26 ส.ค. เวลา 12:51 • ท่องเที่ยว
อำเภอ ลับแล

Wondrous Village in the Valley [ issue 02/02 ]

ซุ้มประตูสีเหลืองทางเข้าเมืองลับแล (ถนนหมายเลข 1041) เสมือนจุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าสู่เมืองที่มีตำนานเร้นลับที่เล่าขานสืบต่อกันมา และเมื่อมองไปด้านข้างจะพบรูปปั้นหญิงสาวยืนอุ้มลูกน้อย ข้างๆ มีสามีนั่งคอตก ในมือถือย่ามใส่ขมิ้น บริเวณฐานจารึกข้อความ .. " ขอเพียงสัจจะวาจา "
นอกจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลับแล [ issue 01/02 ] ที่เราได้เข้าไปทำความรู้จัก ยังได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของที่นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
อัฏฐมีบูชา หรือพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง จัดขึ้นที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล
ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยเริ่มต้นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จนถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 นับเวลารวม 7 วัน
อัฏฐมีบูชา ถือว่าเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวลับแล
งานห่มผ้าขึ้นพระบรมธาตุฯ ถูกจัดขึ้นทุกปีในช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ช่วงเวลาเดียวกันกับการจัดงานประเพณีอัฏฐมีบูชา)
ตำนานการสร้างพระบรมธาตุทุ่งยั้ง กล่าวกันว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เจ้าเมืองสุโขทัย ทรงอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดิน
แล้วก่อพระธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ครอบไว้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2451
เกิดแผ่นดินไหวจนยอดพระบรมธาตุฯ ร่วงหล่น หลวงพ่อแก้วร่วมกับชาวลับแลช่วยกันบูรณะขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลม ดั่งเช่นปัจจุบัน
พระวิหารหลวงสถาปัตยกรรมเชียงแสน-ล้านนา หลังคาซ้อนสามชั้น ด้านในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน เป็นที่เคารพศรัทธาของคนอุตรดิตถ์มากว่า 100 ปี และยังมีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่เรื่องพระสังข์ทอง ซึ่งเกี่ยวโยงกับเวียงเจ้าเงาะ และบ่อน้ำทิพย์
บรรยากาศส่วนหนึ่งของงานฯ
อีกหนึ่งประเพณีที่มักพบในพื้นที่ ๆ มีการปลูกทุเรียนจำนวนมาก
สลากภัตทุเรียน ..ประเพณีที่ปรากฏในอำเภอลับแล และอาจเป็นเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเข้าพรรษาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลในบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และเพื่อสิริมงคล
ยังมีวัดท้องลับแลที่ตำบลฝายหลวง วัดเก่าแก่ที่ไม่มีปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่น่าสนใจคงเป็น "ภาพสะท้อนหัวกลับ" ที่ปรากฏขึ้นภายในโบสถ์ หรือวัดดอนสัก อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่สำคัญสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระวิหารที่มีบานประตูแกะสลักไม้สักลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นลวดลายกนกก้านขดไขว้ที่งดงาม ฯลฯ
ตำนานเร้นลับ หรือเรื่องราวต่างๆ อาจเป็นเพียงกุญแจดอกเล็กๆ ที่ทำให้เราได้ออกเดินทางไขผ่านประตูของกาลเวลา พบปะผู้คน ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ร่วมถึงความต่าง
ซุ้มประตูสีเหลืองทางเข้าเสมือนจุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่ยังไม่ใครรู้แน่ชัดว่าประตูบานสุดท้ายสิ้นสุด ณ ที่แห่งใด ..ลับแล "ความลับกลางหุบเขา"
บานประตูไม้สักวัดดอนสัก หนึ่งในความงดงามคู่เมืองลับแลที่ถูกบันทึกข้อมูลลงในวิกิพีเดีย และมีร่องรอยเรื่องราวที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ ..ที่ครั้งหนึ่งเคยหายไป
โฆษณา