Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กระทรวงการต่างประเทศ
•
ติดตาม
20 ส.ค. เวลา 09:39 • การเกษตร
ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานฯ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สานต่อองค์ความรู้ สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โครงการพระราชดำริที่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่ม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงสืบสานและต่อยอดนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ได้ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ อย่างเช่นภาคอีสานของไทยที่นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ในอดีตประสบกับความยากลำบากหลายด้าน
แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้ในปัจจุบัน โครงการการพัฒนาต่าง ๆ ได้นำไปสู่การสานต่อและขยายผลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศ
ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้พาคณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
โดยการเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาดูงานคณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ภายใต้หัวข้อ “มนต์เสน่ห์แห่งภาคอีสานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ณ จังหวัดสกลนครและนครพนม ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นในห้วงของงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ด้วย
คณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
การศึกษาดูงานครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานของไทย ให้กับคณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่สายพระเนตรอันยาวไกลของรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงริเริ่มพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
โดยที่คณะผู้เยี่ยมชมประกอบด้วย เอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย และคณะทูตจากทั่วโลกอีก 19 ท่าน รวมถึงผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาก 13 สำนักข่าวร่วมคณะด้วย การเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญ ในการเผยแพร่องค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน ให้แก่ผู้ที่ความสนใจทั่วโลกได้เรียนรู้และนำไปต่อยอดกับบริบททางภูมิสังคมของประเทศนั้นๆ ด้วย
ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งบุคคลที่สนใจ สามารถติดต่อเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ ไปลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง หนึ่งในฐานที่ได้รับความสนใจมากจากคณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศคือ “งานศึกษาและพัฒนาพันธุ์ข้าว” โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมที่มาจากทวีปเอเชียซึ่งส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นหลัก การศึกษาในจุดนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศที่มีการปลูกข้าวด้วย โดยในฐานงานศึกษาและพัฒนาพันธุ์ข้าว มี 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมการทำนาโยน และการเยี่ยมชมนิทรรศการข้าว (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
กิจกรรมที่ 1 คือ “การทำนาโยน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการทำนารูปแบบใหม่ ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 3-4 กก./ไร่ จึงประหยัดกว่าการทำนาในรูปแบบเดิม โดยในการสาธิตทำนาโยนจะใช้พันธุ์ข้าว กข83 มะลิดำหนองคาย ซึ่งปลูกเป็นต้นกล้าในถาดหลุมก่อน โดยใช้ประมาณ 50-70 ถาด/ไร่ ใช้ต้นกล้าอายุประมาณ 12-16 วัน
จากนั้นเตรียมดินในแปลงนา นำต้นกล้าข้าวโยนให้ทั่วแปลง เราสามารถดูแลรักษาข้าวตามขั้นตอนปกติ ทำให้ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ง่ายลดภาระแรงงาน ซึ่งผลผลิตไม่แตกต่างกับการทำนารูปแบบเดิม อีกทั้งยังสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีกว่า และสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้
ชามะนาวข้าวและซีเรียลบาร์ข้าวสองสี (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
กิจกรรมที่ 2 คือ “การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว” ได้แก่ ชามะนาวข้าวและซีเรียลบาร์ข้าวสองสี การแปรรูปเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว กข83 นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของไทยในการเปิดตลาดส่งออกใหม่ของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว กข83 ด้วย
ฐาน 4 ดำมหัศจรรย์+1 (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
อีกฐานหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากคณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คือ ฐาน “4 ดำมหัศจรรย์+1” โดยหมายถึง สัตว์สีดำ 4 ชนิด ได้แก่ สุกรภูพาน ไก่ดำภูพาน โคเนื้อภูพาน และกระต่ายดำภูพาน ซึ่งผ่านการพัฒนาสายพันธุ๋โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้สามารถเลี้ยงง่าย รับประทานง่ายและคุณค่าทางโภชนาการสูง
สุกรดำ หรือ สุกรภูพาน (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
โดย “สุกรดำ” หรือ “สุกรภูพาน” พัฒนาขึ้นจากสุกรพันธุ์ "เหมยซาน" ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ทรงพระราชทานเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เหมยซานขึ้นใหม่
โดยนำสุกรพันธุ์ดังกล่าวไปผสมกับพันธุ์พื้นเมืองสกลนคร และนำผสมพันธุ์ข้ามกับสุกรสายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งเหมาะสมกับระบบการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถกินเศษอาหารหรือผักผลไม้ที่เหลือจากการทำเกษตรกรรมอื่น ๆ จนจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของครอบครัว สร้างกำไรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้มากขึ้น
โคเนื้อภูพาน (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
“โคเนื้อภูพาน” เป็นโคสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นมาจากโคเนื้อพันธุ์วากิว (Wagyu) สายพันธุ์ทาจิมะ (Tajima) ของญี่ปุ่นซึ่งได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และได้ทรงพระราชทานต่อให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงการจัดการของเกษตรกรในประเทศไทย
ไก่ดำภูพาน (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
“ไก่ดำภูพาน” ประกอบด้วย “เมลานิน” หรือสารสีดำจำนวนมาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราของเซลล์ และออกฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง และสุดท้าย “กระต่ายดำภูพาน” นอกจากจะมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มอร่อยแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มากกว่ากระต่ายทั่วไป ส่วน +1 หมายถึง กวางรูซ่า ซึ่งเลี้ยงทั้งเพื่อการบริโภคและนำเขากวางอ่อนมาแปรรูปด้วย
จากการเยือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครั้งนี้ คณะทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน ที่พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงริเริ่มขึ้น จนเกิดการสานต่อและขยายผลโดยชุมชน กลายเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงเป็นโอกาสให้คณะผู้เยี่ยมชมส่งต่อเรื่องราวและองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ประชาชนทั่วโลกด้วย
ประเทศไทย
ในหลวงรัชกาลที่9
ความยั่งยืน
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย