12 ต.ค. เวลา 07:57 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

หลานม่า “ในความเรียบง่ายที่ทรงพลัง”

เป็นภาพยนตร์ที่มีความเหมือนจริงทุกแง่ทุกมุม บนวิถีชีวิตของครอบครัว ๆ หนึ่งในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวตนของตัวละคร มีมิติของบุคลิกชัดเจน โจทย์ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ละคนโลดแล่นไปตามแนวคิดของตัวเอง แต่มันสมจริง มีเหตุมีผลมีที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็นบทตอนบนหน้าจอ
เมื่อเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด จะแสวงหาอะไรในวาระสุดท้ายที่มีต่อกัน
ภาพยนตร์ที่ออกมาในโทนเย็นชา แต่อบอุ่น เฉกเช่นนิสัยของคนเจนเนอเรชั่นหนึ่งในยุคของปู่ย่าตายาย ที่มีความสัมพันธ์แบบไม่ค่อยแสดงความรักด้วยภาษากาย แต่ทำออกมาในรูปของผลงาน คือการทำอะไรให้ลูกหลาน
การจัดวางภาพธรรมดาแต่สวยงาม มุมภาพสัมพันธ์กับเนื้อหา ไม่มากไปหรือน้อยไป ได้อารมณ์และความหมายไปในตัว แม้แต่สีสันของเสื้อผ้าข้าวของไม่มีหลุดจากสารที่ต้องการสื่อ มันเข้ากับสถานการณ์นั้น เวลาขณะนั้น ความคิด ความหวัง ถูกคุมให้เป็นภาพ จนคอนโทรลความรู้สึกของคนดูให้รู้สึกตามโดยไม่รู้ตัว
การดำเนินเรื่องไม่ฉุดรั้งหรือยัดเยียดอารมณ์ให้กับคนดู ปล่อยอิสระให้คนดูตามเรื่องไป ก็ตรงกับบุคลิกของอาม่าตัวเอกของเรื่อง เรื่อย ๆ ไม่บังคับ ใครจะมาสนใจหรือไม่สนใจก็ได้ ฉันก็จะดำเนินตามแบบฉบับของฉันไปแบบนี้แหละ คือความคลาสสิคที่หนังค่อยๆ พาเราเข้าถึงตัวละครจนต้องอยากติดตาม
พล็อตเรื่องไม่ถึงกับแปลกใหม่ ออกจะธรรมดาไปเสียด้วยซ้ำ แต่เขาเอาความธรรมดามาตีแผ่ให้คนดูซึมซับได้อย่างแนบเนียน จึงเหมือนนั่งดูชีวิตจริงที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมาบีบคั้นความดราม่า คนดูเริ่มหันมามองในสิ่งที่อาจมองข้ามไป มันไม่ง่ายเลยกับการเอาเรื่องธรรมดามาหามุมมองที่เข้าถึงอารมณ์คน ถือว่าคนทำหนังเรื่องนี้ทำถึงมาก ๆ
1
การเดินเรื่องเริ่มจากเอ็ม ที่ตั้งใจจะไปซื้อใจเพื่อหวังมรดก โดยคิดไปเองว่า ทุกคนคือคู่แข่ง แม้กระทั่งแม่ตัวเอง เมื่อเอ็มเห็นแม่ทำดีกับอาม่า ยังคิดว่าแม่คิดแบบตน ดังมีคำถามตอนใกล้จบว่า แม่ก็หวังใช่ไหม แต่ได้คำตอบจากแม่ว่า ทำตามฐานะลูก คำว่าคิดถึง เธอเปรียบช่วงที่ลูกไม่อยู่ว่าเหงา จึงเข้าใจความรู้สึกของอาม่า และการพูดกับลูกว่า "การให้มันสบายใจกว่าการรับ" ฟังแล้วมันอิมแพ็คต่อใจ ความอยากได้มันทุรนทุราย แต่การสละมันเบา มันโล่ง ยิ่งเป็นครอบครัวแล้วยิ่งไม่ควรแสวงผลประโยชน์ซึ่งกัน
5
อาซิวเป็นคนเดียวที่ดูแลอาม่าโดยไม่คาดหวัง เพราะรู้ว่าลูกสาวคนจีนไม่ได้อะไรอยู่แล้ว ทุกการกระทำของเธอจึงมาจากใจตั้งแต่แรก ไม่ใช่การทำคะแนน
เอ็มเห็นกู๋ส่วยมาแวะเวียนไถเงินอาม่า จึงลงทุนไปขโมยเข็มขัดที่แม่ได้เป็นมรดกมาจากญาติผู้ใหญ่ที่ตาย เอามาให้กู๋ส่วยให้เอาไปขาย แล้วหลบหน้าไป และอย่าเพิ่งไปหาอาม่า เหมือนจะหวังดีให้กู๋ได้หลบเจ้าหนี้ แต่นี่ก็เป็นการสกัดคู่แข่งไม่ให้มาเรียกความสงสารจากอาม่า
กู๋เคี้ยงจะพาอาม่าไปอยู่ด้วย และให้เงินเอ็ม ค่าที่ไปดูแลอาม่าหลายวันผ่านมา เอ็มก็ไม่รับแถมพยายามขัดขวางไม่อยากให้อาม่ามา เพราะถือว่านี่เป็นเกมที่ชิงความเป็นที่หนึ่ง
เมื่อมารู้ว่าอาม่ายกมรดกให้กู๋ส่วย เอ็มจึงผิดหวังมาก รู้สึกว่าที่ลงทุนลงแรงไปทั้งหมดเสียเวลาเปล่า จึงโกรธอาม่า หอบผ้าหนีกลับบ้านไป ในเมื่อยกให้กู๋ส่วยก็ให้กู๋ส่วยมาดูแลสิ แต่ลึกๆ ความผูกพันที่มี เอ็มก็อดไม่ได้ที่จะแอบดูอาม่าในกล้องวงจรปิด เห็นอาม่านั่งเล่นฟิลเตอร์หน้าตลกในแอพหนึ่งที่เอ็มเคยสอนแก้เหงาอยู่คนเดียว
1
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อรู้ว่าอาม่าถูกส่งไปบ้านพักคนชรา เพราะกู๋ส่วยเอาบ้านไปขายแล้ว อาม่าจึงไม่มีบ้านอยู่ แม่ของเอ็มให้ไปรับอาม่ามาดูแลที่บ้าน เอ็มไปรับอาม่าที่บ้านพักคนชรา พบกู๋ส่วยรออยู่ กู๋ส่วยจะแบ่งเงินค่าขายบ้านให้เอ็มบ้าง เพราะใช้หนี้หมดแล้วแต่ไม่สามารถพาอาม่าไปอยู่ด้วยได้ เพราะกู๋ส่วยไม่มีหลักแหล่ง เอ็มไม่รับแต่บอกกับกู๋ส่วยว่า กู๋เอาเก็บไว้เถอะ ต่อไปอาม่าช่วยอะไรกู๋ไม่ได้อีกแล้ว เป็นคำพูดที่รู้สึกได้ว่าเอ็มเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก
1
ตอนที่นั่งทอดถอนใจอยู่ข้างเตียง อาม่ามีหยอดมุกให้ระบายยิ้มที่มุมปากนิดๆ เมื่อตอนเอ็มแกะกระดุมเม็ดสุดท้ายให้ ต่างจากตอนแรกที่ไปอยู่กับอาม่า เอ็มติดกระดุมเม็ดสุดท้ายให้ หวังแสดงการเอาใจ แล้วแซวว่า “อยากโชว์หวิวเหรอ” แต่อาม่าแกะออก แล้วบอกว่า “กูไม่ชอบติดเม็ดสุดท้ายเพราะมันอึดอัด” (จะหวังดีกลายเป็นเผือกอีก)
ครั้งนี้เห็นเสื้ออาม่าติดกระดุมทุกเม็ด กู๋ส่วยคงติดให้ตอนพาอาม่ามา เอ็มจึงแกะออกให้ เพราะจำได้ว่าอาม่าเคยบอกติดทุกเม็ดมันอึดอัด อาม่าผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยการหยอกว่า “อยากโชว์หวิว” เอ็มเอ่ยว่า เอ็มมารับแล้ว กลับบ้านกันเถอะ อาม่าก็ยิ้มอย่างตื้นตันใจ
1
ระหว่างมาอยู่บ้าน การดูแลอาม่าไม่ได้เป็นไปเพื่อหวังผลอะไรแล้ว ไม่ได้อะไรก็ไม่เอา ขอให้ได้ดูแลอาม่าใกล้ๆ จนวันสิ้นลม เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ออกมาจากจิตสำนึกที่แท้จริง โดยไม่ต้องมีเรื่องผลประโยชน์มาเป็นเงื่อนไข ความรู้สึกของเอ็มได้ตกตะกอนแล้ว
ตัวละครมีภูมิหลังทุกคน ก่อเกิดตัวตนอย่างมีความลึก การคิด การตัดสินใจ มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เริ่มจาก
อาม่า : หญิงคนจีน ที่ถูกวัฒนธรรมหล่อหลอมให้อาม่าเติบโตมาอย่างถูกครอบงำความคิด จะเห็นได้ในฉากที่ไปหาพี่ชาย บทสนทนานั้น ทำให้เราเห็นปูมของสังคมจีน มีการกดขี่ลูกผู้หญิงให้อยู่ใต้อาณัติ ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงอะไรเลย จึงมีการแสดงออกตามเบ้าหลอมของสังคม ที่ส่งผ่านมาและส่งต่อไปสู่รุ่นลูก ด้วยความคุ้นชินมากกว่าความสำนึกตามเหตุผลของมนุษย์คนหนึ่ง แต่สิ่งที่มนุษย์แม่พึงมี คือ ความรักลูกรักหลาน
เอ็ม : ตัวละครเด่นคู่กันอีกคน ก็เป็นตัวแทนแห่งยุคของเด็กเจนฯใหม่ ที่จูนกันกับคนรุ่นเจนฯ อาม่าไม่ค่อยติดนัก
กู๋เคี้ยง : เป็นตัวแทนของลูกชายคนโตที่ถูกตั้งความหวังให้เป็นผู้นำ เป็นที่พึ่ง เป็นตัวอย่างที่ดี และน่าเคารพแก่น้องๆ เป็นผู้แบกรับหน้าที่ตามแบบแผนของสังคม
กู๋ส่วย : เป็นภาพสะท้อนของคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ การเป็นลูกคนเล็ก เหมือนได้รับการยกเว้นในความเข้มงวด จนอาจกลายเป็นความละเลยต่อวินัยในตัวเอง
มาม้าซิว : แม่ของเอ็ม ผู้ทำหน้าที่แม่ที่ดีและลูกที่ดีในคนเดียวกัน มีบุคลิกของความอดทน เสียสละและจำยอม ตามแบบฉบับหญิงจีนที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่
แต่ทุกคนก็เป็นครอบครัวเดียวกันที่ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไม่ลงตัว มันเป็นภาพรวมของชีวิตผู้คนแห่งยุคสมัยนี้
อามุ่ย : เป็นตัวเสริมของเรื่องที่เป็นคีเวิร์ดของเอ็ม และเป็นคีเวิร์ดของเรื่อง ผูกโยงการกระทำ แล้วการกระทำผูกโยงไปสู่ความเข้าใจ เธอถูกวางบุคลิกให้มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความเชื่อมั่นสูง ยังมีสีสันอีกมากมายในตัวเธอ ที่หนังปูพื้นพอให้เห็น แต่ไม่ได้เอาออกมาขยาย เพราะความกลมกลืนของเรื่องราว มันมุ่งที่ความสัมพันธ์ของยายหลาน ที่มีพัฒนาการไปสู่บทสรุป
1
เทคนิคการหยอดที่หนังทำตลอดเรื่องคือ ปลายเปิด และปลายปิด เช่น เริ่มตั้งแต่ฉากแรก อาม่าอยากได้ฮวงซุ้ยสวยๆ เพื่อจะได้เหมือนเป็นที่ระลึกให้ลูกหลานได้มากราบไหว้ เป็นจุดเชื่อมความผูกพันกันในความเป็นญาติพี่น้อง จากคำพูดอาม่าที่พูดกับเอ็ม ตอนถูกปฏิเสธส่วนแบ่งจากพี่ชายว่า “มีฮวงซุ้ยสวยๆ พวกแกจะได้อยากมาไม่อายเขา พี่น้องจะได้มาพบกัน” (เหมือนว่าอาม่าคิดว่าลูกสะใภ้คนโตไม่ยอมมาไหว้บรรพบุรุษ เนื่องจากฮวงซุ้ยเก่าโทรม น่าอับอายหรือเปล่า) มันนำไปสู่การเดินเรื่องด้วยความปรารถนาของอาม่า
และมันถูกเฉลยในตอนเกือบจบของเรื่อง
เมื่อเอ็มหลานชายได้สร้างฮวงซุ้ยให้อาม่า ด้วยเงินที่อาม่าออมไว้ให้หลานนั่นเอง หนังปิดปลายอย่างสวยงามในฉากรถไฟแล่นผ่านไป ภาพในอดีตเด็กชายเอ็มกับอาม่าเดินคุยกัน อาม่าบอกกับหลานว่า ฝากเงินไว้ให้เผื่อหลานโตจะได้มีเงินใช้ ส่วนหลานก็อยากจะเอาเงินนั้นมาสร้างบ้านใหม่ให้อาม่า และให้อาม่าสัญญาว่าจะต้องฝากให้หลานจนกว่าอาม่าจะตาย
รถไฟอีกขบวนแล่นกลับมาพร้อมกับภาพในอดีตหายไป เป็นเอ็มปัจจุบันที่นึกขึ้นได้ว่า ตอนไปช่วยอาม่าเข็นรถขายโจ๊กกลับบ้าน อาม่าได้แวะฝากเงินที่ธนาคาร แต่ไม่ยอมให้เอ็มตามเข้าไป เพราะฝากเงินให้เอ็มนั่นเอง
อันนี้ก็เป็นอีกปมทื่หนังเปิดไว้แล้วมาเฉลย ตอนอาม่าได้ตายจากไปแล้ว บ้านที่เอ็มน้อยบอกจะสร้างใหม่ให้อาม่า ไม่คิดเลยว่าจะกลายเป็นฮวงซุ้ยนั่นเอง เมื่อเอ็มรู้ว่าเป็นความหวังของอาม่า จากเด็กเห็นแก่เงิน ที่จะไปดูแลอาม่าแบบหว่านพืชหวังผลนั้น ถูกความผูกพันที่มีอยู่ลึกๆ เปลี่ยนเป็นให้ในสิ่งที่อาม่าต้องการ เหมือนอย่างที่เอ่ยปากบอกอาม่าว่าจะเอาเงินนี้ไปสร้างบ้านให้อาม่า นี่คือปลายปิด
มีอีกหลายตอนที่เห็นเปิดประเด็นไว้ เช่น ในโอกาสสำคัญอาม่าทนใส่รองเท้าที่ลูกชายคนโตเคยซื้อให้ทั้งที่มันคับ นั่นทำให้เห็นว่ากู๋เคี้ยงลูกชายนั้นทำอะไรก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้ทำด้วยใจ จึงซื้อมาแบบไม่ได้ให้อาม่าไปลองด้วยซ้ำ ถือว่าซื้อให้แล้วแล้วกัน ใช้ได้ไม่ได้ไม่รู้ การให้ที่ผู้รับไม่ได้ประโยชน์นั้น ผู้รับอาจไม่เห็นค่า แต่คนเป็นแม่ย่อมเห็นค่าสิ่งที่ลูกมอบให้เสมอ แม้ว่าจะได้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม
1
หนังได้แสดงให้เห็นการปลดล็อคความคิดของอาม่า ที่แกบอกเอ็มพาไปร้านรองเท้าเพื่อเปลี่ยนคู่ที่พอดี หลังจากที่อาเคีัยงพาไปทำบุญที่วัด ตอนนั้นอาม่าเขียนอวยพรให้ลูกหลานทุกคน เมื่อเอ็มชี้ให้เห็นว่า ไม่มีใครเขียนให้อาม่าเลย (แต่เอ็มเขียนนะ เขียนว่า ขอให้อาม่าถูกหวย) อาม่าแก้ให้ว่า "เขาก็ต้องขอให้ครอบครัวเขาสิ" และเอ็มแย้งว่า "แล้วอาม่าไม่ใช่ครอบครัวหรือ"
อาม่าจึงคิดขึ้นได้ว่า เมื่อลูกแยกบ้านออกไปมีครอบครัวแล้ว ก็ควรปล่อยวางให้ลูกไปมีชีวิตของตัวเอง ควรเลิกยึดติด ตามวิถีชีวิตคนจีนว่า ลูกชายคนโตต้องรับผิดชอบดูแลพ่อแม่พี่น้องทุกคน ในฐานะเป็นผู้สืบตระกูล
1
ต่างกับลูกอีกคนที่ยังเอาตัวไม่รอด คือกู๋ส่วย ลูกชายคนเล็กที่อาม่ายังเป็นห่วงอยู่ จากคำพูดที่เป็นไดอะล็อคสั้นๆ แต่กินใจว่า “อาส่วยไม่มาดีที่สุด เพราะถ้าอีไม่มา แปลว่าอีสบายดี” คำพูดธรรมดาแต่คนฟังอึ้ง ความห่วงใยของแม่ที่ไม่เคยอยากได้อะไรจากลูกนอกจากอยากเห็นลูกไปได้ดี จึงยกบ้านอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายให้คนที่น่าเป็นห่วงที่สุด
หนังชี้ปมอีกเรื่องหนึ่งคือ สาเหตุมะเร็งลำไส้ของอาม่า ตอนที่ลูกสาวคนกลางไปเยี่ยมที่บ้าน แล้วทำความสะอาดตู้เย็นไปบ่นไปว่า อาม่าเก็บของจนหมดอายุ ทำให้เป็นที่มาว่าทำไมอาม่าป่วย ด้วยนิสัยการใช้ชวีตแบบนี้จนชิน เมื่ออาม่ามารักษาตัวที่บ้านลูกสาว ความตระหนักถึงโรคที่ตัวเองได้รับแล้ว จึงเป็นฝ่ายเตือนลูกสาวบ้างที่เก็บของในตู้เย็นระวังจะหมดอายุ กินไปก็อาจเป็นอย่างอาม่า
ตรงนี้เป็นปลายปิดที่ถูกเปิดประเด็นไว้ตอนต้นเรื่อง จึงมีวลีกินใจ "ลูกชายได้มรดก ลูกสาวได้มะเร็ง” เป็นคำกล่าวเหมือนน้อยใจ แต่เธอหยอกแม่ตัวเองทั้งที่ทำใจกับวัฒนธรรมครอบครัวจีนอยู่แล้วว่า ลูกสาวย่อมเป็นผู้เสียสละอย่างเดียว อย่าหวังจะได้อะไร เหมือนอย่างชีวิตอาม่านั่นแหละ ซึ่งใช้ความเคยชินที่เคยได้รับมาปฏิบัติกับลูกสาวเช่นกัน
มีความในใจซื่อๆ แต่ซึ้งใจอาซิ่วมาจากปากอาม่าว่า "ถามว่ากูรักใครที่สุดกูไม่รู้ แต่กูอยากอยู่กับมึง" สมบัติใดจะมีค่ายิ่งกว่าเวลาที่เหลืออยู่ด้วยกัน คนที่ไม่เคยพลัดพรากอาจไม่ทัชใจกับคำๆ นี้
1
ประเด็นเปิดอีกปมที่อยากยกตัวอย่างคือ อาม่าไม่กินเนื้อ ทั้งที่เอ็มจำได้ว่าเคยเป็นของโปรดอาม่า แล้วเรื่องมาเฉลยตอนหลังว่า ที่อาม่าเลิกกินเนื้อ เพราะเคยไปบนบานกับเจ้าแม่กวนอิม ตอนกู๋เคี้ยงลูกชายคนโตป่วยว่า ถ้าลูกกลับมาแข็งแรงจะเลิกกินเนื้อถวายเจ้าแม่กวนอิมไปตลอดชีวิต เมื่อเอ็มมาบอกกู๋เคี้ยงที่กำลังงอนอาม่าเรื่องยกบ้านให้กู๋ส่วย กู๋เคี้ยงถึงรู้ว่าอาม่าก็รักตนจึงยอมเข้าไปกราบแม่เป็นครั้งสุดท้าย
1
ตรงนี้หนังก็แอบผูกปมไว้ กู๋เคี้ยงมีฐานะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ทำไมยังอยากได้บ้านอาม่า แต่อาม่ากลับยกให้ลูกคนที่แย่ที่สุด คำเฉลยมันซ่อนอยู่ในพฤติการของกู๋เคี้ยงที่อยากได้โฉนดตั้งแต่อาม่ายังไม่ตาย ดูร้อนรนเหมือนคนร้อนเงิน
1
ย้อนไปดูตอนชวนอาม่าไปอยู่ด้วย ทำไมเพิ่งมาชวนตอนที่รู้ว่าอาม่าใกล้จะตาย หรือมีเป้าหมายเหมือนเอ็มหรือเปล่า ทำไมลูกสาวเขียนขอพรที่วัดว่าขอได้เรียนที่เดิมกับเพื่อนๆ หมายความว่าจะต้องย้ายโรงเรียนหรือ คำขอพรของเขาและเมียนั้น ก็ไม่พ้นขอได้ทรัพย์สิน ขอความสุขแก่ลูกเมีย ดูเผินๆ ก็ไม่แปลก แต่คำขอของเด็กน้อยมันฟ้องฐานะของพ่อแม่ว่า อาจมีปัญหาด้านการเงินจนมีแผนย้ายโรงเรียนจากระดับอินเตอร์มาเป็นระดับธรรมดาก็เป็นได้
เมียกู๋เคี้ยงก็มีรสนิยมหรูหราฟุ้งเฟ้อ จะเห็นตอนไปกินเลี้ยงวันตรุษจีนที่บ้านอาม่า เธออวดอาหารที่ซื้อมาว่าแพงระดับเจ้าสัวรวยๆ เขากินกันเลยนะ ส่วนกู๋เคี้ยงก็ติดภาพลักษณ์นักธุรกิจที่เท้าไม่ติดดิน จึงกลายเป็นครอบครัวที่จมไม่ลง หากแต่สร้างภาพทั้งที่อาจมีปัญหาการเงินอยู่ก็ได้
หรือถ้าไม่ใช่เหตุผลนี้ ก็อาจเป็นความน้อยใจอาม่าที่ให้ค่าลูกคนที่ไม่น่าให้ค่าใดๆ มีแต่ทำตัวเหลวไหล ตัวเขาเสียอีกที่คอยซัพพอร์ตและไม่เคยทำให้ผิดหวัง อาม่าก็ยังไม่เห็นคุณค่าอีกหรือ กู๋เคี้ยงอาจจะคิดเช่นนี้ก็ได้ โดยไม่เข้าใจว่าความรักของแม่ไม่ได้วัดที่คุณค่าของลูก แต่เป็นความห่วงใยต่อคนที่อ่อนแอที่สุดเท่านั้น
วันงานศพอาม่า เอ็มจัดเนื้อตุ๋นของโปรดอาม่าไว้ข้างโลง อาม่าพ้นเงื่อนไขแล้ว อาม่ากินตามความชอบของอาม่าได้เลยนะ
ปมต่างๆ ที่มีตลอดเรื่องเสมือนการร้อยโซ่ที่เกี่ยวกันด้วยการแอบเปิดประเด็นและดำเนินไปจนถึงตอนปิดประเด็น
1
อีกตอนเรื่องทับทิม กู๋ส่วยจะเด็ดกิน อาม่าเบรคไว้ บอกว่าไม่ใช่ของเอ็ง มันมีเจ้าของ กู๋ส่วยยอกย้อนว่าจะเก็บไว้ให้ลูกชายคนโปรดละซี้ นี่ก็ชี้ให้เห็นว่า กู๋ส่วยก็แอบน้อยใจมาตลอดว่า ตนไม่ใช่ลูกโปรด แม่รักและภูมิใจในลูกคนโตมากกว่า ส่วนกู๋เคี้ยงก็คิดว่าแม่รักและตามใจลูกคนเล็กมากกว่าจนเหลิงเสียคน
ส่วนอาซิว ก็คิดว่าแม่ไม่รักลูกสาว เพราะครอบครัวจีนไม่ให้ความสำคัญกับลูกสาว อย่างที่เคยตัดพ้อกับเอ็มว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยเสียน้ำตาให้เธอ (หมายถึงอาม่า) ตอนเอ็มมาบอกว่าอาม่าแอบร้องไห้ หลังจากดุอาซิ่วที่เปลี่ยนกะเข้างานมาพาอาม่าไปบำบัดที่สระน้ำ เพราะอาม่าเป็นห่วงและไม่อยากเพิ่มภาระให้ลูกนั่นเอง
มันเป็นฉากสั้นๆ ที่อธิบายถึงช่วงชีวิตทั้งชีวิตที่อาม่าเลี้ยงเธอมา นี่คือความถนัดในการสร้างไดอะล็อคของภาพยนต์เรื่องนี้ที่ทำให้หนึ่งคำบอกได้ทั้งเรื่องราว
ย้อนไปต้นทับทิม อาม่าปลูกในวันที่เอ็มเกิด ตามความเชื่อว่าเด็กจะได้แข็งแรง ตอนเอ็มเป็นเด็กเคยให้อาม่าสัญญาว่า จะเก็บลูกมันให้เอ็มกิน อาม่าจึงบอกอาส่วยว่า ทับทิมต้นนี้มันมีเจ้าของ และเป็นที่ระลึกสิ่งเดียวอันมีชีวิตที่เอ็มย้ายมาปลูกหน้าบ้านตัวเอง เหมือนเป็นตัวแทนของอาม่าให้ได้ดูแลรักษาต่อไป
ตอนที่เอ็มแกล้งโปรยดอกไม้บนหลุมศพแบบชุ่ยๆ เพราะหนังเคยผูกปมนี้มาก่อน เมื่ออาม่าขู่ว่า ถ้าทำอย่างนี้กับหลุมศพอาม่า อาม่าจะมาหลอก เอ็มอยากให้อาม่ามาหา จึงทำท้าทายกับหลุมศพอาม่า พอมีลมพัดมา ดอกไม้ในมือปลิวกระจาย เอ็มยิ้มรับกับสายลม อาม่ามาแล้วใช่ไหม นี่ก็เป็นปลายปิด
คนที่มีพื้นที่ในหนังน้อยที่สุดแต่เคาะให้เนื้อเรื่องมีคำตอบ ที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คืออามุ่ย นอกจากจะมาเป็นตัวช่วยสำรวจเหตุผล ได้เรียนรู้และตกผลึกความผูกพันที่มีต่ออากงจนเข้าใจคนแก่ได้ดี ที่น่าแปลกคือ อากงฉีกทัศนคติเดิมๆ ของคนจีนคือ ลูกสาวหลานสาวดีแค่ไหนก็ไม่สำคัญ อากงได้ตบรางวัลด้วยการให้อามุ่ยได้รับมรดกมากกว่าลูกหลานทุกคน เป็นการตอบแทนให้รู้ว่า คนทำดีกว่าต้องได้ดี เป็นปรากฎการณ์ที่ญาติๆ คิดไม่ถึง
แต่มีบทหมิ่นเหม่ศีลธรรมอยู่บ้างเมื่ออามุ่ยปล่อยให้อากงสำลักตายทั้งที่ช่วยได้แต่ไม่ช่วย อามุ่ยเล่าว่า กงเคยสำลักหลายครั้ง แต่ครั้งนี้มุ่ยไม่ช่วยด้วยเหตุผลว่า เป็นความปรารถนาของอากงที่อยากตายให้พ้นความทรมาน ถามว่าอามุ่ยผิดไหม ตามกฎก็ผิด แต่ในมุมมองทางความคิดอาจไม่ผิด
