21 ส.ค. เวลา 00:34 • ความคิดเห็น

ห้วงคำนึงและบางคำถาม จากประภาคารกลางมหาสมุทร (นิ้วกลมนั่งเล่า 2567)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 ผมได้ไปฟัง "นิ้วกลมนั่งเล่า #ประภาคารกลางมหาสมุทร" ที่โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ มาครับ
1
เป็นรอบสุดท้ายของสามรอบการแสดง โดยสองรอบก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม
นี่ถือเป็นทอล์กโชว์ครั้งที่สามของพี่เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หลังจากเคยจัดไปแล้วสองครั้งในปี 2559 - 10 ปี นิ้วกลม ทอล์กโชว์ไม่มีขา และปี 2566 - นิ้วกลมนั่งเล่า #ดอกไม้ในพายุหมุน ซึ่งผมไม่เคยได้ไปร่วมงานเลย
โชคดีที่ปีนี้ "พี่ปลา" แห่ง IMET MAX ช่วยจองตั๋วแบบหมู่คณะ ผมเลยมีโอกาสได้เจอเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่เคารพชาวไอเม็ตแม็กซ์หลายคนก่อนนิ้วกลมนั่งเล่าจะเริ่ม
บทสรุปของทอล์กโชว์ครั้งนี้มีหลายคนทำเอาไว้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพี่แทป รวิศ หาญอุตสาหะ พี่บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ คุณยศ สรกฤช อ้นมณี เพจ Future Trends สรุปโดยคุณภคณัฐ ทาริยะวงศ์ และเพจ Runner's Journey
1
ถ้าผมจะเขียนสรุปอีกก็คงซ้ำซ้อน เลยขอจะทำบางอย่างที่ต่างออกไป
คือแทนที่จะเขียนให้คนที่ไม่ได้ไปฟังทอล์กโชว์อ่าน ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้ให้กับคนที่ได้ไปดูทอล์กโชว์ เพราะน่าจะพอนึกภาพตามและเข้าใจได้ไม่ยากนัก
แต่ถ้าคุณไม่ได้ไปร่วมงานก็อ่านได้เช่นกันนะครับ เชื่อว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
สิ่งที่ผมคิดและตีความ บางอย่างอาจจะเกิดขึ้นโดยความตั้งใจและวางแผนไว้แล้วของพี่เอ๋และทีมงานอีก 30 ชีวิต บางอย่างอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ และบางอย่างผมอาจเข้าใจผิดไปไกล ซึ่งต้องขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยครับ
2
จากนี้ไปคือห้วงคำนึงและบางคำถามจากงานนิ้วกลมนั่งเล่าแห่งปี 2567 ครับ
-----
โปสเตอร์โปรโมตงานและคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ
โปสเตอร์งาน "นิ้วกลมนั่งเล่า #ประภาคารกลางมหาสมุทร" เห็นได้ชัดว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในโลก
The Great Wave off Kanagawa หรือ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ เป็นผลงานของ คัทสึชิกะ โฮคุไซ ซึ่งถูกเผยแพร่ครั้งแรกราว ค.ศ. 1831-1832 หรือเกือบ 200 ปีที่แล้ว
3
ขอบคุณภาพจาก Wikipedia
ภาพสีฟ้าครามแสดงให้เห็นถึงคลื่นยักษ์จากมุมมองนอกชายฝั่งคานากาวะทางใต้ของโตเกียว หิมะที่โปรยปราย เรือประมง 3 ลำบนคลื่น กับชาวประมงราว 20 คน ที่ไม่แน่ชัดว่ากำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดหรือจำนนต่อโชคชะตา มีภูเขาไฟฟูจิซึ่งอยู่ห่างไกลและดูมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตัวคลื่น
1
โปสเตอร์ทอล์กโชว์ประภาคารกลางมหาสมุทรก็มีคลื่นยักษ์นี้เช่นกัน แต่ฟูจิถูกแทนที่ด้วยประภาคาร ไม่มีชาวประมงบนเรือ แต่มีคนมากหน้าหลายตา บางคนกำลังว่ายน้ำ บางคนกำลังจมน้ำ บางคนใช้ห่วงยาง และบางคนก็อยู่บนกระดานโต้คลื่น
2
ขอบคุณภาพจากโรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศ
และถ้ามองโปสเตอร์ให้นานขึ้นอีกหน่อย ก็จะเห็นว่าในคลื่นยักษ์นั้นไม่ใช่น้ำ แต่เป็นแมว หมาจิ้งจอก ปลาหมึก นกกระสา กระต่าย เต่า และสารพัดสัตว์
1
ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในสารสำคัญของนิ้วกลมนั่งเล่าในครั้งนี้ ว่าเราไม่ใช่คลื่น เราคือมหาสมุทร
-----
"ไม่รู้ว่าเธอ ไม่รู้ว่าจะได้ยินเพลงนี้รึยัง อยากจะให้เธอ ช่วยมารับฟัง ว่าฉันนั้นคิดถึง"
ถ้อยคำแรกของทอล์กโชว์ครั้งนี้ ไม่ได้เปล่งออกมาจากปากของนิ้วกลม แต่เป็นเสียงเพลงที่เป็นท่อนแยกของเพลง "ช่วงที่ดีที่สุด" ของพี่บอย โกสิยพงษ์ ที่พี่ป๊อด ธนชัย ร่วมร้องกับคุณวินัย พันธุรักษ์
เวอร์ชั่นในทอล์กโชว์ มีการนำมาเรียบเรียงใหม่ โดยมีนักเต้นประกอบหญิง 4 ชาย 2
เมื่อจบแต่ละองก์ พี่เอ๋จะเดินไปหลังเวทีเพื่อพักเพียงครู่เดียว โดยจะมีนักแสดง 6 คนนี้ขึ้นมาพร้อมกับท่อนใดท่อนหนึ่งของเพลง "ช่วงที่ดีที่สุด" ทุกครั้ง
-----
ทำไมถึงใส่ชุดสีนี้?
1
สองวันก่อนงานทอล์กโชว์ พี่เอ๋โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า
1
"ชวนทุกคนใส่เสื้อสีฟ้าครามน้ำเงินขาวมาเนรมิตโรงละครให้เป็น 'มหาสมุทร'​ กันนะคร้าบบบ'
ซึ่งเท่าที่ผมดูรอบกาย แทบทุกคนที่มาร่วมชมก็ใส่เสื้อเข้าธีมเป็นอย่างดี
เลยอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมพี่เอ๋ถึงใส่ชุดสีเหลืองมัสตาร์ดทั้งท่อนบนท่อนล่าง
พี่เอ๋ก็รู้ตัวว่าคนดูน่าจะมีคำถามนี้ แถมยังยิงมุกใส่ตัวเองด้วยว่าแต่งตัวเหมือนหลวงจีน พร้อมทั้งโชว์ให้ดูว่าข้างในยังใส่เสื้อยืดและถุงเท้าสีฟ้า
แต่พี่เอ๋ก็ไม่ได้เฉลยอยู่ดีว่าทำไมถึงเลือกใส่ชุดแบบนี้
ขอบคุณภาพจากเพจ Roundfinger
-----
ทำไมถึงเล่าเรื่องผี?
มาฟังนิ้วกลมนั่งเล่า ใครจะนึกว่าเรื่องแรกที่พี่เอ๋เล่าคือเรื่องหลอนๆ ในอินเดีย
พี่เอ๋และคณะไปถ่ายทำรายการหนึ่งในเมืองที่ห่างไกล น้องคนหนึ่งชื่อแป้งที่ร่วมคณะไปด้วยนั้นมีจิตสัมผัส มองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นตามถนนที่รถขับผ่าน
กว่าจะถึงที่พักก็มืดค่ำแล้ว แถมโรงแรมก็เก่าและบรรยากาศวังเวงมาก หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็เข้าห้องพัก ทีมงานส่วนใหญ่นอนบนพื้น และให้พี่เอ๋กับพี่อีกคนนอนบนเตียงที่ขนาดใหญ่เกินสองคน พี่เอ๋ไม่อยากให้มีที่ว่างตรงกลาง เลยพยายามเอากระเป๋าเอาอะไรมากองๆ ไว้
ตอนรุ่งเช้า หลังจากเช็คเอาท์แล้ว น้องแป้งเล่าให้ฟังว่า ที่ว่างบนเตียงนั้น น้องเขาเห็นมีคนอื่นมานอนอยู่ด้วยนะ
-----
พี่โน้ตทำได้ไง?
ความรู้สึกหนึ่งตอนที่ฟังพี่เอ๋เล่าเรื่องข้างบน คือคิดถึงพี่โน้ต อุดม ที่ชอบเอาเรื่องผีมาเล่าในเดี่ยวไมโครโฟนหลายต่อหลายภาค
สังเกตได้ว่าพี่เอ๋และทีมงานเตรียมความคิด สคริปต์ และการซ้อมมาหนักมาก ถึงกระนั้นแล้วก็ยังจำเป็นต้องมีจอมอนิเตอร์บนเวทีให้พี่เอ๋คอยชำเลือง ผมไม่แน่ใจว่าบนจอมีข้อความอะไรบ้าง แต่ก็ขอเดาเอาเองว่าน่าจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญๆ ของเรื่องราวที่กำลังเล่าอยู่
แล้วผมก็นึกถึงการไปชมเดี่ยวไมโครโฟนครั้งแรกของผมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คืองานเดี่ยว 13
พี่โน้ตกับเก้าอี้หนึ่งตัวและไมโครโฟนหนึ่งตัว นอกนั้นไม่มีอะไรอื่น และพี่โน้ตก็พูดคนเดียวเกือบ 4 ชั่วโมงเต็มในพารากอนฮอลล์ที่มีความจุ 5000 คน หรือใหญ่กว่าสยามพิฆเนศ 5 เท่า
ต้องเทพขนาดไหนถึงจะทำแบบพี่โน้ตได้ ในฐานะนักพูดและศิลปินทอล์กโชว์ชาวไทย ผมว่าพี่โน้ตน่าจะเป็น GOAT (Greatest of All Time) ที่ยังไม่มีวี่แววว่าใครจะมาทดแทนได้เลย
เมื่อเดือนที่แล้วผมได้ไปดูคอนเสิร์ต Everybodyslam ก็คิดเหมือนกันว่าต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าเมืองไทยจะมีวงร็อคระดับบอดี้สแลมได้อีก
พี่เบิร์ด ธงไชย ก็เป็น GOAT อีกหนึ่งท่าน สมัยพีคๆ คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดตอน "มันอยู่ในมือมนุษย์บูมเมอแรง" ถูกจัดไป 22 รอบ คนดูทั้งหมด 44,000 คน
ได้แต่บอกตัวเองว่า อย่าเห็น GOAT เป็นของธรรมดา วันหนึ่งเขาเลิกราไปแล้วเราจะเสียดายที่มีโอกาสแล้วเราไม่ได้ไปเชยชม
-----
พี่เอ๋ทำได้ไง?
แขกรับเชิญที่ผมชอบมากที่สุด (ที่จริงก็มีคนเดียวน่ะนะ) ก็คืออาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
อาจารย์ตุลขึ้นเวทีมา พลังงานของโชว์เปลี่ยนเลย ผมเคยเจอไม่กี่คนที่มี presence บนเวทีระดับนี้ คนล่าสุดที่จำได้คือคุณกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ที่ยกระดับพลังงานในคอนเสิร์ตของแสตมป์ อภิวัชร์ "ด้วยรักและแอบดี" เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
อาจารย์ตุล เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เชี่ยวชาญในประเด็นปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู
1
อาจารย์ตุลเล่าให้คนดูฟังว่า พี่เอ๋เลือกวันแสดงโดยไม่ได้ดูปฏิทินจีนเลยว่าวันนี้ (18 สิงหาคม) เป็นวันสารทจีน ซึ่งทุกปีอาจารย์ตุลจะต้องจัดเตรียมอาหารเป็นอย่างดีเพื่อไหว้บรรพบุรุษของตระกูล "อุ่ยเต็กเค่ง" ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นพ่อของเทียด กว่าจะจัดอาหารเสร็จก็ต้องรีบบึ่งมาขึ้นเวทีของงานนี้ที่เริ่มตอนบ่ายโมง
อาจารย์ตุลยังทักอีกว่า รู้มั้ย เวลาจัดงานมหรสพในวันสารทจีนเนี่ย เขาจัดให้ผีดู พี่เอ๋ก็เลยแซวคนดูว่า ที่นั่งตรงไหนว่างก็ให้ชำเลืองไว้ด้วยนะครับ (เป็นการอ้างอิงถึงที่ว่างบนเตียงในโรงแรมอันวังเวงของอินเดียที่น้องแป้งเห็นอะไรบางอย่าง)
นี่อาจเป็นช่วงที่สนุกที่สุดของโชว์ แต่ความประทับใจของผมคือมิตรภาพของสองคนนี้ที่เคยเป็นคนแปลกหน้า แถมยังเคยไม่ชอบหน้ากันมาก่อนอีกด้วย
1
ก่อนจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว เวลาอาจารย์ตุลอ่านงานของนิ้วกลมแล้วก็รู้สึกว่าทำไมนิ้วกลมต้อง romanticize มันไปซะทุกเรื่อง อาจารย์ตุลก็เลยแขวะงานของนิ้วกลมบนโซเชียลเป็นประจำ ส่วนพี่เอ๋เองก็ชอบเข้าไปส่องเพราะอยากรู้ว่าคนที่ไม่ชอบนิ้วกลมเขียนถึงเขาอย่างไรบ้าง
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว มีเหตุให้ต้องสัมภาษณ์อาจารย์ตุลพอดี พี่เอ๋ก็เลยใจดีสู้เสือขอเป็นคนเข้าไปคุยเอง ส่วนอาจารย์ตุลพอรู้ว่านิ้วกลมจะมาสัมภาษณ์ก็ลับมีดรอเอาไว้เลยเหมือนกัน
ผมไม่รู้ว่าพี่เอ๋ทำอะไรถึงทำให้อาจารย์ตุลค่อยๆ แปลงร่างจากคนที่เคยหมั่นไส้ให้กลายมาเป็นมิตร และพร้อมมาถ่ายรายการอย่าง "นิ้วกลมดมโรตี" อยู่หลายตอน รวมถึงยอมกระหืดกระหอบมาขึ้นเวทีในวันที่ต้องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ 5 รุ่น
ก่อนจะลงจากเวที อาจารย์ตุลกับนิ้วกลมยืนกอดกันตัวกลมและยาวนาน
1
การได้กอดคนที่เคยไม่ชอบหน้าเรา น่าจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง
-----
แตกต่างที่เหมือนกันของมิเกลันเจโล ปู่จิโร่ และลามะทิเบต
พี่เอ๋เชื่อว่า "ชีวิตคือโมเมนต์" ที่ต่อกันไปเรื่อยๆ
หนึ่งในโมเมนต์ที่ตราตรึงพี่เอ๋ที่สุด ก็คือตอนที่เยือนนครวาติกัน และได้ยลโฉม Sistine Chapel ของมิเกลันเจโล (Michelangelo)
คนไทยส่วนใหญ่จะเรียกศิลปินผู้นี้ว่าไมเคิลแองเจโล - Michelangelo แต่อาจารย์ของพี่เอ๋ขอให้เรียกว่ามีเกลันเจโลซึ่งเป็นวิธีออกเสียงตามภาษาบ้านเกิดของเขา
มิเกลันเจโล ใช้เวลาวาดจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่กว่าสนามบาสเกตบอล บนเพดานที่สูงเท่ากับตึก 6 ชั้น ตั้งแต่ปี 1508-1512
ใช้เวลาสร้างงาน 4 ปี แต่ผลงานอยู่ยืนยาวถึง 500 ปี
ผมฟังแล้วก็สะท้อนใจ ว่างานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้จะมีประโยชน์ถึง 5 ปีหรือแม้กระทั่ง 5 เดือนหรือไม่ เพราะทุกอย่างเป็นอิเลคโทรนิกส์ไปเสียหมด
แต่ผมก็ใจชื้นมากขึ้นเมื่อพี่เอ๋เล่าถึงการทำ มันดาลา หรือ mandala ของพระทิเบต
ลามะ (ชื่อเรียกของพระทิเบต) จะนำเม็ดทรายมาย้อมสี จากนั้นจะค่อยๆ ช่วยกันโปรยทรายอย่างแช่มช้าเพื่อสร้างรูปวิจิตรบรรจงบนพื้นหรือบนกระดาน ซึ่งต้องใช้เวลานานอยู่หลายวัน
และเมื่อทำเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการสวดมนต์ภาวนา และจบด้วยการกวาดทรายนั้นทิ้งไป เหลือไว้เพียงความว่างเปล่า ฟังดูก็น่าเสียดายเมื่อมองจากสายตาปุถุชนว่าทำไมถึงไม่เก็บไว้ให้นานกว่านี้หน่อย
แต่มันคือปริศนาธรรมที่บอกว่า mandala ก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิต ที่เริ่มต้นด้วยความว่างเปล่า และจบลงด้วยความว่างเปล่า
พี่เอ๋ยังเล่าถึง "ปู่จิโร่" พระเอกในหนังสารคดี "Jiro Dreams of Sushi" ที่ใช้เวลากว่า 70 ปีในการสรรหาวิธีที่จะทำซูชิที่อร่อยที่สุดในโลก
และเพื่อให้ซูชิอร่อยที่สุด เมื่อปั้นเสร็จแล้วควรกินทันทีก่อนที่อุณหภูมิจะเพี้ยนไปจาก 32.22 องศา
Sistine Chapel ใช้เวลา 4 ปีในการสร้างและอยู่ยืนยาวมา 500 ปี
Mandala ใช้เวลา 4 วันในการสร้าง และอาจอยู่ได้เพียง 50 นาที
ซูชิของปู่จิโร่ อาจใช้เวลา 40 วินาทีในการปั้น และอยู่ได้เพียง 5 วินาทีก่อนจะหมดความเป็นซูชิ
แต่ผมไม่คิดว่าซูชิแต่ละคำที่ปู่จิโร่บรรจงปั้นนั้นจะมีคุณค่าน้อยกว่าภาพสรวงสวรรค์ที่มิเกลันเจโลบรรจงวาด
"งาน" ที่เราสร้างขึ้นมาอาจเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมดาของโลก แต่แรงกระเพื่อมที่มันก่อให้เกิดในใจคนแม้เพียงชั่วขณะหนึ่งก็อาจคุ้มค่าแล้วก็ได้
-----
"ที่ปัญหาเรามันใหญ่ เพราะพันธกิจเราเล็กเกินไปรึเปล่า?"
2
ประโยคนี้เป็นประโยคที่ผมชอบที่สุดในประภาคารกลางมหาสมุทร (แถมยังเป็นประโยคที่พี่เอ๋ไม่ได้เอาขึ้นจอด้วย)
เพราะประโยคนี้อธิบายได้ชัดเจน ว่าทำไมปู่จิโร่ถึงยังปั้นซูชิจนถึงวัย 90 ปี และทำไมมิเกลันเจโลถึงหลังขดหลังแข็งวาดรูปอยู่ถึง 4 ปีบนเพดานที่สูงเท่ากับตึก 6 ชั้น
เรามองว่าปัญหามันใหญ่ เพราะตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็เลยรู้สึกว่าเหนื่อยจังเลย ทำไมฉันต้องมาเหนื่อยอะไรขนาดนี้ด้วยเนี่ย
1
แต่ถ้า mission ของเรามันใหญ่มากพอ แม้ความเหนื่อยมันจะไม่ได้ลดลงเลย แถมบางครั้งยังอาจเหนื่อยมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ความตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง จะทำให้เราไม่ค่อยสนใจ 'แผลเล็กๆ' ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
เมื่อเรารู้ว่าเราทำเพื่ออะไร และเราทำเพื่อใคร เราจะมีพลังใจฝ่าฟันทุกอุปสรรค
-----
ภาพแห่งความสุขมีมากกว่าหนึ่งคน
ก่อนงานเริ่มพี่เอ๋มีให้ผู้ชมทางบ้านส่งรูป "ช่วงที่ดีที่สุด" ในชีวิตมา
และในช่วงสุดท้ายของทอล์กโชว์ ภาพแห่งความสุขความทรงจำมากมายก็พรั่งพรูขึ้นสู่จอ
ทั้งภาพแม่เล่นกับลูก ปู่เล่นกับหลาน นิสิตในชุดครุยกับคุณแม่ที่ภาคภูมิใจ แขนสองท่อนของพ่อกับลูก ก๊วนเพื่อนสมัยมัธยม รวมถึงมีภาพนิ้วกลมกับคุณแม่
ไม่มีแม้แต่ภาพเดียวที่มีคนแค่หนึ่งคนอยู่ในนั้น ไม่มีแม้แต่ภาพเดียวที่เป็นภาพวิว
สมัยที่ผมยังเรียนหนังสือ โลกยังมีแต่กล้องฟิล์ม การจะถ่ายภาพแต่ละภาพต้องคิดแล้วคิดอีก หลายครั้งที่เห็นภาพวิวสวยๆ อย่างพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและสายรุ้ง ผมก็จะลั่นชัตเตอร์เก็บความประทับใจนั้นเอาไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พอกลับมาดูรูปวิวที่เคยตรึงตรา มันกลับไม่ได้ปลุกเร้าความทรงจำสักเท่าไหร่
ภาพเก่าๆ ที่จะปลุกเร้าความสุขได้มากที่สุด มักจะเป็นภาพที่เราได้ใช้เวลาร่วมกับใครบางคนเสียมากกว่า
พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เคยเขียนไว้ในหนังสือปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่นว่า
E = mc^2
"One magical Moment in the right Context and the right Culture powers endless Energy."
โมเมนต์มหัศจรรย์ ในบริบทที่เหมาะสมและคนที่ใช่ จะสร้างพลังได้มากมายไม่สิ้นสุด
ฉากจบของทอล์กโชว์ คือภาพ "ช่วงที่ดีที่สุด" และเพลง "ช่วงที่ดีที่สุด" ที่ค่อยๆ ร้อยเรียงเป็นวงกลมและหมุนวนไป ชวนให้นึกถึงกระแสวังน้ำวนในโปสเตอร์โปรโมตทอล์กโชว์นี้
"ฉันนั้นไม่ได้มีเธออยู่ข้างๆ เหมือนวันที่เราเคยเดินข้ามผ่าน ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างมาด้วยกัน
นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้นๆ แต่ก็เคยเกิดขึ้นกับฉัน เพราะเธอ"
-----
หรือนิ้วกลมจะไม่ได้จัดทอล์กนี้ให้เราฟัง?
16 ปีที่แล้ว สมัย YouTube เพิ่งเริ่มมีชื่อเสียง วีดีโอตัวหนึ่งที่ดังและไวรัลจนมีคนดูถึง 1 ล้านวิว คือวีดีโอชื่อ "Randy Pausch Last Lecture: Achieving Your Childhood Dreams" ที่พูดให้กับ Carnegie Mellon University
1
ขึ้นเวทีมา เพาช์ก็ออกตัวว่าเขาเป็นมะเร็งตับและจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นี่อาจจะเป็นการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายของเขาจริงๆ ก็ได้
เพาช์พูดถึงคอนเซ็ปต์ head fake ในเกมอเมริกันฟุตบอล ที่ผู้เล่นจะหันไปทางหนึ่งแต่จริงๆ แล้วตัววิ่งไปอีกทางหนึ่ง มันคือเทคนิคล่อหลอกฝ่ายตรงข้ามให้ตั้งตัวไม่ติด
ใน 30 วินาทีสุดท้ายของการพูด 75 นาทีนั้น เพาช์ถามคนดูว่า
"Have you figured out the head fake?"
คุณรู้ตัวรึยังว่าผมหลอกคุณเรื่องอะไร
แล้วเพาช์ก็เฉลยว่า หัวข้อในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการทำความฝันวัยเด็กให้เป็นจริง แต่เป็นเรื่องว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร เพราะถ้าเราใช้ชีวิตได้ถูกต้อง ความฝันจะเดินทางมาหาเราเอง
1
แล้วเพาช์ก็ถามคนดูอีกครั้งว่า
"Have you figured out the second head fake?"
คุณรู้ตัวรึยังว่าเรื่องที่สองที่ผมหลอกคุณคือเรื่องอะไร?
ก่อนที่เพาช์จะกล่าวประโยคสุดท้ายก่อนลงจากเวทีว่า
"This talk is not for you. It's for my children."
การพูดในวันนี้ผมไม่ได้มาพูดให้คุณฟัง ผมพูดเอาไว้ให้ลูกๆ ฟังต่างหาก
(ณ ตอนนั้นลูกทั้งสามของเพาช์อายุ 5 ขวบ 2 ขวบ และ 18 เดือน)
หลังดูประภาคารกลางมหาสมุทรจบ ผมอดคิดไม่ได้ว่าพี่เอ๋อาจไม่ได้จัดทอล์กโชว์นี้ให้พวกเรา
พี่เอ๋น่าจะจัดทอล์กโชว์นี้ให้แม่ของเขาที่เสียไปเมื่อตอนต้นปี
ด้วยสมมติฐานนี้ ทุกคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างทางจะมีคำอธิบายหมดเลย
ทำไมประโยคแรกที่ทุกคนได้ยินคือ "ไม่รู้ว่าเธอ ไม่รู้ว่าจะได้ยินเพลงนี้รึยัง อยากจะให้เธอ ช่วยมารับฟัง ว่าฉันนั้นคิดถึง"
ทำไมพี่เอ๋ถึงใส่ชุดสีเหลืองมัสตาร์ด
ทำไมพี่เอ๋ถึงเริ่มต้นทอล์กด้วยการเล่าเรื่องผีและที่ว่างบนเตียง
ทำไมอาจารย์ตุลถึงบอกว่ามหรสพวันสารทจีนนั้นเขาจัดเพื่อผู้ล่วงลับ
รอบที่ผมไปดู เป็นการแสดงรอบสุดท้าย พี่เอ๋เลยขอทำสิ่งที่ไม่ได้ทำในรอบการแสดงทั้งสองรอบก่อนหน้า นั่นคือการถ่ายเซลฟี่จากเวทีลงมา มีพี่เอ๋อยู่ด้านหน้า และคนดูอยู่ข้างหลัง
เมื่อมองภาพถ่ายนี้ มีเก้าอี้ว่างอยู่ตัวหนึ่งที่ผมคิดไปไกล
ว่าพี่เอ๋อาจจะจองเก้าอี้ตัวนี้ไว้ให้คุณแม่มานั่งดูครับ
1
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Sarawut Hengsawad
โฆษณา