13 ส.ค. 2024 เวลา 08:11 • สุขภาพ

ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด ของขวัญล้ำค่าจากพ่อแม่

โดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่ 08/08/2567
คุณพ่อคุณแม่ ย่อมต้องการให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บได้ ทำได้เพียงบรรเทาความเสียหายหรือแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นด้วยการทำประกันสุขภาพ
เหตุผลที่ประกันสุขภาพควรเป็นของขวัญชิ้นแรกสำหรับเด็กแรกเกิด
- เด็กเล็กมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย ยิ่งปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมากมาย หรือมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เช่น ไข้หวัด หรือโรดระบาดล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่าง COVID-19 ที่มีสายพันธุ์มากมาย
- เด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด ไม่สามารถบอกได้ว่า ตนเองเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ต้องอาศัยการสังเกตจากคุณพ่อคุณแม่ หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น หวัด ไอ เป็นไข้ตัวร้อน อาจซื้อยารับประทานเองได้ แต่หากเจ็บป่วยหนักหรือร้ายแรงกว่านั้น ต้องอาศัยการวินิจฉัยของคุณหมอหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น เมื่อพบสาเหตุแต่เนิ่นๆ
- สร้างความคุ้มครองตั้งแต่แรกเกิด ยิ่งทำประกันสุขภาพเร็ว ลูกยิ่งมีความคุ้มครองเร็ว หากรอให้ลูกโตหรือเข้าโรงเรียนก่อน ระหว่างนี้ลูกเจ็บป่วยหนัก อยากทำประกันสุขภาพ อาจทำไม่ได้ หรือทำได้ แต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน หรือต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้น
- ค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่ถูก ๆ หากไม่ได้ทำประกันสุขภาพ และไม่ได้มีเงินก้อนสำรองไว้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอาจกระทบการเงินของครอบครัว หรือแผนการเงินอื่นที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมไว้ให้ลูกน้อยก็เป็นได้
เลือกประกันสุขภาพให้ลูกน้อย ให้อุ่นใจและคุ้มค่าที่สุด
วงเงินคุ้มครองที่ต้องการ
ประกันสุขภาพจะกำหนดความคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง ยิ่งวงเงินสูง ค่าเบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม จึงควรเลือกวงเงินคุ้มครองที่มองว่าเพียงพอ รวมถึงต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน
ทั้งนี้ หากแบ่งประกันสุขภาพตามความครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อาจแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบเหมาจ่าย และแบบแยกค่าใช้จ่าย ซึ่ง “แบบแยกค่าใช้จ่าย” จะกำหนดวงเงินคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง และวงเงินคุ้มครองค่ารักษาแต่ละรายการ เช่น ค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด หากรายการค่ารักษาใดเกินวงเงิน คุณพ่อคุณแม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นของรายการนั้น ๆ
ขณะที่ “แบบเหมาจ่าย” จะกำหนดเพียงวงเงินคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง โดยไม่กำหนดวงเงินคุ้มครองค่ารักษาแต่ละรายการ หรือกำหนดเพียงบางรายการ เช่น ค่าห้อง
เมื่อประกันแบบเหมาจ่ายมีโอกาสครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นมากกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย แน่นอนว่าค่าเบี้ยประกันแบบเหมาจ่ายก็ย่อมสูงกว่า ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อย โดยให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นมากที่สุด สามารถเลือกประกันแบบเหมาจ่าย โดยต้องยอมรับค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นได้
โอกาสเจ็บป่วยไม่สบายเล็กน้อย
โดยทั่วไปประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองกรณี “ผู้ป่วยใน” (IPD) หรือการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับความคุ้มครองกรณี “ผู้ป่วยนอก” (OPD) หรือเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเพิ่มเติมหรือเลือกแบบประกันที่มีความคุ้มครองผู้ป่วยนอกรวมอยู่ด้วย
ความคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอก จะกำหนดวงเงินคุ้มครองการรักษาแต่ละครั้ง เช่น สูงสุด 2,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งค่าหมอและค่ายากลับบ้านจะรวมอยู่ในวงเงินดังกล่าว รวมถึงกำหนดจำนวนครั้งของการรักษาต่อปี เช่น 30 ครั้งต่อปี
หากคุณพ่อคุณแม่มองว่า ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยไม่สบายบ่อย หรืออาจไม่รุนแรงถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล สามารถทำประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ ประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองผู้ป่วยนอกจะมีค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าแบบที่มีผู้ป่วยในอย่างเดียว
ความคุ้มครองสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่
บริษัทประกันบางแห่งจะมีส่วนลดเบี้ยประกันสุขภาพให้ครอบครัว สำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ และลูก รวมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น ส่วนลดค่าเบี้ยประกัน 5%
คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องพิจารณาว่ามีสวัสดิการจากแหล่งอื่นที่คุ้มครองสุขภาพหรือไม่ เช่น ความคุ้มครองสุขภาพกลุ่มของบริษัทที่ทำงาน ถ้าไม่มี หรือมีแต่อาจไม่เพียงพอ ก็สามารถทำประกันสุขภาพแบบครอบครัว เพื่อให้มีความคุ้มครองครอบคลุม และได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อหรือคุณแม่อาจจ่ายเบี้ยประกันโดยรวมเพิ่มหลักหมื่น แต่ได้ความคุ้มครองสุขภาพให้ตนเองเพิ่มถึงหลักล้าน
รูปแบบการทำประกันสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพ สามารถเลือกทำ “แบบเดี่ยว” หมายถึง ทำเฉพาะประกันสุขภาพเท่านั้น และเลือกทำ “แบบพ่วง” หมายถึง ต้องทำประกันชีวิตก่อน จึงจะสามารถทำประกันสุขภาพแนบท้ายประกันชีวิต ถ้าเทียบค่าเบี้ยประกัน การซื้อประกันสุขภาพแบบเดี่ยวจะถูกกว่าเพราะไม่เสียค่าเบี้ยประกันชีวิต แต่โอกาสที่เบี้ยประกันจะสูงขึ้นในปีถัดๆ ไปก็จะมีมากกว่า เพราะถือเป็นประกันวินาศภัยที่การปรับขึ้นเบี้ยประกันในปีต่ออายุทำได้ง่ายกว่า
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะทำประกันสุขภาพแบบเดี่ยว หรือแบบพ่วง ก็สามารถเคลมหรือเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้ตามวงเงินคุ้มครองที่กำหนด
หากทำประกันสุขภาพแบบพ่วง คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกแบบประกันชีวิตให้ตอบโจทย์แผนการเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่เมื่อครบกำหนดสัญญา และชำระเบี้ยประกันครบตามเงื่อนไข จะมีการจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินก้อน เพื่อเป็นทุนการศึกษา หรือเงินก้อนตั้งต้นชีวิตให้ลูก หรือประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ที่ให้ความคุ้มครองสูง คุ้มครองนานหลายปี ขณะที่เบี้ยประกันไม่แพง ซึ่งช่วยให้ลูกมีความคุ้มครองชีวิตยาวนานจนลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกประกันสุขภาพแบบไหนให้ลูก เรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ นั่นคือ ข้อยกเว้นไม่คุ้มครอง รวมถึงระยะเวลารอคอยหรือระยะเวลาที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง (Waiting Period) ซึ่งบริษัทประกันแต่ละแห่งจะกำหนดระยะเวลารอคอยแตกต่างกัน เช่น 15 วัน 30 วัน ดังนั้น ก่อนเลือกทำประกันสุขภาพให้ลูก ควรศึกษารายละเอียดให้ดี
ประกันสุขภาพ เป็นสัญญาปีต่อปี และเบี้ยประกันจัดเป็นเบี้ยทิ้ง หมายถึง หากปีใดไม่มีการเคลมหรือเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ความคุ้มครองจะหมดไป ไม่มีเงินคืนให้ อาจมีเพียงส่วนลดค่าเบี้ยประกันให้ในปีถัดไป ทั้งนี้ อยากให้คุณพ่อคุณแม่มองว่า การทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อย เสมือนการจ่ายเงินก้อนเล็ก เพื่อลดโอกาสจ่ายเงินก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยก่อนทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อย ควรพิจารณากำลังความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันว่าไม่เป็นภาระหนักจนเกินไป
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา