Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FinanceForMom
•
ติดตาม
21 ส.ค. เวลา 13:19 • หนังสือ
อยากให้ลูกทุกคนได้อ่าน #ความลับเรื่องเงินที่แม่อยากบอกลูกก่อนตาย
ได้หนังสือเล่มนี้ มาสักพักแล้วแต่ก็อ่านไม่จบสักที ก่อนที่จะผ่านพ้นเดือนแห่งวันแม่ไป เลยต้องขอพูดถึงสักหน่อย ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่การสรุปหนังสือ แต่เป็นเพียงการหยิบยกแนวคำสอนที่ส่วนตัวชอบ และเห็นว่ามีประโยชน์ในมุมมองของคุณแม่และนักวางแผนการเงินเท่านั้นนะคะ
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย พัคโซยอน มนุษย์แม่ที่ทำงานเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (ขอเรียกว่า “แม่พัค”) ได้บอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริงในการทำงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของเธอให้กับลูกสาวก่อนจะตายจากกันไป ทั้งจากการสังเกตนักลงทุนและการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
ไม่ใช่หนังสือที่บอกเคล็ดลับการทำเงินจากการลงทุนแบบเร่งด่วนหรือทางลัดสู่ความร่ำรวย แต่เป็นการอธิบายทัศนคติและความรู้พื้นฐานที่นักลงทุนควรมี เป็นหลักการที่ใช้ได้ผลไม่ว่าจะอยู่ในช่วงตลาดดีหรือไม่ดี เพื่อที่ลูกจะใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องเครียดกับเรื่องเงินๆทองๆ
=== อ่านแล้วให้แนวคิดอะไรบ้าง ขอหยิบมาแค่ส่วนที่อุ้ยมองว่าเป็น key points นะคะ ไม่งั้นจะยาวเกินไป ===
💜1. ให้ลูกรู้จักภาวะเงินเฟ้อ
ก่อนหน้านี้เราปกป้องเงินไว้ได้โดยการนั่งเฉยๆไม่ต้องทำอะไร ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า 10% ต่อปี ตราบใดที่เราทำงานหนักและเก็บออมสม่ำเสมอ เราแทบไม่จำเป็นต้องขวนขวายลงทุนอย่างอื่น แต่ตอนนี้มูลค่าของเงินในมือกลับลดลง เรากำลังอยู่ในยุคที่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องกลายเป็นคนจนสถานดียว
สมมติว่าเงินเดือนลูกเพิ่มขึ้น 4% แต่ราคาข้าวของเพิ่มขึ้น 6% ดังนั้นในความเป็นจริงลูกเหลือรายได้น้อยกว่าปีที่แล้วเพราะใช้จ่ายมากขึ้น ถึงแม้จะซื้อของชนิดเดียวกัน ก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ราคาของสินค้าจะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ถ้าเมื่อก่อนจ่าย 1,000 บาท ตอนนี้เราซื้อในราคานั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะค่าเงินลดลง
เราเรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” ค่าเงินลดลงแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น การรับมือกับภาวะเงินเฟ้อมี 2 วิธี
1.เพิ่มเงินเดือนให้เท่ากับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ขึ้นอยู่กับบริษัทด้วย
2.ป้องกันเงินเฟ้อผ่านการลงทุน หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ก็ทำกำไรให้ได้ 5% เพื่อปกป้องค่าเงิน
💜2. ให้ลูกทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ลูกควรเรียนรู้การบันทึกรายรับ รายจ่าย รู้ว่าตัวเองได้เงินมาเท่าไร ใช้ไปกับอะไรบ้าง และมีเหลืออยู่เท่าไร ให้ทยอยเก็บสะสมสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ หุ้น พันธบัตร หรือสินทรัพย์อื่นๆ เพราะเวลาผ่านไปไวมาก อายุ 40 มาเร็วกว่าที่คิด
อย่าคิดว่าแต่งงานแล้วก็ไม่เป็นไรเพราะมีสามีให้เงินอยู่แล้ว แต่ลูกรู้ไหมว่าผู้ชายวัย 40 ที่ต้องหารายได้เพียงคนเดียวก็มีภาระหนักอึ้ง ไม่ไหวเหมือนกันเพราะต้องรับผิดชอบภรรยาและลูก จำไว้ว่า ไม่ว่าลูกจะแต่งงานหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินในมือ ชีวิตของลูกจะอยู่บนความไม่มั่นคง และต้องดิ้นรนหาเงินอยู่ตลอดเวลา คนอายุ 40 ที่มีสินทรัพย์กับคนที่ไม่มี จะมีความแตกต่างเยอะมากในทุกด้านของชีวิต ถ้าไม่อยากมานั่งเสียใจ เริ่มลงมือทำตอนนี้ ไม่อย่างนั้น อีก 10 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีอะไรแตกต่างออกไป
💜3. ให้ลูกไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
บนโลกนี้มีคนที่มีเงินมากกว่าเราเสมอ เมื่อเราคิดว่าหาเงินได้ประมาณนี้ก็น่าจะโอเคแล้ว แต่พอมองไปรอบๆ ก็เจอคนอีกมากที่มีเงินมากกว่าและใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายได้ เมื่อเราเริ่มไล่ตามเงินเราก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ ถ้ามี 1 ล้าน เราก็จะอิจฉาคนที่มี 10 ล้าน และพอมี 10 ล้าน ก็จะอิจฉาคนที่มี 100 ล้าน ถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่มหงุดหงิด เพราะไม่ว่าจะหาเงินได้มากแค่ไหน ก็มีคนที่รวยกว่าอยู่ดี
นี่คือ ”โรคชอบเปรียบเทียบ” ในบางครั้งเราอาจนึกอิจฉาคนรู้จักที่เพิ่งซื้อรถหรู ทำให้อยากได้บ้าง ซื้อตามและยอมเป็นหนี้ ความรู้สึกไม่อยากแพ้ทำให้เราใช้เงินอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นต้องออกไปทำงานเพื่อใช้หนี้แทนที่จะได้เก็บเงิน นั่นคือ ความทุกข์ของเรามาจากการใส่ใจผู้อื่น หยุดเปรียบเทียบไม่ได้
แต่ลูกควรรู้ไว้ว่าทุกคนมีเป้าหมายชีวิตต่างกัน หากลูกมีเป้าหมายของลูกที่ชัดเจน มีแบบแผน รู้แนวทางที่จะทำมันให้เป็นจริงได้เพื่อบรรลุผลสำเร็จ จิตใจของลูกจะมั่นคงมากขึ้น นี่แหละจะช่วยแก้อาการชอบเปรียบเทียบได้ (ตอนอ่านเรื่องนี้อุ้ยคิดว่ามันก็สอดคล้องกับการที่เราส่งเสริมให้มีการวางแผนการเงิน เพราะเราจะรู้สึกปลอดภัย มีความสุขทางใจ peace of mind นั่นเอง)
💜4. ให้ลูกมีความปลอดภัยทางการเงิน
หากชีวิตเราขาดแคลนมากเกินไป การคิดของเราจะไม่ปกติ เพราะเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรารู้สึกขาดแคลนในปัจจุบันจนไม่สามารถคิดถึงสิ่งอื่นได้เลย เช่น หากยิ่งกดดันเรื่องเวลามากเท่าไร ก็จะยิ่งทำผิดพลาดมากขึ้นเท่านั้น
เรื่องเงินก็เช่นกัน เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีแล้วแต่ถูกหักจ่ายบัตรเครดิตไปเกือบหมดจนแทบไม่เหลือเงินไว้ใช้จ่ายเลย ลูกคงต้องกระวนกระวายใจเป็นแน่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ถึงสิ้นเดือนยังไง เมื่อเงินเริ่มขาดมือ ชีวิตเริ่มขัดสน อาจกระทบความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
หากลูกไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้ ต้องจัดการทรัพย์สินของตัวเอง โดยการ #มีรายได้ต่อเดือนสม่ำเสมอ ถือเป็นการสร้างความปลอดภัยทางการเงิน คนที่มีเงินเดือนเข้าบัญชีทุกเดือนจึงอุ่นใจกว่าคนที่รายได้ไม่แน่นอน เพราะคาดการณ์อนาคตได้ วางแผนชีวิตได้ หากลูกคิดจะลาออก ควรมั่นใจว่ามีเงินสำรองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนสัก 6 เดือนก่อน เพื่อให้มีเงินพอใช้จ่ายในช่วงที่กำลังหางานใหม่ (ในเรื่องวางแผนการเงิน นี่คือรากฐานที่ต้องมีเป็นอันดับแรก นั่นคือ #เงินสำรองฉุกเฉิน นั่นเอง)
💜5. ให้ลูกเริ่มต้นลงทุนให้เร็ว
เด็กหลายคนโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องเงินเลย ทั้งเรื่องการหาเงิน การใช้จ่ายเงิน หรือการจัดการเงินของตัวเอง เพราะพ่อแม่จำนวนมากไม่เห็นความสำคัญในการสอนลูก แต่ก็ไม่สายเกินไปที่จะมาศึกษาเรียนรู้ ลูกควรรู้จัก “กฎ 72” ที่เป็นการคิดคำนวณเวลาที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนเงินต้นเป็นสองเท่า เช่น หากอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เราต้องใช้เวลา 36 ปี (72 หารด้วย 2) ในการเปลี่ยนเงิน 1 ล้านให้กลายเป็น 2 ล้าน ถ้าสามารถลงทุนได้ผลตอบแทน 10% จะใช้เวลาเพียง 7.2ปี เท่านั้น
หากลูกมีเงิน 1 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ย 10% เงินลูกจะกลายเป็น 1.1 ล้านบาทในปีถัดมา และจะเพิ่มเป็น 1.21 ล้านบาทในสองปีต่อมา ในอีก 9 ปีต่อมาจะเพิ่มเป็น 2.36 ล้านบาท นี่คือความมหัศจรรย์ของ “ดอกเบี้ยทบต้น” ที่ทำให้เงินของลูกเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ยิ่งลูกเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นลงทุนเร็ว ก็มีโอกาสที่เงินจะเติบโต แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย แม้ผ่านไป 10 ปี ก็ยังมีเงินอยู่ 1 ล้านบาทเหมือนเดิม
💜6. ให้ลูกกระจายการลงทุน
บทเรียนราคาแพงที่แม่ยังจำได้จนทุกวันนี้คือ การเอาเงินของขวัญวันเกิดปีแรกของลูกเข้ากองทุนเวียดนามทั้งหมด เพราะคนอื่นบอกว่าดี แม่คิดว่าก็น่าจะดีตาม แต่ในปี 2008 วิกฤตการณ์ทางการเงินในอเมริกาปะทุขึ้น ทำให้ประเทศเกิดใหม่ล้วนได้รับผลกระทบ แม่จะใส่เงินแค่บางส่วนก็ได้ แต่กลับเทเงินทั้งหมดและไม่เคยคิดว่าจะสูญเสียมันไป ดังนั้นการลงทุน ลูกควรใช้เงินเหลือเก็บและเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย แบ่งเงินแล้วกระจายการลงทุน ทำให้เราเจ็บน้อยกว่าการทุ่มเงินไปก้อนเดียวครั้งเดียว
เมื่อต้องสูญเสียเงินจะตกใจ ยิ่งคับแค้นใจมากเมื่อลงทุนมาก ถ้าไม่มีท่าทีปรับขึ้นก็ยิ่งสิ้นหวัง และพอหุ้นเริ่มฟื้นจึงมักเทขายออก ต่อมาถ้าราคาพุ่งไปสูงกว่าราคาที่ขายก็จะคิดว่า ไม่น่าขายเลย นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากคนรวย เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่ออกจากตลาด แต่จะปรับพอร์ต รอโอกาสอีกครั้ง พวกเขาจึงทำเงินได้ในที่สุด ลูกยังมีเวลาเหลืออีกมาก การเริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุดได้เปรียบกว่าเพราะยังมีเวลาในการสะสมประสบการณ์
1
💜7. ให้ลูกศึกษาจิตวิทยาการลงทุน
ลูกรู้ไหมว่า ถ้าไม่รู้เรื่องจิตวิทยา จะขาดทุนทันที!! มาดูตัวอย่างจิตวิทยากัน
- จิตวิทยา #1 #บัญชีในใจ
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเงินจำนวนเท่ากันมีประโยชน์ใช้สอยเท่ากัน แต่ในเชิงจิตวิทยา มนุษย์ไม่ได้มองว่ามูลค่าของเงินจากการทำงานหนักนั้นมีค่าเท่ากับเงินที่ได้แบบบังเอิญ แม้จำนวนเงินจะเท่ากันก็ตาม คนส่วนใหญ่มีสมุดบัญชีอยู่ในใจเหมือนสมุดบัญชีธนาคาร แม้มีเงิน 2 ก้อนจำนวนเท่ากัน แต่จิตใจเราจะกำหนดมูลค่าที่แตกต่างกัน
บัญชีในใจนั้นคอยขัดขวางการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล เช่น เรามักนำเงินคืนภาษีที่ได้จากกรมสรรพากรไปใช้จ่ายราวกับได้มาฟรี (ทั้งที่ชำระไว้เกิน) ไปซื้อของราคาแพงหรือให้รางวัลตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับการใช้เงินโบนัสที่ได้ตอนสิ้นปี แต่ถ้าเทียบกับเงินเดือนที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง เราจะมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากกว่า
วิธีป้องกันปัญหานี้ คือ
1. อย่าใช้จ่ายทันที จงเก็บไว้ก่อน เงินที่ไม่ได้ใช้จะกลายเป็นสินทรัพย์อันมีค่าในอนาคต
2. ย้ายเงินไปให้ถูกที่ มีหลายบัญชีเพื่อใช้ตามจุดประสงค์
3. เวลาถอนเงิน ให้เลือกธนบัตรมูลค่าสูงใบเดียว ไม่ใช่ธนบัตรย่อยหลายใบ
จงจำไว้ว่า ไม่ว่าจะหาเงินมาด้วยวิธีใด ได้เงินนั้นมาง่ายหรือยาก ต้องให้ความสำคัญเท่ากันเพราะเราเป็นเจ้าของเงินนั้น
- จิตวิทยา #2 #การหลีกเลี่ยงความสูญเสีย
เรามักจะมีความรู้สึกต่อสิ่งที่เราเสียมากกว่าสิ่งที่เราได้ จิตใต้สำนึกสั่งให้เราหลีกเลี่ยงการสูญเสียมากกว่าผลกำไร แม้จำนวนเงินจะเท่ากันก็ตาม คนเรารู้สึกเจ็บปวดกับการเสียเงิน 10,000 มากกว่ารู้สึกสุขใจที่ได้เห็นกำไร 10,000
หากมีหุ้นสองตัว เรามักเลือกขายหุ้นที่ได้กำไรและยังคงถือหุ้นที่ขาดทุนต่อไป แม้จะติดลบน้อยกว่ากำไรที่ได้ก็ตาม เพราะถ้าขาย แปลว่าเราเสียเงินจริงๆ จึงกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงมัน
สิ่งที่ควรทำเพื่อเอาชนะจิตวิทยาข้อนี้ คือ
1.ซื้อในราคาถูก: ยิ่งหุ้นแพงเท่าไร การควบคุมจิตใจก็จะยากขึ้น จะทำให้กระวนกระวายใจอยู่ตลอด ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง และไม่ควรซื้อหุ้นที่คนรอบข้างบอกว่าดี มีโอกาสสูงที่หุ้นจะแพงเกินไปแล้ว ก่อนจะซื้อหุ้นตัวไหนให้ศึกษาก่อนสัก 1-2 เดือน
2.กำหนดจุดหยุดการขาดทุนล่วงหน้า: เมื่อถึงจุดนั้น ต้องเทขายหุ้นทันทีโดยไม่ตั้งคำถาม และถ้าเป้าหมายไม่ใช่การลงทุนระยะยาว จำเป็นต้องกำหนดด้วยว่าถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่านี้จะขายทำกำไร
- จิตวิทยา #3 #การปักใจเชื่อ
ความรู้สึกและการตัดสินใจของมนุษย์มักขึ้นอยู่กับความคิดแรก ร้านแบรนด์เนมใช้ประโยชน์จากจิตวิทยานี้ ที่มักนำสินค้าราคาแพงที่สุด มาจัดโชว์ไว้หน้าร้าน แล้วเมื่อลูกค้าเข้าไปในร้านแล้วเห็นสินค้าอื่น เช่น กระเป๋าสตางค์ที่ราคาต่ำกว่า จะคิดว่ามันค่อนข้างถูก และจะซื้อโดยไม่รู้ตัว เวลาเราเจอเรื่องเดือนร้อน บางครั้งอาจซื้อของเพื่อชดเชยจิตใจ จึงใช้จ่ายเกินตัว ร้านแบรนด์เนมเล่นกับใจคนที่อ่อนแอและล่อหลอกให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่ไม่ได้วางแผนไว้
💜8. ให้ลูกลงทุนในตัวเอง
เมื่อมีคนถามวอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่าควรลงทุนในอะไรดี เขาตอบว่าจงเป็นคนเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ นั่นคือการลงทุนเพื่อตัวเอง พัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถในสิ่งที่คนต้องการ ขอให้ลูกค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ สร้างความแตกต่างจากคนอื่น ทำให้มันกลายเป็นอาวุธของลูก แม้จะต้องใช้เวลาสักหน่อย
ทบทวนคำว่า Work-Life Balance ใหม่ นั่นคือ ช่วง 3-5 ปีแรกในการทำงานคือช่วงวางรากฐานชีวิต จำเป็นต้องเรียนรู้งานอย่างหนัก ถ้าเน้น Work-Life Balance จะทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ แล้วโอกาสก็จะเป็นของคนอื่น
ดังนั้นการมีสัดส่วนระหว่างชีวิตกับการทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุเป็นเรื่องดี ในช่วงอายุ 20 ปี สัดส่วนของงานประมาณ 80% เป็นสิ่งดี แล้วลดหลั่นมาเป็น 70% ในช่วงอายุ 30 เหลือ 60% ในช่วงอายุ 40 และ 50% ในช่วงอายุ 50 เพราะร่างกายจะเสื่อมสภาพตามวัย รวมถึงการมีครอบครัวที่ต้องดูแล ชีวิตของลูกหลังจากนั้นจะขึ้นกับสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้และเชี่ยวชาญในแบบของตัวเอง ความสามารถของลูกใครก็แย่งเอาไปไม่ได้
💜9. ให้ลูกอ่านหนังสือเยอะๆ
บิล เกตส์ กล่าวว่าการอ่านเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จ ช่วยให้มองเห็นโลกผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ชาร์ลี มังเกอร์ ก็เห็นด้วยว่าเราไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่ดีได้ ถ้าไม่อ่านหนังสือเยอะ และเขาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์
แม่เห็นด้วยว่าการอ่านเยอะจะทำให้ความคิดกว้างขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกย่อยเนื้อหาหนังสือได้หรือไม่ บิล เกตส์ มักจดบันทึกความคิดที่ได้จากการอ่านไว้ด้านข้างหนังสือ ไม่ต่างจากการทำความเข้าใจสาระสำคัญของหนังสือและย่อยเนื้อหาในแบบของตัวเอง เพื่อพัฒนาพลังแห่งความคิด แล้วมันจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงสำหรับลูก
💜10. ให้ลูกเก็บสะสมเงิน
ขั้นตอนแรกสุดของสร้างความมั่งคั่ง คือการสะสมเงิน ดูเหมือนง่ายถ้าเราเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย แต่ความจริงไม่ง่ายเลย แม้คนเราจะมีรายได้เท่ากัน แต่บางคนจะเก็บเงินได้ บางคนไม่พอใช้ ถ้าลูกตัดสินใจที่จะเก็บเงิน ให้เริ่มจากการแยกบัญชีธนาคารออกเป็น 4 บัญชี คือ บัญชีเงินเดือน บัญชีค่าครองชีพ บัญชีการลงทุน และบัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน
ลูกไม่จำเป็นต้องแบ่งเงินแบบนี้ก็ได้ แต่อย่าลืมบัญชีสุดท้าย เราอาจเจ็บป่วยกะทันหัน หรือโทรศัพท์พังเมื่อไรก็ได้ และลูกต้องมีกฎในการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินไป ในการเก็บเงินลูกต้องกำหนดเป้าหมาย คำนวณจำนวนเงินที่ต้องการและกำหนดกรอบระยะเวลา
💜11. ให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้
จงพึ่งตัวเองตั้งแต่อายุ 30 (ส่วนตัวอุ้ยคิดว่าไม่ต้องยึดติดกับอายุมากนัก ความพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน) เมื่อทำงานมาสักพัก ลูกอาจเริ่มคิดถึงการออกไปอยู่คนเดียว การพึ่งพาตัวเองมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พัก น้ำไฟ ค่าอาหาร สิ่งที่เคยเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ จะกลายเป็นของลูก ควรรู้ว่าค่าใช้จ่ายคงที่ต่อเดือนเป็นเท่าไร
อย่าเลือกที่พักที่อยู่ไกลที่ทำงานเพียงเพราะต้องการประหยัด เวลาที่เสียไปกับการเดินทางนั้นมีค่า หากเดินทาง 2 ชั่วโมงต่อวัน ทำงาน 250 วันต่อปี นั่นคือ 500 ชั่วโมง ลูกสามารถใช้เวลานี้ไปกับการออกกำลังกาย หาความรู้ให้ตัวเอง หรือนอนหลับพักผ่อน ดังนั้นเงินที่จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่าย
💜12. ให้ลูกคุยเรื่องเงินกับอีกฝ่ายก่อนแต่งงาน
เรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะพูดคุยเรื่องเงินนั้นจะต้องมีความเชื่อใจและใกล้ชิดกันในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคู่ชีวิตที่คิดว่าจะแต่งงานล่มหัวจมท้ายไปด้วยกัน ต้องเปิดอกคุยเรื่องเงินก่อนแต่งงาน ถ้าได้คุยเรื่องวิธีการใช้เงิน ลูกย่อมมองเห็นชีวิตของคนคนนั้นได้
การมีเงินน้อยในตอนนี้ไม่ใช่ปัญหา ขอแค่เป็นคนที่คุยเรื่องเงินกับลูกได้อย่างตรงไปตรงมา สามารถคุยเรื่องวิธีสร้างรายได้และการใช้จ่ายในอนาคต บางคู่ไม่เคยคุยเรื่องนี้กันเลย หลังแต่งงานเพิ่งมารู้ว่าอีกฝ่ายมีหนี้สินมากมาย ก็ทำให้ชีวิตคู่วุ่นวายได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าลูกไม่เจอคนแบบนั้น ไม่ต้องรีบแต่งงานตามคนอื่นก็ได้!!
ในตอนแรกๆที่อ่าน เหมือนไม่ค่อยมีอะไร แต่พออ่านไปเรื่อยๆกลับรู้สึกว่าสิ่งที่แม่พัคเขียนมันคือความรู้พื้นฐานและ mindset ที่ควรมี ถ่ายทอดออกมาได้ดี นำมาปรับใช้ได้หลายข้อเลย รวมถึงอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใจง่ายด้วย ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้ควรซื้อไหม ก็ต้องตอบว่า ไม่ซื้อระวังพลาดนะ แล้วจะหาว่าแม่อุ้ยไม่เตือน 😊
ชอบข้อไหนกันบ้างคะ ^^
#ด้วยรัก ❤️
แม่อุ้ย #KanyaweeCFP
การเงิน
ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่า
2 บันทึก
2
1
3
2
2
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย