15 ส.ค. เวลา 02:51 • การเมือง

การล่มสลายของ “ระบอบปูติน” เป็นเพียงภาพลวงตา

แต่การถูกบุกเข้ามาในเคิร์สก์จุดประกายและสร้างความเลือนราง
“ปูตินผู้ถูกล้มไม่ลง” (Putin the Resilient) เป็นชื่อของบทความใหม่ล่าสุดของสื่ออเมริกันชื่อดังด้านการต่างประเทศ Foreign Affairs ผู้เขียนคือ จูเลียน วอลเลอร์ นักวิเคราะห์ด้านรัสเซียที่ Center for Naval Analyzes (CNA) เผยแพร่เมื่อ 14 สิงหาคม 2024 ให้เหตุผลว่าการคาดการณ์เกี่ยวกับการล่มสลายของอำนาจของปูตินนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา… เว้นแต่จะมีการเดิมพันที่มีความเสี่ยงใหญ่หลวงเกิดขึ้น
เครดิตภาพ: Politico
ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากในโลกตะวันตกต่างเรียกระบบปกครองในรัสเซียว่าเป็นเผด็จการ พิจารณาแล้วมีแนวโน้มว่าระบอบนี้เปราะบาง ผู้เขียนต้นเรื่องเริ่มต้นด้วยการมองที่ภาพรวม “ระบอบปูติน” เหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสงครามในยูเครน “ชี้ให้เห็นว่าระบอบการปกครองของรัสเซียมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้” ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต
ในบรรดาการทดสอบที่รัสเซียต้องเผชิญในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา วอลเลอร์ได้ไล่เรียงออกมาตามไทมไลน์ดังนี้
  • คำวิจารณ์จากกลุ่มแวดวงผู้สื่อข่าวสงครามซึ่งมุ่งเป้าไปที่การมอบหรือถ่ายโอนอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซีย (ที่มีในลักษณะเล่นพรรคเล่นพวก)
  • การถอยทัพของรัสเซียที่ไม่น่าเชื่อ (เมื่อช่วงต้นสงคราม) ในภูมิภาคคาร์คีฟและเคอร์ซอน ซึ่งทำให้เกิด “ความน่าสงสัยในระบบการบริหารกองทัพของรัสเซีย”
  • การก่อกบฏล้มล้างอำนาจอย่างเปิดเผยของ “เยฟกินี ปริโกซิน” หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ ซึ่งเกิดความไม่พอใจอย่างมากกับนายพลระดับสูงของกองทัพรัสเซีย
  • การปรับกำลังพลและตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่ผ่านมาล่าสุด
“เครมลินได้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้แล้ว” วอลเลอร์เน้นย้ำ “ตัวอย่างเหล่านี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นระบอบการปกครองอันมั่นคงของปูตินเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการรับมือและปรับตัวอีกด้วย เครมลินได้ผ่านช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองมาหลายครั้ง แม้กระทั่งวิกฤตการณ์ที่มีอยู่ตอนนี้ และหลุดพ้นจากช่วงเวลาเหล่านั้นโดยไม่ได้รับบาดเจ็บหนักแต่อย่างใด”
เครดิตภาพ: Sergei GUNEYEV / SPUTNIK / AFP
แต่แน่นอนว่านักวิเคราะห์ของฝั่งตะวันตกคงไม่ได้เขียนบทความของเพื่อเยินยอและถ่ายทอดความประหลาดใจกับความสามารถในการฟื้นตัวของรัสเซีย ผู้เขียนบทความต้นเรื่องเริ่มร่ายถึงภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงที่เป็นไปได้ต่อ “ระบอบการปกครองของปูติน” ด้วยประโยคตามด้านล่างนี้
“ผู้หลักผู้ใหญ่ในเครมลินอาจไม่ได้สัมผัสกับอารมณ์ในหมู่ชนชั้นสูง หรือความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นและความเหนื่อยล้าจากสงครามของพลเมืองรัสเซีย อาจนำไปสู่ความไม่สงบได้ในที่สุด… พิจารณาเจาะจงตอนนี้เรื่องเงินเดือนทหารและสิทธิพิเศษสำหรับทหารผ่านศึก มันอาจเป็นผลดีให้กับชนชั้นล่างของรัสเซีย แลกกับการเป็นฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาลปูติน แต่ในที่สุดเมื่อทหารผ่านศึกที่ต่อสู้ในยูเครนจะต้องกลับคืนสู่สังคมรัสเซียอีกครั้ง หลายคนจะนำมุมมองที่หดหู่เกี่ยวกับประสบการณ์การทำสงครามของพวกเขามาเล่าบอกต่อในสังคม”
ผู้เขียนดูเหมือนจะมองเห็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับรัสเซียใน “ระบบการบริหารกองทัพของรัสเซีย” ซึ่งเมื่อประกอบกับ “มรดกจากปริโกซินและผู้สนับสนุนของเขาคือนายพลซูโรวิคิน” อาจทำให้ “เกิดตกผลึกความไม่พอใจเมื่อเวลาผ่านไปให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัสเซียรุ่นใหม่”
เครดิตภาพ: Asia Times
และหากความขัดแย้งภายในหรือปัญหาการบังคับบัญชาและการควบคุมเกิดอย่างต่อเนื่อง มันจะ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ความเป็นเอกภาพของกองทัพรัสเซีย เหตุการณ์ล่าสุดจากการบุกเข้ามาของกองทัพยูเครนในภูมิภาคเคิร์สก์ก็เริ่มเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็น นักวิเคราะห์เชื่อว่า “ความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นสูงอาจก่อให้เกิดวิกฤติอีกครั้งสำหรับเครมลิน”
1
ท้ายที่สุดความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาภายใน ตามที่วอลเลอร์ได้ระบุไว้จะส่งผลและมีความเกี่ยวข้องกับ “การเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งของปูติน” ซึ่งรัสเซียจะต้องเผชิญไม่ช้าก็เร็ว
เท่าที่อ่านจากบทความต้นเรื่องนักวิเคราะห์อเมริกันซึ่งพยายามค้นหาจุดอ่อนในระบอบการปกครองรัสเซีย กำลังมุ่งความสนใจไปที่องค์ประกอบทางการทหาร เรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างจากปกติในสื่อวิเคราะห์ของโลกตะวันตกที่ว่า เป็นเวลาสองปีครึ่งแล้วที่คาดการณ์การล่มสลายของรัสเซียอันเป็นผลมาจากการสมรู้ร่วมคิดของผู้มีอำนาจหรือการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนรัสเซีย ซึ่งถูกผลักดันจากภาวะเศรษฐกิจหลังรัสเซียโดนคว่ำบาตรและใช้เงินจำนวนมากไปกับสงครามเพื่อประโยชน์ของใครบางคน
บทความต้นเรื่องอ้างอิงได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
15th Aug 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Photo illustration: Sarah Grillo/Axios. Photos: Konstantin Zavrazhin, Mikhail Klimentyev/Sputnik/AFP via Getty Images>
โฆษณา