Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
journey of the Footprint
•
ติดตาม
12 ส.ค. 2024 เวลา 15:50 • ประวัติศาสตร์
วัดไชยวัฒนาราม
7 สิ่งน่าชมที่วัดไชยวัฒนาราม
เนื่องจากวันนี้ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ ก็เลยจะชวนไปชมวัดที่เกี่ยวกับแม่กันสักหน่อยครับ ซึ่งถ้าใครเห็นชื่อโพสท์อาจจะงงว่า วัดนี้เกี่ยวอะไรกับวันแม่ แต่วัดนี้เกี่ยวข้องกับแม่แน่นอนครับ และวันนี้เราจะไปชม "วัดไชยวัฒนาราม" กันครับ
เนื่องจากวันนี้ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ ก็เลยจะชวนไปชมวัดที่เกี่ยวกับแม่กันสักหน่อยครับ ซึ่งถ้าใครเห็นชื่อโพสท์อาจจะงงว่า วัดนี้เกี่ยวอะไรกับวันแม่ แต่วัดนี้เกี่ยวข้องกับแม่แน่นอนครับ และวันนี้เราจะไปชม "วัดไชยวัฒนาราม" กันครับ
ถ้าจะถามว่าวัดไชยวัฒนารามเกี่ยวข้องกับแม่กันแน่ วัดไชยวัฒนารามนี้สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อปี พ.ศ. 2173 บนสถานที่ซึ่งเป็นนิวาสถสานเดิมของ "พระราชมารดา" ของพระองค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับ "พระราชมารดา" ด้วย ดังนั้น ถึงจะไม่ได้สร้างโดยแม่ แต่ก็เป็นวัดที่ลูกสร้างอุทิศให้แม่นั่นเอง
และเนื่องจากวัดนี้เป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นวันนี้ ผมเลยคัด 7 สิ่งน่าชมและน่าสนใจภายในวัดไชยวัฒนารามมาแทนการเดินชมวัดทั้งหมดกันครับ และทั้ง 7 สิ่งประกอบด้วย
1. ผังวัดไชยวัฒนาราม
ผังของวัดไชยวัฒนารามนอกจากจะสวยงามแล้ว ยังแสดงแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลอย่างชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง มีปรางค์ประธานเป็นดั่งเขาพระสุเมรุ ปรางค์มุมเสมือนทวีปทั้ง 4 และระเบียงคดเสมือนกำแพงจักรวาล โดยพื้นที่ระหว่างกลุ่มเจดีย์กับระเบียงคดนั้นเสมือนเป็นนทีสีทันดร
และด้วยผังวัดที่สวยและความสำคัญของวัด ทำให้เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการสร้างวัดอรุณราชวรารามโดยที่มีวัดไชยวัฒนารามเป็นต้นแบบในการสร้าง ดังนั้น กลุ่มปรางค์ประธานของวัดอรุณฯและวัดไชยฯจึงมีความคล้ายคลึงกัน
2. พระปรางค์ประธาน
พระปรางค์ประธานถือเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดใหญ่องค์สุดท้ายในสมัยอยุธยา ก่อนที่ความนิยมในการสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่จะหายไปหลังจากรัชกาลของพระองค์
รูปแบบของพระปรางค์ประธานองค์นี้เป็นพระปรางค์ที่สัดส่วนยืดสูงมากขึ้น และมีคูหา 4 ด้านที่มาพร้อมกับบันไดทางขึ้นแทนที่ตรีมุขที่พบในปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น และจะเป็นพื้นฐานให้กับปรางค์รุ่นหลังลงมา
อนึ่ง เคยอ่านเจอว่าภายในคูหามีร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนัง แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่อนุญาตขึ้นไปข้างบนแล้วจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีหรือไม่
3. เมรุทิศเมรุราย
เมรุทิศเมรุรายถือเป็นรูปแบบเจดีย์ที่สำคัญและหาชมได้เฉพาะที่วัดไชยวัฒนารามเท่านั้น เป็นรูปแบบอาคารทรงปราสาทที่ซ้อนชั้นเรือนธาตุขึ้นไป โดยส่วนยอดนั้นมีลักษณะเป็นทรงปรางค์ รูปทรงของเมรุทิศเมรุรายนี้สันนิษฐานว่ามีรูปแบบเดียวกันกับพระเมรุสำหรับใช้ในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความพิเศษของวัดนี้
อนึ่ง แม้ว่าส่วนยอดของเมรุทิศเมรุรายนี้หักหายไป แต่เราสามารถชมสภาพสมบูรณ์ของเมรุทิศเมรุรายได้ที่ลายเขียนทองภายในหอเขียน วังสวนผักกาด
4. ปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ
ที่ผนังด้านนอกของเมรุทิศเมรุรายนี้มีการตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นเล่าเรื่อง ซึ่งเนื้อเรื่องที่พบนั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ ทว่า ภาพปูนปั้นส่วนใหญ่นั้นหลุดร่วงลงไปมากจนไม่สามารถตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมดได้แล้ว แต่สันนิษฐานจากหลักฐานเท่าที่เหลืออยู่ว่าฉากที่เลือกมาน่าจะเกี่ยวข้องพุทธประวัติสำคัญ 8 ตอนที่เรียกว่า "อัษฏมหาปาฏิหาริย์"
และแม้จะชำรุดไปมาก แต่ก็ยังเหลือปูนปั้นหลายตอนที่สามารถตีความได้ เช่น เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ การอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นต้น
5. พระพุทธรูปทรงเครื่อง
ภายในเมรุทิศเมรุรายประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องถือเป็นหลักฐานสำคัญของการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างพระมหาจักรพรรดิหรือทรงเครื่องอย่างใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ และยังถือเป็นหลักฐานที่ช่วยให้สามารถกำหนดอายุพระพุทธรูปทรงเครื่อง วัดพระเมรุราชิการามว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลนี้เช่นเดียวกันเนื่องจากมีลักษณะเหมือนกัน
ที่สำคัญ ยังพบจารึกแผ่นทองแดงภายในพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีการระบุศักราช พ.ศ. 2192 เป็นเครื่องยืนยันอายุของพระพุทธรูปนี้อย่างชัดเจน
6. จิตรกรรมฝาผนัง ภายในเมรุทิศเมรุรายยังมีจิตรกรรมฝาผนังหลงเหลืออยู่ และถือเป็นหลักฐานสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังในสมัยพระเจ้าปราสาททองอีกด้วย ซึ่งจิตรกรรมที่วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวแต่อย่างใด แต่เป็นภาพจิตรกรรมตกแต่งเป็นลายก้านขดพันธุ์พฤกษาที่ใช้สีแดงชาดและเขียวใบแค และน่าจะเป็นฝีมือช่างครูเพราะเส้นสายนั้นมีความพลิ้วไหวอ่อนช้อยเป็นอย่างมาก
7. เจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง?
เจดีย์ปริศนาภายในวัดไชยวัฒนารามองค์นี้ตั้งอยู่นอกระเบียงคดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนฐานยืดสูงและองค์ระฆังเพรียวนี้มีการปักป้ายว่า "เจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง" เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารใดใดที่ยืนยันข้อมูลดังกล่าวเลย ดังนั้น ความเชื่อว่าเจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์เจ้าฟ้ากุ้งจึงยากจะพิสูจน์ บอกได้แต่เพียงว่า เจดีย์องค์ดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเท่านั้น
2 บันทึก
1
6
2
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย