18 ส.ค. เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์

ตกตะกอนข้อคิด 20 ประการ ปัญหาเรื่องเงินคนไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

จากประสบการณ์ของโค้ชหนุ่ม Money Coach
ถ้าพูดถึงที่ปรึกษาทางการเงิน โค้ชหนุ่ม Money Coach คงเป็นชื่อแรกๆ ที่เข้ามาในความคิดของใครหลายคน เมื่อไม่นานมานี้โค้ชหนุ่มได้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านรายการ มนุษย์ต่างวัย Talk 2 ตอน “โค้ชหนุ่ม Money Coach” 20 ปี ของการเป็นโค้ชการเงิน คลิปสัมภาษณ์มีความยาวประมาณ 47:23 นาที
จากคลิปนั้น aomMONEY ได้สรุปออกมาเป็นข้อคิด 20 ประการ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเงินในสังคมไทย ที่จะทำให้เราเห็นภาพว่าการเงินไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่ยังเป็นเรื่องของจิตวิทยา พฤติกรรม และทัศนคติ จะมีอะไรบ้างมาดูกัน!
[ ปรับวิธีคิดเรื่อง ‘การเงิน’ 🧠 ]
1. วิธีแก้ปัญหาการเงิน ไม่ใช่แค่การหาเงินเพิ่ม แต่ต้องมีความรู้ในการบริหารจัดการเงินด้วย
โค้ชหนุ่มเริ่มต้นตระหนักว่าความรู้ทางการเงินที่ไม่ใช่แค่การหาเงิน มีความสำคัญมาก หลังจากที่ต้องแก้ปัญหาการเงินของตัวเอง ตอนนั้นเขาพบว่าตัวเขาเองแทบไม่รู้เรื่องการเงินเลย แต่พอแก้ปัญหาการเงินของตัวเองได้ ก็มีคนรู้จักเข้ามาปรึกษา เมื่อช่วยแก้ปัญหาทางการเงินให้คนรู้จักได้ โค้ชหนุ่มก็เริ่มอยากจะเผยแพร่ความรู้ทางการเงินให้กับคนไทยทั้งประเทศ
2. ปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องของคนทุกคน
จากประสบการณ์กว่า 20 ปีของโค้ชหนุ่ม เขาพบว่าการเงินส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีการศึกษาสูงหรือน้อย ผู้ใหญ่หรือเด็ก ทุกคนล้วนมีโอกาสเผชิญกับปัญหาทางการเงิน แต่ละคนมีสถานการณ์และภาระทางการเงินที่แตกต่างกัน บางครอบครัวทำงานหนึ่งคนแต่ต้องเลี้ยงดูคนอีก 4-5 คน ดังนั้น เราจึงไม่ควรด่วนตัดสินคนที่มีปัญหาการเงินว่าเป็นคนฟุ่มเฟือย เพราะสถานการณ์และความรับผิดชอบของแต่ละคนต่างกัน
3. การเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลไปสู่ระดับมหภาค
ในอดีต หลายคนอาจมองว่าการเงินเป็นเรื่องไกลตัวหรือเกี่ยวข้องเฉพาะกับธุรกิจหรือคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว การเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลไปสู่ระดับมหภาคได้ หากแต่ละคนสามารถรับรู้และแก้ไขปัญหาทางการเงินของตัวเองได้ จะช่วยสร้างความมั่นคงและส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวมได้
4. เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องที่แค่เราดีดนิ้วแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
เช่น คนหนึ่งวางแผนจะแก้หนี้ เรามีแบบแผนให้เขาชัดเจน แต่การที่เขาจะสู้อยู่บนแผนนั้นต้องใช้เวลา และแต่ละวันอาจเจอปัญหาใหม่มากระทบใจ ดังนั้นการจัดการการเงินเกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจ การจะแก้ปัญหาการเงินต้องการทั้งความเข้าใจ การยอมรับ และความอดทน
5. เงินเป็นเรื่องที่มากกว่าการเป็นศาสตร์ แต่คือศิลปะในการ ‘เข้าใจ’
โค้ชหนุ่มกล่าวว่าเงินไม่ใช่แค่ศาสตร์ แต่เป็นศิลปะที่ต้องใช้ทั้งความเข้าอกเข้าใจตัวเอง การยอมรับสถานการณ์ ความอดทน และการยืนระยะให้ได้ ในบางครั้งคนที่มีปัญหาการเงิน อาจไม่ได้มีปัญหาในการดำเนินการตามแผน เขาอาจต้องการแค่คนรับฟังและเข้าใจเขา มากกว่าคำแนะนำทางเทคนิค การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
6. Mindset สำคัญไม่แพ้ความรู้
1
ทัศนคติที่ถูกต้องและกำลังใจในการจัดการปัญหาการเงินมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ทางการเงิน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการเงินที่แท้จริงต้องเริ่มต้นจากการยอมรับปัญหาและมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
[ วิธีตอบโต้ปัญหาการเงิน 👊 ]
7. บางปัญหา ‘สู้ได้ยาก’ ทำให้ทางออกที่ดีที่สุดคือการลดภาระ
โค้ชหนุ่มเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาได้พบกับคนที่มาปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนัก และอาจต้องล้มเลิก ในตอนนั้นโค้ชหนุ่มพูดตรง ๆ ว่า ปัญหานี้ ‘สู้ได้ยาก’ ทางออกที่ดีที่สุดคือการลดภาระที่อาจเกิดขึ้น เช่น ขายทรัพย์สินในกิจการเพื่อลดภาระหนี้สิน แล้วเดินหน้าต่อไป แม้ว่าการยอมรับความจริงอาจเป็นเรื่องยาก แต่การทำเช่นนี้เป็นก้าวแรกในการหาทางออกและฟื้นตัวจากปัญหาที่เผชิญอยู่
1
8. คนที่ดราม่ากับปัญหาจะไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาได้เลย
จากประสบการณ์ของโค้ชหนุ่ม เขาพบว่าการครุ่นคิดถึงปัญหาทางการเงินวนไปวนมา จะทำให้ปัญหาดูใหญ่ขึ้นกว่าที่เป็นจริง หรือบางปัญหาก็เป็นปัญหาที่ผ่านไปนานแล้ว เพื่อจะพาตัวเองก้าวผ่านไป เราต้องยอมรับความจริงอย่ายึดติดกับอดีตเพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้
1
9. คนที่ให้คำแนะนำต้องไม่จมอยู่กับปัญหา
ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของโค้ชหนุ่ม ช่วงแรก ๆ โค้ชรับปัญหามาและตนก็นำไปเครียดต่อ แต่พอผ่านผู้คนมามากพอ โค้ชพบว่าแต่ละคนมีวิธีรับมือกับปัญหาทางการเงินต่างกัน บางคนพร้อมแก้ไข บางคนยังไม่พร้อม การให้คำแนะนำต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล และโค้ชเองต้องยืนเว้นระยะเหมือนกับโค้ชฟุตบอล
10. เมื่อไหร่ก็ตามที่คนคนหนึ่งก้าวข้ามปัญหาด้วยความรู้ วินัยและความพยายาม เขามักจะไม่กลับไปเจอปัญหาเดิมซ้ำอีก
1
11. ทุกคนมีศักยภาพในการแก้ปัญหาการเงินของตนเอง หากมีความพยายามและได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง
หลายคนเหมือนจะแก้ปัญหาการเงินไม่ได้เพราะมีรายได้น้อย และมีข้อจำกัดหลายอย่างในชีวิต การจะแก้ปัญหาทางการเงินที่มีอยู่ให้รอดหรือไม่รอดจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจ และการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
[ 20 ปีที่ผ่านมาปัญหาด้านการเงินเปลี่ยนไปตามเวลาไหม? ⏲️ ]
12. ปัญหาการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงมีกรอบใหญ่ 2 กรอบคือ คนที่เงินไม่พอใช้ และคนที่มีเงินเยอะเกินไป
13. ค่านิยมและมุมมองต่อการใช้เงินของคนคือสิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะที่สุดใน 20 ปีที่ผ่าน
โค้ชหนุ่มเล่าว่าค่านิยมและมุมมองต่อการใช้เงินเปลี่ยนไปตามเจเนอเรชันเลยก็ว่าได้ คนบางรุ่นอาจมีค่านิยมเรื่องของการทำงานหนัก เก็บออมวันนี้ พรุ่งนี้จะได้สบาย บางรุ่นอาจให้ความสำคัญกับการมีความสุขในปัจจุบันมากกว่าการเก็บออม หรือในบางรุ่นก็คิดว่าต้องสุขวันนี้และสุขเกิน ซึ่งการสุขเกินนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องหนี้
14. เงินเฟ้อน่ากลัว ไลฟ์สไตล์ที่ฟุ้งเฟ้อน่ากลัวกว่า
ในยุคก่อน คนที่มีปัญหาเงินไม่พอใช้มักจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10,000 - 15,000 บาท แต่ปัจจุบัน คนที่มาปรึกษามีรายได้อยู่ที่ประมาณ 70,000 - 80,000 บาท แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนที่มีรายได้สูงได้เช่นกัน
1
15. การลดรายจ่ายเป็นการลงทุนที่ง่ายกว่าการลงทุน
ถ้าเราอยากแก้ปัญหาการเงิน การเริ่มต้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นวิธีที่ง่ายและตรงจุดมากที่สุด เพราะการลงทุนต้องพึ่งพาเงินจากกระเป๋าคนอื่น ต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทน แต่การลดรายจ่ายเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ทันที และมันช่วยแก้ปัญหาทางการเงินได้เร็วกว่า เพราะเป็นการรักษาเงินที่มีอยู่แล้วในมือเรา
3
16. การทำธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องแยกระหว่างเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ
หลายครั้ง คนที่พึ่งเริ่มทำธุรกิจจะนำเงินของธุรกิจไปปะปนกับเงินส่วนตัว ผลคือคนกลุ่มนั้นมีแนวโน้มจะจนลงในที่สุด โค้ชจึงมักจะแนะนำเสมอว่าต้องทำบัญชีรายรับและรายจ่าย หักต้นทุนออก และเอากำไรไปต่อยอด ต้องระวังไม่ให้เอาเงินไปกินไปใช้ก่อน และอย่าลืมปลดหนี้ก่อนเสมอ!
[ พ่อแม่ลูกและการปลูกฝังเรื่องการเงิน 👪 ]
17. ในครอบครัวเรื่องเงินต้องเป็นเรื่องที่คุยกันได้
เรื่องเงินควรเป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างมีวุฒิภาวะและเปิดเผย ไม่ว่าจะมีเงินเยอะหรือน้อยก็ควรพูดคุยกัน ลูกก็ต้องสามารถรู้เรื่องการเงินในบ้านได้ เพื่อที่เขาจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องเงินกับครอบครัว เช่น ช่วยประหยัดเมื่อครอบครัวมีปัญหาการเงิน
18. พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้จ่ายและการใช้เงินอย่างคุ้มค่า
พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้จ่ายและบริหารการเงิน เพราะเงินเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนการดำเนินชีวิต ลูกควรเห็นวิธีการตัดสินใจทางการเงินที่ถูกต้อง เช่น การเลือกซื้อสิ่งที่จำเป็นมากกว่าสิ่งที่อยากได้ การใช้ของที่มีอยู่แล้วอย่างมีคุณค่า หรือการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่อาจมีราคาแพงกว่าแต่ใช้งานได้คุ้มกว่า หรือแม้กระทั่งการยอมใช้เงินเพื่อซื้อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเมื่อทำอย่างมีสติ
19. เมื่อเด็กเริ่มโตต้องสอนเรื่องการบริหารจัดการเงิน
ที่บ้านของโค้ชหนุ่มมีการปลูกฝังให้ลูก ๆ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้เขาได้เห็นการใช้จ่ายของตัวเอง และให้ลูกบริหารจัดการเงินของตัวเองแบบรายเดือน โดยมีข้อแม้ว่าแต่ละเดือนควรมีเงินเหลือ แต่ไม่ได้กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างนิสัยการออม และทำให้เขารู้วิธีตั้งเป้าหมายและบรรลุเป้าการเงินได้ด้วยตัวเอง
20. เงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต
สิ่งหนึ่งที่โค้ชหนุ่มให้ความสำคัญในการปลูกฝังเรื่องการใช้จ่ายและการเงิน คือการสอนให้ลูกเข้าใจว่าเงินเป็นเพียงเครื่องมือในการสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และชีวิตคือการผจญภัยที่หลายครั้งเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ดังนั้นต้องรู้จักปรับตัวและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
ดูคลิปเต็ม ๆ ได้ที่: https://youtu.be/OoRoxj6UARo?si=2G9qDlFMN_qNETay
#aomMONEY #MakeRichGeneration #โค้ชหนุ่ม #TheMoneyCoach #การเงินส่วนบุคคล #การเงิน
โฆษณา