Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
I see I write
•
ติดตาม
28 ส.ค. เวลา 14:49 • ไลฟ์สไตล์
มองฟักเลื้อย หารากเหง้า เข้าถึงความหลากหลาย...
🚶เวลาที่ผมเดินไปออกกำลังกายยามเช้า จะเดินผ่านบ้านเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่ตรงหัวมุมในซอยเดียวกัน
บ้านหลังนี้ มีจุดเด่นตรงที่ปลูกพืชสวนครัวกินได้ ไว้หลายอย่าง เช่น มะละกอ และฟัก ซึ่งผมมักจะเหลือบไปมองดูความงามของพืชเหล่านี้บ่อยครั้งเวลาเดินผ่าน
ทั้งนี้ หากวันไหนเจอพี่เจ้าของบ้านที่คุ้นเคยกัน เดินตัดแต่งกิ่งต้นไม้ หรือรดน้ำอยู่ด้วย
ผมก็จะทักทายและชวนคุยกัน ตามพื้นฐานนิสัยที่แต่ละคนต่างได้ติดตัวมาจากการอยู่อาศัยในสังคมแบบชาวบ้านดั้งเดิม
เรื่องที่คุยกัน มักจะไม่พ้นไปจากเรื่องความงามของต้นไม้ที่อยู่เบื้องหน้า ทั้งมะละกอ และฟัก (ส่วนไม้ดอก นั้นแทบจะไม่ได้พูดถึงเท่าไรนัก)
โดยต้นที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คอยสังเกตดูการเจริญเติบโตมาเป็นระยะ คือ ต้นฟักที่เลื้อยพันอยู่ตามรั้วบ้าน
ยอด&ใบ สดใส หลังได้ฝน
ในระยะแรก ๆ ผมมักจะชอบความงามของยอด และใบ ที่แลดูสีเขียวสดใส โดยเฉพาะถ้ามีฝนตก จะเพิ่มความสดใสมากกว่าปกติ
พอเห็นดอกสีเหลืองโผล่ชูช่อออกมา ผมก็เริ่มหันเหความสนใจไปที่ดอกบ้าง และเมื่อเริ่มมีลูก ผมพุ่งความสนใจไปยังลูกฟักแทน
อืม...ใจเรา นั้น ช่างโอนเอนไปมา...
คล้อยหลังไปสักห้าหกวัน ผมหันกลับมามองดอกเดิมอีกที
อ้าว...ร่วงโรยเสียแล้ว...
แต่พออีกไม่นานนัก ก็มีดอกใหม่โผล่มาแซมให้เชยชมอีกเช่นเคย ช่วยชดเชยความรู้สึกถึงดอกเดิมที่หายไป...
ดอกใหม่ แทนดอกเก่า
ระยะหลัง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมไม่ได้เดินไปออกกำลังกายหลายวัน ทั้งสาเหตุจากฝนตกตอนเช้า และมีธุระอื่น ๆ
ทำให้ต้องทิ้งต้นฟักไปหลายวัน แต่ไมถึงกับคิดถึง (ฮา)
เมื่อกลับมาชมอีกครั้ง...ก็เกิดอาการตกใจพอสมควร ที่แลเห็นลูกฟักมีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมเกือบสองเท่า และออกลูกเพิ่มขึ้นหลายลูก
บางลูกใหญ่จนเจ้าของบ้านต้องใช้เชือกฟางพลาสติกผูกลูกยึดโยงไว้กับกิ่งของต้นไม้ยืนต้นที่ปลูกอยู่ริมรั้ว
เลือกเชือกสีเขียวผูกให้กลมกลืน
ทำให้ได้เห็นถึงความทนุถนอม ดูแลเอาใจใส่ที่เจ้าของบ้านถ่ายทอดไปถึงลูกฟัก
ในจังหวะที่ผมกำลังหามุมถ่ายรูปอยู่สองสามรูป พี่เจ้าของบ้านก็เดินยิ้มแย้มเข้ามาทักทายขึ้นว่า ...
"เดี๋ยวพอโตได้ที่ จะตัดแบ่งไปให้แกงกินนะ" และ
"อย่าลืมมะละกอ ด้วยนะ มาสอยเอาไปได้เลย"
"ขอบคุณมากครับพี่"
ผมกล่าวคำตามหลังไป และนึกเกรงใจอยู่ในทีว่า...ไม่ได้ลงทุน ลงแรงอะไร เลยนะ...จะมาชุบมือเปิบเอาง่าย ๆ แบบนี้เลยหรือ (ฮา)
แต่คิดอีกที การแบ่งปันอย่างนี้ คือ วิถีที่พี่น่าจะเคยได้รับและสัมผัสมาก่อนจากสังคมรอบข้างที่เสมือนรากเหง้าของพี่ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
แล้วส่งต่อราวกับเป็นเรื่องปกติให้เพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสังคมใหม่ได้สัมผัส
มะละกอ ที่คุณพี่รอผมไปสอยกิน
ไม่น่าเชื่อว่า...ฟักต้นเดียว จะพาใจผมไปรับรู้หลากหลายอารมณ์เช่นนี้ และกำลังพาใจผมไปเปรียบเทียบกับอีกหลายเรื่องในย่อหน้าต่อไป
หลังจากที่ปล่อยใจเคลิ้มไปพักหนึ่ง จนมาถึงช่วงที่เดินออกกำลังกายได้ราว ๆ 10 นาที ไม่รู้ว่ามีอะไรดลใจให้ผมเริ่มตั้งคำถามกลับมายังตัวเองว่า...
ทำไมใจของเราถึงมุ่งมองไปที่ความงามของ ดอก ใบ และผล
จังนะ...แทนที่จะพุ่งความสนใจ
ไปมองที่ลำต้น และราก ซึ่งสร้างและหล่อเลี้ยง ใบ จนผลิดอก
ออกผลมาบ้าง ?
(คำถามที่นำไปสู่การหา "รากเหง้า")
จากนั้น อีกชั่วแว้บหนึ่ง...ผมก็นึกเทียบเคียงไปยังเรื่องราวชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่เรามักละเลย
รวมทั้งลืม "รากเหง้า" ที่มาของตนเองอยู่บ่อยครั้ง คล้าย ๆ เรื่องของต้นฟัก
ทั้งในระดับครอบครัว และสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชน และประเทศโดยส่วนรวม ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่รอบด้าน
ผมอยู่กับความคิดเทียบเคียงนี้เกือบสองสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่ตกผลึกดีนัก
จนมาเจอกับเพื่อนเรียนชั้นมัธยม ตอนนัดไปเที่ยวต่างจังหวัด สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และชัยนาท เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เพื่อรื้อฟื้นเรื่องราวความทรงจำเก่า ๆ ร่วมกัน และกระชับความสัมพันธ์
ไปในตัว...
อาจจะเป็นเพราะการไม่ได้เจอะเจอกันมานาน ก็เป็นได้?
ในระหว่างที่นั่งรถตู้ไปด้วยกันจากนนทบุรี ผ่านปทุมธานี เพื่อจะไปยังสุพรรณบุรี
เราจึงต่างยกเรื่องต่าง ๆ มาแย่งกันคุย และแลกเปลี่ยนกันอยู่พักหนึ่ง และจากประเด็นที่คุยร่วมกันหลายคน ก็เริ่มแยกจับคู่คุยกัน
ผมเองนั้น หันมาคุยกับเพื่อน ชื่อ นก ในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งรวมถึงมุมมองของผมที่เกิดขึ้นกับต้นฟักข้างต้น
พอผมเล่าเสร็จ นกก็ขยายความคิดต่อไปว่า ปรากฏการณ์ลืม "รากเหง้า" ที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้นั้น กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศของเราเท่านั้น
พอนกเปิดมุมให้มอง ช่วยเติมให้เต็ม ทำให้ผมเกิดอาการคลาย ปลงตกและวางเรื่องลูกฟักลงไปชั่วครู่ทันที...
เหมือนจะยอมรับได้กับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นตามหลักไตรลักษณ์ที่เป็นสากล
เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง รถตู้พาพวกเรามาถึงบริเวณพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อแวะกราบไหว้พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ
พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ
ซึ่งประดิษฐานอยู่บนหน้าผา ภายในวัดเขาทำเทียบ (ที่มีข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย จากการเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย ในช่วงเวลาหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ประมาณ 300 ปี)
พร้อมกับชมสถานที่รอบ ๆ วัด และร่วมทำบุญในจุดรับบริจาค โดยไม่ลืมที่จะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ทำบุญ & ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
หลังจากนั้น รถตู้พาพวกเรามาแวะเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เป็นสถานที่ต่อมา
ในใจตอนที่รถจอดแล้วเดินเข้าไปนั้น ไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับออกมามากนัก
แต่พอเดินไปได้สักพัก และชมวีดีทัศน์บอกที่มาของเมืองอู่ทอง
ช่างคุ้มค่าและโดนใจจริง ๆ ครับ...เพราะความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้น เหมือนกระชากใจของเรากลับไปหา "รากเหง้า" ของตัวเอง...
ที่มีพื้นฐานของ ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต จากหลายอารยธรรม อาทิ อินเดีย เปอร์เซีย และจีน มาผสมผสานกับยุคทวาราวดี
โดยพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ ผ่านงานศิลปะ พระพุทธรูป เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ เหรียญเงินตรา และสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
ร่องรอย พระพุทธรูป&ภาชนะเครื่องปั้น
จากเดิมที่ไม่เคยคิดและนึกถึงเรื่องที่มาของชาติเราในมุมที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเมืองอู่ทองเท่าใดนัก
แม้แต่กรุงสุโขทัยเอง อยุธยาเล่า ลพบุรีเอย รวมทั้งเมืองโบราณแห่งอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งกรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด
ก็ยังไม่เคยศึกษาหารายละเอียดแบบลงลึก และเข้าไปสัมผัสถึงสถานที่จริง
โดยมิใยต้องพูดถึงการหาเวลาแวะเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพื้นที่ดังกล่าว ที่บางแห่งยังไม่เคยเข้าไปชมเลยสักครั้ง (ฮา ไม่ออก)
แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คอยกระตุ้นให้หาเวลาไปชม
อย่างไรก็ดี ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น นอกจาก การพาใจเรากลับไปหารากเหง้าแล้ว ยังทำให้ได้รู้ถึงคุณค่าของการวางรากฐานด้านต่าง ๆ
ทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยม
ความเชื่อ และอื่น ๆ ในแต่ละยุคสมัย
ที่ผู้คนดั้งเดิม หรือบรรพบุรุษได้สร้างสะสม ปรับปรุง แก้ไข ให้เหมาะสมไว้
แล้วถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น มาจนถึงรุ่นเรา ทั้งในระดับชุมชน และชาติ จนถึงระดับครอบครัวของเราเองที่คนรุ่นปู่ย่า ตายาย จนถึงทวด ได้สร้างและวางรูปแบบ แนวทางการดำเนินชีวิตไว้เช่นเดียวกัน
อุดหนุนตลาดได้บรรยากาศย้อนยุค
นึกไม่ถึงว่า ต้นฟัก และการไปเที่ยวกับเพื่อน จะพาใจเตลิดเปิดเปิง ไปหารากเหง้าของตนเอง ที่แม้จะมีพื้นเพมาจากสายพันธ์มอญ แต่ก็เกิดในไทย และมีอีกสถานะ คือ ลูกเขยจีน (ฮา)
หรือว่า จริง ๆ แล้ว เราเป็นลูกผสมอยู่ในสังคมที่เป็นผลพวงของการผสมผสานทางชาติพันธ์และวัฒนธรรมระหว่างคนต่างกลุ่มมาช้านานแล้ว
เพราะอย่างน้อยอาหารที่กิน ก็ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว ทั้งแกงแนวจีน ต้มจืดไก่ใส่ฟัก(ใส่มะนาวดอง) และแกงแนวไทย จำพวก แกงส้มฟัก แกงเผ็ดใส่ฟัก หรือแม้กระทั่งมัสมั่นใส่ฟัก(แทนมันเทศ) แนวมุสลิม
โดยเวลากินก็มุ่งเน้นไปที่ความอร่อย เป็นหลัก จนไม่ทันได้คิดหรือแยกออกมาว่า อาหารเหล่านั้น มาจากสายไหน เชื้อชาติใด (ฮา)
พอคิดอย่างนี้ได้ ก็เลยช่วยให้การมองกลับไปหารากเหง้า พลิกมุมมองไป "หาความหลากหลาย " แทนการมองอย่างคลั่งไคล้
เฉพาะในเผ่าพันธุ์ตน หรือพรรคพวกเรา
โดยลืมมองคนทั้งระบบสังคม และทั้งภูมิภาคไปพร้อมกัน
...ก่อนปิดต้นฉบับ ผมกับลูกชายต่างวัย กินอาหารร่วมสมัยด้วยกันในมื้อเช้า "แกงมัสมั่นไก่ใส่มันฝรั่ง" ที่ซื้อใส่ถุงมา ราดบนข้าวสวยร้อน ๆ คนละจาน...
มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่า รสร้อนแรง
ผมนั้น อร่อยถูกปากหลังจากเหยาะน้ำปลาอีกนิดหน่อย ได้ทั้ง "พลังกาย" และ "เพิ่มพลังใจ" อย่างมีความสุข
และนึกไปถึง(อีกแล้ว) ในมิติการใช้ Soft power ผ่านอาหารและวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสน่ห์ในการท่องเที่ยว
ซึ่งอาหารอย่างมัสมั่น น่าจะเป็นคุณค่าร่วมกันในระดับภูมิภาคมากกว่าของชาติใดชาติหนึ่ง
ในขณะที่ลูกชายผมบอกว่า...ไม่ได้นึกถึงอะไร รูู้สึกเพียงแต่ว่า...รสชาตินั้น ขาดหวานไปแค่นั้นเอง...
อืม..เขากับเรา ต่างมองกันคนละมุม
(ไม่ถึงกับสิ้นเชิง) ลึกซึ้งและพอใจกับสิ่งที่ปรากฏกันไปคนละแบบ(ฮา)🧑🤝🧑
🙏ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง/28 ส.ค.67
ขอบคุณมากนะคะ ที่อ่านถึงตรงนึ้...
แนวคิด
ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่า
บันทึก
5
8
10
5
8
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย