20 ส.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“พานาโซนิค” จ่อยุติการผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่ดำเนินมากว่า 70 ปี

บริษัท “พานาโซนิค” ประกาศหยุดการผลิต “หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์” ภายในสิ้นปี 2027 เพื่อร่วมกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ
บริษัท “พานาโซนิค” (Panasonic) หนึ่งในผู้ผลิตเครื่งใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ออกมาประกาศหยุดการผลิตสินค้าประเภทหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ในช่วงปลายปี 2027 ถือเป็นการยุติประวัติศาสตร์กว่า 7 ทศวรรษของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้
พานาโซนิคเริ่มผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ครั้งแรกเมื่อปี 1951 หรือราว 73 ปีที่แล้ว ปัจจุบันญี่ปุ่นมีผู้ผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เพียง 3 เจ้าเท่านั้น คือ พานาโซนิค, โตชิบาไลติ้ง (Toshiba Lighting) และโฮตาลักซ์ (Hotalux)
พานาโซนิค ผู้ผลิตเครื่งใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของพานาโซนิคเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามทั่วโลกที่จะกำจัดผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว เพราะมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ
พานาโซนิคเป็นบริษัทแรกที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหยดช่วงเวลาหยุดการผลิตฟลูออเรสเซนต์ที่ชัดเจน โดยคาดว่าจะเพิ่มการผลิตหลอดไฟ LED) แทน แม้ว่ารายละเอียดต่าง ๆ จะยังไม่ชัดเจนก็ตาม
การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อตกลงระหว่างประเทศในเดือน พ.ย. 2023 ที่จะห้ามการผลิต ส่งออก และนำเข้าหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ประเภททั่วไปในช่วงปลายปี 2027 เนื่องจากอันตรายจากสารปรอท
แต่หลอดไฟที่ผลิตก่อนวันที่กำหนดดังกล่าวจะยังคงสามารถจำหน่ายได้ในปี 2028 และปีต่อ ๆ ไป รวมถึงทางบริษัทวางแผนที่จะผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ต่อไปจนกว่าจะถึงกำหนดเส้นตาย เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังคงมีอยู่ในญี่ปุ่น
ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตหลอดไฟของญี่ปุ่น ณ เดือน มิ.ย. 2024 ประมาณ 60% ของหลอดไฟที่มีอยู่ในญี่ปุ่นเป็นหลอดไฟ LED ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเป็นหลอด LED ภายในปี 2030 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากหลอดไฟได้
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังคงมีอุปสรรคอยู่ เพราะผู้ใช้หลอดไฟมักจะไม่เปลี่ยนจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน ซึ่งปกติแล้วหลอดฟลูออเรสเซนต์จะมีอายุใช้งานประมาณ 2-4 ปี และการเปลี่ยนหลอดไฟมักต้องปรับปรุงใหม่เพื่อเปลี่ยนโคมไฟและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ หลอด LED ยังมีราคาแพงกว่า ซึ่งเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่นขณะนี้
เรียบเรียงจาก Nikkei Asia
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/230775
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา