16 ส.ค. เวลา 02:40 • ประวัติศาสตร์

รักครั้งสุดท้ายของ “ไอน์สไตน์” กับ “สายลับโซเวียต”

จริงหรือไม่? ไอน์สไตน์ช่วยสหภาพโซเวียตสร้างระเบิดปรมาณู
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่เราทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้วในฐานะผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ ในปีนี้ (2024) นับเป็นครบรอบ 124 ปีที่เขาเกิด
หนึ่งในผู้หญิงที่เขาซุ่มคบ (คนสุดท้าย) คือ “มาร์การิตา โคเนนโควา” ซึ่งเป็นภรรยาของประติมากรชาวโซเวียต ซึ่งเธอมักจะใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ไปเที่ยวพักผ่อนกับไอน์สไตน์ หลายปีต่อมามีการเปิดเผยกันว่าโคเนนโควาเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของโซเวียต แต่ประวัติส่วนตัวของเธอยังไม่ได้รับการเปิดเผยจนถึงทุกวันนี้
อาจเป็นไปได้ว่าสหภาพโซเวียตสนใจในความสัมพันธ์ของไอน์สไตน์กับผู้เข้าร่วมในโครงการนิวเคลียร์ของอเมริกา จริงแล้ว “มาร์การิตา โคเนนโควา” ชื่นชอบอัจฉริยภาพของไอน์สไตน์ หรือว่าเธอเพียงทำตามภารกิจตามที่ได้มอบหมาย
  • ชีวิตรักที่ไม่สมหวังของไอน์สไตน์
ไอน์สไตน์ไม่ได้ยึดถือค่านิยมครอบครัวแบบดั้งเดิมและเขาก็แต่งงานหลายรอบ หลังจากแต่งงานกับนักฟิสิกส์ชาวเซอร์เบีย “มิเลวา มาริค” ในปี 1903 เขาก็เริ่มหวนคิดถึงอดีตคนรักในวัยเยาว์ของเขา Marie Winteler ในไม่ช้าเมื่อเขาลืมเธอไปแล้ว ต่อมาในปี 1912 เขาก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับ “เอลซา โลเวนธาล” ลูกพี่ลูกน้องของเขาเอง
เมื่อภรรยาของเขา (มิเลวา มาริค) รู้เรื่องนี้ เธอจึงทิ้งเขาไว้กับลูกๆ และหย่าร้างกับเขาไม่กี่ปีต่อมา ในระหว่างการหย่าร้าง ไอน์สไตน์มีตกลงว่าเขาจะต้องมอบรางวัลโนเบลให้กับอดีตภรรยาของเขาหากเขาได้รับรางวัลนี้ และในปี 1921 เงื่อนไขก็บรรลุเขาได้รับรางวัลโนเบล บางทีอาจเป็นเพราะราคาของการหย่าร้างสูงเกินไป เอลซาลูกพี่ลูกน้องของไอน์สไตน์จึงกลายเป็นภรรยาคนที่สองและคนสุดท้ายของเขา แต่ไม่ใช่คนรักคนสุดท้ายของเขา
ไอน์สไตน์กับภรรยาคนแรก มิเลวา มาริค เครดิตภาพ: Wikipedia
ไอน์สไตน์กับภรรยาคนที่สอง เอลซา โลเวนธาล เครดิตภาพ: Wikipedia
จะเห็นว่าไอน์สไตน์สนใจเรื่องผู้หญิงและความรักไม่น้อยไปกว่าทฤษฎีสัมพันธภาพ และพวกเธอชอบเขาด้วยบุคลิกเรียบง่าย ร่าเริง และมีไหวพริบสูง ตามจดหมายที่ตีพิมพ์ซึ่งครอบคลุมเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังผู้นี้ ไอน์สไตน์มีคนรักอย่างน้อยครึ่งโหล ในยุคที่ค่านิยมของชีวิตคู่สมรสคนทั่วไปคือพวกเขาจะอยู่ร่วมกันไปจนแก่เฒ่า
โลเวนธาล (ภรรยาคนที่สอง) รู้เรื่องนี้ เธอถึงกับยอมรับกับความจริงที่ว่าสามีของเธอพาภรรยาน้อยของเขามาที่บ้านโดยตรงแต่ก็อยู่กับเขาจนตาย ที่น่าสนใจคือไอน์สไตน์ไม่เคยภูมิใจในวิถีชีวิตแบบนี้เลย และอิจฉาเพื่อนของเขา มิเชล เบสโซ เขาเคยเขียนว่า “สิ่งที่ทำให้ผม (ไอน์สไตน์) รู้สึกยินดีคือเขา (เบสโซ – เพื่อนของไอน์สไตน์) สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้หลายปี ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังใช้ชีวิตอย่างกลมเกลียวกับภรรยาของเขาด้วย ซึ่งเป็นงานที่ผมทำพลาดอย่างน่าละอายถึงสองครั้ง”
ไอน์สไตน์เป็นนักฟิสิกส์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค การเปล่งประกายในความคิดของเขาและความสนใจของสื่อทำให้ไอน์สไตน์กลายเป็น “เซเลบคนดังในยุคนั้น” จนผู้คนที่เดินผ่านไปมาหยุดเขาบนถนนและขอให้เขาอธิบายทฤษฎีสัมพันธภาพ ดังนั้นชีวประวัติของเขารวมถึงเรื่องราวความรักของเขา จึงกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีเอกสารต่างๆ ตีพิมพ์เผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการตายของเขา
  • เมื่อคนเหงาสองคนเจอกัน
คนทั่วไปรับรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ไอน์สไตน์” กับ “โคเนนโควา” ในปี 1998 เมื่อจดหมายรักที่เขียนถึงหากันของทั้งคู่ถูกนำไปประมูลในนิวยอร์ก
โคเนนโควาเป็นภรรยาของ “เซอร์เกย์ โคเนนคอฟ” ประติมากรชาวโซเวียต ซึ่งเดินทางมานิวยอร์กกับเธอในปี 1923 ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 ประติมากรคนนี้ได้รับคำสั่งจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันให้ปั้นรูปเหมือนของศาสตราจารย์ที่ทำงานที่นั่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไอน์สไตน์ ขณะที่ไอน์สไตน์โพสท่า โคเนนโควานั่งข้างๆ เขาและฟังเรื่องราวเกี่ยวกับฟิสิกส์ของเขา ค่อยๆ ตระหนักว่าความสนใจของไอน์สไตน์มุ่งไปที่เธอ ไม่ใช่สามีของเธอ
เซอร์เกย์ โคเนนคอฟ (กลาง) ช่างปั้นชาวโซเวียตสามีของ มาร์การิตา โคเนนโควา หญิงที่ไอน์สไตน์ซุ่มแอบคบ เครดิตภาพ: Meibohm Fine Arts
หลังจากโคเนนคอฟปั้นรูปเหมือนของไอน์สไตน์ตามคำสั่งเสร็จแล้ว ไอน์สไตน์ก็เชิญครอบครัวโคเนนคอฟมาที่บ้านของเขาหลายครั้ง จากนั้นก็เริ่มเชิญภรรยาของเขามาคนเดียว ต่อมาสามีนักปั้นของเธอก็หมกมุ่นอยู่กับความคลั่งไคล้ในศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ จนคลั่งไคล้พระคัมภีร์และพีระมิดของอียิปต์ โคเนนคอฟผู้มีเสน่ห์ ร่าเริง และเข้ากับคนง่ายไม่ชอบสิ่งนี้ แต่เธอเข้ากับไอน์สไตน์ที่มีลักษณะนิสัยคล้ายกันได้อย่างง่ายดาย
ต่อมาภายหลังเมื่อถาม “มูเรียล การ์ดิเนอร์” จิตแพทย์เพื่อนของไอน์สไตน์ที่นิวยอร์กว่า อัลเบิร์ตและมาร์การิตามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันจริงหรือไม่ การ์ดิเนอร์เธอตอบว่า “ฉันคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น! พวกเขาเป็นคนเหงาๆ สองคน”