ยังมีอีกหลายตอนที่ไม่ได้เล่า นี่เป็นตัวอย่างว่าหนังเรื่องนี้เล่นเรื่องปลายเปิดแล้วเอาเฉลยมาปิด ในขณะที่หนังเมืองนอกมักเล่นเรื่องจบแบบปลายเปิด คือ ทิ้งให้คนดูเอาไปคิดต่อ โดยหนังไม่สรุปให้ ปล่อยคนดูเอาไปวิเคราะห์วิจารณ์กันเอง เผื่อจะได้ทำภาคสอง ถ้าขายดี
ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่จำป็นต้องทำตามความนิยม การขายความเป็นธรรมชาติ ความธรรมดา มันก็ขายได้ รู้สึกมันใกล้ตัว มันสัมผัสได้ในชีวิตจริง
สิ่งที่อยากฝากก็คือ วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนจีน
เรื่อง การไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีที่สืบทอดให้เคารพบรรพบุรุษ แม้บางครั้งจะแฝงมากับความหมายว่า เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษช่วยดูแลรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็นับว่าเป็นการออกแบบที่สวยงาม แม้คนรุ่นใหม่ที่ปฏิบัติตามๆ กันมา อาจไม่เข้าใจปรัชญาของคนรุ่นเก่ามากนัก แต่ยังคงยึดถืออยู่ นั่นคือสิ่งกระชับความสัมพันธ์ของวงค์ตระกูลให้มีความเหนียวแน่น ยังคงรักกัน เป็นที่พึ่งให้กันได้ แก่ตัวลงทำอะไรไม่ได้ก็ยังมีลูกหลานมาดูแล คือความงามของวัฒนธรรมที่ควรดำรงไว้
แต่ถ้าสังคมต่างคนต่างอยู่ โตขึ้นมาแล้ว
ก็แยกย้ายหายจาก เหมือนเป็นคนแปลกหน้ากัน ไม่ช่วยเหลือกัน พ่อแม่แก่ไปก็ลำบาก สังคมแบบนี้มันน่าหดหู่อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือสิ่งที่คนจีนคงคิดแล้วว่ามันน่ากลัว จึงออกกุศโลบายให้ลูกหลานมีวันไหว้วันระลึกถึงรากเหง้าคนรุ่นก่อนที่มีพระคุณ อย่างน้อยจะได้ไม่ลืมพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ควรดูแล สังคมยังคงเป็นสังคมที่อบอุ่นกันได้อีกต่อไปไม่มากก็น้อย
แม้กระนั้นก็ยังมีมุมดาร์กของทัศนคติที่ล้มเหลวในด้านสิทธิมนุษยชน การวัดค่าของคนไม่ควรจำกัดแค่ลำดับการเกิด หรือลดคุณค่าตัวเองทันทีที่เกิดเป็นหญิง เพียงเพราะไม่ใช่ผู้สืบสกุล การต้องแยกไปเป็นครอบครัวตระกูลอื่นเมื่อแต่งงานแล้ว ก็ถูกเลือกปฏิบัติเลยหรือ เป็นคำถามจากคนนอกที่มองมาอย่างไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะเป็นวิธีคิดตามเหตุผลใดก็แล้วแต่ของแต่ละชน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา