Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AJ NOKY
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2024 เวลา 08:50 • อสังหาริมทรัพย์
...การให้โดยเสน่หากับภาระภาษี...
โดยปกติ การได้รับทรัพย์สิน ผู้รับย่อมเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน (ประมวลรัษฎากร มาตรา 39) โดยถือว่ามีเงินได้ตามราคาตลาดของทรัพย์สินนั้นในเวลาที่โอนทรัพย์สินให้กัน
ตัวอย่างเช่น นายก้าน ได้รับการให้เป็นหุ้นมีราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท เป็นจำนวน 100 หุ้น โดยในวันที่ให้หุ้นกัน หุ้นนั้นมีราคาตลาด 50 บาท ดังนี้ นายก้านจะมีเงินได้พึงประเมินจำนวน 5,000 บาท
อย่างไรก็ตาม มีทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่เมื่อมีการให้แก่กัน จะถือว่าผู้ให้ (ผู้โอน) เป็นผู้มีเงินได้ ทรัพย์สินชนิดนั้นได้แก่ "อสังหาริมทรัพย์"
เหตุผลคือ...
●
จากนิยามคำว่า "ขาย" ตามมาตรา 39 กำหนดว่า ขายหมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ (แต่การโอนโดยทางมรดก ไม่ใช่การขายตามความหมายนี้)
●
มาตรา 41 ทวิ กำหนดว่าในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้ถือว่าผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้และต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้
●
มาตรา 49 ทวิ กำหนดว่า ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
ดังนี้ เมื่อนิยามกำหนดว่าการขายหมายความรวมถึงการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนด้วย การให้โดยเสน่หาจึงถือว่าเป็นการขาย เท่ากับผู้ให้ก็เป็นผู้ขาย ผู้ให้จึงมีเงินได้และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ โดยถือว่ามีเงินได้ทำกับราคาประเมินทุนทรัพย์เท่านั้น แม้ว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงจะมากกว่าราคาประเมินก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีบทบัญญัติหลายมาตรา ที่ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการให้อสังหาริมทรัพย์ เช่น มาตรา 42(26) ที่กำหนดว่า เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น
●
ข้อสังเกตคือ...
●
ยกเว้นปีละ 20 ล้าน แปลว่าปีถัดไปก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้อีก อันเป็นช่องทางที่อาจใช้ในการวางแผนภาษีได้
●
ยกเว้นเฉพาะการให้อสังหาริมทรัพย์แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีที่บุตรโอนให้บิดามารดา ปู่ย่าตายายโอนให้หลาน จะไม่ได้รับยกเว้นด้วย
●
ข้อยกเว้นนี้ใช้เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์ ถ้าเป็นการให้ทรัพย์สินอื่นต่อกันจะใช้ข้อนี้ยกเว้นไม่ได้ (แต่มีบทมาตราอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้)
จากบทบัญญัติดังกล่าวเท่ากับว่า พ่อแม่ขายที่ดินให้ลูก พ่อแม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ถ้าพ่อแม่ยกที่ดินให้ลูก พ่อแม่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้
...
ผู้เขียน ผศ.ปาริชาติ ม่วงศิริ :
https://bsru.net/profile/parichart-mo/
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา :
https://www.bsru.ac.th/
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ :
https://www.bsru.ac.th/faculty/%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C
สาขาวิชานิติศาสตร์ :
https://www.facebook.com/SchoolofLawBSRU
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย