Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
journey of the Footprint
•
ติดตาม
18 ส.ค. 2024 เวลา 15:11 • ประวัติศาสตร์
สุริยุปราคาในจิตรกรรมฝาผนังไทย
วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีถือเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเหตุที่เลือกวันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาตินั้นก็เนื่องจากว่าในวันนี้เมื่อ 156 ปีก่อน หรือในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญระดับโลก นั่นคือ การเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ซึ่งพระองค์ได้คำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ซ้ำยังแม่นยำยิ่งกว่าชาวตะวันตก จนทำให้สุริยุปราคาครั้งนี้ถูกเรียกว่า "King of Siam's Eclipse" เลยทีเดียว
และด้วยความสำคัญที่พิเศษขนาดนี้ ทำให้จิตรกรรมในวัดบางแห่งเลือกที่จะนำเสนอเหตุการณ์ดังกล่าวลงไปด้วย โดยพบหลักฐานอยู่ทั้งสิ้น 3 วัดด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 วัด 3 สถานที่นี้มีจุดร่วมอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ล้วนแต่เป็นสถานที่ซึ่งเนื่อหาหลักของจิตรกรรมฝาผนังไม่ใช่เรื่องราวทางพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
วัดแห่งแรกคือ "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" ภาพดังกล่าวถูกวาดอยู่ภายในพระวิหารหลวงของวัด โดยตำแหน่งของภาพดังกล่าวจะอยู่บริเวณผนังที่อยู่ขนาบประตูทางเข้า แสดงภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังส่องกล้องขึ้นไปด้านบน โดยสุริยปราคาเต็มดวงกำลังสาดแสงลงมาอยู่บริเวณด้านบนสุดของกรอบภาพ
จุดที่น่าสนใจของภาพนี้ก็คือฉากหลังของเหตุการณ์ที่แสดงภาพพระบรมมหาราชวัง โดยที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงประทับอยู่ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระที่นั่งขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะมาจากฉากอื่นๆภายในพระวิหารหลวงที่เล่าเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน โดยที่มีฉากหลังเป็นสถานที่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงอาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนภาพพื้นหลังเพื่อให้เข้ากับภาพอื่นๆในอาคารหลังเดียวกัน
การทอดพระเนตรสุริยุปราคาของร.4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ในหลวงส่องกล้อง ที่วัดนี้แสดงการแหงนมองทำให้เห็นพระพักตร์ไม่ชัด แต่จากลักษณะพระเศียรและการแต่งกายน่าจะเป็น ร. 4 แน่ๆ
วัดที่แห่งที่ 2 คือ "วัดเสนาสนาราม" ภาพดังกล่าวอยู่ภายในพระอุโบถของวัด โดยตำแหน่งของภาพจะอยู่บริเวณผนังระหว่างประตูทางเข้าทั้ง 2 ด้านคล้ายกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แถมองค์ประกอบภาพยังคล้ายกันอีกด้วย เพราะแสดงภาพของในหลวงรัชกาลที่ 4 กำลังทอดพระเนตรสุริุปราคาบริเวณพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ภายในพระบรมมหาราชวังเช่นกัน โดยทรงส่องกล้องไปทางด้านหน้าเฉียงขึ้นบนเล็กน้อย เนื่องจากสุริยุปราคาที่วัดแห่งนี้ถูกวาดไว้บริเวณมุมซ้ายบนของภาพ และแสดงสุริยุปราคาที่กำลังจะเต็มดวง
และเหตุที่ภาพของวัดนี้แสดงออกมาในลักษณะนี้ก็น่าจะมีสาเหตุเดียวกันกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็น่าจะเกิดจากการที่ภาพจิตรกรรมภายในอาคารหลังนี้เล่าเรื่องแบบเดียวกัน คือ พระราชพิธี 12 เดือนที่มีฉากหลังเป็นกรุงเทพมหานครเหมือนกัน เป็นไปได้ว่า จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเสนาสนารามนี่น่าจะมีต้นแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามด้วย
การทอดพระเนตรสุริยุปราคาของในหลวงร. 4 วัดเสนาสนาราม
ในหลวงส่องกล้อง ที่นี่ทรงหันพระพักตร์ไปทางด้านหน้า ทำให้เห็นพระพักตร์ชัดเจน
วัดแห่งที่ 3 และแห่งสุดท้ายคือ "วัดเบญจมบพิตร" ภาพดังกล่าวถูกวาดอยู่บนผนังของพระที่นั่งทรงผนวชบริเวณห้องภาพที่ 4 "หว้ากอ" โดยแสดงเหตุการณ์ตั้งแต่การเตรียมตัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปยังอำเภอหว้ากอ และการทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้อกอ และเป็นแห่งเดียวที่แสดงภาพของพลับพลาที่หว้ากออย่างสมจริง
จุดที่ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงผนวชแตกต่างจากอีก 2 วัดก็อาจเป็นเพราะเนื้อหาหลักของจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารหลังนี้เล่าเรื่องประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์จนกระทั่งขึ้นครองราชย์และต่อเนื่องไปจนถึงการย้ายพระที่นั่งหลังนี้มายังวัดเบญจมบพิตร ดังนั้น ช่างจึงแสดงเหตุการณ์ทั้งหมดแบบสมจริงได้แบบเต็มที่
ในหลวงร. 4 เตรียมตัวเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชไปยังหว้ากอ
พลับพลาที่หว้ากอสำหรับทอดพระเนตรสุริยุปราคาพร้อมกับพระราชอาคันตุกะ
และนี่คือเรื่องราวของสุริยุปราคาของพระเจ้ากรุงสยามภายในวัดไทย หวังว่าจะถูกใจกับคอนเทนต์พิเศษเนื่องในวันวิทยาศาสตร์ไทยนะครับ ใครมีอะไรสงสัยหรืออยากแลกเปลี่ยน รวมถึงอยากให้ทำคอนเทนต์เรื่องอะไรสามารถคอมเมนต์ได้ที่ใต้โพสท์เลยนะครับ ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ครับ
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
blockdit
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย