22 ส.ค. เวลา 01:00 • ธุรกิจ

🔥🔥 ถอดรหัสยอดขาย #สุกี้ตี๋น้อย กำไร 610 ล้านบาท สวนกระแสพิษเศรษฐกิจ

"สุกี้ตี๋น้อย" แม้ชื่อแบรนด์จะดูเหมือนคนตัวเล็ก แต่ทุกครั้งที่เราได้ยินแบรนด์นี้ประกาศรายได้กลับสร้างเซอร์ไพรส์สวนกระแสเศรษฐกิจที่กำลังซื้อซบเซาในปัจจุบัน ขณะที่เจ้าของธุรกิจอาหารหลายรายเริ่มทยอยปิดกิจการ ประกาศเซ้งหรือตัดใจขายต่อให้กับรายใหม่เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว แต่ทว่าแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ธุรกิจกลับเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เขย่าบัลลังก์พี่ใหญ่ในวงการสุกี้ได้หลายแบรนด์จนกลายเป็นแบรนด์ม้ามืดในวงการอาหารที่ทุกคนต่างจับตามองไม่ให้คลาดสายตา..
วันนี้ อพ. (ออ-พอ) จะชวนแฟนแบรนด์ทุกท่านมาถอดรหัสเคล็ดลับความสำเร็จของยอดขาย 610 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของของแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า.. เจ้าของแบรนด์นี้ใช้กลยุทธ์อะไร? จึงทำให้แบรนด์ที่เคยตัวเล็กได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่จนเข้าตา JMART ยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทยขอลงทุนร่วมด้วย โดยขอซื้อหุ้นจำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% มูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท
ส่องผลประกอบการของ "สุกี้ตี๋น้อย"
.
• ปี 2562
รายได้ 499 ล้านบาท
กำไร 15 ล้านบาท
.
• ปี 2563
รายได้ 1,223 ล้านบาท
กำไร 140 ล้านบาท
.
• ปี 2564
รายได้ 1,572 ล้านบาท
กำไร 148 ล้านบาท
.
• ปี 2565
รายได้ 3,976 ล้านบาท
กำไร 591 ล้านบาท
.
• ปี 2566
รายได้ 5,262 ล้านบาท
กำไร 907 ล้านบาท
.
• ปี 2567
(เฉพาะไตรมาสที่ 1 และ 2)
กำไร 610 ล้านบาท
👉 กลยุทธ์ที่ 1 :
เปิดให้บริการในช่วงเวลาที่แบรนด์อื่นหลับใหล
.
ทุกครั้งเวลาที่เรารู้สึกหิวโหยยามดึกดื่นแต่ภายในบ้านไม่มีอาหาร เราก็มักจะเดินออกไปตามหาความอร่อยที่ร้านรถเข็นข้างทางหรือไม่ก็เดินเข้าร้านสะดวกซื้อด้วยความเคยชิน ถ้าจะให้ร้านอาหารยอมเปิดร้านเสิร์ฟความอร่อยให้ลูกค้ากันตั้งแต่ไก่โห่จนถึงเช้าวันใหม่ ก็น้อยคนนักที่จะเลือกทำแบบนั้น!! ไหนจะมีค่าแก๊ส ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงพนักงานที่ต้องจ่ายหนักจ่ายเต็มยิงยาว 24 ชั่วโมง พอนับรวมกับสภาพร่างที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าตลอดทั้งวัน.. ใครกันจะรับไหว!!
แต่ทว่าแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" กลับมีความกล้าหาญที่จะแตกต่าง ยอมเปิดให้บริการลูกค้าในช่วงเวลาที่ยักษ์ใหญ่ในวงการสุกี้ไม่เปิดทำการ (เวลา 11.00 น. ถึง 05.00 น.) เพราะแบรนด์นี้ทราบดีว่า.. คนเราเวลาถูกความหิวโหยจู่โจมในยามค่ำคืนนั้นส่งผลให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายที่สุด เป็นเพราะว่าตัวเลือกในตลาดมีน้อย >> ถ้าแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ตัดสินใจกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างก็อาจจะขึ้นแท่นกลายเป็นแบรนด์เบอร์หนึ่งที่คว้าหัวใจสาวกบุฟเฟต์ที่เลิกงานช้าและสายหิวดึกได้อิ่มอร่อยแบบเต็มพิกัด
นี่คือ ความชาญฉลาดที่เจ้าของแบรนด์กล้าเสี่ยง และเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่ามากเกินที่แบรนด์ใดๆ จะนึกถึง แบรนด์นี้ไม่ได้กำหนดจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) จากการคิดเอาเองฝ่ายเดียว แต่มาจากการสำรวจตลาดอย่างจริงจังเพื่อหาโอกาสที่ว่างอยู่ >> ต้องเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหา >> ยังไม่มีคู่แข่งแบรนด์ใดมองเห็น
👉 กลยุทธ์ที่ 2 :
.
กำลังซื้อถดถอยที่กลายเป็นโอกาสทอง
.
คงไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่า.. กำลังซื้อที่ถดถอยจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศ "คิดก่อนซื้อกันมากขึ้น" ทำให้มีแบรนด์ที่ถูกเลือกและไม่ถูกเลือกเมื่อผู้บริโภคต้องตัดสินใจซื้อในสภาวะวิกฤติ
แต่แฟนแบรนด์อย่าลืมความจริงที่ว่า "ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส" หากเจ้าของแบรนด์ไม่พาตัวเองจมอยู่ในอารมณ์โศกเศร้าที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ ใครก็ตามที่ใช้สติครองตนได้มากที่สุดก็ย่อมมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะเป็นเพียงแสงเล็กๆ ที่ลอดผ่านถ้ำที่มืดสนิทก็ตาม
1
"สุกี้ตี๋น้อย" ได้ตั้งราคาขายเริ่มต้นเพื่อเปิดตัวแบรนด์ในราคาเพียง 199 บาท (*ยังไม่รวมค่าเครื่องดื่มและภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่แบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ก็หนีไม่พ้นจากผลกระทบเรื่องค่าวัตถุดิบและค่าพลังงานที่ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 กดดันให้แบรนด์ต้องตัดสินใจขอขยับขึ้นราคาอาหารเพิ่มเป็น 219 บาท
ทั้งๆ ที่ลูกค้าแบรนด์นี้รู้ว่าตนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 20 บาท แต่เมื่อได้ลองพิจารณาถึงคุณภาพอาหารและการบริการที่ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีมากกว่าเงินที่จ่ายไปก็ยิ่งช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์นี้ "มีราคาที่ยุติธรรม" (Price Fairness)
กล่าวคือ "คุณค่าที่ได้รับ = เงินที่จ่ายไป" หากแบรนด์คู่แข่งนั้นยังไม่สามารถทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความยุติธรรมของราคาในสายตาของลูกค้า ก็เป็นเรื่องง่ายมากที่ลูกค้าของแบรนด์คู่แข่งจะเปิดใจขอลองใช้บริการแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ดูสักครั้ง >> ถ้าเปิดใจแล้วเกิดติดใจเพราะได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่า รู้สึกอิ่มกว่า คุ้มค่ามากกว่า แบรนด์คู่แข่งก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียฐานลูกค้าของตนในระยะยาว
👉 กลยุทธ์ที่ 3 :
พนักงาน คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจ
.
ตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 บุกจู่โจมมนุษย์โลกในปลายปี 2019 (พ.ศ. 2562) ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการ (Service Business) ที่ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เปลี่ยนมนุษย์ให้ฝึกใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้าง
ช่วงเวลานั้น, อพ. ได้เกาะติดข่าวสารวงการอาหารในบ้านเราอย่างจริงจัง และพบว่าเจ้าของแบรนด์สุกี้ตี๋น้อยตัดสินใจเลือกเก็บพนักงานเอาไว้ ในขณะที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ (ทุกวงการ) ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานก่อนเป็นลำดับแรก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ที่มากที่สุดในบริษัท เจ้าของจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลงเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เจ้าของแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" กล่าวว่า บริษัทมีพนักงานจำนวน 2,000 คน และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 25 ล้านบาท/เดือน สวนทางกับรายรับจากหน้าร้านที่หดตัวลงกว่า 70% แต่โชคดีที่บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินจึงสามารถว่าจ้างพนักงานได้ตามปกติ ส่วนเรื่องการให้เงินพิเศษ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา หรือ เบี้ยขยัน อาจจะต้องชะลอไว้ก่อน แต่ด้วยการสื่อสารภายในที่ดีจึงทำให้พนักงานเข้าใจและเห็นใจต่อสถานการณ์ที่บริษัทต้องเผชิญ เปลี่ยนความสิ้นหวังให้เป็นพลังพร้อมต่อสู้ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน
การปรับแผนธุรกิจทั้งเชิงรุกและเชิงรับที่เหมาะสมนั้นช่วยให้บริษัทคงอัตราการว่าจ้างพนักงานไว้เท่าเดิม โดยปราศจากนโยบายปลดหรือจ้างออกใดๆ ธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นภายในบริษัทนี้ได้ถูกเล่าขานผ่านสื่อต่างๆ และการบอกต่อปากต่อปากโดยชาวโซเชียล ส่งผลต่อภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาของผู้บริโภคทั่วประเทศ แฟนแบรนด์คงทราบดีอยู่แล้วว่า "ถ้าคนไทยรู้ว่าใครเป็นคนดี มีน้ำใจ ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ คนไทยก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่" ซึ่งแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ก็ได้รับน้ำใจจากคนไทยเช่นกัน
ภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 ได้สิ้นสุดลง, อพ. เชื่อว่า แฟนแบรนด์หลายคนน่าจะพอได้ทราบข่าวการให้สวัสดิการพนักงานที่จัดหนักจัดเต็มแบบที่พนักงานบริษัทอื่นๆ พากันตาลุกวาว >> ตัวอย่างเช่น บริษัทควักเงิน 55 ล้านบาท แจกโบนัสพนักงานจำนวน 2 เท่าของเงินเดือน พร้อมแจกเงินขวัญถุงอีกคนละ 7,000 บาท หลังจากที่ในปี 2565 บริษัทได้ประกาศผลประกอบการเติบโตกว่า 100% หลังจบดีล Jaymart นับเป็นปรากฏการณ์แจกสวัสดิการครั้งใหญ่ที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมากในโลกโซเชียล
👉 กลยุทธ์ที่ 4 :
ขยายธุรกิจอาหารให้ตอบสนองทุกความต้องการ
.
เจ้าของแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" ได้ประกาศเดินหน้าขยายสาขาออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2567 เน้นโฟกัสที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และ อุดรธานี ฯลฯ >> นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังเดินเกมขยายธุกิจเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมในพอร์ต
ได้แก่ แบรนด์ "ข้าวแกง ตี๋น้อยปันสุข" ราคาเริ่มต้นเพียง 39 บาท >> แบรนด์ "Teenoi Express” เป็นร้านสุกี้บุฟเฟต์พรีเมียม ราคาเดียว 439 บาท (*รวมค่าเครื่องดื่ม ของหวานและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) >> แบรนด์ "Teenoi Pop Up Cafe" เป็นร้านขายเครื่องดื่ม กาแฟ ชานมไข่มุก และของหวานในราคาจับต้องได้
การแตกไลน์พัฒนาแบรนด์ใหม่เพิ่มขึ้นในพอร์ตของแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" หรือที่นักสร้างแบรนด์เรียกกลยุทธ์นี้ว่า "Brand Portfolio Strategy" กล่าวคือ การจัดวางโครงสร้างของแบรนด์ที่เป็นระบบและสมเหตุสมผลด้วยการประสานพลังของทุกแบรนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หากแบรนด์ใดสามารถบริหารจัดการแบรนด์ทั้งพอร์ตได้อย่างถูกต้องนั้น จะยิ่งช่วยเพิ่มการเติบโตของยอดขายและช่วยสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
✏️ อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ ✏️
ติดตามได้จากลิงก์ในคอมเมนต์
#Brandไม่ใช่Logo
⏰ ติดตามได้ทุกวัน / เวลา 8.00 น.
.
นำเสนอข้อเท็จจริงเรื่อง #การสร้างแบรนด์
เปลี่ยนความเข้าใจผิด ฝึกให้คิดใหม่ ทำใหม่
ด้วยบทวิเคราะห์ที่คุณ #เข้าใจง่ายใช้ได้จริง
สำหรับธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และ เกษตรกรรม
.
✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩
.
BRANDFIXER🔧นักซ่อมแบรนด์ธุรกิจอาหาร
Future Food Branding For Sustainability
ซ่อมเพื่อสร้างและพัฒนาแบรนด์ไทยให้ยั่งยืน
.
#Brandfixer #นักซ่อมแบรนด์
#ซ่อมเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
#Food #Beverage #Agriculture
Creative • Branding • Marketing • People
โฆษณา