11 ส.ค. 2024 เวลา 11:15 • ข่าว

เปิดโลโก้ใหม่ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดหน้าหน่วยปฐมภูมิ เข้ารับบริการได้เลย

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้ารับบริการได้อย่างถูกต้องตามนโยบายที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 26 สิงหาคมนี้
ที่ผ่านมาได้มอบให้ สปสช.จัดทำแนวทางการเข้ารับบริการ และยังเป็นแนวทางการให้บริการสำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการด้วย เพื่อความชัดเจนในการดูแล
สำหรับโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อใช้ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้มอบให้ สปสช. ดำเนินการจัดทำโลโก้ใหม่ ที่มีความโดดเด่น ชัดเจน และสังเกตได้ง่าย ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการได้โดยสะดวก ซึ่งได้ออกแบบนอกจากจะประกอบด้วยข้อความ “30 บาทรักษาทุกที่” แล้ว
ยังมีเครื่องหมาย “ถูก” ที่สะท้อนว่าที่นี่ให้บริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข บนสัญลักษณ์เครื่องหมายกากบาทสีแดง “กาชาด” และได้ใช้สีแดงที่สื่อถึงการรักษาพยาบาล ที่บ่งบอกถึงความอุ่นใจในบริการดูแล
ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นวันคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดที่หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ท่านสามารถเดินเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท
แต่ถ้าอาการเกินจากศักยภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการนวัตกรรมจะให้การดูแลได้ ก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ เรียกว่าเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
สำหรับตราสัญลักษณ์ใหม่นั้นจะเริ่มติดที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน หลังจากนั้นจะทยอยติดที่หน่วยบริการในจังหวัดนำร่องที่ผ่านมาให้ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวกและง่ายขึ้น
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ติดที่หน่วยบริการนั้น หมายความว่า หน่วยบริการนั้นคือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้
1.มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการทั้งก่อนการใช้บริการและหลังการใช้บริการ หรือที่เรียกว่าการเปิดและปิดสิทธิในการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้
2.ได้ทำการเชื่อมข้อมูลสุขภาพกับ สปสช. แล้ว
3. มีระบบส่งต่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) เพื่อเชื่อมข้อมูลกับโรงพยาบาลรับส่งต่อในเครือข่ายในกรณีที่อาการผู้ป่วยเกินศักยภาพให้บริการได้
ในการเข้ารับบริการนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นอกจากจะเข้ารักษาตามขั้นตอนปกติที่หน่วยบริการประจำของท่านแล้ว ยังมีทางเลือกใหม่สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ (โลโก้) “30 บาทรักษาทุกที่” ปรากฏอยู่ด้านหน้า ซึ่งจะเป็นหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ได้แก่
รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด
ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็น คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมด้วย
สำหรับโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ นั้น เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่จะต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารักษา
นอกจากนั้น ยังมีหน่วยบริการนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด ฯลฯ
ในกรณีที่อาการป่วยเกินศักยภาพที่หน่วยบริการที่จะให้การรักษาได้ ก็จะได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งระบบการส่งต่อจะมีทั้งในรูปแบบใบส่งตัวกระดาษและใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์หรือแบบออนไลน์ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยบริการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ
ในส่วนของหน่วยบริการที่เข้าร่วมและจะเข้าร่วมกับ สปสช.ทุกแห่งนั้น ขอให้มั่นใจในการเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่ง สปสช. ได้มีการปรับการจ่ายบริการในรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการเบิกจ่ายเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เข้ากับระบบสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ
สปสช. จะมีการจัดแถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชน การเชื่อมข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วย และการเบิกจ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยบริการ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567
โฆษณา