20 ส.ค. เวลา 16:02 • ประวัติศาสตร์
อำเภอพนมสารคาม

ศิลปะล้านช้าง ณ ฉะเชิงเทรา ตอนที่ 1 ฮูปแต้ม

หลายท่านอาจจะรู้หรือเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง แต่ผมเชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบมาก่อนว่าในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกทม.แห่งนี้ นอกจากศิลปะสายภาคกลางแล้ว ที่นี่ยังพบหลักฐานของศิลปะลาวล้านช้างอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีปริมาณที่มากมาย แต่ก็น่าสนใจว่า เหตุใดจึงปรากฏงานช่างแบบล้านช้างในจังหวัดฉะเชิงเทราแห่งนี้
แต่เนื่องจากหลักฐานที่พบมีหลากหลายพอประมาณ ผมเลยจะขอแบ่งเป็น 4 ตอนให้ได้ติดตามกันครับ และจะขอเริ่มด้วยสิ่งที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัวอย่าง "จิตรกรรมฝาผนัง" หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ฮูปแต้ม" ครับ
หลักฐานของฮูปแต้มแบบล้านช้างในจังหวัดฉะเชิงเทราพบอยู่ 2 แห่งด้วยกัน และทั้งสองวัดต่างก็ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคามเหมือนกันด้วย ได้แก่ วัดโพธิรังษี (วัดเมืองกาย) และ วัดเตาเหล็ก
วัดโพธิรังษี หรือ วัดเมืองกายนี้เล่ากันว่าสร้างโดยกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยตั้งชื่อตามวัดเดิมในเวียงจันเพื่อระลึกถึงบ้านเมืองที่จากมาและอาจไม่มีโอกาสกลับไปอีกแล้ว ซึ่งเป็นขนบที่พบได้บ่อยครั้งกับวัดที่สร้างโดยกลุ่มคนลาวอพยพ
สิม วัดเมืองกาย
หลักฐานจิตรกรรมที่วัดเมืองกายแห่งนี้อยู่ภายในสิมเก่าของวัดซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยฝีมือช่างแบบพื้นบ้าน โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
บริเวณผนังระหว่างช่องประตูและหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติและเวสสันดรชาดกที่มีการแทรกด้วยภาพกากที่แสดงทั้งวิถีชีวิต เครื่องแต่งกาย อาคารบ้านเรือน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เรือกลไฟ เอาไว้ด้วย
ภายในสิม วัดเมืองกาย
ฮูปแต้ม พุทธประวัติ
เวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน
ส่วนผนังที่อยู่เหนือขึ้นไปเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถมพื้นหลังด้วยสีเข้ม และ กลุ่มที่ปล่อยพื้นหลังเป็นสีขาว ซึ่งรูปแบบของพระพุทธเจ้าเจ้าที่พบมีความคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าที่พบในฮูปแต้มในศิลปะล้านช้าง สังเกตได้จากพระเศียรที่มีผมเป็นปมและมีรัศมียอดแหลม
พระอดีตพุทธเจ้า ขนาบข้างด้วยพระสาวก ด้านหน้ามีเครื่องบริขารบางชนิด บางชิ้นมีจารึก
พระอดีตพุทธเจ้าในพิ้นสีขาว มีรูปแบบคล้ายพระพุทธรูปทรงเครื่อง ขนาบข้างดว้ยพระสาวกทรงเครื่องพร้อมกับบริขารบางส่วน
พระอดีตพุทธเจ้า วัดป่าเรไร จังหวัดมหาสารคาม
ส่วนวัดเตาเหล็กนั้นก็สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันเช่นเดียวกับวัดเมืองกาย โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อของหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพนมสารคาม เนื่องจากกลุ่มคนลาวกลุ่มนี้ประกอบอาชีพตีเหล็กและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆเป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำไร่ทำนา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเตาเหล็กนี้ก็อยู่ภายในสิมเช่นกัน โดยภาพนั้นพบทั้งด้านนอกและด้านในของสิม ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของฮูปแต้มในศิลปะลาวล้านช้าง ภาพที่ผนังด้านนอกนั้นจะเขียนขึ้นพร้อมกับสิมหรือในสมัยหลังนั้นบอกยาก เนื่องจากหลักฐานที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนั้นได้รับการซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2494 ตามที่ระบุไว้ที่ผนังระหว่างประตูทางเข้า โดยเนื่อหาด้านนอกนั้นเขียนภาพพุทธประวัติแบบแบ่งช่องสี่เหลี่ยม พร้อมคำบรรยายภาพเป็นภาษาไทย น่าเสียว่าชื่อผู้สร้างนั้นลบเลือนไปหมด
ผนังด้านหน้าสิม มีภาพรามสูร - เมขลา พร้อมข้อความระบุว่า "ซ่อมปี พ.ศ. 2494"
ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอก เล่าเรื่องพุทธประวัติแบบแบ่งช่อง พร้อมคำบรรยายภาพ
ส่วนภาพด้านในสิมนั้นประดิษฐานพระประธานนาม "พระทศพลศรีวโรดม" หรือ "หลวงพ่อหลวง" พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง และแม้จะลบเลือนอย่างมาก แต่ก็มีร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังอยู่ที่ผนังสกัดหลังและผนังด้านข้าง ซึ่งแต่เดิมมีการตีความว่าเป็นภาพการอพยพของกลุ่มคนลาวและวิถีชีวิตชาวบ้านเตาเหล็ก
ภายในสิม วัดเตาเหล็ก
แต่หากสังเกตดีๆจะพบว่า บริเวณผนังสกัดหลังมีร่องรอยของงวงช้างที่กำลังชูดอกบัวขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพช้างคีรีเมขลัง ช้างพาหนะของพญาวัสวดีมารที่กำลังแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าหลังจากพ่ายแพ้แล้ว ดังนั้น ภาพด้านข้างที่เหมือนภาพกลุ่มคนกำลังขี่พาหนะต่างๆจึงน่าจะเป็นภาพของกองทัพพญามารมากกว่า ยิ่งสังเกตจากพาหนะบางชนิดที่พบ เช่น กวาง นั้นไม่ใช่พาหนะที่ใช้ในการเดินทางด้วยยิ่งทำให้ภาพนี้ไม่น่าใช่ภาพการเดินทางขึ้นไปอีก
ร่องรอยภาพงวงช้างชูดอกบัว
พญามารพ่ายแพ้ วัดโพธาราม จ.มหาสารคาม
นอกจากนี้ ยังมีภาพของพระอดีตพุทธเจ้ายืนอยู่ที่ผนังสกัดหลังซึ่งไม่พบในศิลปะภาคกลาง แต่พบอยู่บ้างทางภาคอีสาน เป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันอีกชั้นหนึ่ง ว่าจิตรกรรมชุดนี้น่าจะวาดโดยช่างลาวจริงๆ รวมไปถึงรูปแบบของพระพุทธเจ้าที่คล้ายกับที่วัดเมืองกายที่เป็นฝึมือช่างลาวสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น จิตรกรรมที่วัดเตาเหล็กก็น่าจะถูกวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน
พระอดีตพุทธเจ้ายืน
พระอดีตพุทธเจ้าแบบยืน วัดบ้านยาง จ.มหาสารคาม
และนี่เป็นแค่ตอนแรกเท่านั้น ตอนถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร งานศิลปกรรมแบบไหน ก็ฝากติดต่อตอนที่ 2 ของ "ศิลปะล้านช้าง ณ ฉะเชิงเทรา" ด้วยนะครับ
โฆษณา