14 ก.ย. เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ใครไม่มีรองเท้า?

มนุษย์ส่วนมากมีสัญชาตญาณลบสองอย่าง หนึ่งคือเข้าข้างตัวเอง สองคือมองโลกร้ายกว่าที่เป็นจริง
2
ถ้ามีทั้งสองอย่าง ก็มักคิดว่าโลกของตนมืดมนหม่นหมองกว่าคนอื่น ชีวิตของตนแย่กว่า
1
ประโยค “ชีวิตฉันน่าเบื่อมาก” เป็นคำฮิตของคนทั้งโลก ทุกคนมักมองว่าชีวิตตนแย่มาก เจ้านายแย่ เพื่อนบ้านแย่ และมันเป็นคำบ่นมาตรฐาน
1
คนจำนวนมากจึงพยายามหนีจากที่เดิม เพราะรู้สึกว่าหญ้าในสนามเพื่อนบ้านเขียวกว่าเสมอ
6
บ่อยครั้งไม่ว่าจะหนีไปที่ใด ก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์เดิม เปลี่ยนที่ทำงานกี่ครั้ง ก็เจอปัญหาเดิม บางทีต้องคิดใหม่ว่า ปัญหาอยู่ที่คนอื่นหรือตัวเราเอง ทั้งนี้เพราะพวกเขาเปลี่ยนแค่ฉาก แต่เนื้อเรื่องเหมือนเดิม ดังนั้นจะคาดหวังผลที่แตกต่างย่อมไม่ได้
3
บางคนไม่รู้ตัวว่าตนแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ
หนีจากสถานการณ์ แต่ไม่ได้หนีจากนิสัยเดิมก็ได้ผลเหมือนเดิม
แล้วเราก็เลือกบ่นว่าเรามีน้อยกว่า เราโชคร้ายกว่า บางคนบ่นได้ทุกเรื่อง
ทางหนึ่งที่จะเลิกบ่นคือให้มองอีกมุมหนึ่ง
1
ยกตัวอย่าง เช่น เราบ่นว่าอาหารไม่อร่อย แต่หากเราเจอขอทานที่ไม่มีกิน อดอาหารมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว เราอาจเลิกบ่น เพราะคนอื่นประสบเรื่องเลวร้ายกว่าอาหารไม่อร่อยร้อยเท่าพันเท่า
บางคนบ่นว่าบ้านเท่ารูหนู ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีตู้เย็น แต่หากพบคนจรจัดที่นอนริมถนนมาหนึ่งปี เพราะไม่มีบ้าน อาจเลิกบ่น
เราอาจไม่ชอบงานของเรา บ่นว่าเจ้านายใจร้าย งานโหด แต่หากเราเจอใครคนหนึ่งที่พยายามหางานมาเลี้ยงครอบครัวมานานเกือบปี ก็ยังไม่ได้งาน เราอาจมองชีวิตของเราใหม่ว่า มันไม่เลวร้ายขนาดนั้น
2
นี่ทำให้คำคมประโยคต่อไปนี้กินใจ
“I cried because I had no shoes until I met a man who had no feet.” (ฉันร้องไห้เพราะฉันไม่มีรองเท้า จนเมื่อฉันพบชายคนหนึ่งผู้ไร้เท้า)
26
ประโยคนี้จับใจคนทั้งโลก เป็นการมองชีวิตที่สวยงาม
คำคมดีๆ สักประโยคมีสรรพคุณทำให้จิตปลอดโปร่ง เกิดแรงบันดาลใจ มีฤทธิ์ช่วยสู้ชีวิต
1
มันเป็นวิธีคิดแบบมองลบให้เป็นบวก สอนให้เราเป็นคนที่รู้จักพอใจสิ่งที่ตนมีอยู่
1
ใครพูดประโยคนี้?
1
หากถามคนสักร้อยคนว่า ใครเป็นเจ้าของคำพูดประโยคนี้ เชื่อว่าต้องได้รับคำตอบต่างกันนับสิบ และทุกคนเชื่อมั่นว่าคำตอบของตนถูกต้อง เพราะทุกคำตอบเผยแพร่ตามสื่อและหนังสือต่างๆ ไปทั่วโลกมาแล้วหลายสิบปี คำอาจแตกต่างไปบ้าง แต่สาระเดียวกัน
1
ใครเป็นเจ้าของคำพูดนี้กันแน่?
1
จากบันทึกในหนังสือและสื่อในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา คนพูดประโยคนี้มีตั้งแต่นักเขียน เช่น ลอยส์ สมิธ เมอร์เรย์, ซัททัน วูดฟิลด์, เฮเลน เคลเลอร์ นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เช่น มหาตมะ คานธี ไปจนถึงนักฟุตบอล ซีเนดีน ซีดาน
ข้อความนี้เคยปรากฏในหนังสือ Effective Living ของนักเขียน ลอยส์ สมิธ เมอร์เรย์
และในหนังสือ A For Artemis ของ ซัททัน วูดฟิลด์
1
หนังสือของ เฮเลน เคลเลอร์ ก็ใช้คำพูดประโยคนี้
1
เฮเลน เคลเลอร์ เป็นผู้พิการทั้งตาบอดและหูหนวก ต่อมาเป็นนักเขียนและนักรณรงค์เพื่อคนพิการ
สำหรับ เฮเลน เคลเลอร์ การไม่มีรองเท้าอาจเป็นสัญลักษณ์ของการมองไม่เห็น
1
ทว่าถ้าพูดถึงรองเท้าที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็น่าจะเป็น ซีเนดีน ซีดาน
ใช่ มีการอ้างกันว่าคนพูดคือ ซีเนดีน ซีดาน
ซีเนดีน ซีดาน เป็นอดีตนักฟุตบอลอาชีพและผู้จัดการทีมชาวฝรั่งเศส
ซีดานเล่นเป็นทุกอย่าง ส่งบอลแม่นยำ เชี่ยวชาญเกมรุก เป็นศูนย์กลางของทีมที่ลงตัว จนชาวโลกยกให้เป็นนักฟุตบอลที่ดีที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล แต่กว่าจะเกิดเป็นนักฟุตบอลเต็มตัวก็ผ่านอุปสรรคมามาก
ซีดานเกิดที่ ลา คาสเทลเลน เมืองมาร์แซย์ ตอนใต้ของฝรั่งเศส ครอบครัวเป็นชาวอัลเบเนีย พ่อเป็นคนงานในโกดัง แม่เป็นแม่บ้าน ฐานะไม่ดีนัก
ซีดานเริ่มเป็นนักฟุตบอลอาชีพเมื่ออายุ 17 ปีและเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการลูกหนัง เป็นหัวใจของทีมชาติฝรั่งเศสในฟุตบอลโลกปี 1998 เขาช่วยให้ฝรั่งเศสได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรก และเป็นแชมป์ยูโร 2000 เมื่อสองปีต่อมา
1
ในเมื่อการเตะฟุตบอลต้องมีรองเท้า จึงไม่แปลกหากเขาร้องไห้ที่ไม่มีรองเท้าใส่เตะบอลที่เขารัก
ดังนั้นหากเขาเป็นคนพูดประโยค “I cried because I had no shoes until I met a man who had no feet.” ก็ย่อมมีเหตุผลอย่างยิ่ง
1
น่าเสียดายที่หลักฐานชี้ว่าซีดานไม่ใช่คนพูดประโยคนี้
สิบแปดปีก่อนซีดานลืมตาดูโลก (1972) ก็มีประโยคนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ New Catholic World, Volume 179
2
แต่ New Catholic World ก็ยังตีพิมพ์คำนี้หลังคำอ้างว่าท่านมหาตมะ คานธี เอ่ยคำนี้ราวยี่สิบปีก่อนหน้านั้น
มหาตมะ คานธี ปลดแอกจากอังกฤษด้วยสันติวิธีแห่งอหิงสา นำขบวนคนเดินเท้าไปยังหมู่บ้านริมทะเลแห่งหนึ่งเพื่อทำเกลือ
ที่มาของเหตุการณ์นี้คืออังกฤษยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคมมาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 อังกฤษออกกฎหมายผูกขาดการผลิตและจำหน่ายเกลือทั้งประเทศ ภาษีเกลือกลายเป็นรายได้สบายๆ ของอังกฤษ คิดเป็น 8.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด
ดังนั้นอังกฤษจึงออกกฎหมายลงโทษแรงสำหรับการฝ่าฝืนผลิตและค้าขายเกลือ ถึงขั้นจำคุก ต่อให้บ้านอยู่ติดทะเลก็ทำเกลือกินเองไม่ได้ กฎหมายฉบับนี้ทำร้ายชาวบ้านที่ยากจนอย่างสาหัส
ในวันที่ 12 มีนาคม 1930 มหาตมะ คานธี และผู้ร่วมทาง 78 คน ออกเดินเท้าจากเมืองซาบาร์มาตี ไปยังหมู่บ้านริมทะเลชื่อ ตันติ ห่างไป 390 กิโลเมตร เมื่อขบวนผ่านถึงเมืองใด ก็มีชาวเมืองหลายพันคนเข้ามาร่วมเดินด้วย เป็นขบวนยาวเหยียดหลายกิโลเมตร
2
การเดินเท้าจบในวันที่ 6 เมษายน ผ่านสี่เขตและหมู่บ้านสี่สิบแปดแห่ง กินเวลานาน 23 วันก็ถึงริมฝั่งทะเล แล้วเริ่มทำเรื่องผิดกฎหมาย คือผลิตเกลือจากน้ำทะเล
การเดินเท้าครั้งประวัติศาสตร์นี้เรียกว่า สัตยาเคราะห์แห่งเกลือ (The Salt Satyagraha)
1
เดินไกลขนาดนี้ คานธีก็น่าจะสมควรพูดประโยคนี้ เพราะเดินทางไกลด้วยเท้าเกือบสี่ร้อยกิโลเมตร ถ้าไม่มีรองเท้า ก็น่าร้องไห้เหมือนกัน!
แต่คานธีก็ไม่ใช่เจ้าของประโยคนี้แน่
แม้มีบันทึกว่าบุคคลที่กล่าวถึงทั้งหมดกล่าวประโยค “I cried because I had no shoes until I met a man who had no feet.” จริง แต่หลักฐานชี้ว่าคนเหล่านี้ไม่น่าใช่เจ้าของคำพูดประโยคนี้
1
หลักฐานคดีนี้ย้อนไปไกลกว่านั้นมาก
คือราวเจ็ดร้อยปี
ในงานเขียนเรื่อง Gulistan (The Rose Garden) ในปี 1258 (ต้นสมัยอาณาจักรสุโขทัย)
10
Gulistan เป็นวรรณกรรมเปอร์เซีย รวมเรื่องสั้นและบทกวี เขียนในปี 1258 จัดเป็นงานสำคัญชิ้นหนึ่งของเปอร์เซีย
หนังสือเล่มนี้มีข้อความท่อนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามิเคยอาดูรเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปรของเวลาหรือบ่นการพลิกผันของชะตา ยกเว้นโอกาสหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าเท้าเปล่า และมิอาจหารองเท้าได้สักคู่ ทว่าเมื่อข้าพเจ้าก้าวเข้าไปในสุเหร่าแห่งกูฟาห์ด้วยหัวใจร้าวราน และสังเกตเห็นชายคนหนึ่งไร้เท้าทั้งสอง ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ประโลมใจตนให้รอคอยความปรารถนารองเท้า และร่ายอาขยานว่า ‘ชิ้นไก่ย่างในสายตาของคนอิ่มท้องมีค่าน้อยกว่าต้นหญ้าบนโต๊ะ สำหรับเขาผู้ไร้เงินทองหรืออำนาจ หัวผักกาดไหม้ก็คือชิ้นไก่ย่าง’ ”
4
หลักฐานที่ดีที่สุด ณ วันนี้ชี้ว่า เจ้าของคำกล่าวนี้คือกวีชาวเปอร์เซีย ซาดิ ชิราซี กวีเอกในยุคกลาง (1184-1291)
3
หนังสือเล่มนี้ส่งอิทธิพลกว้างขวางทั้งตะวันออกและตะวันตก ถือเป็นหนังสือสร้างปัญญาเล่มหนึ่ง
งานเขียนของซาดิลุ่มลึก เข้าถึงจิตใจมนุษย์ สำรวจภาวะความเป็นมนุษย์ด้วยโทนเสียดสีบางๆ ลึกซึ้งจนมีคำกล่าวในวงการหนังสือเปอร์เซียว่า “แต่ละคำของซาดิมี 72 ความหมาย”
3
ดังนั้นข้อเขียนที่ฟังดูเหมือนง่ายๆ อย่าง “I cried because I had no shoes until I met a man who had no feet.” จึงลุ่มลึก เห็นชัดว่าผู้ต้นคิดคำดังกล่าวเป็นผู้ที่มองโลกด้วยสายตากวี ละเอียดอ่อน ละเมียดละไม
มันเป็นคำคมที่ทำให้เราเลิกบ่น เพราะเราอยู่ในโลกที่คนไม่มีรองเท้าบ่นมากกว่าคนผู้ไร้เท้า
1
และในเมื่อมันเขียนมาเจ็ดร้อยปีแล้ว ก็แสดงว่าคนเราบ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ
6
โฆษณา