17 ส.ค. เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

ปางพระพุทธรูป เดอะ ซีรีส์ : พระเจ้าเข้านิพพาน

ซีรีส์ใหม่ถอดด้ามมาแล้วครับกับ "ปางพระพุทธรูป เดอะ ซีรีส์" ที่จะชวนไปทำความรู้จักกับพระพุทธรูปปางแปลกที่หาชมได้ยาก หรือ ปางที่มีที่มาน่าสนใจมาเล่าให้ฟัง และสำหรับปางพระพุทธรูปปางแรกที่จะขอนำเสนอวันนี้ก็คือ "พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ"
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "พระเจ้าเข้านิพพาน" เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงเหตุการณ์เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันอัฐมีบูชา
จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่าพระพุทธรูปปางนี้น่าจะเริ่มสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 3 และ พบการสร้างต่อมาประปรายในจำนวนที่มากพอสมควร และมีทั้งการประดิษฐานเป็นประธานภายในวิหาร (ที่มักมีชื่อเรียกว่าวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน) และการประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปอื่นๆ
รูปแบบของพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หรือ พระเจ้าเข้านิพพาน (จากนี้จะขอเรียกว่า "พระเจ้าเข้านิพพาน") นั้นพบอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ คือ
1. แบบโลงปิด คือ เป็นโลงทึบที่มีพระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นทะลุออกมา พระเจ้าเข้านิพพานแบบโลงปิดนี้ตัวโลงมักจะเป็นปูน
พระเจ้าเข้านิพพานแบบพระบาทแบบโลงปิดตะแคง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก
พระเจ้าเข้านิพพานแบบโลงปิดพระบาทตั้ง วัดกลาง นครหลวง จะ.พระนครศรีอยุธยา
2. แบบโลงเปิด คือ เป็นโลงที่สามารถเปิดให้เห็นพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในได้ โดยอาจเปิดจากด้านบน หรือ ด้านข้างก็ได้ พระเจ้าเข้านิพพานในลักษณะนี้มักมีโลงที่ทำจากไม้ ส่วนองค์พระพุทธรูปด้านในพบทั้งแบบนอนหงายและนอนตะแคง
พระเจ้าเข้านิพพานแบบโลงเปิดด้านบน วัดสรรพยา จ.ชัยนาท
พระเจ้าเข้านิพพานแบบโลงเปิดด้านข้าง วัดเกาะพญาเจ่ง จ.นนทบุรี
3. แบบไม่มีโลง ถือเป็นรูปแบบที่พบน้อยมาก เป็นการแสดงพระพุทธรูปปางนี้โดยใช้เพียงพระพุทธรูปเท่านั้น ซึ่งรูปแบบของพระพุทธรูปที่พบจะเป็นพระพุทธรูปนอนหงา พระหัตถ์ทั้ง 2 ประสานกันคล้ายกับพระพุทธรูปปางถวายเนตร
พระเจ้าเข้านิพพานแบบไม่มีโลง วัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร
ในกรณีที่มีโลง ไม่ว่าจะสร้างขึ้นแบบโลงปิดหรือโลงเปิด พระเจ้าเข้านิพพานทั้ง 2 รูปแบบจะมีจุดร่วมอยู่ประการหนึ่ง คือ พระบาทจะทำแยกต่างหากแล้วนำมาติดที่โลง แม้จะเป็นแบบโลงเปิดก็ตาม ในขณะที่แบบไม่มีโลงก็เป็นพระพุทธรูปแบบทั่วไปที่พระบาทติดกับพระวรกาย
และเนื่องจากในเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจะมีอีกตัวละครสำคัญ คือ พระมหากัสปปะ ที่เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิง พระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิาหาริย์ให้พระบาทของท่านยื่นทะลุโลงออกมา ดังนั้น พระเจ้าเข้านิพพานส่วนใหญ่จึงมาพบร่วมกับรูปพระภิกษุกำลังยืนพนมมือบริเวณใกล้กับพระบาท
นอกจากพระมหากัสสปะแล้ว ยังอาจมีพระสาวกอื่นๆ เช่น พระอนุรุทธะ พระอานนท์ หรือ พระฉันนะ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งพระสาวกอื่นๆนี้อาจมาในรูปแบบของประติมากรรม หรือ จิตรกรรมก็ได้ แต่รูปแบบของพระสาวกมักจะมีลักษณะเดียวกัน คือ พระสาวกที่กำลังนั่งคุกเข่าพนมมือ เว้นแต่เพียงพระอานนท์ที่กำลังอยู่ในอิริยาบถเสียใจเนื่องจากในเวลานั้นท่านยังไม่บรรจุอรหันต์ และพระฉันนะที่มักจะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่สำรวม
พระเจ้าเข้านิพพานพร้อมกับพระสาวก 5 องค์ จากวัดโบสถ์ อินทร์บุรี ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี
พนระเจ้าเข้านิพพาน วัดอินทาราม กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระสาวกติดกับกลุ่มพระสาวก มีพระสุภัททะกำลังหัวเราะอยู่ วัดอินทาราม กรุงเทพมหานคร
พระเจ้าเข้านิพพาน วัดครุฑ กรุงเทพมหานคร
จบกันไปแล้วกับพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ตอนหน้าจะเป็นปางไหนก็ฝากติดตามด้วยนะครับ หรือใครมีปางไหนที่อยากให้นำมาเล่าก็คอมเมนต์ไว้ได้นะครับ
โฆษณา