หลังจากซุ่มคบหากันนานถึงสามปี ไอน์สไตน์ก็โน้มน้าวเพื่อนแพทย์ให้เขียนใบรับรองปลอมเกี่ยวกับอาการป่วยร้ายแรงให้กับโคเนนโควา เขาส่งใบรับรองเหล่านี้ไปให้โคเนนคอฟสามีของเธอทางจดหมาย พร้อมกับคำแนะนำให้เดินทางมาพักรักษาที่รีสอร์ต Saranac Lake ซึ่งไอน์สไตน์ชอบมาเที่ยวพักผ่อนที่นี่ด้วย สามีของเธอไม่ได้เอะใจอะไรเลย และการพบกันของทั้งคู่ก็ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง
ในปี 1943 ไอน์สไตน์ได้เขียนบทกลอนถึงโคเนนโควา ประโยคบางส่วนจากบทกลอนที่เขาเขียน “คุณไม่สามารถหลุดพ้นออกจากครอบครัวได้ นี่คือความโชคร้ายร่วมกันของเรา อนาคตของเรานั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องเผชิญความจริง มองเห็นได้จากท้องฟ้า หัวเต้นเหมือนรังผึ้ง หัวใจและมืออ่อนล้า”
จดหมายรักอีกฉบับในปี 1944 ไอน์สไตน์ได้วาดภาพร่างของ “Half Nest” ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ แสนสบายที่มีโต๊ะทำงานคล้ายกับห้องทำงานที่บ้านของไอน์สไตน์ ภาพวาดดังกล่าวมีคำบรรยายประกอบว่า อัลเบิร์ตต้องการเก็บภาพห้องที่เขาเชื่อมโยงกับโคเนนโควาและวันหยุดสุดสัปดาห์ที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน และในจดหมายฉบับที่สาม เขาเสียใจอย่างมากกับการที่ต้องแยกทางกันเป็นเวลานาน
จดหมายรักระหว่าง ไอน์สไตน์ กับ โคเนนโควา เครดิตภาพ: Getty Images
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปจนถึงและสิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายน 1945 เมื่อโคเนนคอฟต้องเดินทางกลับสู่สหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมาเป็นที่รับรู้กันว่าอยู่ภายใต้คำสั่งของหน่วยข่าวกรองโซเวียต
  • สตรีผู้มีภารกิจรับใช้ชาติ
ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนเมื่อปี 1944 ไอน์สไตน์เล่าว่าเขาเชิญเพื่อนนักวิทยาศาสตร์มีชื่อมาที่บ้านของเขาเพื่อร่วมอภิปรายเชิงปรัชญา แขกที่มาร่วมงาน ได้แก่ นักปรัชญา “เบอร์ทรานด์ รัสเซลล์” นักคณิตศาสตร์ “เคิร์ต เกอเดล” และนักฟิสิกส์สองคน ได้แก่ “วูล์ฟกัง เปาลี” และ “โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่ทราบกันดีว่า “ออปเพนไฮเมอร์” เป็นหัวหน้าทีมที่พัฒนาระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก ในช่วงสงคราม ไอน์สไตน์เองน่าจะไม่ทราบเรื่องนี้ แต่หน่วยข่าวกรองของโซเวียต ซึ่งโคเนนโควาทำงานเป็นสายลับฝั่งโซเวียตอยู่ได้สงสัยเรื่องนี้
1
ไอน์สไตน์ กับ ออปเพนไฮเมอร์ เครดิตภาพ: Keystone-France/Gamma-Keystone via Getty Images
