทหารรัสเซียยอมจำนนในภูมิภาคเคิร์สก์ถอยออกมาจากพื้นที่ เครดิตภาพ: Kanal13AZ
ทางการยูเครนยังไม่ยืนยันการควบคุม “ซูดจา” และยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิบัติการในภูมิภาคเคิร์สก์ อย่างไรก็ตาม “โอเล็กซี กอนชาเรนโก” สมาชิกรัฐสภายูเครนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ว่า “พวกเรายึดวาล์วแก๊สหลักของ ‘ปูติน’ ในซูดจาได้อย่างกล้าหาญ และเป็นเวลาสามปีแล้วที่เราไม่สามารถสร้างกำไรจากการเป็นตัวกลางส่งแก๊สของรัสเซียเข้าไปยังยุโรปได้” - อ้างอิง: [4]
  • ทำไม “สถานีก๊าซซูดจา” จึงมีความสำคัญ
สถานีวัดปริมาณก๊าซ “ซูดจา” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 500 เมตร เป็นชุมสายสำคัญของท่อส่งสาย Urengoy–Pomary–Uzhhorod ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก (และเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้งานได้ในตอนนี้) สำหรับการส่งออกก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรปผ่านดินแดนยูเครน โดยพื้นฐานแล้วสถานีแห่งนี้ทำหน้าที่เป็น checkpoint สำหรับก๊าซของรัสเซีย เมื่อก๊าซผ่าน “ซูดจา” ไปแล้ว ก๊าซจะเข้าสู่ระบบท่อส่งของยูเครนและปั๊มเข้าสู่สโลวาเกีย ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังเช็กและออสเตรีย
1
โครงข่ายท่อก๊าซยุโรปตะวันออกที่รับต่อมาจากท่อหลักในยูเครน (Urengoy–Pomary–Uzhhorod) ผ่านสถานีซูดจา >> ตัวเลขที่อยู่ในวงรีคือต้นทุนการลำเลียงก๊าซต่อหน่วยคร่าวๆ ข้อมูลในรูปคือของเมื่อปี 2017 เครดิตภาพ: Eadaily
ในปี 2023 สถานีซูดจาได้ปั๊มก๊าซประมาณ 14,650 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของก๊าซที่ส่งออกทั้งหมดของรัสเซียไปยังยุโรป หน้าที่หลักของสถานีนี้คือการวัดการไหลของก๊าซและตรวจสอบคุณภาพ หากสูญเสียการควบคุมที่สถานีตรงพรมแดนแห่งนี้ มันจะกลายเป็น “เรื่องสุดวิสัย” จนอาจทำให้ Gazprom ระงับการส่งก๊าซของรัสเซียมาที่ท่อสายนี้ได้
ยกตัวอย่างเมื่อพฤษภาคม 2022 ยูเครนประกาศเหตุสุดวิสัยที่สถานีอีกแห่งที่ส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป ซึ่งก็คือสถานี “Sokranovka” ในขณะนั้น Ukrtransgaz ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการระบบขนส่งก๊าซของยูเครนได้อ้างถึงการสูญเสียการควบคุมการปฏิบัติการของสถานีบีบอัดก๊าซเพิ่มแรงดัน Novopskov ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองในภูมิภาคลูฮันสค์ ซึ่งบริหารจัดการก๊าซที่ส่งมาจาก Sokranovka
อ้างอิง: [5]
  • ปริมาณการส่งออกก๊าซรัสเซียได้รับผลกระทบหรือไม่
แม้ว่ากองกำลังยูเครนจะยึดสถานีก๊าซซูดจาเอาไว้ได้ แต่ Gazprom ก็ไม่ได้หยุดการส่งก๊าซผ่านสถานีนี้ อ้างอิงตามคำแถลงของโฆษก Gazprom ที่อ้างโดย Interfax
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของยูเครน Herman Halushchenko ก็แถลงในทำนองเดียวกันกับ Gazprom คือปริมาณก๊าซที่ร้องขอในวันที่ 8 สิงหาคมอยู่ที่ 37.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายวันปกติเพียงเล็กน้อยที่ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนคำขอในวันที่ 9 สิงหาคมนั้นสูงกว่าที่ 38.x ล้านลูกบาศก์เมตร - อ้างอิง: [6][7]
1
เครดิตภาพ: UA Transmission System Operator
ตามรายงานของเครือข่ายผู้ควบคุมระบบส่งก๊าซแห่งยุโรป (ENTSOG) พบว่าปริมาณก๊าซที่ไหลผ่านยูเครนจากรัสเซียลดลงเล็กน้อยประมาณ 5% - 10% เมื่อเช้าวันที่ 6 สิงหาคม การลดลงนี้อาจเกิดจากความต้องการที่ลดลง เนื่องจากคลื่นความร้อนในยุโรปเริ่มลดลง ความต้องการใช้ระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศจึงลดลงตาม - อ้างอิง: [8]
และขณะนี้สถานที่จัดเก็บก๊าซก็บรรจุใกล้เต็มความจุแล้วคือ 86.5+% ซึ่งใกล้ถึงเป้าหมาย 90% ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 - อ้างอิง: [9]
เครดิตภาพ: agsi.gie.eu
  • ราคาก๊าซในยุโรปได้รับผลกระทบหรือไม่
แม้ว่าโครงข่ายท่อส่งก๊าซบริเวณนี้จะยังคงใช้งานได้ตลอดช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมาของสงครามยูเครน แต่การทวีความรุนแรงขึ้นล่าสุดใกล้กับเส้นทางท่อก๊าซได้ทำให้ “ตลาดสั่นคลอน” โดยราคาก๊าซที่ศูนย์กลางการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ (TTF) เพิ่มขึ้น 8% ในเวลาเพียงสองวัน โดยแตะระดับ 40.1 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงสำหรับสัญญาส่งมอบในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในยุโรปในปีนี้ - อ้างอิง: [10][11]
ประเทศในสหภาพยุโรปที่เปราะบางที่สุดคือประเทศที่ยังคงพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างมาก ได้แก่ ออสเตรีย ฮังการี และสโลวาเกีย - อ้างอิง: [5]
3
  • มีโครงข่ายท่อก๊าซอื่นสามารถใช้เบี่ยงเส้นทางในภูมิภาคได้ไหม
นอกจากสถานีก๊าซซูดจาแล้ว ยังมีสถานีโครงสร้างพื้นฐานก๊าซหลักอีกสองแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกับการรุกของยูเครนครั้งล่าสุด ได้แก่ สถานีบีบอัดก๊าซเพิ่มแรงดัน Cheremisinovo และ Kurskaya ที่แรกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของใจกลางเมืองเคิร์สก์ ในขณะที่หลังตั้งอยู่ในหมู่บ้านทางใต้ของเมือง ห่างจากเมืองซูดจาประมาณ 100 กิโลเมตร
สาขาภูมิภาคในเคิร์สก์ของ Gazprom บริหารจัดการสถานีเพิ่มแรงดันทั้งสองแห่ง ดูแลท่อส่งก๊าซหลักยาว 1,700 กิโลเมตร ดำเนินการซ่อมแซมฉุกเฉินสำหรับการบำรุงรักษาท่อ และมีพนักงานมากกว่า 700 คน (อ้างอิง: [12]) จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานภัยคุกคามต่อโครงสร้างท่อก๊าซในบริเวณเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของยูเครนล่าสุด
สาขาภูมิภาคในเคิร์สก์ของ Gazprom เครดิตภาพ: Gazprom Transgaz Moscow
  • สัญญาการลำเลียงก๊าซผ่านยูเครนของรัสเซียเป็นยังไง
สัญญาปัจจุบันสำหรับการเป็นตัวกลางลำเลียงก๊าซของรัสเซียผ่านยูเครนจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนี้ และเคียฟได้ยืนยันหลายรอบว่าไม่มีแผนจะต่ออายุสัญญานี้
1
ตามที่ Oleksiy Chernyshov “เชอร์นิชอฟ” ซีอีโอของ Naftogaz ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการโดยรัฐของยูเครนบอกว่า ยูเครนมองสิ่งที่จะตามมาหลังสัญญาเป็นตัวกลางส่งก๊าซให้รัสเซียหมดอายุที่เป็นไปได้สองกรณี คือ “การหยุดดำเนินการจัดส่งทั้งหมด” หรือ “ใช้รูปแบบหาซัพพลายเออร์และตัวแทนทางเลือกอื่นที่จะรับประกันปริมาณการจัดส่งที่เฉพาะเจาะจงให้กับลูกค้าในสหภาพยุโรป”
2
ในขณะเดียวกันยูเครนต้องการให้ระบบท่อก๊าซยังคงใช้งานต่อได้แม้ว่าสัญญากับ Gazprom จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม “ปัจจุบันเราได้รับการบำรุงรักษาด้วยเงินที่เก็บจากค่าธรรมเนียมการลำเลียงผ่านพื้นที่ หากการขนส่งก๊าซต้องหยุดลง จะต้องมีคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาระบบ เนื่องจากเราต้องดูแลมันต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” เชอร์นิชอฟกล่าวในการสัมภาษณ์กับ NV Business ที่เผยแพร่เมื่อ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา
เขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซในยูเครนอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ยูเครนได้รับจากสัญญากับ Gazprom
ทางเลือกหนึ่งที่ยูเครนกำลังพิจารณาอยู่คือการทำงานร่วมกับบริษัทด้านพลังงานของรัฐในอาเซอร์ไบจาน คือ SOCAR ซึ่งอาจให้ใช้ระบบท่อส่งก๊าซของรัสเซียและยูเครนที่มีอยู่เพื่อส่งก๊าซไปยังยุโรปแทน เชอร์นิชอฟระบุว่า ณ ตอนนี้ Naftogaz กำลังหารือเพียงเรื่องการจัดเก็บก๊าซของอาเซอร์ไบจานในโรงเก็บยูเครนเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเช่นนั้นท่อส่งก๊าซที่ใช้งานได้ก็มีความจำเป็น
อ้างอิง: [13]
เชอร์นิชอฟ (ซ้าย) ซีอีโอของ Naftogaz บริษัทด้านพลังงานของรัฐยูเครน คุยดีลกับ ประธานบริษัทด้านพลังงานของรัฐในอาเซอร์ไบจาน คือ SOCAR (ขวา) เครดิตภาพ: ceenergynews
ส่วนทางฝั่ง Gazprom ของรัสเซียระบุว่า “เหตุการณ์ในซูดจาของภูมิภาคเคิร์สก์ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว”
1
“ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงสุดของปีเมื่อ 9 สิงหาคม และตอนนี้ยังเป็นเพียงช่วงฤดูร้อนเท่านั้น คำถามก็คือ ใครได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้” Sergei Kupriyanov ตัวแทนทางการของบริษัทกล่าว แต่ทว่าเขาไม่ได้พูดถึงการยึดสถานีก๊าซซูดจาซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซีย-ยูเครน 500 เมตร โดยกองกำลังยูเครน
Kupriyanov กล่าวเสริมว่างานบำรุงรักษาที่วางแผนไว้แล้วล่วงหน้าที่ดำเนินการอยู่สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมก๊าซของนอร์เวย์อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติและ LNG พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน (อาจไม่ได้เกี่ยวกับการที่ยูเครนเข้ายึดสถานีก๊าซชายแดนที่ซูดจาทั้งหมด)
ทางเพจได้สรุปสถานการณ์การบุกเข้าเคิร์สก์ของกองทัพยูเครนไว้ก่อนหน้านี้ และรวบรวมการวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้
1
เรียบเรียงโดย Right Style
10th Aug 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (พื้นหลัง) – Illustrated by Newsweek / Source: Getty Images (กรอบสี่เหลี่ยม-ซ้ายบน) - Denis Sinyakov / Reuters (กรอบสี่เหลี่ยม-ขวาบน) - Gas Transmission System Operator of Ukraine>
โฆษณา