24 ส.ค. เวลา 01:00 • ข่าว

เกาหลีใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านประชากร

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับประเทศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
5
ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินภัยด้านพิบัติ
ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินจากการรุกราน
ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินเรื่องโรคระบาด
แต่เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านประชากร’
รายงานล่าสุดจากสหประชาชาติคาดการณ์ว่าประชากรของประเทศเกาหลีใต้จะลดลงครึ่งหนึ่ง และเหลือเพียง 26 ล้านคนก่อนสิ้นศตวรรษนี้ (ปัจจุบันเกาหลีใต้มีประชากรราว ๆ 51-52 ล้านคน)
ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับประชากรของประเทศเกาหลีใต้ ? Reporter Journey จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังผ่านมุมมองของนักวิชาการ กรณีศึกษาจากประเทศจีน และโยงมาถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงท้าย
จากรายงานโดยหน่วยงานด้านสถิติของรัฐบาลเกาหลีพบว่าค่าเฉลี่ยการมีบุตรสำหรับสตรีชาวเกาหลีใต้ในระยะเจริญพันธุ์ของช่วงชีวิต ลดลงเหลือเพียง 0.72 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงมาต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปีติด หมายความว่าตอนนี้ครอบครัวในเกาหลีใต้ กำลังมีบุตรน้อยลงมาเรื่อย ๆ ทุกปี อัตราการเกิดลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเกาหลีหลีกเลี่ยงการมีบุตรเป็นเพราะการมีลูก 1 คนมาพร้อมกับภาระทางการเงินที่หนักหนา และถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ประชากรทั้งประเทศเกาหลีใต้อาจลดลงครึ่งหนึ่งจริง ๆ
แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เห็นได้จากการจัดตั้ง ‘กระทรวงยุทธศาสตร์และการวางแผนด้านประชากร’ (Ministry of Population Strategy and Planning) ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่หากถอดบทเรียนจากประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาด้านประชากรมาก่อนอย่างประเทศจีน จะพบว่าเกาหลีใต้ตอนนี้ยังขาดแนวทางที่ครอบคลุม
นักวิชาการด้านจีนศึกษากล่าวว่า “ความสำเร็จทางเศรษฐกิจหลายทศวรรษ และความนิ่งนอนใจมาอย่างยาวนานของเกาหลีใต้ เป็นฉากหลังของภาวะฉุกเฉินทางประชากรที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญ”
ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว เกาหลีใต้เผชิญกับภาวะอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วในประวัติศาสตร์โลก อัตราการเกิดที่สตรีคนหนึ่งมีตลอดช่วงวัย ลดลงจาก 6 ครั้ง ในปี ค.ศ.1960 เหลือ 0.72 ครั้ง ในปี ค.ศ.2023 จากรายงานแนวโน้มประชากรโลกของสหประชาชาติ นั่นหมายความว่า เมื่อก่อนสตรีชาวเกาหลีจะมีบุตรเฉลี่ย 6 คน แต่ปัจจุบันลดเหลือไม่ถึง 1 คน
เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านของเศรษฐกิจ สามารถส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมไปในระดับโลกมานักต่อนัก จนตอนนี้ GDP ของประเทศอาจจะสามารถแซงประเทศคู่รักคู่แค้นอย่างญี่ปุ่นได้ แต่ในขณะเดียวกันดูเหมือนเกาหลีใต้จะละเลยการมองประเทศอื่นนอกจากญี่ปุ่น เช่น ประเทศจีน ประเทศที่มีกลยุทธ์แบบอย่างในการแก้ปัญหาด้านประชากร
ในขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างมีนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ แต่ ‘จีน’ มีนโยบายหัวใจสำคัญคือเรื่องของ ‘ประชากร’ เห็นได้จากในอดีตครั้งที่ ‘เหมา เจ๋อตุง’ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวมีลูกกันมาก ๆ ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของประชากรวัยทำงานที่พลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศจีน (และเศรษฐกิจของโลก)
ต่อมาในปี ค.ศ.1980 ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ก็ออกนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านประชากรศาสตร์ของประเทศอีกครั้งเพื่อให้ประเทศเข้ารูปเข้ารอย โดยการออกนโยบายลูกคนเดียว (One-child policy)
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงเวลาที่นโยบายลูกคนเดียวดำเนินไป รัฐบาลของ เติ้ง เสี่ยวผิง ยังคงพัฒนารากฐานด้านการศึกษาควบคู่ไปด้วย มีการกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับในยุคสมัยนั้น และในช่วง ค.ศ.1900 สถาบันอุดมศึกษาและการศึกษาหลังจากระดับมัธยมก็ได้ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้เด็กที่เกิดในช่วงยุคสมัยนั้นโตขึ้นมากลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ แถมยังมีคุณภาพกว่าเด็กที่เกิดในยุคของ เหมา เจ๋อตุง เสียอีก
1
นอกเหนือจากนโยบายด้านประชากรศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ารูปเข้ารอยตามยุคสมัย ประกอบกับการส่งเสริมรากฐานด้านการศึกษา รัฐบาลจีนในเวลานั้นยังมีการ ‘ทำนาย’ อนาคตล่วงหน้าอีกด้วย
จริง ๆ แล้วการจะเรียกว่าทำนายอาจจะเป็นคำกล่าวที่ทำให้เข้าใจผิดไปซักนิด แท้จริงแล้วคือ ‘ผลวิจัยที่คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต’ คำนี้อาจจะเหมาะสมกว่า ในช่วงเดียวกันในปี ค.ศ.1980 มีผลการวิจัยของนักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Renmin University ที่ชี้และทำให้รัฐบาลเข้าใจว่าชะตากรรมของประชากรในประเทศจะ ‘แก่ก่อนรวย’ (สถานการณ์นี้คือสถานการณ์ที่ประชากรไทยเผชิญอยู่)
เมื่อรู้ดังนั้น รัฐบาลจีน ได้ค่อย ๆ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ ค.ศ.1980 จนถึงต้น ค.ศ.2010 ผ่านการให้แรงจูงใจและผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่บรรดาผู้ประกอบและนักลงทุน ซึ่งท้ายที่สุดก่อให้เกิดกระบวนการอุตสาหกรรมอย่างที่จีนเป็นทุกวันนี้ (เศรษฐกิจประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ)
ปัจจุบัน สมาคมวิจัยด้านประชากรศาสตร์ของจีนยังมีการวางแผนไว้ด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเปลี่ยนจาก ‘กลุ่มแรงงานเชิงปริมาณ’ มาเป็น ‘กลุ่มแรงงานที่เน้นคุณภาพ’ ซึ่งสมาคมวิจัยฯ มองไปที่การส่งเสริมการมีครอบครัวใหญ่ เพื่อเป็นกำลังหลักของประชากรวัยแรงงานในอนาคต
แผนยุทศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ยังรวมไปถึงกลยุทธ์ระหว่างประเทศ ในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตของภูมิภาค ‘ที่อายุน้อยกว่า’ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) นักวางแผนของจีนไม่ได้มองแค่แนวโน้มทางประชากรภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีกลยุทธ์ด้านประชากรและการพัฒนาที่ครอบคลุมและบูรณาการกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งอาจจะหมายถึงการขยายประชากรไปอยู่ในประเทศต่างแดน สร้างฐานเศรษฐกิจในต่างประเทศ เพื่อรองรับตลาดแรงงานในประเทศไปพร้อม ๆ กับการขยายฐานประชากรไปพร้อม ๆ กัน
นักวิชาการมองว่าหากถอดบทเรียนจากประเทศจีน เกาหลีใต้ต้องการกลยุทธ์ที่มากกว่า ‘วันหยุดเพิ่มเติมสำหรับสตรีที่ตั้งท้อง-เงินสนับสนุนเมื่อมีลูก’ แต่ต้องเป็นกลยุทธ์ในลักษณะที่คำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านทางประชากรและเศรษฐกิจในระยะยาว
สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ตอนนี้ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับอัตรการเกิดในประเทศต่ำ ประชากรวัยแรงงานลดลง เนื่องจากแรงงานไทยกำลังแก่ตัวลง และสังคมไทยกำลังเป็น ‘สังคมไร้บุตรหลาน’ หมายถึง มีคู่สามี-ภรรยาในไทยที่ไม่มีลูกเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2551 สาเหตุหลักมาจาก สภาวะทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม เช่น การมีงานทำของสตรีที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้นจากอดีต (เมื่อก่อนสตรีไทยในหนึ่งครอบครัวเคยมีบุตรเฉลี่ย 6 คน/ครอบครัว)
สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ทำให้คนพยายามหาเลี้ยงชีพตัวเองก่อนที่จะต้องรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่ง เน้นการทำงานก่อนสร้างครอบครัว
การจะกล่าวว่าอัตราการเกิดในไทยที่ต่ำ และประชากรวัยแรงงานในไทยกำลังค่อย ๆ ลงลงไปเป็นอีก ‘หนึ่งระเบิดเวลาของประเทศไทย’ คำกล่าวนี้อาจจะไม่เกินจริงมากนัก และในอนาคตอาจเห็นประเทศไทยมีจำนวนประชากรลดลงครึ่งหนึ่งตามรอยเกาหลีใต้ก็เป็นไปได้ บทเรียนจากจีนทำให้เห็นว่าถ้าจะรับมือต้อง ‘ทำเลย’ เพราะกระบวนการนี้ใช้เวลาที่ยาวนาน และต้องทำควบคู่ไปกับมิติของเศรษฐกิจด้วย
โฆษณา