26 ส.ค. เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์

ประกันภัย กับการถ่ายโอนความเสี่ยง

หากเปรียบชีวิตเป็นรถยนต์ เราคงต้องการประกันภัยดีๆสักฉบับ เพราะบนท้องถนนแม้เราจะขับรถของเราดีแล้วก็ตาม แต่ก็มีโอกาสที่รถคันอื่นจะมาชนเราอยู่ดี ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เราก็อยากได้ประกันที่พร้อมจะดูแลค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถให้เรา โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่ม ยิ่งถ้ามีรถให้ใช้ระหว่างรอซ่อมก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เหล่านี้คือการถ่ายโอนความเสี่ยงในการขับขี่ของเรา ไปให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วชีวิตของเราล่ะได้จัดการถ่ายโอนความเสี่ยงไว้เรียบร้อยแล้วหรือยัง
สำหรับผมซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาล มีโอกาสได้เห็นผู้ป่วยหลายรายที่ได้รับประโยชน์จากการมีประกันชีวิตประกันสุขภาพคุ้มครอง แม้ในแง่ผลการรักษาอาจไม่แตกต่างจากผู้ไม่มีประกันมากนัก แต่ผู้ที่มีประกันก็มีโอกาสมากกว่าในการเลือกเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน ที่รวดเร็ว และสะดวกสบายกว่า รวมถึงการเบิกจ่ายยาดีๆบางอย่างที่ให้สิทธิเฉพาะผู้มีประกันชีวิตเท่านั้น และยังมีส่วนของประกันชดเชยรายได้ระหว่างพักรักษาตัวอีกด้วย
ประกันชีวิต จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการโอนย้ายความเสี่ยง โดยการจ่ายเงินจำนวนน้อยเพื่อแลกกับความคุ้มครองที่มากกว่า ซึ่งจะช่วยเราได้ดีในระหว่างที่เรายังเป็นวันรุ่นสร้างตัว เพราะไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก้อนโตเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทั้งนี้เราต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย และความคุ้มครองที่ต้องการ ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพลภาพ ให้พอเพียงไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
โดยเฉพาะในส่วนของประกันสุขภาพต้องคำนึงเสมอ
ว่าเบี้ยประกันจะมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามอายุที่มากขึ้นยิ่งเมื่อเราแก่ตัวลงเบี้ยประกันอาจสูงเกินจนเราจ่ายไม่ไหว การทำประกันสุขภาพแบบเบี้ยคงที่ (UDR) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเราควรปรึกษาตัวแทนประกันภัยเพื่อรับทราบรายละเอียดและเงือนไขให้ดี ก่อนตัดสินใจทำกรมธรรม์ใดๆ
และสุดท้ายเมื่อเราได้ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่าประกันฉบับนั้นจะได้รับผลประโยนช์คุ้มค่าที่สุด ก็ต่อเมื่อเราจ่ายเงินครบตามที่ระบุในสัญญา การหยุดจ่ายก่อน หรือการเวนคืนกรมธรรม์เพื่อไปเริ่มสัญญาใหม่ มักทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่เสมอ
โฆษณา