20 ส.ค. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จับตาค่าเงินบาทไทย "แข็งค่า" ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลง

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกำลังตกอยู่ในจุดอันตราย ขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาการตั้งรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และผลการประชุมดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
สำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากเคยดิ่งลงสุดในรอบเกือบ 2 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม แต่การฟื้นตัวดังกล่าวอาจหยุดชะงักลง หลังจากเกิดสถานการณ์ทางการโดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีการเปลี่ยนแปลงเป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังจากศาลได้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์
นายเจฟฟรีย์ จาง โบรกเกอร์ต่างประเทศ มองว่า ยังคงมองค่าเงินบาทเป็นลบโดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ เขาบอกว่าเศรษฐกิจของของประเทศไทยอาจยังคงเผชิญความท้าทาย และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเข้าสู่ทิศทางลดลง เนื่องจากการเติบโตเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคในระยะยาว
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเร็วๆ นี้ ดูจะอ่อนค่าในทางเทคนิคเช่นกัน ขณะที่โบรกเกอร์บางคนมองว่าสิ้นปีนี้จะอ่อนค่าลงถึง 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ นักลงทุนจะหันมาให้ความสนใจกับการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ (21 ส.ค.67) โดยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ซึ่งอาจทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนแคบลงระหว่างไทยและสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ ก็อาจช่วยหนุนค่าเงินบาทได้
แต่ที่น่าสนใจคือก่อนหน้านี้ นางสาวแพทองธาร เคยมีความเห็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและกล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจประเทศ สะท้อนความเห็นต่อนโยบายการเงินที่ไม่ตรงกันนัก
“หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็อาจเผชิญกับแรงต้านจากการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติม” โมห์ ซอง ซิม นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารกลางสิงคโปร์ ระบุ ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนตัวไปที่ระดับ 36.0 ต่อดอลลาร์ภายในสิ้นไตรมาสนี้
นอกจากนี้ ไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงและกระแสข่าวการยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อีกด้วย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
อย่างไรก็ตาม มุมมองของ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้จะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณว่าการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยทยอยคลี่คลายลง
ในช่วงระหว่างวัน มองว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนทั้งในฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่า ไปตามทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ในช่วงนี้ มีการเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างพอสมควร 145-148 เยนต่อดอลลาร์ ดังจะเห็นได้จากในช่วงวันก่อนหน้าที่เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นจากโซน 148 เยนต่อดอลลาร์ จนเข้าใกล้ระดับ 145 เยนต่อดอลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นจนทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินบาทเช้านี้ (20 ส.ค. 67) เปิดตลาด 34.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” จากวันก่อนหน้า
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/monetary/230830
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา