20 ส.ค. เวลา 11:30 • บันเทิง

ประวัติ "ชรินทร์ นันทนาคร" ศิลปินแห่งชาติ สามี "เพชรา เชาวราษฎร์"

เปิดประวัติ "ชรินทร์ นันทนาคร" ศิลปินแห่งชาติมากความสามารถ ตำนานเพลงลูกกรุง สามีนักแสดงสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง "เพชรา เชาวราษฎร์"
ถือเป็นข่าวเศร้าวงการเพลงหลังมีรายงานว่า “ชรินทร์ นันทนาคร” เจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติประจำปี 2541 เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 02.21 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 91 ปี
โดย “ชรินทร์ นันทนาคร” ถือเป็นหนึ่งในบุคลากรทางดนตรีทรงคุณค่าคนหนึ่งของประเทศไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง เพลงไทยสากล - ขับร้อง ประจำปี 2541
ชรินทร์ นันทนาคร
ชรินทร์ นันทนาคร เกิดเมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศสยาม ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร
ชรินทร์ เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง นางไพร เมื่อปี 2492 ด้วยเพลงดวงใจในฝัน และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายเป็นครั้งแรก ตามด้วยเพลง อิเหนารำพัน เมื่อปี 2494 จากนั้นย้ายกลับไปที่เชียงใหม่ ทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล สาขาเชียงใหม่
ไม่นาน สำนักงานใหญ่บริษัทกมล-สุโกศล เรียกมาทำงานที่ กทม. ในตำแหน่งแผนกบัญชี แผนกต่างประเทศ ไปจนถึงแผนกแผ่นเสียง จากนั้นทำงานเป็นเลขานุกรมที่องค์การยูซ่อม (USOM)
โดยผลงานของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น, และอีกมากมาย
นอกจากผลงานเพลงแล้ว ชรินทร์ ยังฝากผลงานการแสดงภาพยนตร์เอาไว้หลายเรื่อง เช่น สาวน้อย, สิบสองนักสู้, เงิน เงิน เงิน, ละครเร่, สวรรค์วันเพ็ญ, เรือมนุษย์, รักเธอเสมอ, คนใจบอด, และน้ำผึ้งพระจันทร์
ชรินทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง อาลัยรัก ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อปี 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ แผ่นดินแม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้นก็เลิกทำหนังไปเหตุเพราะวงการหนังที่เปลี่ยนไปจึงเกิดความเบื่อ
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/230824
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา