17 ส.ค. 2024 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์

ผลสำรวจเผย คนรุ่นใหม่ที่มีเงินเดือนน้อยมีพฤติกรรมใช้ก่อนเก็บเพราะ 'ของมันต้องมี'

"ผลสำรวจเผย คนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำว่า 30,000 บาท มีพฤติกรรม ‘ใช้ก่อนเก็บ’ มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘ของมันต้องมี’ หรือก็คือต้องตามกระแสสังคม ในขณะที่คนวัยทำงานเจอภาระหนี้เป็นอุปสรรคหลักต่อการออมเงิน ทำไม่มีเงินเก็บ-เก็บเท่าที่มี"
จากการสำรวจโดย SCB EIC กับกลุ่มตัวอย่างคนไทยทุกช่วงวัยจำนวน 2,090 คน ด้วยคำถามว่า ‘กระแสสังคมมีผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินหรือไม่’ คำตอบที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี หรืออาจจะเรียกได้ว่าคนรุ่นใหม่ (เกิดปี 1994 เป็นต้นไป) กว่า 62% ต่างให้ความเห็นว่ามีผลไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น
-กลุ่มคนที่อายุ #น้อยกว่า 30 ปี คิดว่ากระแสสังคมมีผลต่อการใช้เงิน 62%
-กลุ่มคนที่มีอายุ #มากกว่า 30 ปี คิดว่ากระแสสังคมมีผลต่อการใช้เงิน 50%
และกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มที่ตอบนี้คือกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน โดยเราจะมาลงรายละเอียดของคนกลุ่มนี้กัน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ห่างมากนักกับค่าเฉลี่ยเงินเดือนของประชากรไทยที่ประมาณ 22,000 บาทต่อเดือน และใกล้เคียงกับตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 29,030 บาท
เมื่อลงลึกไปที่พฤติกรรมการออมเงินของคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังจะพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ กว่า 37% จะนำเงินเดือนที่ได้ ‘ไปใช้ก่อนเก็บ’ เหลือเท่าไหร่ก็เก็บเท่าน้ัน ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี จะมีพฤติกรรมในลักษณะนี้แค่ 20%
พฤติกรรม ‘ใช้ก่อนเก็บ’ และ ‘เก็บก่อนใช้’ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ พฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยให้คน ๆ หนึ่งสามารถออมเงินได้ เพราะกว่า 9 ใน 10 ของคนที่มีเงินออมจากแบบสำรวจนี้ล้วนเป็นคนที่มีพฤติกรรม #เก็บก่อนใช้ นั่นแปลว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ยังต้องเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีนี้จากพี่ ๆ ที่มีอายุมากกว่า ทว่า กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ก็มีส่วนที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน
เนื่องจากกว่า 21% ของกลุ่มคนที่มาอายุมากกว่า 30 ปี ไม่เหลือเงินออมในแต่ละเดือน และ 31% ของคนกลุ่มนี้เก็บบ้าง-ไม่เก็บบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ ตรงนี้เองเป็นเพราะการมีภาระหนี้ที่เป็นอุปสรรคหลักสำคัญของการออมเงิน ซึ่งอาจจะเป็นหนี้ที่มาจากการมีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เหลือเงินให้ออม-ออมเงินตามสถานการณ์
แต่อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ก็ยังตั้งใจที่จะเก็บก่อนใช้เสมอ และเกินครึ่งของคนกลุ่มนี้จะใช้จ่ายเงิน #ซื้อเฉพาะของที่จำเป็น จริง ๆ เท่านั้น (อย่าลืมว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาท)
ทำไมต้องให้ความสำคัญกลุ่มคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาท ?
เป็นที่น่าคิดเนื่องจาก กลับกันพอเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุน้อยกว่า 30 ปี) ที่มีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท (ถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง-สูง) จะมีพฤิตกรรมการ ‘เก็บก่อนใช้’ มากกว่ากลุ่มคนรุ่นอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีความสนใจหาความรู้ทางด้านการเงิน หรือเป็นกลุ่มคนที่ Money Literacy ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาท
จริง ๆ ตัวเลข 30,000 บาท นอกจากจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเงินเดือนของประชากรไทย และใกล้เคียงกับตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนแล้ว ยังจะใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเดือนเฉลี่ยทั้งชีวิตการทำงานของคนที่จบปริญญาตรี ที่ 27,132 บาท จากการรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ตรงนี้เองที่ทำให้ประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าที่ตัวเลข 30,000 บาทนี้ อาจจะเป็นกลุ่มประชากรคนไทยที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในประชากรกลุ่มนี้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นกลุ่มแรงงานหลักในอนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท่ามกลางการเข้าสู่ยุคที่แรงงานลดลงเพราะกลายเป็นผู้สูงวัย และยังต้องมีภาระเรื่องครอบครัวตามมาในอนาคต และต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ การติดกระดุมเม็ดแรกและมองหาปัญหาของเพฤติกรรมการใช้เงินของคนกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับสถานะทางการเงิน (ทั้งส่วนตัวและครัวเรือน) ในอนาคต
รุ่นพี่วัยทำงานที่มีครอบครัว มีภาระทางการเงินและกำลังดูแลพ่อแม่ไปด้วย มีอะไรที่อยากแนะนำน้อง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันได้
โฆษณา