20 ส.ค. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

ซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทดีไหม คิดยังไงดี?

หนึ่งในปัญหาโลกแตกที่เจ้าของธุรกิจหลายคนไม่กล้าลงมือทำสักที ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทเพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้นใช่ไหมล่ะคะ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับธุรกิจหรือเปล่า กลัวว่าจะขาดทุนกว่าเดิม แล้วแบบนี้จะซื้อสินทรัพย์เข้าธุรกิจได้เมื่อไหร่? วันนี้มีหลักการคิดดี ๆ มาฝากเจ้าของธุรกิจทุกคนกันค่ะ
🎯เมื่อไรควรซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัท
หลักการคิดในการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ 4 ส่วนด้วยกันค่ะ
1. มีประโยชน์ต่อธุรกิจหรือไม่ เช่น ช่วยสร้างมูลค่าทางการเงิน ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจ และช่วยให้กู้เงินกับธนาคารง่ายขึ้น โดยให้ดูที่ผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก
2. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไหม เพราะถ้าซื้อสินทรัพย์หนึ่งที่เหมาะสมเข้าธุรกิจได้ จะช่วยลด หรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้อย่างดีเชียวนะ
3. สร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจได้ สินทรัพย์ที่ซื้อมานั้นนอกจากจะสร้างเงินสดแล้ว ก็ต้องสร้างกำไรให้ได้ด้วย ถึงจะเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์กับธุรกิจ
4. ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้สินทรัพย์นั้นได้ทำงานในตัวของมัน เพื่อให้สามารถช่วยอำนวยประโยชน์ให้กับธุรกิจ หรือลดขั้นตอนงานบางอย่างให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
🎯ซื้อสินทรัพย์นามบริษัทต้องมีเอกสาร อะไรบ้าง
1.สัญญา ในกรณีที่สินทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูง เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น
2. หลักฐานการจ่ายเงิน เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน บิลเงินสด ใบสั่งซื้อ ใบรับสินค้า เป็นต้น
3. ใบเสร็จรับเงินที่สมบูรณ์ มีข้อมูลต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
🎯ซื้อมาใช้ หรือเช่าสินทรัพย์ต่างกันยังไง
หลายคนอาจจะงงว่าการซื้อ กับการเช่าสินทรัพย์ต่างกันตรงไหน มาดูความแตกต่างกันค่ะทุกคน การซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทมาใช้ก็คือการเอาเงินจำนวนหนึ่งมาแลกกับกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ ใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ซื้อมาหักลบภาษีได้ ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้ค่ะ
แต่ข้อเสียของก็มีเหมือนกันตรงที่ว่า เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อให้ได้สินทรัพย์นั้นมา หรือจะเป็นกรณีที่ซื้อไปแล้วกลับไม่ตอบโจทย์ได้อย่างที่คิด ก็ต้องเอาไปขายต่อกันให้วุ่น ซึ่งบางประเภทไม่ได้ขายออกง่ายขนาดนั้นนะ
🎯ส่วนการเช่าสินทรัพย์ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1️⃣แบบแรกคือ ‘เช่าซื้อ’ หรือที่หลายคนเข้าใจว่า ‘การผ่อนชำระ’ นั่นแหละค่ะ เป็นการที่เจ้าของสินทรัพย์ให้ผู้เช่าจ่ายเงินตามจำนวนงวดที่ตกลงกันไว้จนครบ โดยที่กรรมสิทธิ์เป็นของผู้เช่าตั้งแต่เริ่มทำสัญญาการเช่าซื้อ
2️⃣แบบที่สองก็คือ ‘ลีสซิ่ง’ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น ‘สัญญาเช่า’ อารมณ์เหมือนฟีลเช่าห้อง เช่ารถ อะไรทำนองนี้ค่ะ เป็นการที่เจ้าของสินทรัพย์ตกลงให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา และต้องชำระราคาตามที่กำหนดไว้ โดยที่กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของผู้ให้เช่าสินทรัพย์ จนกว่าจะหมดสัญญาถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะซื้อ หรือจะเช่าสินทรัพย์ต่อ ส่วนเรื่องทางภาษี สามารถนำค่าเช่าทั้งหมด ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ไปลดหย่อนภาษีได้แบบ 100%
หมายเหตุ: จากที่อธิบายมาขอยกเว้นสินทรัพย์จำพวกรถยนต์นั่งนะคะ เพราะว่ามีเงื่อนไขทางภาษีไม่เหมือนคนอื่นเช่น เป็นรายจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเป็นค่าเช่าได้ไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือนเป็นต้น
การเช่าจะมีข้อดีตรงที่ว่า เวลาจะลงทุนในสินทรัพย์ไหน แต่ยังไม่ชัวร์ว่าจะสร้างกำไร หรืออำนวยประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน ก็สามารถเช่าสินทรัพย์นั้นไปก่อนได้ จนผ่านไปซัก 3-4 เดือน วิเคราะห์สถานการณ์แล้วโอเค ก็ค่อยเจรจาขอซื้อสินทรัพย์นั้นทีหลังได้ โดยไม่ต้องแบกรับกับความเสี่ยงกับการจ่ายเงินก้อนเยอะ ๆ เลยค่ะ
🎯สรุปแล้ว ซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทดีไหม?
จะเห็นได้ว่า การซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทอำนวยประโยชน์ให้กับธุรกิจได้หลากหลาย ทั้งในแง่มุมของกำไร และแง่มุมของการลดหย่อนภาษี โดยใช้หลักการคิดพิจารณา 4 ส่วนด้วยกันคือ
♟มีประโยชน์
♟ประหยัดค่าใช้จ่าย
♟สร้างรายได้เพิ่ม
♟ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งถ้าหากสินทรัพย์นั้นตอบโจทย์กับธุรกิจที่ต้องการสร้างกำไร และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ ก็สามารถซื้อสินทรัพย์ได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่ชัวร์ว่าจะสามารถให้ประโยชน์กับธุรกิจได้จริง ๆ ไหม ก็เช่าไปก่อนสักระยะหนึ่งจนกว่าจะมั่นใจว่าโอเค แล้วค่อยเจรจาขอซื้อในภายหลังก็ยังไม่สายค่ะ แต่ทั้งนี้ ซื้อสินทรัพย์ไปแล้ว อย่าเอาไปปนกับการใช้ส่วนตัวนะคะ เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาด้านการคำนวณภาษีในภายหลังนั่นเองค่ะ
เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit
โฆษณา