ไม่มีเหตุผลใดที่จะเชื่อว่าความสัมพันธ์ของโคเนนโควากับไอน์สไตน์เป็นเรื่องแต่งขึ้น แต่ไม่สามารถพูดได้แน่ชัด เนื่องจากเอกสารส่วนตัวของครอบครัวโคเนนคอฟยังคงเป็นความลับ เป็นที่ทราบกันเพียงว่าอดีตนายพลหน่วยข่าวกรองโซเวียต พาเวล ซูโดพลาตอฟ ซึ่งต่อมากลายเป็นนักประวัติศาสตร์ประจำหน่วยข่าวกรองพิเศษ เรียกมาร์การิตาว่าเป็นหนึ่งในสายลับที่ดีที่สุดที่มีหน้าที่ค้นหาและติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
อ้างอิง: หนังสือชื่อ “Intelligence and the Kremlin: Notes of an Unwanted Witness”
ไม่รู้ว่างานของโคเนนโควาในฐานะสายลับโซเวียตสำเร็จทั้งหมดหรือไม่ “เคลาส์ ฟุคส์” เป็นสายลับโซเวียตในโครงการนิวเคลียร์อังกฤษ-อเมริกา แต่ “ไอน์สไตน์” ไม่ได้ทำงานในโครงการนี้ และ “ออปเพนไฮเมอร์” แทบไม่ได้บอกโคเนนโควาเกี่ยวกับเรื่องระเบิดปรมาณูเลย แม้ว่าทั้งคู่จะได้พบกันเพียงลำพังก็ตาม
แต่โคเนนโควาสามารถโน้มน้าวให้ไอน์สไตน์มาพบกับรองกงสุลโซเวียต Pavel Mikhailov ในเดือนพฤศจิกายน 1945 ได้ เขาไม่ได้พยายามโน้มน้าวผู้สร้างทฤษฎีสัมพันธภาพขายข้อมูลเกี่ยวกับโครงการระเบิดปรมาณูให้ แต่เพียงแนะนำให้โน้มน้าวเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของเขาให้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองโลก และอาจเกริ่นถึงการให้ไปเยือนสหภาพโซเวียต
แม้ว่าไอน์สไตน์จะเป็นคนที่แนวคิดสังคมนิยม แต่เขาก็ไม่ชอบระบอบเผด็จการของสตาลิน และยืนหยัดอุดมการณ์นี้อย่างแน่วแน่ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้จึงไม่ได้มีความพยายามสร้างสัมพันธ์อันดีกับสหภาพโซเวียต และไม่ได้พบกับรองกงสุลคนนี้ซ้ำอีกหลังจากนั้น
เครดิตภาพ: Olga Larina / Pinterest
จดหมายโต้ตอบระหว่างไอน์สไตน์กับโคเนนโควายังมีส่งหากันต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังจากที่เธอกลับไปมอสโก ในจดหมายฉบับแรกที่เขาเขียนส่งไปที่โซเวียต เขาบอกลาเธอและอวยพรให้เธอโชคดี “งานนี้เป็นงานที่ยากมาก ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับคุณ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี <...> ผมคิดถึงคุณมากและหวังจากใจจริงว่าคุณจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยความสุขและความกล้าหาญ และขอให้คุณทั้งสองผ่านการเดินทางอันยาวนานนี้ไปได้ด้วยดี <...> เขียนหาผมเร็วๆ นี้ หากคุณมีเวลา รักนะ A. Einstein” ข้อความในจดหมาย
สรุปแล้วเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้มากว่าไอน์สไตน์ไม่ได้ช่วยเหลือทางโซเวียตเกี่ยวกับโครงการระเบิดปรมาณู และดีไม่ดีเขาอาจรู้ด้วยซ้ำว่า “โคเนนโควา” คนรักที่ซุ่มแอบคบอยู่เป็นสายลับของทางการโซเวียต
เรียบเรียงโดย Right Style
16th Aug 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Alamy Stock Photo>
โฆษณา