19 ส.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

อยากเป็นนักเขียน ต้องอ่านมากกว่าคนทั่วไป

คนจำนวนมากคิดว่า นักเขียนเป็นพวกจินตนาการ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องอ่านมาก ใช้จินตนาการเอาก็ได้
เราไม่จำเป็นต้องรู้วิชาเลขคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา และอื่น ๆ จริงไหม?
ในฐานะที่ผมทำงานเขียนนิยายมาตั้งแต่วัยรุ่น จนวันนี้ก็เกินสี่สิบปีแล้ว ผมตอบได้คำเดียวว่าไม่จริง
ใครก็ตามที่คิดจะเป็นนักเขียน ไม่เพียงต้องเรียนทุกวิชา ยังต้องเรียนมากกว่าคนอื่นด้วย
1
ทำไม?
ก็เพราะว่านักเขียนคนหนึ่งจะเขียนนิยายในเรื่องเดิม ๆ ไปได้สักกี่น้ำก่อนที่คนอ่านจะเบื่อและก่อนที่จะความคิดจะตัน หากไม่เติมข้อมูลใหม่ ๆ ไม่มีมุมมองที่กว้างกว่าคนอ่าน เขาจะอ่านงานของเราทำไม
1
เราอาจบอกว่าเราแค่เขียนนิยาย เขียนแฟนตาซี จะรู้เรื่องศาสตร์ต่าง ๆ ไปทำไม
ความจริงคือ ต่อให้เขียนเรื่องแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในจักรวาลอื่น ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องราวของมนุษย์อยู่ดี ข้อมูลจึงตันได้เสมอ หากสมองมีความรู้แค่นิดเดียว เราจะใช้ข้อมูลนิดเดียวนี้ไปเขียนนิยายได้สักกี่เรื่องก่อนที่คนอ่านจะเลิกอ่าน
ทุกศาสตร์ทุกวิชาที่เราเรียนตอนอยู่ในโรงเรียน และเรียนเพิ่มเติมหลังออกจากห้องเรียนจะเป็นรากฐาน รอต่อยอดเป็นไอเดียและความคิดใหม่ซึ่งเราสามารถขุดไปใช้เขียนนิยายใหม่ ๆ ที่สดกว่าเดิม แตกต่างจากเดิม และคนอ่านคาดไม่ถึง
นี่ต่างหากที่เป็นจุดขายของนักเขียน ไม่ใช่งานเบสต์เซลเลอร์สักเล่มสองเล่ม หรือยอดกดไลก์
2
นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกเสมอว่า นักเขียนต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ศาสนา ปรัชญา การเมือง ดาราศาสตร์ ไปจนถึงจักรวาลวิทยา
2
นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกเสมอว่า นักเขียนต้องดูหนัง เสพศิลปะ อ่านกวีนิพนธ์ ฟังเพลง ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่างานศิลปะทั้งหลายนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ มันดีไม่ดีเพราะอะไร
แม้สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันเองอาจเป็นเพียงข้อมูลดิบ ใช้ในงานเขียนไม่ได้โดยตรงเสมอไป แต่เมื่อมารวมกันในหัวเรา มันจะทำให้นักเขียนมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น และที่สำคัญ มันจะสร้างคลังข้อมูลให้นักเขียนใช้อย่างไม่สิ้นสุด
หากมองไม่เห็นภาพ ก็จะยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่านักเขียนวางพล็อตให้พระเอกกับนางเอกไปเดินเล่นแถวประเทศใกล้ขั้วโลกเหนือ แลเห็นแถบแสงสว่างบนฟ้าตอนกลางคืน นักเขียนก็อาจบรรยายว่า “เขาพาเธอไปเดินกลางคืน ใต้แสงสว่างบนฟ้าน่าโรแมนติก” ก็จบ
1
ถ้าไม่เรียนวิชาภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็เล่าเรื่องได้แค่นี้ แต่ถ้าเรียนมา ก็จะรู้ว่าแสงเหนือเกิดจากสนามแม่เหล็กโลกกับลมสุริยะในพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ หากเขาเกิดพลัดหลงกับเธอ ก็อาจไม่สามารถติดต่อกันด้วยอุปกรณ์สื่อสารเพราะแสงเหนือรบกวน ด้วยเหตุนี้คนร้ายจึงอาจจับเธอไปเรียกค่าไถ่จากจุดนี้ โดยที่พระเอกตามหาเธอด้วยเครื่องมือสื่อสารไม่ได้ นี่เพิ่มทางเลือกให้พล็อตเรื่องขึ้นมาทันที และอาจน่าสนใจกว่าเดิม
2
ถ้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็สามารถขยายความว่า ณ จุดที่เขากับเธอยืนอยู่ เมื่อ 2,400 ปีก่อนนักสำรวจกรีกชื่อ Pytheas ก็เคยมองขึ้นฟ้าเช่นกัน ก็อาจแต่งเรื่องให้ทั้งสองพบชิ้นส่วนที่นักสำรวจกรีกทิ้งไว้ แล้วแตกเรื่องออกไปอย่างสนุกสนานและแปลก
นักเขียนยังอาจแตกหน่อมันเป็นเรื่องไซไฟหรือแฟนตาซีว่า มันเป็นจุดที่ชาวต่างดาวมาเชื่อมกับโลกเรา ฯลฯ
แค่รู้เพิ่ม พล็อตเรื่องก็เปลี่ยนเป็นน่าสนใจขึ้น ด้วยเรื่องและเกร็ดที่ผู้อ่านไม่รู้มาก่อน
นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่า “ไม่รู้จะรู้ไปทำไม” อาจมีประโยชน์มหาศาลต่องานเขียน
นี่แปลว่าใครก็ตามที่คิดจะเป็นนักเขียนที่ดี ต้องเติมความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง
1
ใครก็ตามที่คิดว่า “รู้แค่นี้พอแล้ว” หรือ “เรียนไปทำไม” เท่ากับกักขังตัวเองในกล่องปิดทึบทุกด้าน
ใช้ข้อมูลที่มีอยู่หมดเมื่อไร ชีวิตนักเขียนก็จบเมื่อนั้น
การเป็นนักเขียนนั้นง่าย แต่เป็นนักเขียนที่ดี นักเขียนที่คนจดจำได้ ต้องการมากกว่าแค่เขียน ต้องเป็นนักคิด นักค้นคว้าด้วย
หากเราไม่เรียนอะไรเลย เพราะคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ ต่อให้เรายังสามารถเค้นงานออกมาได้ มันก็เป็นได้เพียงงานรีไซเคิล ‘เซม-เซม’ จาก ‘แบตเตอรีสมอง’ ที่เก่าและเสื่อมลงไปทุกวัน ไม่นานเกินรอ นักเขียนก็ตาย
การเขียนหนังสือเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องรักษาสมดุลของร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความเข้าใจ โลกทัศน์ จะหมกตัวเขียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดตัวรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา
ดังนั้นอยากเป็นนักเขียน ไม่เพียงต้องเรียนหนังสือ ยังต้องเรียนมากกว่าคนอื่นด้วย
บางท่อนจาก กอดหนาม / วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา