17 ส.ค. เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อย่าเพิ่งซื้อหุ้นถ้าไม่รู้ว่าซื้อเพราะอะไร เลือกหุ้นพื้นฐานดีฝ่าวิกฤติด้วย ‘ทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5’

📈 เวลาเข้าไปอ่านกระทู้ตามกลุ่มหรือเว็บบอร์ดเรื่องลงทุน คำถามที่มักจะเห็นอยู่บ่อยๆ คือ “หุ้นตัวนี้ดีไหมนะครับ?” “ไม่มีประสบการณ์เลย มือใหม่มาก อยากเริ่มลงทุน ควรซื้อตัวไหนดีคะ?” “สนใจอยากลงทุน ขอไอเดียหุ้นตัวแรกหน่อยครับ?” “ซื้อ xxx ไป แต่ตอนนี้ราคาลงมา 5% ผมควรขายดีไหมครับ?” ฯลฯ
ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับที่จะถามเมื่อเราเป็นมือใหม่และตามกลุ่มออนไลน์ก็มีนักลงทุนเก่งๆ มากมาย เพียงแต่ข้อควรระวังคือการลงทุนทุกอย่าง (รวมถึงตลาดหุ้นด้วย) เงินที่ลงไปคือเงินของเรา ได้หรือเสียก็เงินเรา คนที่มาแสดงความเห็นหรือแนะนำไม่ได้
📌 คุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุนเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของบ้านเราเขียนเอาไว้ในหนังสือ “เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืนว่า
1
“ระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบันทำได้ดีอยู่สามอย่างคือ สร้างความมั่งคั่ง, ความสามารถที่จะโชว์ความมั่งคั่งนั้น และความอิจฉาความมั่งคั่งของผู้อื่นอย่างรุนแรง
เราควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเลือกหุ้นพื้นฐานดีเป็น โดยหากเป็นนักลงทุนระยะยาวก็หาโอกาสสะสมเพิ่มเมื่อราคาหุ้นถูก ส่วนนักเก็งกำไรหากเลือกที่จะเก็งกำไรกับหุ้นพื้นฐานดีได้จะยิ่งดีมาก ไม่ต้องไปสนหุ้นผีบอกมากนัก เพราะผีชอบบอกให้ซื้อ แต่ไม่เคยบอกให้ขายเลย จำไว้ว่า การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องเรียบง่าย แต่ไม่ง่าย”
เช่นเดียวกับที่บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า "ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย แต่มูลค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ" การลงทุนในความรู้อาจต้องใช้เวลาและความพยายาม แต่มูลค่าที่คุณจะได้รับนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่งในระยะยาว หากเราสนใจเรื่องการลงทุน ก็เริ่มจากลงทุนในความรู้ก่อนจะได้เปรียบและช่วยในการตัดสินใจของเราได้ดีขึ้นครับ
🎯[ คัดเลือกหุ้นด้วย ‘ทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5’ หรือ ‘Five Forces Model’ ]
เราจะรู้ได้ยังไงว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราสนใจนั้นในระยะยาวจะเป็นยังไง? ยังแข็งแกร่งอยู่รึเปล่า? หรือมีความเสี่ยงอะไรที่เราต้องคอยระวังไหม?
การลงทุนถ้าเริ่มได้ดีก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่าอยู่แล้ว คำแนะนำหรือข่าวสารรอบตัวที่เราได้ยินได้อ่านควรถูกนำมาศึกษาต่อ อย่าเพิ่งไปเชื่อ 100% ตามที่คนอื่นๆ บอก เพราะหากเราไม่รู้ว่าซื้อหุ้นเพราะอะไร เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะขายเมื่อไหร่ หากพื้นฐานเปลี่ยนจะทำยังไง
✅ คุณกวีแนะนำขั้นตอนการลงทุนหุ้นแบบยั่งยืนอยู่ 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ประกอบด้วย
1) เลือกหุ้นพื้นฐานดี
2) รอซื้อหุ้นเมื่อราคาถูก
3) อดทนลงทุนระยะยาว
4) กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป
5) ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
บทความนี้จะมาพูดถึงข้อแรกกันก่อน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญมากๆ
เครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่จะช่วยให้เราเข้าใจกิจการที่สนใจอยากจะลงทุน วิเคราะห์ทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทและอุตสาหกรรมมาให้ลองใช้กัน
เครื่องมือนี้มีชื่อว่า “Five Forces Model” หรือ “ทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5” ที่คิดค้นโดย ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael E. Porter) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่เราสนใจได้
✅ โดยแรงกดดันทั้ง 5 ประกอบไปด้วย
1) การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน
2) อำนาจต่อรองของลูกค้า
3) อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์
4) ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่
5) ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน
➡️ 1. การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (competition)
คำถามที่เราต้องหาคำตอบในข้อนี้ก็เพื่อจะได้วิเคราะห์ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไรบ้าง
มีการแข่งขันรุนแรงแค่ไหน แล้วบริษัทที่เราจะลงทุนอยู่ในตำแหน่งใดหรือมีส่วนแบ่งตลาดใหญ่แค่ไหน
ถ้ามีผู้เล่นแข่งกันอย่างดุเดือด การลงไปเล่นด้วยมันอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย หากไม่มีข้อแตกต่างที่ชัดเจน กำไรก็อาจจะไม่ได้เยอะ
ลองถามคำถามเหล่านี้ดูก็ได้ครับ
- เป็นผู้นำตลาดไหม?
- สัดส่วนการครองตลาดมากแค่ไหน?
- จำนวนคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน?
- ลูกค้ามี Brand Loyalty หรือยึดติดกับแบรนด์รึเปล่า?
- อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง?
ลองสมมุติก็ได้ครับว่าเป็นธุรกิจผูกขาดอย่างสนามบิน แม้ลูกค้าอยากเปลี่ยนก็ใช่ว่าจะเลือกได้ แต่ถ้าเป็นสายการบินแบบ Low Cost ลูกค้าไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์มาก ตราบใดที่ได้ราคาดี ปลอดภัย และไม่มีชื่อเสียงเสียๆ หายๆ เลือกแบรนด์ไหนก็ได้
หรือถ้าธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องมีการแข่งขันกันเยอะๆ แข่งกันลดราคาๆ เพื่อความอยู่รอด อันนี้ก็เสี่ยงมากเช่นกัน
➡️ 2. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ (Bargaining Power of Suppliers)
ลองสังเกตดูว่าบริษัทที่เราสนใจสามารถต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้มากขนาดไหน ใครมีอำนาจมากกว่ากัน หากบริษัทมีอำนาจมากกว่า อันนี้น่าสนใจ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย 7-11 มีอำนาจต่อรองเยอะมาก ระยะเวลาเครดิตก็ยาว ใครก็อยากเอาของไปวางขายใน 7-11 จึงมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ
แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีอำนาจต่อรองมากกว่า ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตและบริการสูงขึ้นไปด้วย เพราะสามารถเลือกขึ้นราคาได้
หรืออย่าง Grab ที่มีอำนาจต่อรองค่าคอมมิชชันกับร้านอาหารต่างๆ ที่อยากเข้ามาร่วมใช้แพลตฟอร์ม พวกเขาก็มีอำนาจเหนือกว่าซัพพลายเออร์ที่เป็นร้านอาหารอย่างชัดเจน
อีกตัวอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นโรงพยาบาลที่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทยาต่างๆ เพื่อจะได้ดีลที่ดีกว่าร้านขายยาทั่วไป
ลองถามคำถามเหล่านี้ดู
- ต้นทุนในการเปลี่ยนซัพพลายเออร์สูงรึเปล่า? (หากเปลี่ยนซัพพลายเออร์ได้ง่าย มีหลายๆ เจ้าก็ถือเป็นเรื่องดี)
- สินค้าที่ซัพพลายเออร์ส่งให้บริษัทไม่มีสินค้าอื่นทดแทน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือต้องเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับรึเปล่า? (แบบนี้ซัพพลายเออร์ก็จะมีอำนาจเหนือกว่า)
บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมักจะเป็นผู้ได้เปรียบ เพราะเวลาสั่งของหรือวัตถุดิบจะสั่งเป็นจำนวนมากและมักจะได้รับส่วนลด
➡️ 3. อำนาจต่อรองของลูกค้า (Bargaining Power of Customers)
แรงต่อมาคือเรื่องอำนาจต่อรองกับลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย เพราะหากเจอธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ลูกค้ากลับมีอำนาจต่อรองสูงมาก สามารถหาทางเลือกได้มากมายในตัวสินค้าและบริการ ธุรกิจนี้ก็อาจจะถูกแทนที่ได้ไม่ยากนัก
สมมุติว่าธุรกิจขึ้นราคาแล้วลูกค้าหายหมด แสดงว่าลูกค้ามีทางเลือกมากกว่าและมีอำนาจต่อรองเยอะกว่า
หากธุรกิจสามารถส่งผ่านต้นทุนไปให้ลูกค้าโดยที่ไม่กระทบกับธุรกิจ นั่นแสดงว่ามีอำนาจต่อรองเยอะมากๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้ที่ Facebook จะคิดเงินค่าบูสต์โพสต์เพิ่ม 30% หากลูกค้าจะบูสต์ผ่าน iOS เพราะทาง Apple บังคับมา พวกเขาก็เลือกที่จะส่งต่อต้นทุนนั้นให้ลูกค้าแทน โดยไม่ยอมหักออกจากกำไรของตัวเอง
ซึ่งลูกค้าก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากบ่นๆ กันไป (หรือไปบูสต์โพสต์ผ่านเบราว์เซอร์แทน)
ถ้าให้ยกตัวอย่างบริษัทที่มีอำนาจต่อรองลูกค้าน้อยก็อย่างบริษัทขนส่งที่มีเยอะมากๆ หลายเจ้า แค่ขึ้นราคาค่าส่งนิดเดียว ลูกค้าพร้อมย้ายทันที ตราบใดที่ราคาถูก ส่งไม่ช้าเกินไป ของไม่เสียหาย แค่นั้นใครมาส่งก็ไม่สำคัญแล้ว
ลองถามคำถามว่า
- ลูกค้ามีตัวเลือกมากน้อยแค่ไหน?
- บริษัทพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่แค่ไม่กี่เจ้ารึเปล่า? (เช่นเป็นบริษัทที่ขายให้ 7-11 อย่างเดียว อันนี้ก็ต้องระวัง เพราะหากวันหนึ่งถูกตัดออก หรือ 7-11 เอาสินค้าทดแทนมาวางแข่ง ก็กลายเป็นปัญหาทันที)
- ลูกค้าเปลี่ยนแบรนด์ไปใช้ยี่ห้ออื่นมีต้นทุนสูงรึเปล่า? (ถ้าสูงก็ถือว่าดี ลูกค้าจะได้ไม่เปลี่ยน ยกตัวอย่าง Facebook อีกครั้ง ถ้าหากบริษัททำธุรกิจบน Facebook เป็นหลัก การจะย้ายแพลตฟอร์มหรือสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่อื่นก็เป็นเรื่องยาก ทำให้ต้นทุนสูงจึงต้องทนอยู่กันต่อไป)
อำนาจต่อรองไม่ใช่การเอาเปรียบลูกค้า แต่เป็นความสามารถของบริษัทที่สามารถรักษาคุณภาพหรือภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการได้ดีมาก จนลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าสูงมากด้วย
แบรนด์อย่างพวก LV, HERMES, Patek Phillipe, Apple, Coca Cola, Amazon, Google ฯลฯ มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูงมากๆ
➡️ 4. ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่ (Threat of New Entrants)
หลังจากที่เราวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปแล้วในส่วนของแรงกดดัน 3 อย่างด้านบน ตอนนี้ก็ต้องมองไปข้างหน้าบ้างในเรื่องคู่แข่งรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามา
มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่าความสำเร็จก็เหมือนการเอาเป้ามาติดไว้ข้างหลัง พอคนอื่นเห็นก็จะมีคนที่วิ่งตามมาเสมอ
ในโลกธุรกิจก็เช่นเดียวกัน เพราะถ้ากิจการดี บริษัทไปได้สวย อีกไม่นานก็จะดึงดูดให้คนอื่นๆ เข้ามาแข่งขันด้วย
ยิ่งถ้าต้นทุนการผลิตต่ำหรือไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “คูเมืองเศรษฐกิจ" (Economic Moat) ที่ป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งขันได้ง่ายๆ (เช่น โค้ก มีสูตรลับของเครื่องดื่มที่ไม่มีใครรู้ หรือ Apple มีระบบนิเวศที่เชื่อม iPhone เข้ากับอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยกันที่ทำให้ บริษัทสมาร์ตโฟนเจ้าอื่นๆ เข้ามาแข่งได้ยาก) คู่แข่งหน้าใหม่ๆ ก็จะเข้ามาได้ง่ายมากๆ
กิจการที่ดีต้องสามารถป้องกันการเข้ามาของคู่แข่งใหม่ๆ ได้ด้วย มองหาอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนเยอะในนการเข้ามาแข่งขันกับเจ้าเดิมที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว
ลองถามคำถามว่า
- กิจการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่คู่แข่งเข้ามายากใช่รึเปล่า?
- เป็นกิจการสัมปทานไหม? มีลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือความเชี่ยวชาญอะไรที่คนอื่นใช้ไม่ได้บ้าง?
- บริษัทมีสินค้าที่โดดเด่นเหนือคนอื่น แม้คู่แข่งใหม่เข้ามาก็แข่งด้วยลำบากไหม?
- ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ได้รึเปล่า? (เช่น 7-11 มีสาขาเยอะ ทำให้คู่แข่งเข้ามายาก มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้น)
ประเด็นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคืออย่าวิเคราะห์เฉพาะบริษัทคู่แข่งจากในประเทศเท่านั้น ต้องดูว่าต่างประเทศจะเข้ามาแข่งขันได้ยากหรือง่ายด้วย เช่น ธุรกิจสื่อสารที่ต้องขอสัมปทานและราคาแพงมาก ซึ่งยากที่จะมีคู่แข่งเข้ามาใหม่
แต่กลับกันธุรกิจร้านอาหาร คู่แข่งเข้ามาใหม่ได้เสมอ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อันนี้ก็ต้องระวัง
➡️ 5. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitutes)
เรื่องนี้น่าสนใจและต้องวิเคราะห์ให้ดีมากๆ เพราะมีธุรกิจมากมายที่เคยประสบความสำเร็จและเคยเป็นเจ้าตลาด ไม่เคยมีใครคิดว่าจะมาแทนได้ แต่พอเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ปรับตัวไม่ทันล้มหายตายจากไปเลยก็มี
กล้องฟิล์ม -> กล้องดิจิทัล (เช่น Kodak)
Blockbuster -> Netflix
Blackberry -> iPhone
ธุรกิจ CD เพลง -> Spotify
สื่อสิ่งพิมพ์/หนังสือพิมพ์/โทรทัศน์ -> Facebook
รถยนต์สันดาป -> รถยนต์ไฟฟ้า
ร้านโชห่วย -> ร้านสะดวกซื้อ, e-Commerce
เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ตรงนี้ต้องมองไปข้างหน้าว่ามีสินค้า/บริการอะไรที่สามารถมาแทนที่ได้ สะดวกกว่า ราคาถูกกว่า ถ้ามีลูกค้าก็จะหันไปหาสินค้าเหล่านั้นได้
ลองถามคำถามเหล่านี้
- สินค้า/บริการที่มาทดแทนนั้นทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน? เข้าถึงง่ายหรือยาก?
- คุณสมบัติ ดีกว่า ด้อยกว่า หรือ พอๆ กัน?
- ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้า/บริการทดแทนสูงแค่ไหน?
หากวิเคราะห์แล้วว่าบริษัทที่เราถืออยู่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเราต้องพร้อมที่จะขายหุ้นทันที และอย่าลืมเรื่องการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมด้วย
📌 [สรุป]
นอกจากเรื่องของ ‘ทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5’ แล้ว คุณกวีแนะนำว่าอีกอย่างหนึ่งที่เราควรตอบให้ได้ คือถ้าเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจใหญ่ๆ (ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ หรือ Covid-19) ธุรกิจที่เราลงทุนจะไปต่อได้ไหม?
ถ้าวิเคราะห์ด้วย ‘ทฤษฎีแรงกดดันทั้ง 5’ และมองแล้วว่าวิกฤติมาก็ยังน่าจะรอด หุ้นตัวนั้นก็อาจจะเป็นหุ้นที่ดีและเหมาะสมเก็บเข้าพอร์ตเราได้ในอนาคต เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น การจะซื้อหุ้นต้องรอให้ซื้อในราคาที่ถูกด้วย
แต่ถ้าวิเคราะห์ไม่ได้หรือยังมองไม่ออก อย่าเพิ่งรีบร้อนครับ ตลาดหุ้นไม่ได้จะหายไปไหน พลาดโอกาสหุ้นตัวหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะไม่เกิดขึ้นอีก
เหมือนอย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกเคยเปรียบเทียบว่าการลงทุนก็เหมือนการตีเบสบอล เพียงแต่คุณไม่จำเป็นต้องตีทุกลูกที่ขว้างมา ให้เลือกตีแค่ลูกที่เข้าโซนการตีของคุณเท่านั้น ลูกที่คุณมั่นใจว่าโอกาสจะหวดโดนจะมีสูงก็เพียงพอที่จะทำให้คุณชนะในเกมนี้แล้ว
สุดท้ายครับ ย้ำอีกครั้งสำหรับคนที่สนใจอยากลงทุน สิ่งที่สำคัญมากๆ คือรู้ว่าเราซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะอะไร วิเคราะห์ให้ได้ การวิ่งตามคำแนะนำของคนอื่นๆ ตลอด เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ ในตลาดหุ้น
ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวว่า "รู้ว่าคุณเป็นเจ้าของอะไร และทำไมคุณถึงเป็นเจ้าของมัน" ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าใจธุรกิจที่คุณลงทุนอย่างถ่องแท้
หากวันหนึ่งจะขายหรือลงทุนเพิ่มก็จะได้เข้าใจว่าเราตัดสินใจแบบนั้นเพราะอะไร
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง : หนังสือ ‘ส่องหุ้นด้วยงบการเงิน’ และ “เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืน”
#MakeRichGeneration #การเงิน #การลงทุน #เพจลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือน #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการลงทุน #หุ้นตัวแรก #ซื้อหุ้น #ลงทุนในตลาดหุ้น
โฆษณา