18 ส.ค. เวลา 12:40 • ข่าว

ปลายฝันของอุ๊ยคำ

ความหวังปลายทางของ “อุ้ยคำ”
แม่เฒ่าไร้สัญชาติชาวไทลื้อ
ธนก บังผล
แม่เฒ่าบอกพวกเราหลายครั้งว่าหูไม่ดี ใครพูดอะไรก็ไม่ค่อยได้ยิน แกอ่านปากเอาแล้วเดาว่าใครพูดว่าอะไร ส่วนใหญ่จะหันไปหาลูกชายให้แปลไทยเป็นไทยกันอีกที
.
อุ้ยคำ อินใจ ในวัย 89 ปี คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านร่มโพธิ์ทอง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เส้นผมสีดอกเลาทั้งศีรษะ นั่งยิ้มอย่างใจเย็นให้กับแขกแปลกหน้าหลายคนที่เอาไมโครโฟนมาจ่อถึงบ้าน
วันนี้คณะสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้มาลงพื้นที่ชุมชนชาวไทลื้อ เพื่อติดตามประเด็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งอุ้ยคำและผู้เฒ่าไทลื้อเป็นกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับความล่าช้าของกระบวนการให้สัญชาติทั้งๆ ที่อยู่ในประเทศไทยกันมาร่วม 40-50 ปี จนกระทั่งมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย
อุ้ยคำเกิดและเติบโตที่เมืองวะ ในพม่า พบรักกับสามีขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองในพม่าตอนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์และคณะผู้ปกครองบ้านเมืองกำลังเผชิญหน้ากัน สามีของอุ้ยคำเลยชักชวนให้หนีมาตายเอาดาบหน้าในปี 2510
จากเมืองวะ ทั้งสองเดินทางเข้ามาอยู่เมืองยอง แล้วเข้ามาอาศัยอยู่บนดินแดนไทย ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงรายเมื่อปี 2519 ก่อนย้ายมาปักหลักยาวในหมู่บ้านแห่งนี้ที่ อ.แม่สรวย
เกือบ 50 ปีที่แล้ว ถ้าจะนับว่าแกเข้ามาประเทศไทย บวกลบแล้วอุ้ยคำหนีสงครามจากพม่าตอน อายุ 20 ก่อนจะอพยพเข้ามาไทยตอนอายุ 29 ปี อุ้ยคำกับสามีมีลูกด้วยกัน 6 คน ทุกคนต่างมีบัตรประชาชนไทยกันครบทั้งหมด เพราะเกิดในประเทศไทย ลูกหลายคนมีการศึกษาปริญญาตรี บางคนรับราชการ
ด้วยความที่หูไม่ค่อยได้ยินและความจำเริ่มเลือนหายแล้ว อุ้ยคำมักยิ้มแทนคำตอบเวลาใครถามอะไร
“แกอยากเลือกตั้งนะ เวลามีเลือกตั้งหย่อนบัตรอะไรใกล้ๆ บ้านนี่แกจะไปยืนมอง ผมรู้ว่าแม่อยากมีบัตรประชาชน” ลูกชายคนกลางซึ่งเป็นข้าราชการครูบอกกับพวกเรา
อุ้ยคำ เข้ามาอยู่เป็นพลเมืองไทย 50 ปีแล้ว ผ่านการขอแปลงสัญชาติไทยมาจนเพื่อนๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด
แกกลายเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน ขาดซึ่งสวัสดิการแห่งรัฐและขาดสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน
ความเปราะบางของผู้เฒ่าชาวไทลื้อใน จ.เชียงราย คือขอสัญชาติยากเย็นแสนเข็ญโดยคนขอเองก็ไม่รู้ว่าติดขัดอะไรแบางคนต้องไปพิสูจน์ว่าอยากเป็นคนไทยด้วยการร้องเพลงชาติให้เจ้าหน้าที่ฟังตามขั้นตอน
หลายคนร้องเพลงแล้วกลับบ้านมารอบัตรประชาชนจนเสียชีวิตไปแล้ว บัตรประชาชนก็ยังไม่มา
“อุ้ย อยากได้เงินผู้สูงอายุมั้ย” เราถามแกแบบสอดไส้การเมืองนิดหน่อย แต่คำตอบกลับทำให้ต้องกลืนน้ำลายเหนียวคอ
“เขาให้อะไรก็เอา” อุ้ยคำ ยิ้มให้เรา
สำหรับพวกเราชาวคนเมืองทำบัตรประชาชนจนบางครั้งหมดอายุแล้วก็ไม่อยากไปต่อ ปล่อยให้หายก็มี แต่อุ้ยคำ อินใจ ในวัยย่าง 90 ปี แต่ไม่เคยมีบัตรใบนี้และเป็นสิ่งที่แกต้องการมาทั้งชีวิต
ทำไมบัตรประชาชนใบเดียวได้ยากได้เย็นขนาดนี้
 
นายปฤษฎางค์ สามัคคีนิชย์ นายอำเภอแม่สรวย บอกว่าเจ้าหน้าที่มีน้อย แต่ขอให้มาทำเรื่องที่อำเภอก่อน แล้วอำเภอจะรีบส่งไปจังหวัด
แต่สิ่งที่เหล่าผู้เฒ่าไม่รู้คือเมื่อเรื่องส่งไปถึงกระทรวงมหาดไทย แม้คณะกรรมการพิจารณาผ่านไปแล้ว เรื่องก็ไปติดเป็นคอขวดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้กระบวนการการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้กับผู้เฒ่าไร้สัญชาติเป็นไปอย่างชักช้า ขณะที่เวลาของเหล่าผู้เฒ่าหดสั้นลงทุกวัน
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เปราะบางของสังคมอยู่แล้ว แต่ผู้เฒ่าไร้สัญชาติยิ่งเปราะบางเพิ่มขึ้นอีก เพราะไม่มีทั้งเบี้ยผู้สูงอายุหรือสวัสดิการใดๆ รองรับ
เราลงพื้นที่กันจนรู้ว่าตามขั้นตอนมันยุ่งยากมากซึ่งทางมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) พยายามเสนอแนะให้ลดขั้นตอนกระบวนการพิจารณาสั้นลงไปอีก หรือไม่ควรมีกฎหมายหรือระเบียบพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้เฒ่าไร้สัญชาติเพื่อที่จะได้เห็นรอยยิ้มของพวกท่านในยามที่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง
“อุ้ยครับ ยังมีญาติอยู่ในพม่ามั้ย?” เราถามอุ้ยคำด้วยน้ำเสียงกึ่งตะโกน ด้วยหูแกไม่ค่อยได้ยิน แต่ลูกชายแกก็เหมือนอยากรู้เลยถามซ้ำให้อีกที แกเงียบไปสักพักแล้วหันไปตอบลูกชาย
.
“มีน้องสาวอยู่คนหนึ่ง แต่ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว มีญาติอยู่นะ แต่คงลืมกันไปหมดแล้ว” อุ้ยคำ บอกแล้วยิ้มให้เราด้วยสายตาพร่ามัว
.
อาจจะมีอดีตที่อุ้ยคำสู้กับความทรงจำตัวเองอยู่บ้าง ..เราเข้าใจ
.
ก่อนที่ความทรงจำอุ้ยคำจะเลือนหาย เราอยากให้รอยยิ้มของอุ้ยคำในวันถ่ายบัตรประชาชนไทย
-------------
โฆษณา