22 ส.ค. เวลา 11:22 • ประวัติศาสตร์

“โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay)” คนขี้ขลาดแห่งไททานิกหรือวีรบุรุษกันแน่?

“โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay)” เป็นประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัท “White Star Line” บริษัทเรือเดินสมุทรยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ ผู้สร้างเรือในตำนานอย่าง “ไททานิก (Titanic)”
หากใครอ่านเรื่องราวของไททานิก รวมทั้งชมภาพยนตร์ไททานิก ก็จะเห็นภาพของอิสเมย์เป็นคนขี้ขลาดผู้รีบหนีลงเรือชูชีพก่อนเหล่าสตรี หนีเอาตัวรอด
ภาพลักษณ์ของอิสเมย์ที่มีมานานตั้งแต่ไททานิกอับปาง จึงเป็นภาพของชายผู้ขี้ขลาด หยิ่งยโส และเห็นแก่ตัว
โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay)
นี่คือภาพลักษณ์ที่ติดตัวอิสเมย์ไปจนวันสุดท้ายของชีวิตเขา หากแต่ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
ลองมาหาคำตอบกัน
ถึงแม้ภาพลักษณ์ของอิสเมย์จะออกมาเช่นนั้น แต่อิสเมย์กลับได้รับคำชื่นชมจากเหล่าผู้โดยสารชั้นหนึ่งบนไททานิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งและต้องรีบอพยพผู้โดยสาร อิสเมย์นั้นช่วยอพยพผู้คนไม่ได้หยุดเป็นเวลากว่าสองชั่วโมง ช่วยเหล่าสตรีลงเรือชูชีพ
1
ไททานิก (Titanic)
มีพยานที่พบเห็นได้บอกเล่าในภายหลังว่าอิสเมย์นั้นสั่งให้ผู้ชายยืนหลบด้านข้าง และให้สตรีและเด็กลงเรือชูชีพ อีกทั้งยังช่วยเกลี้ยกล่อมให้สตรีหลายๆ คนยอมแยกออกจากสามีของตนก่อนและลงเรือชูชีพ
1
อิสเมย์ช่วยหย่อนเรือชูชีพลงทะเลจำนวนแปดลำ แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นอิสเมย์นี่แหละที่สั่งให้ลดจำนวนเรือชูชีพบนไททานิกจาก 48 ลำ เหลือเพียง 20 ลำ เนื่องจากมั่นใจว่าไททานิกจะไม่มีวันจม
1
แต่ถึงอย่างนั้น อิสเมย์ก็น่าจะได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษหากว่าตนไม่ได้ลงเรือชูชีพลำสุดท้าย หากแต่เรื่องนี้ก็มีข้อถกเถียงเช่นกัน
มีเรื่องเล่าว่าอิสเมย์กำลังช่วยเหล่าสตรีลงเรือชูชีพขณะที่ตนก็ลงไปด้วย อีกแหล่งข่าวก็บอกว่าอิสเมย์นั้นถูกผลักลงเรือชูชีพไปโดยคนของตนที่ต้องการจะช่วยเหลืออิสเมย์
เมื่อรอดจากไททานิกและขึ้นมาบนเรือ “อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย (RMS Carpathia)” ซึ่งมาช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากไททานิก หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาก็ได้ลงข่าว เรียกอิสเมย์ว่า “คนขลาดแห่งไททานิก (Coward of the Titanic)”
หนังสือพิมพ์ที่ว่านั้นเป็นของ “วิลเลียม แรนโดล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst)” เจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และเฮิร์สต์กับอิสเมย์ก็เป็นศัตรูกัน ซึ่งเฮิร์สต์ก็ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้โจมตีอิสเมย์ให้เละจมดิน
1
วิลเลียม แรนโดล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst)
แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร แต่ภาพลักษณ์ด้านลบนั้นก็ติดตัวอิสเมย์ไปตลอดชีวิต และว่ากันว่าหลังจากเหตุการณ์ไททานิกอับปางเพียงไม่กี่วัน ผมบนศีรษะของอิสเมย์จากสีดำก็เปลี่ยนเป็นหงอกขาวทั้งศีรษะ และตลอดเวลาบนเรือคาร์เพเทีย อิสเมย์ก็เอาแต่เก็บตัวอยู่แต่ในห้องพัก มีอาการซึมเศร้า และต้องทานยาระงับประสาท
หลายคนเชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ อิสเมย์ก็คงจะเก็บตัว ไม่ปรากฎตัวออกสื่ออีกต่อไป แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น หลังจากเหตุการณ์นี้ อิสเมย์ได้บริจาคเงินจำนวนมากแก่กองทุนเยียวยาเหล่าหญิงที่ต้องเป็นม่ายจากเหตุการณ์ไททานิก
1
และอิสเมย์ก็ยังไม่ได้ลงจากตำแหน่งประธานบริษัท White Star Line แต่เขายังช่วยจ่ายเงินประกันจำนวนมหาศาลแก่เหล่าครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งคิดเป็นเงินได้หลายแสนปอนด์
อิสเมย์จากภาพยนตร์ Titanic (1997)
อิสเมย์เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดอุดตันในสมองเมื่อปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) ด้วยวัย 75 ปี
สำหรับคำถามที่ว่าเป็นคนขี้ขลาดหรือวีรบุรุษนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับว่าจะมองในแง่ไหน
อิสเมย์อาจจะช่วยชีวิตสตรีได้เป็นจำนวนมากด้วยการช่วยเหลือลงเรือชูชีพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่ใช่เพราะเขาสั่งลดจำนวนเรือชูชีพบนไททานิก จำนวนผู้รอดชีวิตก็น่าจะมีมากกว่านี้เป็นแน่
ผู้โดยสารสตรีในห้องโดยสารชั้นหนึ่งหลายคนได้ลงเรือชูชีพลำสุดท้าย และก็เป็นไปได้ว่าอิสเมย์อาจจะร้องเรียกให้สตรีคนอื่นๆ ลงเรือชูชีพแล้ว หากแต่ไม่มีคนตอบ เขาจึงลงเรือชูชีพไปเอง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าผู้โดยสารสตรีในห้องชั้นสามนั้นเสียชีวิตนับร้อย
ดังนั้นสำหรับคำถามที่ว่าคนขี้ขลาดหรือวีรบุรุษ?
อันนี้ผมให้คุณผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินเองแล้วกัน
สั่งซื้อหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง” ได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ
โฆษณา