20 ส.ค. เวลา 11:58 • การเมือง

กระแสโซเชียล อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร นายกฯ คนที่ 31 วิเคราะห์เสียงสะท้อนจากชาวเน็ต

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งนี้ และเป็นบุคคลที่สามในตระกูล “ชินวัตร” ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศไทย ส่งผลให้เกิดกระแสการพูดคุยและถกเถียงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 15 – 18 สิงหาคม 2567 ถึงประเด็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย” พบว่าชาวโซเชียลต่างแสดงความคิดเห็น สะท้อนทั้งความคาดหวังและข้อกังวลต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดและทัศนคติทางการเมืองในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน
วิเคราะห์ความรู้สึกของชาวโซเชียลต่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 (Sentiment Analysis)
ประเด็นที่ชาวโซเชียลพูดถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 (Comment Topics)
เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของความคิดเห็น (Comments) ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดีย สามารถสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แพทองธาร ได้ดังต่อไปนี้
1
1. สานต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย (41.3%)
ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet)
นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย ประชาชนส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่านโยบายนี้อาจจะไม่ได้รับการดำเนินการต่อ ส่งผลให้มีทัศนคติเชิงลบต่อพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร สูงถึง 74.7% ของการกล่าวถึงนโยบาย Digital Wallet
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ยังคงมีความหวังว่านายกฯ แพทองธารจะสามารถดำเนินนโยบายนี้ต่อไปได้ เนื่องจากมีข้อมูลว่างบประมาณบางส่วนได้รับการอนุมัติแล้ว
นโยบายลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน
หนึ่งในนโยบายหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือการลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค เช่น การลดค่า Ft และค่าน้ำมัน ซึ่งสัญญาว่าจะดำเนินการได้ทันทีหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ปัจจุบัน ความคิดเห็นส่วนใหญ่บนโซเชียลมีเดียอยู่ในสถานะ ‘รอดู’ โดยยังไม่ตัดสินว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะสามารถดำเนินการตามนโยบายนี้ได้หรือไม่ ส่งผลให้ทัศนคติส่วนใหญ่เป็นกลาง คิดเป็น 85% ของการกล่าวถึงนโยบายด้านการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)
ก่อนการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร รับบทบาทประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนในโซเชียลมีเดียมีความคาดหวังเชิงบวกต่อการผลักดันนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ของเธอ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การผลักดันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การยกระดับการผลิตสินค้า เป็นต้น
การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคมไทย สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการขาดความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ นโยบายด้านสาธารณสุขที่นำกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดได้สร้างความท้าทายในการจัดการกับปัญหานี้ ภายหลังจากที่ น.ส.แพทองธารได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ประชาชนในโซเชียลมีเดียต่างแสดงความคาดหวังอย่างสูงต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ความคาดหวังนี้มีรากฐานมาจากความสำเร็จในอดีตของรัฐบาลภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ซึ่งสามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกระดับฐานรายได้
ในช่วงหาเสียง พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท เมื่อมีการประกาศแต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ลูกสาวของอดีตนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประชาชนในโซเชียลมีเดียจึงให้ความสนใจนโยบายนี้ โดยหวังว่าเธอจะสามารถทำให้เศรษฐกิจดีเช่นเดียวกับบิดาของเธอที่ทำได้ในอดีต
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางส่วน (5% ของการกล่าวถึงนโยบายการเพิ่มรายได้) ที่แสดงความไม่เชื่อมั่นว่านายกฯ แพทองธาร จะสามารถทำให้นโยบายด้านรายได้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือการอ้างอิงคำกล่าวของ น.ส.แพทองธารในช่วงหาเสียง “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อม ๆ
2. ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสม (35.2%)
การไม่รักษาคำพูด
หลังจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สลับขั้วไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วอำนาจเดิมในฝั่งอนุรักษ์นิยม และทำให้พรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึงการผิดคำมั่นที่พูดไว้เรื่อง “ปิดสวิตช์ 3 ป” ตอนหาเสียงเลือกตั้ง
เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความไม่พอใจของชาวโซเชียลบางกลุ่มจนเกิดวลี “เพื่อไทยหักหลังประชาชน” รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็นโดยใช้อิโมจิรูปสตรอว์เบอร์รี่เป็นสัญลักษณ์ สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร ในฐานะผู้นำพรรค
คุณวุฒิและวัยวุฒิ
ประเด็นความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องอายุและประสบการณ์ทางการเมือง ประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ได้แก่ อายุน้อยเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ และขาดผลงานทางการเมืองที่เป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างถึงคำพูดของนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยกล่าวเมื่อครั้งที่มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ไม่ต้องการได้สามเณรเป็นเจ้าอาวาส” ในครั้งนี้จึงมีการเปรียบเปรยกันในบางส่วนของสังคมออนไลน์ว่า “ได้แม่ชีเป็นเจ้าอาวาส” โดยต้องการสื่อถึง น.ส.แพทองธาร อย่างไม่เป็นทางการ
สืบทอดอำนาจครอบครัวชินวัตร
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงข้อสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร โดยมีประเด็นหลักดังนี้
พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง
ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการทางการเมืองไทย: สถานการณ์นี้ถูกมองว่าสะท้อนปัญหาในระบบการเมืองของไทยที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
อิทธิพลของตระกูลชินวัตร: มีการตั้งคำถามว่าการได้รับตำแหน่งนี้อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของครอบครัว และมีการตั้งข้อสังเกตว่าน.ส.แพทองธาร อาจเป็นเพียงตัวแทนในการบริหารประเทศแทนอดีตนายกฯ ทักษิณ
ข้อสงสัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของประชาชนต่อความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ตัวแทนคนรุ่นใหม่
ชาวโซเชียลบางส่วนแสดงความยินดีและพร้อมสนับสนุนนายกฯ แพทองธาร โดยมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารประเทศได้ดี จึงอยากให้โอกาสและรอดูผลงานก่อนแล้วค่อยตัดสินทีหลัง โดยสิ่งที่ชาวโซเชียลกำลังจับตาพิจารณาในช่วงนี้คือการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจว่าจะใช้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมบริหาร หรือเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่าที่เคยทำงานกับนายทักษิณมาก่อน
3. เสถียรภาพทางการเมือง (17.6%)
เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้สร้างความกังวลให้กับประชาชนในโซเชียลมีเดีย โดยมีประเด็นหลักดังนี้
ความเปราะบางของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 ปี
ความกังวลว่านายกฯ แพทองธารอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกัน
ความกังวลเกี่ยวกับการบริหารประเทศของนายกฯ แพทองธาร ภายใต้อิทธิพลของนายทักษิณ
ประเด็นการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของประชาชนต่อเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน
4. เฝ้ารอการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ (5.9%)
แม้ว่าประเด็นหลักซึ่งมีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันในหลากหลายแง่มุมจะเกี่ยวข้องกับความนิยมของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย รวมถึงการแบ่งแยกแนวคิดทางการเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม แต่ก็ยังคงมีการพูดถึงประเด็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
ประเด็นปากท้อง: บางส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก
ความสงบของบ้านเมือง: มีการแสดงความคิดเห็นที่เน้นความสำคัญของเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม
Insight ที่น่าสนใจจาก Reaction ของผู้คนบนเฟซบุ๊ก
การวิเคราะห์การแสดงอารมณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับนายกฯ แพทองธารผ่าน Reaction บนเฟซบุ๊ก พบประเด็นที่น่าสนใจ คือโดยปกติผู้ใช้เฟซบุ๊กมักจะกดไลค์ (Like) เพราะกดง่าย แตกต่างจาก Reaction อื่นที่ต้องเลื่อนเพื่อจะเลือก แต่จากการศึกษาโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แพทองธารซึ่งมี Engagement สูงกว่า 10,000 ครั้ง กลับพบว่ามีการกดปุ่ม “หัวเราะ” เฉลี่ยสูงถึง 29% ของ Reaction ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ
การตีความ Reaction “หัวเราะ”:
– ไม่ได้สะท้อนถึงความขบขันจากเนื้อหาโพสต์โดยตรง
– อาจบ่งชี้ถึงทัศนคติเชิงลบต่อนายกรัฐมนตรีและระบบการเมือง
– อาจเป็นการแสดงความไม่เชื่อมั่นหรือการเยาะเย้ย
นัยยะทางสังคม: การใช้ Reaction “หัวเราะ” บนโซเชียลมีเดียอาจเป็นวิธีที่ผู้คนใช้เพื่อแสดงความรู้สึกอย่างปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงวิธีที่คนไทยในยุคดิจิทัลเลือกแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านฟีเจอร์ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ท้ายที่สุดแล้ว เสียงสะท้อนของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียได้เผยให้เห็นภาพอันซับซ้อนของความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์การเมืองไทย แม้จะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวงจรปัญหาทางการเมืองที่ดูเหมือนไร้ทางออก แต่ยังคงมีประกายแห่งความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง
ประชาชนยังคงตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบการเมือง และยกระดับการบริหารประเทศ ความรู้สึกที่ผสมผสานระหว่างความท้อแท้และความคาดหวังนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเผชิญ ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นและนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ประชาชนต้องการ
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15-18 สิงหาคม 2567
เกี่ยวกับ DXT360
DXT360 เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งจากโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ สื่อบรอดคาสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของผู้บริโภค (Consumer Voices) คอนเทนต์จาก Influencers และ KOLs ไปจนถึงข่าวจากสื่อมวลชน ที่รวบรวมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน
มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Dashboard ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละราย (Customizable Dashboard) จึงทำให้เข้าใจและเห็น Insight ในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้เห็นทิศทางการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรได้
โฆษณา